xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านจันทบุรี 500 คนบุก ก.อุตฯ ไม่เอาเหมืองทองคำ ขีดเส้น 31 ต.ค.ไม่ยุติสำรวจบุกทำเนียบฯ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มชาวบ้านจันทบุรี 500 คนฮือบุกกระทรวงอุตสาหกรรมไม่เอาเหมืองแร่ทองคำ หลัง “ริชภูมิ ไมนิ่ง” ปิดป้ายทำการสำรวจวันที่ 27 ส.ค. ขีดเส้นหาก 31 ต.ค.นี้ไม่ยุติสำรวจยกระดับบุกไปทำเนียบรัฐบาล ขณะที่ “กพร.” ย้ำแจ้งไปตามขั้นตอนยังไม่ได้อนุมัติประทานบัตรดำเนินการแต่อย่างใด

นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยภายหลังรับหนังสือจากกลุ่มคนจันทบุรีไม่เอาเหมืองแร่ทองคำราว 500 คน ที่ได้ยื่นคัดค้านการออกอาชญาบัตรสำรวจแร่ทองคำพื้นที่บริเวณ ต.พวา และ ต.สามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว เพื่อสำรวจและผลิตเหมืองทองคำ ของบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง (บริษัทลูกของ บ.อัครา รีซอร์สเซส) ที่กระทรวงอุตสาหกรรมวันนี้ (8 ต.ค.) ว่า กพร.ขอย้ำว่าเรื่องดังกล่าวยังไม่ได้มีการอนุญาตให้บริษัทหรือผู้ประกอบการรายใดเข้าสำรวจพื้นที่ เพียงแต่มีการปิดป้ายประกาศว่าพื้นที่ดังกล่าวจะทำการสำรวจแร่ตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมาเพื่อให้ประชาชนรับทราบ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของกระบวนการโดยยังไม่ได้มีการให้ประทานบัตรดำเนินการแต่อย่างใด

“การติดป้ายดังกล่าวอาจทำให้ประชาชนไม่พอใจ ซึ่งยืนยันว่าเป็นการปิดป้ายแจ้งให้ประชาชนรับทราบเป็นไปตามขั้นตอนของกระบวนการที่ได้อาชญาบัตรพิเศษในการสำรวจ แต่ยังไม่ได้เข้าไปดำเนินการใดๆ และยังไม่ได้อนุมัติให้ทำเหมืองแร่” นายวิษณุกล่าว


นายทิวา แตงอ่อน แกนนำกลุ่มคนจันทบุรีไม่เอาเหมืองแร่ กล่าวว่า ชาวจันทบุรีได้เดินทางมายังกระทรวงอุตสาหกรรมมายื่นคัดค้านเมื่อเวลา 13.00 น. โดยเห็นว่าหากภายในวันที่ 31 ต.ค.นี้ยังไม่มีการยุติการยื่นสำรวจเหมืองแร่ดังกล่าวก็จะยกระดับการคัดค้านด้วยการเดินทางไปยื่นหนังสือกดดันรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล

ทั้งนี้ คำขอของ บ.ริชภูมิ ได้ขอสำรวจรวมพื้นที่ 14,650 ไร่ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรง 22 หมู่บ้าน ใน ต.พวา และ ต.สามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ที่ทางอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรีติดประกาศแจ้งให้ทราบถึงการเข้าพื้นที่สำรวจเมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา แม้ว่าขั้นตอนดังกล่าวจะเป็นเพียงการขอสำรวจพื้นที่แต่ก็เป็นกระบวนการเริ่มต้นของการนำไปสู่การออกประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ในอนาคต ดังนั้น เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ชุมชนและประชาชนอย่างรุนแรงทั้งด้านสุขภาพ และผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดจันทบุรี จึงรวมตัวกันเข้ามาแสดงการคัดค้าน เพราะขั้นตอนตั้งแต่ระเบิดหิน การแต่งแร่ และการประกอบโลหกรรม มีการใช้สารเคมีที่เป็นพิษในปริมาณมาก โดยเฉพาะสารไซยาไนด์ที่จะเป็นอัตรายต่อสุขภาพชุมชน และสิ่งแวดล้อม

“บริเวณที่จะสำรวจอยู่ในพื้นที่ติดกับป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ซึ่งเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ผืนสุดท้ายของภาคตะวันออก มีเนื้อที่ประมาณ 1,200,000 ไร่ ประกอบด้วย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน, อุทยานแห่งชาติเขาวง-เขาชะเมา, อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น, อุทยานแห่งชาติเขาสอยดาวและอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ” นายทิวากล่าว






































กำลังโหลดความคิดเห็น