จับตาสถานการณ์ความขัดแย้งจะนำไปสู่การนองเลือดได้หรือไม่? พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีฯ ชี้ยุทธวิธีไม่ไปสู่การนองเลือดเพราะวันนี้มีผู้เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย รัฐบาล-ม็อบราษฎร-คนเสื้อเหลือง’ ยันการยกเลิกประกาศฉุกเฉินฯ มีผลดี ตำรวจอะลุ้มอล่วยได้ และลดอุณหภูมิม็อบวันที่ 26 ตุลาฯ ในการเปิดประชุมสภา ด้าน รศ.ดร.เจษฎ์ ระบุต้องระวังสิ่งที่จะทำให้อีกกลุ่มทนไม่ได้ ส่วน รศ.ดร.ปณิธาน ย้ำทุกฝ่ายมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น ต้องคุมกันเอง ไม่เช่นนั้นการเคลื่อนไหวถูกลดทอนทันที
ถึงวันนี้เราจะเลี่ยงไม่ให้เกิดการนองเลือดได้อย่างไร ในท่ามกลางข้อเรียกร้องของฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าคณะราษฎร หรือ ‘ราษฎร’ ที่ประกาศจะหยุดการเคลื่อนไหวนี้ได้มีเพียงรัฐบาลต้องรับข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก 2.เปิดประชุมวิสามัญรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจากประชาชน และ 3.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
เงื่อนไขดังกล่าวจึงดูเหมือนจะเป็นการปิดประตู...จนหาทางออกไม่ได้
หากย้อนไปดูการชุมนุมตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมเป็นต้นมา หลายคนอาจเชื่อว่าเค้าลางแห่งความรุนแรงกำลังจะเริ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลใช้ยาแรงในรุ่งเช้าของวันที่ 15 ต.ค. ด้วยการสลายการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและมีการจับแกนนำไปด้วย พร้อมออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร
ขณะเดียวกัน ยิ่งเพิ่มความร้อนแรงเมื่อบรรดาองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์จากสถาบันต่างๆ ชมรมแพทย์ชนบท คณาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นต้น ได้ออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงต่อการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้สลายการชุมนุมของราษฎร เมื่อคืนวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ทั้งที่ผู้ชุมนุมเป็นเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ
แต่การปราบหาใช่จะหยุดม็อบเหล่านี้ได้ กลับยิ่งทำให้มีการชุมนุมเพิ่มมากขึ้นและกระจายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว
แต่ก็ใช่ว่าจะต้องจบด้วยความรุนแรงเสมอไป เพราะวันนี้จะเห็นได้ว่ารัฐบาลบิ๊กตู่ เลือกที่จะไม่เดินไปสู่ความรุนแรง และเรื่องนี้มีทางออกอย่างไร
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า บอกว่า ต้องเข้าใจก่อนว่า ผู้ชุมนุมเป็นนักเรียน นักศึกษา ที่ออกมาชุมนุมครั้งนี้ตลอดเวลาผ่านมาไม่เคยมีอาวุธ ม็อบพวกนี้ไม่ได้มีความมุ่งหวังที่จะสร้างความรุนแรง พวกเขารู้ว่าถ้าจะทำให้เกิดความรุนแรงก็จะเปลี่ยนท่าที หรือเลี่ยงไปอย่างไร
ขณะที่รัฐบาลเองก็ไม่ตั้งใจจะให้เกิดความรุนแรงเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่นสถานการณ์ชุมนุมที่เกิดขึ้นหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงและที่อุรุพงษ์ เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา
“เกิดการปะทะกันที่รามคำแหง และที่พญาไท นักศึกษาพูดคุยและขอผ่าน ที่รามคำแหง ฝ่ายเสื้อเหลืองไม่ยอม นักศึกษาก็เปลี่ยนที่ แสดงว่านักศึกษาไม่ต้องการความรุนแรงอยู่แล้ว และฝ่ายรัฐเองก็มีความตั้งใจว่า จะไม่ให้เกิดความรุนแรง ดูจากการวางกำลังตำรวจไว้เต็มไปหมด จะมาปิดกั้นไม่ให้นักศึกษาเคลื่อนที่ก็ได้ แต่เขาไม่ทำ เขาปล่อยนักศึกษา”
ยุทธวิธีแบบนี้แหละที่สะท้อนให้เห็นว่าทั้ง 2 ฝ่ายไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง!
