xs
xsm
sm
md
lg

ตร.เผยช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง รวบผู้ต้องหา 78 คน ย้ำผู้ที่มีหมายจับ-จับกุม ยังต้องถูกดำเนินคดี

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น.(กลาง)
MGR Online - ตร.แถลงสรุปช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงจับกุมผู้ต้องหา 78 คน ได้รับการประกันตัว 70 คน ยันมีความพร้อมรับมือกลุ่มผู้ชุมนุมเย็นนี้ ย้ำผู้ที่ถูกออกหมายจับ-จับกุม ยังต้องถูกดำเนินคดีต่อ ส่วนผู้เสียหายยังสามารถร้องทุกข์ได้

วันนี้ (23 ต.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. แถลงว่า ตามที่ พ ล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทีมีความร้ายแรง ในเขตกรุงเทพมหานคร ฉบับลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 และ 16 ต.ค. 2563 และให้บรรดาข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง ที่ออกตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นอันสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค. เวลา 12.00 น. นั้น ว่า หลักสำคัญในการยกเลิก คือ ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง แต่ในข้อกฎหมาย หรือ ผู้กระทำความผิดจะยังถูกดำเนินคดีความ ตามวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งรวมถึงเยาวชนผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วย แต่เมื่อถูกจับกุมไม่ต้องถูกส่งตัวไป บก.ตชด.ภาค 1 ให้ดำเนินคดีไปตามกฎหมายปกติไปได้เลย อีกทั้งผู้เสียหายยังสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้ ตามอายุความของคดี

พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ได้แถลงสรุปภาพรวมการปฏิบัติการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตั้งแต่วันที่ 13-22 ต.ค. 63 ว่า มีการจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการชุมนุมช่วงระหว่างวันที่ 13-22 ต.ค. 63 กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้จับกุมตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีทั้งหมด 81 คดี มีผู้ต้องหา 78 คน ซึ่งมีผู้ต้องหาที่มีคดีซ้ำกันจำนวน 3 คน โดยแบ่งเป็นข้อหาสำคัญดังนี้ ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำนวน 46 ราย, ข้อหาร่วมกันชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองฯ จำนวน 21 ราย, ข้อหาประทุษร้ายต่อเสรีภาพพระราชินี ตาม ป.อาญา มาตรา 110 จำนวน 3 ราย, ข้อหากระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดที่มิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติดชมโดยสุจริตเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน มาตรา 116 จำนวน 10 ราย และข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ตาม ป.อาญา มาตรา 368 ปรับ จำนวน 1 ราย ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำการผัดฟ้องและฝากขังทั้งหมด 78 ราย ได้มีการประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน หรือขอยื่นประกันตัวในชั้นศาล 70 ราย ยังคงมีผู้ถูกจับที่ยังไม่ได้รับการประกันตัวซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำ 8 คน แบ่งเป็น เรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ 1 ราย คือ นายอานนท์ นำภา เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 7 ราย ทั้งหมดเป็นแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม เช่น รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ , ไผ่ ดาวดิน โดยแยกอายุของผู้กระทำผิดดังนี้ อายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 4 ราย ผู้กระทำผิดส่วนใหญ่อายุ 20-30 ปี จำนวน 59 ราย อายุ 40-50 ปี จำนวน 7 ราย และอายุ 50 ปีขึ้นไป 11 ราย

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า มีการพยายามสร้างกระแสความเกลียดชังที่เกิดจากความเห็นต่างทางความคิดโดยการโพสต์ข้อความ ภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหว ภาพการ์ตูน ในลักษณะทำให้เกิดความเกลียดชังอีกฝ่าย ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติขอความร่วมมือกับประชาชนให้อารมณ์เย็นลง และระมัดระวังในการโพสต์ การส่งต่อข้อมูลหรือการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ให้ใช้สติให้มากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีในสังคม เพื่อลดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอันจะนำไปสู่ความรุนแรงในสังคม อีกประการหนึ่งในวันจันทร์ที่ 26 ต.ค. 63 จะมีการเปิดประชุมสภาวิสามัญขอให้ประชาชนให้ความสำคัญ และผ่านความคิดเห็นไปยังส.ส.ในเขตพื้นที่ เพื่อนำเสนอในสภา เพื่อหาทางออกให้กับประเทศโดยกลไกของรัฐสภา และการโพสต์อะไรต่างๆ ที่มีความสุ่มเสี่ยงถึงจะมีการยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปแล้ว ก็ยังมีกฎหมายอื่นร่วม เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องใช้ความระมัดระวัง

ขณะที่ พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ กล่าวเสริมว่า กรณีดำเนินคดีกับเยาวชน เป็นการดำเนินคดีตามข้อกฎหมาย แต่การพิจารณาความผิด บทลงโทษ จะเป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.เด็กเเละเยาวชน ซึ่งเยาวชนผู้ถูกดำเนินคดีจะถูกพิจารณาที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง

ส่วนการเตรียมความพร้อมรับมือกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีการนัดหมายในเวลา 15.00 น. บริเวณด้านหน้า สน.หัวหมาก และเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ขณะนี้ทาง พล.ต.ท.ภัคพงษ์ พงศ์เภตรา ผบช.น.ได้สั่งการให้ผู้บังคับการนครบาล 2 และผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ เข้าไปกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะมีจำนวนไม่มาก และหากมีการประกาศค้างคืน ตำรวจก็มีมาตรการในการรองรับ รวมทั้งหากมีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก จนตำรวจท้องที่ไม่สามารถดูแลได้ ก็สามารถร้องขอกำลังจาก บช.น.เพิ่มเติม เพื่อไปกำกับดูแลได้ ส่วนการดำเนินคดีกับผู้ร่วมชุมนุมที่ก่อความวุ่นวายทั้ง 2 ฝ่าย ในพื้นที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ขณะนี้ตำรวจได้มีการเรียกผู้เสียหายทั้งหมดมาให้ปากคำแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการสืบสวนดำเนินคดีกับผู้ที่ก่อเหตุต่อไป พร้อมยืนยันจะให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย

พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร.


กำลังโหลดความคิดเห็น