xs
xsm
sm
md
lg

คนกลัว ‘ม็อบ’ บานปลายจนไม่ใช้จ่าย ยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยดิ่งเหว!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิชาการ-นักธุรกิจ’ มั่นใจม็อบคณะราษฎร-เยาวชนปลดแอก ยึดที่มั่นราชประสงค์ไม่บานปลายเพราะประเด็นไม่ชัดเจน และม็อบกลุ่มหนึ่งปฏิเสธเรื่องล้มสถาบันฯ แถมแรงหนุนจากพรรคการเมืองมีน้อย ชี้หากการชุมนุมยืดเยื้อและมีการปะทะกับฝ่ายตรงข้ามจะกระทบเศรษฐกิจแน่ กลุ่มท่องเที่ยวทรุดอีก วอนประชาชนอย่าตื่นตระหนก จนไม่ใช้จ่ายเงิน ยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจให้แย่ลง ประธานสภาอุตฯ ชี้หากม็อบปลดแอกรุนแรงเหมือนเสื้อแดงจะกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน!

การสลายการชุมนุมของม็อบคณะราษฎรที่เข้ายึดทำเนียบรัฐบาล และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ เพียงแค่ชั่วข้ามคืน ทำให้สังคมมองว่าเป็นความกล้าหาญของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ม็อบเข้าขัดขวางขบวนเสด็จฯ และแสดงพฤติกรรมที่ดุดัน วาจาที่ก้าวร้าว จาบจ้วง ย่อมกระทบความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศ ที่สำคัญอาจนำไปสู่สถานการณ์บานปลายกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและซ้ำเติมสภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในช่วงวิกฤตให้ยิ่งแย่ลงไปในที่สุด










อีกทั้งม็อบคณะราษฎรก็แสดงเจตนาชัดเจนไม่ยอมยุติการชุมนุม แม้ระดับแกนนำจะถูกจับกุมไปแล้ว 20 กว่าคน ไม่ว่าจะเป็นนายอานนท์ นำภา นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และ ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นต้น

แต่ก็ยังมีความพยายามส่งไม้ต่อไปให้แกนนำรุ่นต่อๆ ไปที่มีการเปิดตัวบ้างแล้ว และบางคนยังไม่มีการเปิดตัวเพื่อออกมาเคลื่อนไหวภายใต้กลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือกลุ่มอื่น ซึ่งจะรวมตัวชุมนุมแฟลชม็อบไปเรื่อยๆ ตามจุดต่างๆ

นอกจากนี้ การออกมาเคลื่อนไหวของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ที่ได้ออกแถลงการณ์กรณีรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และเข้าสลายการชุมนุมของคณะราษฎร 2563 เป็นการกระทำที่ไม่มีความชอบธรรมและขัดต่อหลักการสากล ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง จึงเรียกร้องให้รัฐบาลบิ๊กตู่ ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทั้งหมด และให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ พร้อมตอบสนองข้อเรียกร้องของประชาชน มิฉะนั้นสถานการณ์จะลุกลามบานปลายขยายวงชุมนุมออกไปทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการผลักประเทศไทยให้เดินทางไปสู่จุดแตกหักได้เช่นกัน

จากนี้ไปประชาชนต้องจับตาดูว่าจะมีการเคลื่อนไหวของคณะก้าวหน้าและคณะราษฎรอย่างไร และการเคลื่อนไหวจะสามารถ ‘จุดติด’ จนนำไปสู่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร รวมทั้งประชาชนคนไทยควรจะเตรียมรับมือเศรษฐกิจที่จะเลวร้ายลงไปอีกอย่างไร

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่า การชุมนุมทางการเมืองถ้าบานปลาย ปักหลัก และมีผู้เข้าร่วมชุมนุมมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น จากไตรมาส 4 ที่คาดการณ์เศรษฐกิจขยายตัว 2-3% ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลอัดฉีดงบกระตุ้นเศรษฐกิจตามโครงการต่างๆ ทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 2-3 รอบเพื่อดึง GDP ให้ดีขึ้นจากทั้งปีติดลบ 4-5% จากเดิมติดลบ 7-8%

“หากชุมนุมยืดเยื้อ จะทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจ การอัดฉีดเงินของรัฐที่ลงไป ก็จะทำให้การหมุนเวียนในระบบเหลือเพียง 1-2 รอบ ทำให้ขยายตัวเหลือเพียง 1-1.5%”

ส่วนสิ่งที่ต้องติดตามคือการเคลื่อนไหวของคณะก้าวหน้าและคณะราษฎร ที่จะเกิดขึ้นจากนี้ไปว่าจะสามารถปลุกกระแสสังคมหรือจุดติดได้หรือไม่?

