xs
xsm
sm
md
lg

คดี ‘เหมืองทองอัครา’ WIN-WIN หลังเจรจาพบทางออกร่วมกัน!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาผลการเจรจารัฐบาลไทยกับ ‘คิงส์เกต’ กรณีใช้คำสั่ง ม.44 ปิดเหมืองทองอัครา หลังอนุญาโตตุลาการฯ ให้ทั้ง 2 ฝ่ายไปเจรจาหาทางออกร่วมกัน เชื่อ 2 ฝ่าย Win-Win ระบุ ‘การเปิดใจ-ลดราวาศอก’ ทำให้พบทางออก ขณะที่คิงส์เกต ยืนยันถ้าตรงไหนผิดก็ยอมรับ ขอแค่ ‘อย่ากลั่นแกล้ง’ ส่วนคดีความต่างๆ ทั้ง ป.ป.ช.-ดีเอสไอ ยังคงเดินหน้าต่อไป ชี้หากเหมืองทองอัครา เปิดได้ มีม็อบเคลื่อนไหวต่อต้านแน่ ขณะเดียวกัน อาจมี ‘ทุนไทย’ เข้าร่วม!?

ดูเหมือนว่าเรื่องของเหมืองทองอัครา กำลังจะได้ข้อยุติแบบ Win-Win ทั้ง 2 ฝ่าย จากการที่บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ถือประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำชาตรีครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ได้ยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ฟ้องรัฐบาลไทย ใช้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ระงับตั้งแต่กระบวนการผลิต การต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ การสำรวจ การต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ จนนำไปสู่การปิดเหมืองทองอัครา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา


โดยระหว่างก่อนเข้าสู่และเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตฯ แล้วก็ตาม บริษัท คิงส์เกตฯ และบริษัท อัคราฯ ก็ได้พยายามเข้าหารือกับทั้งทางรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ แต่ก็ไม่สำเร็จ!

เพราะต่างฝ่ายต่างก็ถือหลักฐานที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะรัฐบาลไทยทำทุกอย่างก็เพื่อปกป้องชีวิตและสุขภาพ ‘คนไทย’ ไม่ต้องเผชิญกับมลพิษที่เกิดจากกระบวนการทำงานของเหมืองทองอัครา

“รัฐบาลมีหลักฐานและเหตุผลเพียงพอในการใช้ ม.44 ปิดเหมืองอัคราเป็นการชั่วคราว แต่ยังเปิดโอกาสให้บริษัท อัคราฯ สามารถยื่นขออนุญาตในการดำเนินงาน รัฐบาลมีหลักฐานและเหตุผลเพียงพอในการใช้ ม.44 ปิดเหมืองอัคราเป็นการชั่วคราว แต่ยังเปิดโอกาสให้บริษัท อัคราฯ สามารถยื่นขออนุญาตในการต่อได้ แต่อัคราฯ กลับไม่เคยมายื่น”

ขณะที่บริษัท อัคราฯ ก็ยืนยันว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองทั้งหมด ทั้งในเรื่อง พ.ร.บ.เหมืองแร่ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม และเรื่องการดูแลสุขภาพประชาชนที่อยู่รอบๆ เหมืองทองอัครา โดยอ้างอิงเอกสารที่เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เหมืองทองอัคราได้ดำเนินการตรวจสอบทุกครั้งควบคู่กับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม


เมื่อสถานการณ์ต่างๆ เข้าสู่ขั้นตอนของกระบวนการอนุญาโตฯ ทั้งฝ่ายรัฐบาลไทยและฝ่ายบริษัท คิงส์เกตฯ จึงต้องหาหลักฐานขึ้นมาต่อสู้และหักล้างข้อมูลอีกฝ่ายให้ได้ โดยส่งข้อมูลทั้งในรูปเอกสารและบุคคล ขึ้นชี้แจงต่อคณะอนุญาโตฯ ไปแล้วเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งช่วงนั้นดูเหมือนเกมการต่อสู้จะรุนแรงจนยากที่จะหาข้อสรุปหรือหันหน้าพูดคุยกันได้