พล.อ.เอกชัย บอกว่า เมื่อมีฝ่ายที่ 3 ออกมา ซึ่งก็คือเสื้อเหลือง ออกมาแต่ละทีเริ่มใช้ความรุนแรง ดูได้จากการพูดการแสดงออก เต็มไปด้วยอารมณ์
“จะไม่พูดถึงใครอยู่เบื้องหลังไม่ว่ากลุ่มไหน แต่รัฐจะต้องระวังอย่าให้ทั้ง 2 ฝ่าย คือเสื้อเหลืองกับกลุ่มนักศึกษาปะทะกัน”
สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำเวลานี้เพื่อไม่ให้เกิดการปะทะกัน คือ ต้องพูดคุยกับเสื้อเหลืองให้ชัดเจน ว่ากลุ่มเสื้อเหลืองจะตั้งเวทีปราศรัยที่ไหน อย่างไรก็ได้ แต่อย่าใช้วิธีการรุกไปหากลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่เขาชุมนุมกันอยู่
“ถ้ารุกไปหาเขา มันจะเกิดการปะทะกัน เพราะถ้าเกิดบาดเจ็บ เสียชีวิตสักคน มันจะบานปลาย เรื่องนี้รัฐบาลจะต้องย้ำกับตำรวจให้ระมัดระวังอย่าให้เกิดเรื่องขึ้นได้”
ดังนั้น สถานการณ์จะรุนแรงนองเลือดได้หรือไม่จึงมีผู้เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย คือ ม็อบราษฎร รัฐบาล และม็อบเสื้อเหลือง
ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีฯ ย้ำว่า ได้เสนอไปยังสภาฯ แล้วว่าให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ติดตามสถานการณ์ทางการเมือง ให้มีทุกพรรคการเมืองมาอยู่ในคณะนี้ มีผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาร่วม คณะอาจารย์ นักกฎหมาย และก็ตกลงกันว่า ทั้งคณะจะติดตามเหตุการณ์ทุกวัน เวลามีม็อบที่ไหน ลงไปติดตามด้วยเพื่อจะได้ช่วยลดทอนความขัดแย้งให้ลดลงไป
“คณะชุดนี้จะเชิญฝ่ายเด็กมาสัก 10 คน เป็นการให้เกียรติกัน เชิญมาที่สภา ส่วนพวกเขาจะส่งใครมาก็แล้วแต่เขา ก็เชื่อว่าเด็กๆ ต้องมา เพราะเด็กพวกนี้เขาอยากจะพูด อยากจะอธิบายให้เราฟัง ก็ต้องการให้มีคนฟังพวกเขาบ้าง”
ประเด็นที่สำคัญขณะนี้ก็อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะยอมให้แก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะถ้าให้แก้จะช่วยระบายอารมณ์ของการชุมนุมไปได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญนั้น ควรจะให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมา และมีการตั้งเด็กสัก 5 คนเข้ามาเป็นสมาชิกฯ เด็กก็จะรู้สึกว่ามีส่วนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้ประชาชนคนไทย รวมไปถึงคนเสื้อเหลืองรับไม่ได้กับม็อบราษฎร คือเรื่องการล้มล้างสถาบันฯ นั้น
พล.อ.เอกชัย บอกว่า ทุกๆ เวที เด็กๆ จะพูดชัดว่าไม่ได้ล้มล้างสถาบันฯ เพียงแต่บางเรื่องพวกเขาไม่อยากให้สถาบันฯ ดำเนินการบางอย่างเท่านั้น
“เรากำลังเอาเรื่องนี้มาทำให้เป็นประเด็นใหญ่ ว่าเด็กพวกนี้จะไม่เอาสถาบันฯ จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่จะตามมาแล้วบอกว่า เด็กพวกนี้ต้องการล้มสถาบันฯ ซึ่งไม่ใช่ ก็ต้องเรียกพวกนี้มาคุยให้ชัด ลองเรียกเขามาคุย”
พล.อ.เอกชัย บอกว่า ได้พูดคุยกับที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และขอให้นายกฯ อย่าใช้ถ้อยคำรุนแรง รวมไปถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ว่าอย่าใช้คำพูดแบบท้าทาย เพราะการรบกับเด็กๆ จะประเมินต่ำไม่ได้ และอย่าคิดว่าเด็กพวกนี้ไม่มีความรู้
“เด็กมีความรู้ ทุกวันนี้เปิด Open Space ใครพร้อมจะขึ้นพูด ก็สามารถขึ้นพูดได้เลย ทุกสถานที่เปิดกว้างมาก กล้าคิด กล้าแสดงออก ความคิดของตัวเอง ขึ้นได้ทันที แต่ถ้าเรายิ่งกดดันมาก มันจะสร้างแผลให้ช้ำมากกว่า”
