แบงก์รัฐลงสนามชิงเงินออมผ่านสลากออมทรัพย์ 2 ปี ธอส.ออกชุดเกล็ดดาว ชูจุดเด่นเลขท้ายเต็ง-โต๊ด ให้ดอกเบี้ย 0.4% แต่หน่วยละ 5 พันบาท เจ้าตลาดเดิมอย่างแบงก์ออมสิน หน่วยละ 100 บาท ดอกเบี้ย 0.1% เปรียบมวยเงินรางวัลออมสินให้มากกว่าแต่มีเงื่อนไขส่วน ธอส.แม้น้อยกว่าแต่ให้หมวดต่อหมวด นักการเงินแนะกระจายเงินรางวัล เพิ่มโอกาสถูกรางวัล
นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่สินค้าของธนาคารรัฐอย่างสลากออมทรัพย์ออกมาชนกัน ก่อนหน้านี้ มีเพียงสลากของธนาคารออมสินกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เท่านั้นที่สามารถออกสลากได้ เดิมสลากอายุ 3 ปีของธนาคารออมสินสามารถซื้อได้ตลอดเวลา อาจมีสลากออมสินอายุ 5 ปีออกมาบ้างเป็นช่วงๆ
ขณะนี้ธนาคารออมสินได้หยุดจำหน่ายสลาก 3 ปี และได้ออกสลากดิจิทัลอายุ 1 ปีและ 2 ปีมาระดมเงินแทน ส่วนสลากของ ธ.ก.ส.จะออกอายุ 3 ปีเป็นรอบๆ และบางครั้งทั้ง 2 ธนาคารก็เสนอการจำหน่ายสลากออมทรัพย์ในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน
แต่เมื่อธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้รับการอนุมัติให้ออกสลากเพื่อการระดมทุนได้ เท่ากับผู้เล่นในตลาดสลากออมทรัพย์เพิ่มขึ้นมาเป็น 3 ราย
สลากของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ถูกมองว่าเป็นสลากระดับบน เพราะมีราคาต่อหน่วยสูงในช่วงแรกเสนอขายในหลักล้านบาทต่อหน่วย สลากรุ่นที่มีราคาลดลงมา ได้แก่ รุ่นพิมานมาศ อายุ 3 ปี หน่วยละ 5 หมื่นบาท เงินรางวัลมีเพียง 10 รางวัล รางวัล 5 หมื่นบาท (36 งวด) และมีรางวัลพิเศษให้หมวดละ 2 รางวัล รางวัลละ 5 แสนบาท (ออกทุก 3 เดือน) ทำให้การเข้าถึงสลากออมทรัพย์ของธอส.มีกรอบจำกัดสำหรับผู้ที่มีเงินออมสูง
ล่าสุด ธอส.เตรียมออกสลากออมทรัพย์ ธอส.รุ่นที่ 4 ชุดเกล็ดดาว วงเงิน 15,000 ล้านบาท ราคาต่อหน่วยปรับลดลงมาเหลือ 5,000 บาท ก็ยังนับว่าสูงกว่าเจ้าตลาดเดิมอย่างของธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ที่มักขายที่ราคา 20-50-100 บาท หรืออย่างมากก็ไม่เกิน 500 บาทต่อหน่วย
ตอนนี้ธนาคารออมสินลงมาเปิดตลาดสลากอายุ 1 ปีและ 2 ปี โดยสลากออมสิน 2 ปีเปิดจำหน่ายเป็นรอบๆ ตามวงเงินที่ต้องการเมื่อครบก็จะปิดการจำหน่าย ล่าสุด ได้ปิดการจำหน่ายไปเมื่อ 5 ตุลาคม 2563 และจะเปิดจำหน่ายอีกครั้ง 17 ตุลาคม 2563 ขณะที่สลาก ธอส.เกล็ดดาว มีอายุ 2 ปีเช่นเดียวกัน เตรียมเสนอขายในวันที่ 20 ตุลาคมนี้หากผ่านการอนุมัติจากบอร์ดธนาคาร
ไม้เด็ดเกล็ดดาว-เต็ง-โต๊ด
