xs
xsm
sm
md
lg

‘พี่น้อง 3 ป.’ หาหลักฐานเล่นงาน ‘ไอ้โม่ง’ ปลุกม็อบ สกัดเส้นทางสู่ ‘ฮ่องกงโมเดล’!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บิ๊กตู่ ประกาศชัดแล้ว ‘ไม่ลาออก’! ชี้ ‘พี่น้อง 3 ป.’ เร่งหน่วยงานหาข้อมูล หลักฐานเชื่อมโยงเอาผิดผู้อยู่เบื้องหลังปลุกระดมม็อบราษฎร เพื่อสกัดเส้นทางไปสู่ ‘ฮ่องกงโมเดล’ วงในเผย ‘บิ๊กตู่’ ผ่าทางตันได้ พร้อมรับมือทั้งการเมืองในสภาและนอกสภา ขณะที่ตำรวจต้องเคร่งครัดดูแลความสงบ และใช้กฎหมายเล่นงานพวกจาบจ้วงสถาบันฯ ส่วนกระทรวงดิจิทัลฯ ต้องรับมือการใช้โซเชียลถล่มให้ได้ โดยเฉพาะงานพระราชทานปริญญาบัตร มธ.ต้องไม่ผิดพลาด ข่าวลือบิ๊กตู่บ่นๆ คิดจะ ‘ลาออก’ หากสถานการณ์ถึงทางตันจริงๆ

การลุกขึ้นอภิปรายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ว่า “ผมไม่ตัดช่องน้อยแต่พอตัว และผมไม่ลาออกในยามที่ชาติบ้านเมืองมีปัญหา เป็นคำตอบที่ชัดเจนว่าข้อเรียกร้องของม็อบราษฎร ในข้อที่ 1 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก ไม่มีทางเกิดขึ้นได้!

ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องหาทางจัดการไม่ให้ม็อบราษฎรเดินตามรอย ‘ฮ่องกงโมเดล’ สร้างความแตกแยกทางความคิด แบ่งฝักแบ่งฝ่ายระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า จนยากที่จะประสานรอยร้าวและอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในที่สุด

แล้วบิ๊กตู่จะผ่าทางตันนี้ได้อย่างไร!


แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล บอกว่า รัฐบาลต้องใช้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสืบค้นและหาหลักฐานให้ชัดเจนว่า ‘ใคร’ กันแน่ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างความปั่นป่วน ยุยงให้เกิดความแตกแยก และวางกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนให้แก่บรรดาเด็กและเยาวชนเหล่านี้ ซึ่งจะต้องจัดการคนกลุ่มนี้ให้ได้

“จะจัดการผู้อยู่เบื้องหลังนี้ได้หรือไม่ ก็ต้องรู้ว่าใครเชื่อมโยงกับใคร อย่างไร คือทำผังให้เห็นคนเหล่านี้ใครอยู่ตำแหน่งไหน ทุกอย่างอยู่ที่หลักฐาน ข้อมูลและการข่าวของรัฐบาลต้องแน่น จากนั้นจึงค่อยใช้กฎหมายจัดการ เพื่อให้ทุกคนได้รู้ความจริง”

สิ่งสำคัญการชุมนุมแบบแฟลชม็อบ หรือการชุมนุมแบบไม่ยืดเยื้อเรียกร้อง 3 ข้อ 1.ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก 2.เปิดรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ 3.ให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ ซึ่งในการชุมนุมจะมีกิจกรรมชูป้าย เปิดไฟจากโทรศัพท์มือถือนั้น รัฐบาลก็เชื่อว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง และอาจมีการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าข้อ 2 จะได้รับการแก้ไขแล้วก็ตาม แต่ก็อาจจะไปไม่ถึงตามที่ม็อบต้องการก็เป็นได้

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องเข้าไปดูแลรักษาความสงบไม่ให้เกิดการปะทะกับม็อบเสื้อเหลือง ส่วนการปราศรัยเรื่องของการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องเกาะติดเหตุการณ์ซึ่งก็ต้องดูว่ามีการใช้ถ้อยคำรุนแรง หยาบคายหรือไม่ หากมีก็ต้องพร้อมที่จะเข้าไปดำเนินการตามกฎหมาย