ปัจจุบันยังไม่มีตัวบ่งชี้ว่าสถานการณ์จะบานปลาย เพราะรัฐบาลสามารถควบคุมได้!

ในการชุมนุมครั้งนี้เชื่อว่าจะไม่สามารถนำไปสู่เหตุการณ์แบบ 6 ตุลาคม 2519 เพราะประเด็นการเรียกร้องไม่ชัดเจน มีทั้งไล่รัฐบาล ยุบสภา และล้มสถาบันฯ ซึ่งประเด็นล้มสถาบันฯ ทำให้คนจำนวนหนึ่งไม่เอาด้วย ก็เท่ากับเป็นการลดทอนจำนวนผู้ชุมนุมได้เช่นกัน


อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ของม็อบคณะราษฎรนำไปสู่การชุมนุมยืดเยื้อและชัดเจนแบบเดียวกับการชุมนุมปักหลักของกลุ่ม กปปส. และกลุ่มเสื้อแดง รวมทั้งมีการชุมนุมของอีกฝ่าย เช่น กลุ่มของ นพ.เหรียญทอง แน่นหนา กลุ่มพุทธะอิสระ ซึ่งประกาศพร้อมจะระดมพลออกมาก็อาจจะนำไปสู่การปะทะเกิดขึ้นได้เช่นกัน

ตรงนี้แหละ! ที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่าเป็นประเด็นสำคัญที่จะส่งผลกระทบและซ้ำเติมต่อภาวะเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง และจะทำให้เศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัว ช้าลงไปอีกหรืออาจติดลบเพิ่มขึ้นอีก 0.5-1%

“เกิดการปะทะรุนแรงบานปลาย รัฐบาลขาดเสถียรภาพ ต้องยุบสภา ซึ่งสถานการณ์เวลานี้มีความน่าจะเป็นไม่ถึง 10% แต่ถ้ามีอะไรพลิกผันให้เกิดในจังหวะที่เราเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้ และหนุนให้คนไทยเที่ยวในประเทศด้วย ก็จะเกิดปัญหารายได้จากการท่องเที่ยวไม่เป็นไปตามเป้า”

เมื่อนักท่องเที่ยวไม่เข้ามา รายได้จากธุรกิจที่ต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นที่พัก ร้านอาหาร สินค้าโอทอป การค้าขายต่างๆ หยุดชะงักไปหมด เศรษฐกิจมีปัญหาและประชาชนขาดความเชื่อมั่นก็จะไม่กล้าจับจ่ายใช้สอยกัน

“หากประชาชนเกิดความกังวล แล้วไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจซึมลงไปอีก จึงอยากให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก อยากให้ใช้จ่ายปกติ แต่ต้องเป็นการใช้จ่ายที่มีความระมัดระวัง ไม่ใช่ใช้จ่ายน้อยจนทำให้เศรษฐกิจแย่ไปอีก”

ดังนั้น ประชาชนจึงควรบริโภคข่าวสารทางการเมืองด้วยความระมัดระวัง อย่าตื่นตระหนกจนไม่มีการใช้จ่าย เพราะหากเกิดสถานการณ์ส่อเค้าจะไปถึงเช่นนั้นรัฐบาลจะต้องเร่งคลี่คลายปัญหาอย่างรวดเร็วเพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน!

 ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ และการเมือง
ด้าน ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ และการเมือง วิเคราะห์ว่า การชุมนุมในครั้งนี้ไม่ชัดว่าจะขยายวงไปได้มากน้อยเพียงใด ใช้เวลาชุมนุมกี่วัน ถ้าชุมนุมแค่ 2-3 วันก็ไม่น่าจะเกิดความรุนแรง และไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยในการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา มีผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุนเท่านั้น โดยหุ้นตกเนื่องจากความกังวลเรื่องการเมือง ขณะที่ต่างชาติถอนตัวจากตลาดพันธบัตร ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อเรียลเซกเตอร์ หรือการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ เนื่องจากตอนนี้นักลงทุนต่างชาติเองก็ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถขยายการลงทุนได้