“ในระหว่างที่อนุญาโตฯ ยังไม่มีการตัดสินชี้ขาดใดๆ ก็มีเงื่อนไขให้รัฐบาลไทยและคิงส์เกตฯ ที่ใช้สิทธิทาฟตานำข้อพิพาทเข้าสู่อนุญาโตฯ ตัดสิน ไปเจรจาปรองดองกัน ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่ 2 ของกระบวนการอนุญาโตฯ”

สำหรับขั้นตอนในการพิจารณาคดีของอนุญาโตฯ ขั้นตอนที่ 1 เป็นขั้นตอนในการต่อสู้ได้จบไปแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนที่ 2 คือให้คู่กรณีไปหาทางเจรจากันเพื่อให้ได้ข้อยุติ แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 คือการตัดสินชี้ขาดของอนุญาโตฯ ตามหลักฐานทางเอกสาร การชี้แจงของบุคคลที่ให้การไว้แล้ว แต่ถ้าสามารถเจรจาจบลงกันได้ก็เป็นอันยุติ

นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจา และเป็นแค่การเริ่มต้น แต่บอกได้ว่าเป็นแนวโน้มที่ดี ซึ่งจะต้องพยายามทำให้ดีที่สุด แต่บอกไม่ได้ว่าจะจบอย่างไร จบเมื่อไหร่

“ต่างฝ่ายต่างมีเจตนาที่ดีต่อกัน ต้องพยายามทำให้ดีที่สุด หรือที่พูดกันว่าไม่ให้เสียค่าโง่ ”

ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยได้อนุญาตให้บริษัท อัคราฯ นำกากตะกอนประกอบด้วยทองคำประมาณ 4,750 ออนซ์ และเงิน 34,800 ออนซ์ รวม 42,550 ออนซ์ ซึ่งเกิดจากกระบวนการแยกแร่ ซึ่งตกค้างอยู่ที่สายการผลิตหลังจากเหมืองถูกคำสั่งระงับออกไปขายได้


“การอนุญาตเอาสินแร่ออกไปได้ไม่เกี่ยวกับเรื่องเจรจาหรือเป็นการส่งสัญญาณให้มีการเปิดเหมืองอัครา แต่เป็นไปตาม พ.ร.บ.แร่ฯ ปี 2560 และกติกาใหม่ ห้ามมิให้มีการจำหน่ายทองคำไปต่างประเทศ ต้องสกัดให้บริสุทธิ์ในประเทศ ที่ผ่านมา บริษัทยืนยันว่าต้องเอาไปสกัดให้บริสุทธิ์ที่ต่างประเทศจึงไม่สามารถอนุญาตได้ แต่ครั้งนี้บริษัทยินยอมสกัดในประเทศจึงอนุญาต”

ขณะที่เว็บไซต์บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย เผยแพร่จดหมายข่าวล่าสุดชื่อเรื่อง “อัปเดตเรื่องการสกัดทองที่เหมืองแร่ทองคำชาตรี” ระบุว่า “ยินดีอย่างยิ่งที่จะประกาศว่าเหมืองทองอัคราได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทยให้ขายผงแร่ทองคำและเงินซึ่งมีมูลค่าสูงที่คงค้างอยู่ในเหมืองแร่ทองคำชาตรีแก่โรงงานสกัดในประเทศไทยเพื่อดำเนินการถลุงแร่แล้ว

พร้อมระบุด้วยว่า ผงแร่ทองคำและเงินดังกล่าวหมายถึงวัตถุที่ได้ผ่านขั้นตอนการทำความสะอาดจากโรงประกอบโลหกรรม โดยภายหลังที่เหมืองทองอัคราระงับกิจการไปตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2559 วัตถุดังกล่าวยังถือว่าเป็นทรัพย์สินของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผงแร่ทองคำและเงินที่ได้แบ่งเป็น ทองคำ 4,750 ออนซ์ และเงิน 34,800 ออนซ์ มีมูลค่า 14 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือเกือบ 320 ล้านบาท คำนวณจากราคาทอง 2,678 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว 61,000 บาทต่อออนซ์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 โดยยังไม่หักค่าใช้จ่ายด้านค่าภาคหลวง ค่าขนส่ง และค่าสกัดทอง

“บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้บรรลุข้อตกลงกับโรงงานสกัดของไทยที่จะเดินหน้าสกัดแร่ตามกฎหมายใหม่ที่เกี่ยวข้องที่ประสงค์ให้ทองคำที่ได้จากการทำเหมืองในประเทศถูกสกัดภายในประเทศไทย ส่วนการขนส่งผงแร่ไปยังโรงงานสกัดได้เริ่มต้นดำเนินการแล้ว”


แม้การปฏิบัติงานดังกล่าวได้ล่วงเลยกำหนดเวลามานานแล้ว คิงส์เกตฯ มองว่าแม้จะเป็นความคืบหน้าก้าวเล็กๆ แต่นับเป็นความคืบหน้าเชิงบวก และดูเหมือนเป็นการแสดงออกถึงความจริงใจที่ชี้ให้เห็นถึงความยินดีของรัฐบาลไทยที่พร้อมจะเข้าสู่การเจรจาเพื่อหาทางออกระหว่างสองฝ่าย ซึ่งเป็นกระบวนการที่บริษัท คิงส์เกตฯ เองพยายามดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว” จดหมายระบุ พร้อมลงนามโดย รอส สมิธ-เคิร์ก ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด วันที่ 10 ก.ย.2563

ดังนั้น การสกัดในประเทศไทยได้ จึงมีความหมายที่คนในแวดวงเหมืองเชื่อว่าทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมไทย เพราะที่ผ่านมา บริษัท อัคราฯ จะส่งไปสกัดที่ฮ่องกง เป็นต้น

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล บอกว่า กรณีเหมืองทองอัครา เข้าสู่กระบวนการเจรจาประนีประนอมซึ่งทุกอย่างมีแนวโน้มที่ดี และประเทศไทยไม่เสียเปรียบแน่นอน และจากการเจรจาทำให้รู้ว่าบางเรื่องเป็นความเข้าใจผิดที่ทางบริษัท คิงส์เกตฯ เข้าใจว่ารัฐบาลไทยกลั่นแกล้ง แต่เมื่อพูดคุยกันแล้วก็ทำให้เข้าใจตรงกันได้

“ถึงได้บอกว่าเป็นทิศทางที่ดี สิ่งที่คิงส์เกตฯ ย้ำก็คือ ถ้าสิ่งใดที่เขาทำผิดก็ยอมรับผิด ขอเพียงอย่ากลั่นแกล้งกัน สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ทำให้ทั้งสองฝ่ายยอมลดราวาศอก ที่ผ่านมา พูดกันว่ากรมเหมืองไม่อนุญาต ทั้งๆ ที่อัคราฯ ไม่เคยยื่นเรื่องเข้ามา เพราะคิดว่ายื่นมาก็ไม่อนุญาต เมื่อคุยกันรู้เรื่อง คดีความต่างๆ ที่อยู่ในขั้นสอบสวนตามกฎหมายไทยก็เดินหน้าต่อไปภายใต้บรรยากาศการเจรจาที่เป็นบวกมากขึ้น”


สำหรับคดีความที่ดำเนินการสอบสวนต่อไปนั้น เช่น เรื่องของสินบนข้ามชาติที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้สอบสวนอยู่ในเวลานี้ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประมาณปี 2558 โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ข้อมูลและหลักฐานบางอย่างจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์และการลงทุนของประเทศออสเตรเลีย (Australian Securities and Investment Commission : ASIC) ส่งมาให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งพบว่ามีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย ที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย ถูกร้องเรียนว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำการทุจริตในการขุดเหมืองแร่ทองคำในไทย

