xs
xsm
sm
md
lg

12 ปีทุนพระราชทาน รัชกาลที่ ๑๐ พระเมตตาของ “กษัตริย์ผู้ปิดทองหลังพระ”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผลสัมฤทธิ์ 12 ปี ของโครงการทุนพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐  ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์กว่า 530 ล้านบาท ให้เป็นทุนการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมจนถึงปริญญาตรี เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ประพฤติดีแต่ขาดแคลนซึ่งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา โดยมีผู้ได้รับพระราชทานทุนแล้วกว่า 1,900 ราย เกิดเป็นบุคลากรคุณภาพในสาขาวิชาชีพต่างๆ เช่น ครู แพทย์ ตำรวจ ทหาร ที่จะช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

ด้วยการทรงงานแบบ “ปิดทองหลังพระ” เพื่อให้พสกนิกรชาวไทยได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เฉกเช่นเดียวกับพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้เป็นพระราชบิดา ทำให้หลายคนอาจไม่ทราบว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ ๑๐ ทรงเหน็ดเหนื่อยเพียงใดกับการขับเคลื่อนโครงการพระราชดำริซึ่งมีอยู่มากมายหลายพันโครงการ ทั้งโครงการที่สานต่อพระราชปณิธานของพระราชบิดา และโครงการที่เกิดจากพระราชดำริของพระองค์เอง รวมถึงโครงการที่เกิดจากการถวายฎีกาของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องต่างๆ

เด็กและเยาวชนที่เข้ารับพระราชทานทุนการศึกษา จากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐
ซึ่งหนึ่งในโครงการที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญก็คือ โครงการที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เด็กที่มีความประพฤติดี มีความตั้งใจในการศึกษาเล่าเรียน แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนเหล่านี้มาตั้งแต่ครั้งที่พระองค์ทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โดยมีพระราชดำริให้ดำเนิน “โครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ขึ้นเมื่อปี 2552 ทรงให้นำพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามพระราชปณิธานที่มุ่งสร้างความรู้ สร้างโอกาสแก่เยาวชนไทยที่ประพฤติดีให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มั่นคงต่อเนื่องในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี

ต่อมา ในปี 2553 พระองค์มีพระราชดำริให้จัดตั้ง “มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.)” ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการและให้นำโครงการทุนการศึกษาฯ มาอยู่ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิฯ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนสืบต่อไป ซึ่งการดำเนินงานโครงการทุนการศึกษาฯ ม.ท.ศ. มีกลไกคณะกรรมการมูลนิธิฯ กำกับดูแลอำนวยการในระดับนโยบาย และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงาน ม.ท.ศ. ช่วยขับเคลื่อนประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกลไกคณะกรรมการระดับทุกจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อร่วมดำเนินกระบวนการคัดเลือกเด็กและเยาวชนมีคุณสมบัติเหมาะสมจากทุกจังหวัดเข้ารับทุนพระราชทาน พร้อมทั้งร่วมติดตามดูแลนักเรียนผู้ได้รับทุนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการทุนการศึกษาพระราชทานฯ ของ ม.ท.ศ. นับตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปี 2563 ได้จัดสรรทุนแก่นักเรียนผู้ผ่านการคัดเลือก ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องไปแล้ว รวม 12 รุ่น จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวม 1,908 ราย โดยในปี 2563 นั้นมีผู้รับทุนพระราชทานจากทั่วประเทศ (จาก 18 ภาคการศึกษา) รวมทั้งสิ้น 144 ราย

รวมเงินทุนพระราชทานที่จัดสรรไปแล้วนับตั้งแต่ปี 2552-2562 จำนวน 461.74 ล้านบาท ส่วนในปี 2563 ยังไม่ได้มีการรวบรวมตัวเลขที่ชัดเจน แต่คาดว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 70 ล้านบาท เนื่องจากนับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา มูลนิธิฯ มีนักเรียนอยู่ในระบบครบทุกระดับตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จนถึงระดับปริญญาตรี และมีการจ่ายเงินทุนพระราชทานคงที่ทุกปี โดยอยู่ที่ประมาณปีละ 70 ล้านบาท ดังนั้น ตลอด 12 ปีที่ดำเนินโครงการมา ม.ท.ศ. น่าจะมีการมอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนนั้นไปแล้วรวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 531 ล้านบาท

เจ้าหน้าที่เข้าเยี่ยมเยียนเด็กเพื่อคัดเลือกเข้าสู่โครงการทุนการศึกษาพระราชทานฯ
สำหรับ ทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. ปี 2563 นั้นได้จัดสรรให้ตามระดับการศึกษา ดังนี้

- ทุนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แยกเป็นสายสามัญและสายอาชีพ ได้แก่

1) สายสามัญ ได้รับทุน 18,000 บาท/คน/ปี แยกเป็น ค่าครองชีพ 12,000 บาท (เฉลี่ยเดือนละ 1,000 บาท) และค่าวัสดุอุปกรณ์การเรียน 6,000 บาท

2) สายอาชีพ ได้รับทุน 22,000 บาท/คน/ปี แยกเป็นค่าครองชีพ 12,000 บาท/คน/ปี (เฉลี่ยเดือนละ 1,000 บาท) และค่าวัสดุอุปกรณ์การเรียน 10,000 บาท

- ทุนระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ครอบคลุม 4 หมวดค่าใช้จ่าย คือ

1) หมวดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและเกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ครอบคลุมค่าหน่วยกิต ค่าธรรมเนียมบำรุงการศึกษาและอื่นๆ ที่สถาบันการศึกษาเรียกเก็บโดยตรงจากผู้เรียน โดยโครงการทุนฯ ม.ท.ศ. จะสนับสนุนให้ตามจำนวนค่าใช้จ่ายจริงที่มหาวิทยาลัย/สถาบันการศึกษาเรียกเก็บจากผู้เรียน

2) หมวดค่าหอพักสำหรับผู้ที่ต้องเช่าหอพัก โดยจะจ่ายตามจริง และต้องมีหลักฐานประกอบ โดยจ่ายให้ไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท หรือ 24,000 บาท/ปี

3) หมวดค่าหนังสือและอุปกรณ์การเรียน ให้เท่ากันทุกราย เหมาจ่ายในอัตรา 10,000 บาท/ปี

4) หมวดค่าครองชีพ ให้เท่ากันทุกรายในอัตรา 48,000 บาท/ปี (เฉลี่ยเดือนละ 4,000 บาท)

ยกเว้น กรณีนักเรียนทุนฯ รุ่นที่ 7-รุ่นที่ 9 ที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้รับทุนระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปีการศึกษา 2561-2563 ตามที่มหาวิทยาลัยรังสิตทูลเกล้าถวายฯ โครงการทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ. จะจัดสรรเงินทุนพระราชทาน เฉพาะหมวดค่าหนังสือและอุปกรณ์การเรียน รายละ 10,000 บาท และหมวดค่าครองชีพ รายละ 48,000 บาท รวมจำนวน 58,000 บาท/ราย/ปี ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยรังสิตได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงการศึกษาตลอดหลักสูตร และยกเว้นค่าหน่วยกิตตลอดหลักสูตร รวมทั้งให้สิทธิในการอยู่หอพักภายในมหาวิทยาลัยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

คณะกรรมการระดับจังหวัดทำการสัมภาษณ์และพิจารณาคัดเลือกเด็กที่จะเข้าสู่โครงการทุนการศึกษาพระราชทานฯ
ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ. นับตั้งแต่ปี 2560 คือตั้งแต่รุ่นที่ 9 เป็นต้นมา ได้มีการปรับปรุงหลักการ แนวคิด และแนวทางการดำเนินงานโครงการทุนฯ ให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลยิ่งขึ้นตามพระบรมราโชบาย โดยให้มีการทำสัญญาในการเข้ารับทุนด้วย

และที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ นอกจากให้ทุนการศึกษาแล้ว ม.ท.ศ. ยังจัดให้มีหลักสูตรการฝึกและพัฒนาศักยภาพของเยาวชนที่ศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่รับทุน เพื่อความพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยและบ่มเพาะเด็กและเยาวชนให้เติบโตขึ้นเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของสังคม โดยการพัฒนาศักยภาพดังกล่าวนั้นเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่นักเรียนทุนฯ ม.ท.ศ. รุ่นที่ 9 หรือตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 เป็นต้นมา

โดยหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพจะครอบคลุมใน 3 ด้านหลัก ได้แก่

1) การเสริมสร้างทัศนคติที่ถูกต้อง ดีงาม เห็นคุณค่า หวงแหนและปกป้องรักษาประเทศชาติ บ่มเพาะความมีวินัย ความรับผิดชอบการเป็นพลเมืองที่ดี พร้อมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ มีจิตสาธารณะ โดยจัดให้มีการอบรมสร้างการรับรู้ให้เกิดความเข้าใจในหลักการทำงาน การน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ จัดให้มีการศึกษาเรียนรู้ดูงานในสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และโครงการตามแนวพระราชดำริ รวมถึงศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อฝึกวินัยความรับผิดชอบและการทำงานร่วมกับผู้อื่น