ที่สำคัญที่สุดก็คือสังคมไทยต้องรู้ว่าในหลวง รัชกาลที่ ๑o ได้ทำโครงการอะไรมากมายเพื่อพสกนิกรของท่าน และพระองค์ท่านเข้าถึงประชาชนทั้งในเหตุการณ์หน้าพระบรมมหาราชวัง ท่ามกลางฝนตกพระองค์ท่านและพระราชวงศ์ก็ได้เสด็จออกมาพบปะประชาชนอย่างใกล้ชิด อีกทั้งการเสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตรให้แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏครั้งนี้ ก็เป็นการออกเยี่ยมประชาชนอย่างใกล้ชิดเช่นกัน
นอกจากนี้ การที่รัฐบาลประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ออกไปนั้น พล.อ.เอกชัย บอกว่า เป็นเรื่องที่ดี หากไม่ยกเลิกจะทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ เพราะหากตำรวจไม่ดำเนินการตามประกาศก็ไม่ได้ แต่เมื่อยกเลิกไปแล้ว จะทำให้ตำรวจทำงานได้คล่องตัว อะลุ้มอล่วยพูดคุยกับผู้ชุมนุมได้ง่าย
ถ้ามีประกาศฉุกเฉินนี้อยู่ ตำรวจอะลุ้มอล่วยไม่ได้เลย ข้อดีของการยกเลิกอีกข้อคือในวันที่เปิดประชุมสภาฯ ในวันที่ 26 ตุลาฯ นี้ นักศึกษาต้องมากดดันแน่นอน การยกเลิกเวลานี้ จึงช่วยระบายอากาศไปได้นิดหน่อย ส่วนถ้าวันนั้นบอกชัดอีกว่าเราจะแก้รัฐธรรมนูญ ตรงนี้มันจะช่วยได้อีกสเต็ปหนึ่งละ และเราจะแก้รัฐธรรมนูญ โดย ส.ส.ร นี่จะช่วยได้เยอะมาก”
ส่วน รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มองว่า สาเหตุที่เกิดม็อบชนม็อบส่วนใหญ่จะมาจากคนกลุ่มหนึ่งชุมนุม แล้วคนอีกกลุ่มทนไม่ได้ก็เลยจัดม็อบมาชนกับกลุ่มแรก ทางแก้ก็คือต้องไปดูว่าอะไรที่ทำให้คนอีกกลุ่มทนไม่ได้ ก็พยายามหลีกเลี่ยง อย่างกรณีของกลุ่มคณะราษฎร สิ่งที่คนส่วนใหญ่ทนไม่ได้คือท่าทีหรือการพูดจาในลักษณะดูหมิ่นดูแคลนสถาบันฯ เมื่อรู้อย่างนี้แกนนำและผู้ชุมนุมก็ต้องห้ามปรามกัน ไม่ว่าจะบนเวที ในที่ชุมนุม หรือแม้แต่ในสื่อโซเชียลต่างๆ เพราะมันจะไปจุดชนวนให้เกิดการปะทะกันได้
ขณะที่ฝั่งของคนที่ไม่พอใจและออกมาชุมนุมในนามกลุ่มปกป้องสถาบันก็ต้องควบคุมสติ ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดการตีกันลุกลามบานปลาย ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องหาทางควบคุมไม่ให้ม็อบมาอยู่ใกล้กัน และในกรณีที่มีการทำร้ายร่างกายหรือใช้ความรุนแรง ตำรวจก็ต้องจับกุมและดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด
“ทุกคนมีเสรีภาพ แต่เสรีภาพดังกล่าวนั้นก็ต้องไม่ไปกระทบต่อเสรีภาพของคนอื่นด้วย ซึ่งความรุนแรงทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงของถ้อยคำที่ออกมาในลักษณะเสียดสีด่าทอ หรือความรุนแรงจากการกระทำ ตั้งแต่ ขว้างปาข้าวของ เข้าไปปะทะ ทำร้ายร่างกาย หรือทำลายข้าวของ ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ไม่มีสิทธิทำทั้งนั้น” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ขณะนี้ผู้ชุมนุมทั้งในส่วนของกลุ่มคณะราษฎร และกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ต่างก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องควบคุมกันเองไม่ให้ใช้ความรุนแรง ซึ่งการที่รัฐบาลประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็เชื่อว่าจะช่วยลดบรรยากาศที่ตึงเครียดในการชุมนุมลงได้
“ถ้าผู้ชุมนุมที่ใส่เสื้อเหลืองไปไล่ตีผู้ชุมนุมอีกกลุ่ม ก็จะทำให้ภาพของคนเสื้อเหลืองเสียหาย ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม การเคลื่อนไหวก็ถูกลดทอนคุณค่าลงไป” รศ.ดร.ปณิธาน กล่าว
ดังนั้น หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถควบคุมกันได้ก็เชื่อว่าจะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงจนกระทั่งนองเลือดแน่นอน!