โดยมีการโอนเงินจากประเทศออสเตรเลียมายังประเทศไทย ที่อาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการขอใบอนุญาตขุดเหมืองแร่ทองคำ หรือเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจเหมืองแร่ทองคำ พร้อมทั้งให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐในประเทศไทยด้วย

อีกทั้งที่อยู่ในการพิจารณาของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีที่เหมืองอัคราถูกกล่าวหามีความผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และ พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 ในการดำเนินกิจการเหมืองแร่โดยเข้ายึดถือครอบครองพื้นที่ป่าและรุกล้ำเขตพื้นที่ทางหลวง โดยเหตุเกิดบริเวณตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์

“เรื่อง ป.ป.ช. และ ก.ล.ต.ออสเตรเลีย หรือการฟอกเงิน คิงส์เกตฯ มีความมั่นใจมากว่าไม่มีอะไรที่จะเอาผิดได้ เพราะทุกอย่างทำถูกต้องและชัดเจน หากมีจริงรัฐบาลไทยสามารถขอข้อมูลไปทาง ก.ล.ต.ออสเตรเลียได้แล้ว แต่นี่ไม่มี ถึงเชื่อว่าการเจรจาครั้งนี้จะมีทางออกและจบได้ เรียกว่า Win-Win ทั้ง 2 ฝ่าย คือรัฐบาลไทยและคิงส์เกตฯ”



แต่สิ่งที่น่าห่วงก็คือ เพียงแค่มีข่าวสะพัดว่ารัฐบาลบิ๊กตู่ จะอนุญาตให้เหมืองทองคำชาตรี ดำเนินการต่อไปได้ ปัญหาที่จะตามมาก็คือจะเกิดการประท้วงของประชาชนกลุ่มที่ต่อต้านเหมืองอัคราว่าเป็นตัวการทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชนจะออกมาเคลื่อนไหวทันที ขณะที่ประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่บริเวณเหมืองอัครา ซึ่งต้องการให้เหมืองเปิดดำเนินการได้ เพราะเชื่อว่าจะทำให้ประชาชนกลุ่มนี้ลืมตาอ้าปากได้ มีงานทำ มีรายได้ในท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้น และพวกเขากำลังจะอดตาย จะไม่สามารถทำอะไรได้เลย

นี่คือปมปัญหาใหญ่ที่รัฐบาล พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องแบกรับท่ามกลางกระแสข่าวลือว่าเหมืองอัคราจะต้องเปิดให้ได้ และต้องจับตากันให้ดีจะมี ‘ทุนไทย’ เข้าไปร่วมหรือไม่?

เพราะที่นั่นยังมีขุมทรัพย์มหาศาล จากข้อมูล กพร.เชื่อว่าในบริเวณเหมืองทองอัคราในส่วนที่ยังไม่ได้ประทานบัตรและจะต้องดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ มีสินแร่ทองคำ แร่เงิน และสายแร่อื่นๆ ตีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นล้านบาท


ส่วนข้อมูลจากบริษัท อัคราฯ ซึ่งวัดจากปริมาณสำรองแร่ ที่สามารถพัฒนามาใช้ประโยชน์ได้ ณ ปี 2562 เป็นแร่ทองคำ 890,000 ออนซ์ คิดเป็นวงเงินประมาณ 37,020 ล้านบาท และแร่เงิน 8,900,000 ออนซ์ คิดเป็นวงเงินประมาณ 4,272 ล้านบาท รวมมูลค่าทั้งสิ้น 41,292 ล้านบาท

“ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลตามที่คิงส์เกตฯ ประกาศไว้ในเว็บไซต์นั้นเป็นเพียงเศษทองที่อยู่ในโรงประกอบโลหการที่ถูกสั่งหยุด ไม่สามารถขนย้ายหรือสกัดต่อได้เท่านั้น ซึ่งสินแร่นี้ก็ต้องใช้โรงงานถลุงในไทยตามกฎหมายใหม่แล้ว”

จากนี้ไปต้องจับตาดูว่าผลการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยและบริษัท คิงส์เกตฯ จะออกมา Win-Win จริงหรือไม่?




กำลังโหลดความคิดเห็น