“การโจมตีสถาบันด้วยถ้อยคำหยาบคาย เป็นเรื่องที่คนไทยทั้งประเทศรับไม่ได้ ในที่สุดกลุ่มที่รักสถาบันฯ ก็จะไม่ทน และจะเป็นชนวนเหตุให้เกิดการปะทะ มีการสูญเสียเกิดขึ้น”

เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลจึงต้องมีวิธีจัดการการเมืองในสภาและนอกสภาที่มีการเชื่อมโยงไปพร้อมๆ กัน แต่การเมืองในสภาก็ต้องเดินตามรัฐธรรมนูญตรงไหนแก้ได้ แก้ไม่ได้ก็ว่ากันไปตามกรอบเวลา ส่วนการเมืองนอกสภาก็ต้องใช้กฎหมายจัดการคนที่เป็นแกนนำ เรื่องนี้ตำรวจรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร

“การใช้โลกโซเชียลปลุกระดม มีการโจมตีสถาบันฯ และรัฐบาล กระทรวงดิจิทัลฯ ต้องเร่งจัดการให้ได้ ปิดก็ต้องปิด และต้องระวังในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ในวันที่ 30-31 ตุลาคมนี้ ต้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์ใช้โซเชียลถล่มตามที่การข่าวของรัฐมีการแจ้งเตือน”






แหล่งข่าวบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ บอกกับคนใกล้ชิดว่าการเมืองนอกสภาและการชุมนุมของม็อบราษฎร เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องอดทนตามระบอบประชาธิปไตย แต่ก็มีเสียงจากนายทหารระดับสูงว่า ‘บิ๊กตู่’ บ่นๆ คิดจะลาออกเหมือนกันหากสถานการณ์ถึงทางตันจริงๆ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

“พี่น้อง 3 ป.หารือกันตลอดจะเดินต่อกันอย่างไร บิ๊กป้อม (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) บิ๊กป๊อก (พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา) คือเสนาธิการ นิ่งและใช้คนเป็น ต้องการจัดการคนอยู่เบื้องหลังให้ได้จึงต้องหาข้อมูล หาหลักฐาน ดูช่องทางกฎหมายที่จะดำเนินการได้ ก่อนเลยเถิดแบบฮ่องกงโมเดล หากทำสำเร็จรัฐบาลจะยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ก็จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด”

ด้าน นายชินวรณ์  บุณยเกียรติ รองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่า จากการประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อหาทางออกประเทศ เมื่อวันที่ 26-27 ต.ค.2563 ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปใน 2 เรื่องหลักๆ คือ

1.เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ซึ่งที่ประชุมสภาเห็นพ้องกันว่าจะนำร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ คือ ทั้งของรัฐบาล ของฝ่ายค้าน และของ ilaw ซึ่งเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน มาพิจารณา พร้อมทั้งจะเสนอ พ.ร.บ.ประชามติ ตามมาตรา 256 (8) จากนั้นประธานสภาจะนัดทุกฝ่ายเพื่อหารือว่าจะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของสภาเมื่อใด ซึ่งคาดว่าน่าเป็นภายในเดือน พ.ย.นี้

2.เรื่องการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาหาทางออกของประเทศ โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอว่าคณะกรรมการดังกล่าวควรประกอบด้วยกรรมการจาก 7 ฝ่าย ได้แก่ ตัวแทนคณะรัฐมนตรี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน สมาชิกวุฒิสภา คู่กรณีจากทุกกลุ่ม ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักสันติวิธี

โดยคณะกรรมการเพื่อศึกษาหาทางออกของประเทศ จะมีบทบาทดังนี้

1.กำหนดประเด็นที่เป็นปัญหา วางแนวทางหาทางออก และกำหนดอนาคตของชาติ

2.แสวงหาเวทีสันติวิธีเพื่อให้ทุกฝ่ายได้เจรจากัน

3.เร่งวางแนวทางการปฏิรูปในด้านต่างๆ เช่น  ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

