เอไอเอส สานต่อภารกิจ “5G ฟื้นฟูประเทศ” ร่วมมือกับกรมสุขภาพจิต และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ อัปเกรดแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ เปิดฟีเจอร์ใหม่ “รายงานคัดกรองสุขภาพจิต” ในการลงพื้นที่เฝ้าระวัง ตรวจคัดกรอง และให้คำแนะนำการปฏิบัติตนสำหรับผู้ที่มีความวิตกกังวล ซึมเศร้าได้ทันที
นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา เอไอเอสได้นำเทคโนโลยี Digital สนับสนุนงานด้านสาธารณสุขเพื่อต่อสู้กับภาวการณ์ระบาด
ทั้งการติดตั้งเครือข่าย 5G ใน รพ. การพัฒนาหุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์ Robot for Care การจัดทำประกันชีวิตสำหรับ อสม. และการเพิ่มฟีเจอร์บนแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ เพื่อให้ อสม. สามารถใช้รับมือกับโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดการวางแผนและจัดมาตรการที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่
อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อร่างกายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังขยายวงกว้างกระทบต่อเศรษฐกิจ และสังคมความเป็นอยู่ ก่อให้เกิดสภาวะจิตใจที่ผิดปกติ ทั้งความเครียด ซึมเศร้า ซึ่งท้ายที่สุดอาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิตและครอบครัว หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที
เอไอเอส จึงได้ร่วมมือกับกรมสุขภาพจิต กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พัฒนา “ฟีเจอร์คัดกรองสุขภาพจิต” บน อสม.ออนไลน์ เพื่อให้ อสม.ที่ดูแลสุขภาพประชาชนที่ใกล้ชิดที่สุดนำเครื่องมือดังกล่าวไปทำการคัดกรองประชาชนที่ตนเองดูแล ทำให้ อสม. และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถทราบสถานะสุขภาพจิตของประชาชนในพื้นที่ได้แบบทันที
ในขณะเดียวกัน หน่วยบริการสาธารณสุขระดับตำบล สาธารณสุขอำเภอ และสาธารณสุขจังหวัดก็สามารถเข้าถึงข้อมูลการคัดกรองได้แบบเรียลไทม์ ทำให้การดูแลและเฝ้าระวังเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า “สัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติในปีนี้นั้น กรมสุขภาพจิตได้ใช้ธีมที่มีชื่อว่า Working Together สุขภาพจิตไทย ก้าวไปพร้อมกัน นั่นคือการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือด้านสุขภาพจิตกับทุกภาคส่วนในสังคม
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ในปัจจุบันบทบาทของ อสม.และ อสส.เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change agents) พฤติกรรมด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนในชุมชน จะต้องได้รับการเสริมสร้างอาวุธทางปัญญา เพื่อสามารถถ่ายทอดความรู้สู่ครอบครัว บุคคลใกล้ชิด และชุมชน เป็นเกราะป้องกันตนเอง และมีส่วนช่วยลดการระบาดของโรคในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ
การพัฒนาความรู้สาธารณสุขในมิติสุขภาพจิตจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สามารถช่วยการดำเนินงานให้แก้พี่น้อง อสม. และ อสส. ในการฟื้นฟูจิตใจของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ของประเทศในขณะนี้ การลงนามความร่วมมือมีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างความรู้ข่าวสารด้านสุขภาพให้ อสม.และ อสส. มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ในมิติสุขภาพจิต
ฟีเจอร์ “รายงานคัดกรองสุขภาพจิต” สามารถใช้งานได้แล้ววันนี้ เพียงทำการอัปเดตแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ เป็นเวอร์ชันล่าสุด โดย อสม. ทุกเครือข่ายสามารถใช้งานแอปดังกล่าวได้ฟรี สำหรับ อสม. ที่ใช้งานเครือข่ายเอไอเอสสามารถใช้ได้โดยฟรีค่าอินเทอร์เน็ต