2) การพัฒนาศักยภาพและทักษะด้านวิชาการ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการเรียนในระดับมัธยม และการเรียนต่อระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาซึ่งเป็นที่ต้องการของประเทศสาขาที่ขาดแคลน สาขาด้านการเกษตรซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทย สาขาด้านความมั่นคง เช่น สายทหาร ตำรวจ ซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ โดยจัดให้มีการแนะแนว และติววิชาการเฉพาะในวิชาหลักด้านต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ การใช้เทคโนโลยี การสื่อสาร เพื่อให้รู้จริง มีทักษะในการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุมีผล สังเคราะห์เชื่อมโยงเป็น รวมทั้งมีการทัศนศึกษาในสถาบันการศึกษาชั้นนำที่เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชา เพื่อเป็นการค้นหาความถนัดและความต้องการของตนอีกด้วย

3) การพัฒนาศักยภาพด้านทักษะอาชีพ เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ได้ลงมือปฏิบัติงานจริง โดยจัดให้มีการเรียนรู้ร่วมฝึกปฏิบัติงานจิตอาสา เช่น ในสถานพยาบาล สถานดูแลผู้พิการ ผู้สูงอายุ การฝึกปฏิบัติงานในสถานประกอบการเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์เชิงวิชาชีพ การฝึกปฏิบัติงานด้านการเกษตร การเรียนรู้ผ่านการศึกษาดูงานและฝึกงานตามสถาบันและแหล่งเรียนรู้สำคัญเพื่อเปิดโลกทรรศน์ ให้เด็กมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และค้นหาแรงบันดาลใจในการประกอบวิชาชีพต่างๆ

สภาพความเป็นอยู่ของเด็กที่ได้รับพระราชทานทุนการศึกษา จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐
ด้วยพระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ซึ่งได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้เป็นทุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลน ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา ทำให้ ณ วันนี้ เรามีบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศเกิดขึ้นมากมาย ทำให้พวกเขามีโอกาสที่ดีในชีวิต หลายคนหลุดพ้นจากความยากจน เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน

เช่น นพ.วีรยุทธ จันทรเขียว นักเรียนทุนพระราชทานฯ รุ่นที่ 3 ที่ได้รับพระราชทานทุนการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จนจบปริญญาตรี สถาบันพระบรมราชชนก สาขาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันรับราชการเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลนครสวรรค์ นายนิคม แก้วเจิม นักเรียนทุนพระราชทานฯ รุ่นที่ 1 ได้รับพระราชทานทุนการศึกษา ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จนจบปริญญาตรี คณะครุศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์ทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ปัจจุบันได้เข้ารับราชการเป็น “ครู” สอนวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป นักเรียน ม.1-ม.2 ร.ร.ปากท่อพิทยาคม จ.ราชบุรี ส.ต.อ.ณัฐพล สุตาวงค์ นักเรียนทุนพระราชทานฯ รุ่นที่ 1 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่ สังกัดกองบังคับการปฏิบัติการพิเศษตำรวจภูธรจังหวัดยะลา กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

เขาเหล่านี้แม้จะเติบโตในต่างสาขาวิชาชีพ แต่ก็ล้วนเป็นบุคลากรคุณภาพซึ่งจะนำความรู้ความสามารถมาช่วยพัฒนาประเทศในสาขาที่ตนถนัด ไม่ว่าจะเป็นการดูแลรักษาผู้ป่วย คุ้มครองปกป้องประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้พ้นจากภัยอันตราย หรือเป็นเบ้าหลอมที่ช่วยบ่มเพาะเด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต ตลอดจนนักเรียนทุนที่สำเร็จการศึกษาในสาขาอื่นๆ อีกมากมาย

ณ วันนี้ พระเมตตาของในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ “พระมหากษัตริย์ผู้ปิดทองหลังพระ” ได้แผ่ขยายกว้างไกล นำความชุ่มเย็นมาสู่หัวใจอาณาประชาราษฎร และประกาศใช้ชนทั่วโลกรู้ว่า ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร สถาบันกษัตริย์ของไทยยังคงมีพระราชปณิธานที่จะมุ่งบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน และจะทรงเป็นมิ่งขวัญของพสกนิกรชาวไทยตลอดไป ดังคำที่ว่า... “เรารักในหลวง เพราะในหลวงรักประชาชน”




กำลังโหลดความคิดเห็น