อย่างไรก็ดี ดร.สมชาย มองว่า การชุมนุมไม่น่าจะขยายวงกว้างหรือเกิดความรุนแรง เนื่องจากปัจจัยทั้งจากฝ่ายผู้ชุมนุมและฝ่ายรัฐบาล โดยปัจจัยดังกล่าว ได้แก่

1.ประเด็นในการชุมนุมที่ไม่มีเอกภาพ ไม่สามารถสร้างประเด็นร่วมเพื่อดึงคนส่วนใหญ่เหมือนยุค 14 ต.ค.2516 ซึ่งทุกคนมีจุดร่วมว่ามาไล่รัฐบาล เนื่องจากการชุมนุมครั้งนี้มีผู้ชุมนุมหลายกลุ่ม กลุ่มหนึ่งก็เรียกร้องให้รัฐบาลลาออก และแก้รัฐธรรมนูญ ขณะที่อีกกลุ่มเรียกร้องในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ คือหากการชุมนุมครั้งนี้มุ่งไปที่การไล่รัฐบาล หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น คนจะเข้าร่วมเยอะ แต่พอมีประเด็นที่กระทบสถาบันฯ คนส่วนหนึ่งที่เคยร่วมชุมนุมก็ถอย คนใหม่ที่เคยคิดจะมาร่วมก็ไม่อยากมา การแตะสถาบันฯ ทำให้กำลังของม็อบลดลง

2.เป็นการชุมนุมที่ไม่มีแกนนำ เนื่องจากตอนนี้แกนนำถูกจับไปหลายคน เมื่อไม่มีแกนนำ การเคลื่อนขบวนก็ระส่ำระสาย

3.รัฐบาลมีเครื่องมือและวิธีการจัดการกับผู้ชุมนุมโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง แค่ค่อยๆ กระชับพื้นที่ และที่สำคัญรัฐบาลมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ในมือ

4.แรงหนุนจากพรรคการเมืองค่อนข้างน้อย เนื่องจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านอ่อนแอและไม่มีเอกภาพ จะเห็นได้ว่ามีเพียงพรรคก้าวหน้า และอดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ที่มาร่วมชุมนุม ส่วนพรรคเพื่อไทยซึ่งมีปัญหาภายในพรรคไม่ได้มาร่วมสนับสนุน ต่างจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ กลุ่มเสื้อแดง และ กปปส. ซึ่งมีพรรคการเมืองให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

“การชุมนุมของม็อบฮ่องกงก็ไม่มีการนำ แต่เขายึดโยงกันด้วยประเด็นร่วมคือความไม่พอใจเรื่องการออกกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่รัฐบาลจีน และไม่พอใจที่จีนเข้ามาแทรกแซงการบริหารงาน จึงสามารถชุมนุมได้เป็นระยะเวลานาน ขณะที่การชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนภายใต้ชื่อคณะราษฎรนั้น ข้อเสนอบางประเด็นคนก็ไม่เห็นด้วย บางคนไม่เอานายกฯ ประยุทธ์ แต่ก็ไม่พอใจที่กระทบสถาบันฯ”

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ขณะที่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรที่ราชประสงค์ซึ่งเป็นย่านการค้านั้น หากห้างร้านต่างๆ ยังสามารถเปิดขายและผู้คนสามารถเดินซื้อข้าวของได้ปกติก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร ยกเว้นว่าจะมีการทุบทำลายหรือเผาร้านค้าเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ก็จะกระทบต่อการค้าในย่านราชประสงค์และกระทบความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ


สำหรับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมนั้นโดยปกติแล้วไม่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม เนื่องจากการชุมนุมเกิดขึ้นในใจกลางเมือง ไม่ได้ชุมนุมใกล้นิคมอุตสาหกรรมจึงไม่มีผลต่อการผลิตหรือขนส่งสินค้า รวมถึงไม่มีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรมด้วย เพราะการลงทุนภาคอุตสาหกรรมนั้นจะพิจารณาจากความคุ้มค่าในการลงทุน สิทธิประโยชน์ ข้อกฎหมาย การขนส่ง และปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการผลิต และการจำหน่ายเป็นหลัก ยกเว้นว่าการชุมนุมจะส่งผลให้มีการปิดประเทศซึ่งจะกระทบต่อการขนส่งนั่นเอง!




กำลังโหลดความคิดเห็น