น่าจับตามองถึงสลากอายุ 2 ปี ที่รอบนี้เป็นการช่วงชิงผู้มีเงินออมระหว่างธนาคารออมสินกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยสลาก ธอส.เกล็ดดาวได้ปรับรางวัลมาอยู่ในลักษณะเดียวกันกับสลากออมทรัพย์ของแบงก์รัฐทั้ง 2 ราย คือ มีรางวัลที่ 1 ที่ 2 และรางวัลเลขท้าย แต่แตกต่างกันบ้างในเรื่องจำนวนเงินรางวัล
คราวนี้ลองมาเปรียบเทียบสลากออมทรัพย์อายุ 2 ปีของธนาคารออมสิน และของ ธอส. เริ่มที่มูลค่าต่อหน่วยออมสิน 100 บาท สลากธอส. หน่วยละ 5,000 บาท ผลตอบแทนต่อหน่วยกรณีไม่ถูกรางวัล ออมสินให้ 0.1% ต่อปี ธอส.ให้ 0.4% ต่อปี
ในส่วนของเงินรางวัลสลากออมสินให้รางวัลที่ 1 รางวัลละ 5 ล้านบาท รางวัลที่ 2 รางวัลละ 1 ล้านบาท ส่วนสลาก ธอส.เกล็ดดาว รางวัลที่ 1 รางวัลละ 1 ล้านบาท รางวัลที่ 2 รางวัลละ 5 หมื่นบาท
กรณีนี้ดูเหมือนรางวัลของสลากออมสินให้มากกว่า ธอส. แต่สลากออมสินเฉพาะรางวัลที่ 1 และที่ 2 จะมีการสุ่มงวดและหมวดอักษร ทำให้โอกาสถูกรางวัลยากขึ้นไปอีก ส่วนของธอส.เป็นการให้เฉพาะหมวดเท่านั้น และรางวัลที่ 2 ของ ธอส.มี 4 รางวัล
หากตัดเรื่องรางวัลที่ 1-2 ทิ้งไป มาพิจารณาเฉพาะรางวัลที่ 3 ออมสินหมุน 5 ครั้ง รางวัลละ 1 หมื่นบาท ธอส.หมุน 20 ครั้ง รางวัลละ 5 พันบาท รางวัลที่ 4 ออมสินหมุน 10 ครั้ง รางวัลละ 3 พันบาท ธอส.หมุน 20 ครั้ง รางวัลละ 500 บาท รางวัลที่ 3 และ 4 ธอส.หมุนมากกว่า แต่เงินรางวัลน้อยกว่า ส่วนรางวัลที่ 5 ออมสินหมุน 15 ครั้ง รางวัลละ 1 พันบาท ของธอส.ไม่มีรางวัลที่ 5
สำหรับรางวัลเลขท้าย ออมสินมีเลขท้าย 4 ตัว หมุน 1 ครั้ง รางวัลละ 50 บาท เลขท้าย 3 ตัว หมุน 1 ครั้ง รางวัลละ 20 บาท ส่วนเกล็ดดาวของ ธอส.มีเลขท้าย 3 ตัว หมุน 1 ครั้ง รางวัลละ 100 บาท และยังให้รางวัลเลขสลับ (โต๊ด) รางวัลละ 50 บาท และมีเลขท้าย 2 ตัว หมุน 1 ครั้ง รางวัลละ 50 บาท รางวัลเลขสลับ (โต๊ด) รางวัลละ 20 บาท
รอบนี้สลากเกล็ดดาวของ ธอส.มาสร้างจุดเด่นที่รางวัลเลขท้าย หากพูดภาษาชาวบ้านคือให้รางวัลทั้งเลขเต็งและเลขโต๊ด ไม่ต่างไปจากระบบของหวยใต้ดินที่คนทั่วไปนิยมเล่นกัน รางวัลแบบนี้น่าจะดึงความสนใจของคนที่มีเงินออมได้ระดับหนึ่ง
ลองคำนวณก่อนซื้อ
คราวนี้หากมีเงิน 100,000 บาทสำหรับการซื้อสลาก เงินจำนวนนี้ซื้อสลากออมสินได้ 1,000 หน่วย เท่ากับว่าท่านจะถูกรางวัลเลขท้าย 3 ตัวทุกงวด งวดละ 20 บาท ตลอดทั้ง 24 งวด แต่เงิน 1 แสนบาทจะได้สลากของ ธอส.เพียง 20 หน่วยเท่านั้น ไม่เพียงพอต่อการถูกรางวัลเลขท้าย 2 ตัวทุกงวด หากหวังจะถูก 2 ตัวทุกงวดต้องซื้อสลาก 500,000 บาท เพื่อมีสิทธิถูกรางวัลตรง 50 บาท+สลับ 20 บาท เป็นเวลา 24 งวด
“กรณีไม่ถูกรางวัล ธอส.ให้ดอกเบี้ย 0.4% ถือว่าสูง ออมสินให้เพียง 0.1% หากมีเงิน 1 แสนบาท ซื้อสลากออมสิน 2 ปี กรณีไม่ถูกรางวัลอื่นท่านจะได้รับดอกเบี้ยต่อปี 100 บาท บวกกับรางวัลเลขท้าย 3 ตัวอีก 240 บาท รวมกันแล้วจะได้ผลตอบแทน 340 บาทต่อปี หากซื้อสลาก ธอส.เกล็ดดาว 1 แสนบาทเท่ากัน ท่านจะได้เพียง 20 หน่วย กรณีไม่ถูกรางวัลใดเลยที่ 0.4% เท่ากับจะได้ผลตอบแทน 400 บาทต่อปี”