4.แสวงหาคำถามในการทำประชามติเพื่อหาทางออกของประเทศ

5.เปิดเวทีที่มีความปลอดภัยเพื่อให้ผู้เห็นต่างได้ร่วมพูดคุยหาทางออก

6.กาวิธีที่จะทำให้ทุกฝ่ายหยุดความรุนแรงและยุติการเคลื่อนไหว

 นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล)
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่าเห็นด้วยกับการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาหาทางออก ตามแนวทางที่เสนอในรัฐสภา โดยบทบาทของคณะกรรมการชุดนี้ต้องเป็นการหารือเพื่อหาข้อยุติของปัญหาตามบริบทการเมืองของประเทศไทย เคารพซึ่งกันและกัน เชื่อใจกันและกัน

อย่างไรก็ดี ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2563 ที่่ผ่านมา   ครม. มีมติให้ขยายประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไป อีก 1 เดือน จนถึงวันที่ 30  พ.ย. ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เสนอเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 รองรับประเทศจะเปิดรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น รวมถึงมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัย เทศกาลประเพณีลอยกระทง ตามาตรฐานสาธารณสุข ซึ่งหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเหตุผลที่แท้จริงในการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินดังกล่าวน่าจะเป็นไปเพื่อควบคุมดูแลความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมการเมืองเป็นหลัก

ส่วนกรณีปัญหาการหมิ่นสถาบันฯ ซึ่งถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติอย่างมากนั้น ทาง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” หรือดีอีเอส ก็มีมาตรการดูแลอย่างเข้มข้น โดยได้ดำเนินการ สอบกรณีที่มีผู้โพสต์ภาพและข้อความจาบจ้วงบิดเบือน ให้ร้ายสถาบันฯ มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ข้อมูลจาก “ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การชุมนุม” กระทรวงดิจิทัลฯ ระบุว่า จากการติดตามสถานการณ์ช่วงระหว่างวันที่ 13-18 ต.ค.2563 พบการกระทำที่เข้าข่ายสุ่มเสี่ยงต่อความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งหมด 324,990 เรื่อง แบ่งเป็น ทวิตเตอร์ 75,076 เรื่อง เฟซบุ๊ก 245,678 เรื่อง และเว็บบอร์ด 4,236 เรื่อง ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขผู้กระทำผิดรวมทั้งเป็นผู้โพสต์คนแรก และคนแชร์รีทวีตข้อความที่ผิดกฎหมาย ซึ่งลำดับแรกเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบและเอาผิดเฉพาะผู้โพสต์คนแรกๆ ที่นำเข้าข้อความสู่ระบบคอมพิวเตอร์ก่อน โดยพบว่ามีทั้งที่เป็นแกนนำ กลุ่มมวลชนนักการเมือง และผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียคนหลักๆ

อีกทั้งจากการตรวจสอบของกระทรวงดิจิทัลฯ ในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.2563 พบว่าแพลตฟอร์มที่มีการโพสต์ในลักษณะละเมิดสถาบันรวม 3,822 URLs โดยกระทรวงฯ ได้ทำการปิดกั้นเนื้อหาไปแล้ว 1,238 URLs ซึ่งแพลตฟอร์มที่มีการละเมิดสถาบันฯ มากที่สุดคือ facebook จำนวน 2,409 URLs ซึ่งถูกปิดกั้นเนื้อหาไปแล้ว 875 URLs ยังเหลืออีก 1,534 URLs ตามด้วย YouTube มีการละเมิด 607 URLs ถูกปิดกั้นเนื้อหาแล้ว  331 URLs ยังเหลืออีก 276 URLs, เว็บไซต์อื่นๆ 496 URLs ถูกปิดกั้นเนื้อหาแล้ว 20 URLs ยังเหลืออีก 466 URLs และทวิตเตอร์ 330 URLs ถูกปิดกั้นไป 12 URLs ยังเหลืออีก 318 URLs

จากนี้ไปต้องจับตาดูว่า รัฐบาลบิ๊กตู่จะสามารถหาข้อมูล หลักฐานที่เชื่อมโยงไปถึงผู้บงการหรือผู้อยู่เบื้องหลังม็อบราษฎรได้หรือไม่?...เพราะยิ่งจัดการช้าเท่าไหร่ โอกาสที่ม็อบราษฎรจะขยายวงกว้างและเพิ่มจำนวมมากขึ้นก็ย่อมมีความเป็นไปได้เช่นกัน...!




กำลังโหลดความคิดเห็น