จะเห็นได้ว่าการออกแบบรางวัลของสลากแต่ละธนาคาร จะถูกกำหนดให้มีความแตกต่างกัน เพื่อยากต่อการเปรียบเทียบ เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้สลากอีกรายลดความน่าสนใจลงไป และส่งผลต่อการจำหน่ายได้ยาก ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับต้นทุนของสลากโดยรวมว่าธนาคารจะกำหนดไว้เท่าใด ที่เหลือเป็นเรื่องการออกแบบเพื่อให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของต้นทุนที่ธนาคารผู้ออกสลากกำหนด
ดังนั้น สลากแต่ละรุ่นของแต่ละธนาคารจึงมีจุดเด่น จุดด้อยที่แตกต่างกัน สุดท้ายต้องไปวัดกันที่โชค ซึ่งโอกาสในการถูกรางวัลใหญ่มีความเป็นไปได้น้อย เช่นเดียวกับรางวัลเล็กสุดอย่างเลขท้ายที่ปรับลดลงมาจนเหลือเพียง 20 บาท หากต้องการถูกทุกงวดก็ต้องใช้เงินซื้อจำนวนไม่น้อย แต่เมื่อคำนวณกลับไปเป็นผลตอบแทนแล้วบางรุ่นอาจต่ำกว่าการฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์ด้วยซ้ำ (กรณีไม่ถูกรางวัลใหญ่)
โหยหา-จำทน
หลังจากที่ธนาคารออมสินหันหลังมาให้น้ำหนักในการออกสลากรุ่น 2 ปีมากขึ้น แต่การจำหน่ายเป็นไปตามวงเงินที่ตั้งไว้ เช่น 1 หมื่นบาท เมื่อครบก็ปิดการจำหน่าย รอระยะหนึ่งแล้วจึงเปิดขายรอบใหม่ ก่อนหน้านี้สลาก 2 ปีของออมสินหยุดจำหน่ายในช่วง 18 กันยายนและเปิดจำหน่ายอีกครั้ง 2 ตุลาคม 2563 วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เพียงไม่กี่วันธนาคารแจ้งหยุดจำหน่ายเมื่อ 5 ตุลาคมเปิดจำหน่ายอีกครั้ง 17 ตุลาคม 2563
ถือว่าสลากออมสินยังได้รับการตอบรับที่ดีจากคนต้องการออมเงิน แม้ตัวผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยจะลดลง หรืออาจมีการปรับลดเงินรางวัลลงในรุ่นต่อๆ ไป
ตอนนี้ผลตอบแทนจากการออมเงินถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก สถาบันการเงินผู้ออกผลิตภัณฑ์ต่างลดอัตราผลตอบแทนกันแทบทุกราย อย่างสลากของธนาคารออมสิน 1 ปี ก็ไม่มีอัตราดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือสลากเช่นกัน ต้องลุ้นเรื่องของเงินรางวัลแทน
นาทีนี้ในตลาดเงินออมไม่มีตัวเลือกมากนัก ธนาคารพาณิชย์ไม่มีโปรโมชันพิเศษเงินออมออกมา พันธบัตรรัฐบาลแม้จะได้ผลตอบแทนสูงกว่า แต่ระยะเวลาถือครองค่อนข้างนาน
คนที่เลือกออมเงินผ่านสลากออมทรัพย์แม้จะทราบดีว่าผลตอบแทนลดลงไปมาก แต่ทุกคนก็ยังหวังเรื่องของโชคและเงินรางวัล เงินต้นไม่สูญ อาจเลือกเป็นช่องทางในการพักเงินเพื่อรอทิศทางของดอกเบี้ยในโอกาสต่อไป
เสนอกระจายรางวัล-เพิ่มโอกาส
นักบริหารเงินรายหนึ่งให้ความคิดเห็นว่า ผลจาก Covid-19 ทุกคนทราบดีว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ทั่วทั้งโลกอยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาลง ส่วนจะลงลึกแค่ไหน นานแค่ไหน ไม่มีใครให้คำตอบได้ ส่งผลต่อผู้ที่ต้องการออมเงินได้รับผลตอบแทนน้อยลง กลุ่มคนวัยเกษียณไม่สามารถนำเอาเงินออมทั้งชีวิตมาหาดอกผลเพื่อใช้เลี้ยงชีพเหมือนยุคก่อนๆ
ที่ผ่านมา ภาครัฐได้ให้ความช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณ ด้วยการให้สิทธิในการจองซื้อพันธบัตรรัฐบาลก่อนบุคคลทั่วไป หรือมีบัญชีเงินฝากพิเศษให้แก่ผู้สูงวัย
การเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนที่เดือดร้อนจากพิษ Covid-19 เป็นแนวทางที่ทำกันทั่วโลก ไม่ว่าจะด้วยวิธีแจกเงินโดยตรงหรือแนวทางอื่นๆ ผลตอบแทนจากการออมเงินก็เป็นอีกหนึ่งแนวทาง แม้จะสวนทางกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย ในทางปฏิบัติแล้วภาครัฐคงไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงกลไกในเรื่องอัตราดอกเบี้ยได้ แต่น่าจะให้แนวทางกับธนาคารรัฐได้ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ตั้งใจออมเงิน โดยไม่จำเป็นที่ต้องให้ดอกเบี้ยพิเศษ เพราะถือเป็นการแทรกแซงตลาด ซึ่งสุดท้ายก็จะไม่สามารถทำลักษณะดังกล่าวได้ตลอดไป
อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ออมเงินผ่านการออมสลากออมทรัพย์ของธนาคารรัฐทั้ง 3 แห่ง โดยที่รัฐและธนาคารผู้ออกสลากไม่ต้องมีต้นทุนเพิ่ม นั่นคือ การซอยเงินรางวัลของสลากออมทรัพย์ลง กระจายรางวัลใหญ่แตกออกเป็นหลายรางวัล เช่น รางวัลที่ 1 หรือ 2 อาจใช้การหมุนหลายๆ ครั้ง รวมไปถึงรางวัลอื่น ใช้เงินรางวัลที่ตั้งไว้เดิมแล้วซอยออกมา เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ซื้อสลากถูกรางวัลมากขึ้น
แน่นอนว่าอาจมีผู้ซื้อสลากบางรายไม่เห็นด้วย เพราะคนที่มีเงินออมมากต่างก็หวังว่าหากโชคดีจะได้รับรางวัลใหญ่ แม้ว่าจะมีโอกาสน้อยมากก็ตาม ตรงนี้ธนาคารผู้ออกสลากอาจแก้ใช้วิธีออกสลากอีกรุ่นหนึ่งออกมา เงินรางวัลใหญ่ไม่สูง แต่หมุนหลายครั้ง เพื่อตอบโจทย์คนที่มีรายได้น้อย จูงใจให้ออมเงิน เพิ่มโอกาสของการได้รับผลตอบแทนที่ดีให้เพิ่มขึ้น
พื้นฐานของคนออมเงินผ่านสลากคือเงินต้นไม่สูญ มีโอกาสลุ้นรางวัล ที่ผ่านมาบางคนซื้อสลากเป็นล้านบาทถูกแค่เลขท้ายเท่านั้น จนต้องถอยออกจากตลาดนี้ไป คนที่ซื้อสลากจำนวนไม่น้อยไม่ได้หวังเรื่องถูกรางวัลใหญ่มากนัก แต่ถ้าเพิ่มโอกาสในการถูกรางวัลให้มากขึ้น แม้เงินรางวัลอาจจะไม่สูงนักเชื่อว่าแนวคิดนี้น่าจะตอบโจทย์คนออมที่มีรายได้น้อยได้เป็นอย่างดีและช่วยเพิ่มดอกผลของการออมด้วยวิธีนี้