xs
xsm
sm
md
lg

‘สุริยะ’ เสนอ ครม.ต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ มูลค่าแห่งละ 3 พันล้าน ถูกตรวจยิบ!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาการอนุมัติต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ยุค ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ เพื่อขออนุมัติ ครม. แต่ละแห่งมูลค่ากว่า 2-3 พันกว่าล้านบาท โดยเฉพาะเหมืองแร่ของ ‘พีรพลศิลา’ กว่า 3.3 พันล้านบาท เจอมวลชนคัดค้านเพราะกรมศิลปากร ไร้จุดยืน ‘โบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา’ อยู่ในเขตเหมืองแร่หรือไม่ ระบุ ‘พีรพลศิลา’ เตรียมฟ้องระหว่าง ‘กพร.-กรมศิลปากร’ ใครกันแน่เป็นฝ่ายผิดจนทำให้ไม่สามารถต่ออายุประทานบัตรได้ ขณะที่ ‘พลัดแอกอุตสาหกรรมเหมืองแร่’ มีกลิ่นตุๆ ต้องตรวจสอบ และเหมืองแร่ของนายลำพูน กองศาสนะ มูลค่า 3,562 ล้านบาท ครม. สั่งให้ ก.อุตสาหกรรม ไปทบทวนแล้วค่อยเสนอเข้า ครม.อีกครั้ง !

ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เสนอขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เพื่อทำเหมืองแร่ของบริษัทต่างๆ เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 เรื่องการอนุญาตให้เข้าทำประโยชนในพื้นที่ป่าได้ กำหนดเกี่ยวกับการต่ออายุการอนุญาตในที่ดินเดิมที่เคยได้อนุญาตมาก่อน กรณีเป็นคำขออนุญาตที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ต้องเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเป็นรายๆ ไป

แต่ดูเหมือนว่าโครงการต่างๆ ที่เสนอเข้ามาใหม่นั้น จะเป็นการเสนอขอผ่อนผันใช้ที่ดินเดิมเพื่อทำเหมืองแร่ และมีการเสนอขอขยายพื้นที่บางส่วนออกไปอีก

“แบบนี้เท่ากับ 2 คำขอ คือ เป็นคำขอต่ออายุประทานบัตรแปลงเดิม และต้องเป็นคำขอประทานบัตรใหม่ในส่วนที่ขยายออกไป แต่เกือบทุกโครงการเป็นคำขอเดียวกัน ว่ากันว่าทำแบบนี้เป็นการเลี่ยงบาลีหรือเปล่า เรื่องนี้ ครม.จึงต้องดูให้ละเอียด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องของสิ่งแวดล้อม และกระทบต่อชุมชนตามมา”


โดยเฉพาะคำขอเพื่อทำเหมืองแร่ของห้างหุ้นส่วนจำกัด พีรพลศิลา ที่ได้ยื่นขอต่ออายุประทานบัตรการทำเหมืองแร่ซึ่งเป็นแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่ตำบลลิดล อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เนื้อที่ 56 ไร่ 1 งาน 57 ตารางวา ซึ่งทับพื้นที่ประทานบัตรเดิมของห้างฯ เองเต็มทั้งแปลง เนื้อที่ 40 ไร่ 3 งาน 05 ตารางวา และขอขยายพื้นที่บางส่วน เนื้อที่ 15 ไร่ 2 งาน 52 ตารางวา ซึ่งอยู่ในแหล่งหินอุตสาหกรรมที่ ครม.ได้มีมติเห็นชอบไปแล้วเมื่อปี 2540

“พื้นที่ตรงนี้จะเป็นการรวมแผนผังโครงการทำเหมืองเดียวกับคำขอของห้างหุ้นส่วนจำกัด ธนบดีศิลา รวมพื้นที่ 86 ไร่ 97 ตร.ว. แต่เป็นพื้นที่ทำเหมืองรวม 68.2 ไร่ มีปริมาณสำรองแร่ รวม 18.3 ล้านเมตริกตัน คิดเป็นมูลค่ารวม 3,300 ล้านบาท”

อย่างไรก็ดี นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ก็ได้เข้าชี้แจงต่อ ครม.เรื่องคำขอประทานบัตรของห้างฯ พีรพลศิลา ว่าเป็นพื้นที่ประทานบัตรเดิมที่เคยมีการทำเหมืองแร่มาก่อนทั้งแปลงและมีการขยายพื้นที่เพิ่มเติม มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบสำหรับคำขอประทานบัตรดังกล่าวไว้แล้ว

ที่สำคัญพื้นที่ดังกล่าวอยู่นอกเขตโบราณสถานเขายะลา โดยอยู่ห่างกันประมาณ 1.5 กิโลเมตร และได้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่แล้วไม่มีผู้คัดค้าน

อีกทั้งในรายงานผลกระทบของแรงระเบิดจากการทำเหมืองในพื้นที่เขายะลาต่อพื้นที่บริเวณโดยรอบปรากฏว่า แรงสั่นสะเทือนจากการระเบิดจะไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่โดยรอบที่มีระยะห่างจากพื้นที่ทำเหมืองเกินกว่า 500 เมตร


“กพร.ยืนยันต่อ ครม.ว่าการทำเหมืองในพื้นที่ประทานบัตรไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโบราณสถานเขายะลาแน่นอน”

แต่ในความเป็นจริงเหมืองแร่แปลงนี้กำลังมีปัญหาและมีมวลชนเคลื่อนไหวคัดค้านในการออกประทานบัตร เนื่องจากก่อนหน้านี้พื้นที่เหมืองแปลงนี้ไม่ได้อยู่ในเขตโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลาทำให้ ‘กพร.’ เสนอขอผ่อนผันไปยัง ครม.และพิจารณาออก

“เมื่อ กพร.จะออกประทานบัตร ปรากฏว่ากรมศิลปากรมาออกประกาศว่าอยู่ในเขตโบราณสถาน จึงไม่สามารถทำเหมืองได้ เอกชนก็มีการวิ่งเต้นเกิดขึ้น ผลปรากฏว่ากรมศิลปากรมีการขีดเส้นกันใหม่ พื้นที่เหมืองจึงอยู่นอกเขตประมาณ 1.5 กม. ก็แปลว่าเหมืองนี้ออกประทานบัตรได้ และสามารถทำเหมืองได้”

ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาก็คือเครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลาได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน ชี้ให้เห็นว่าการกระทำดังกล่าวของหน่วยราชการเสมือนเจตนาช่วยผู้ประกอบการเหมืองโดยไม่ดูว่าการระเบิดหินในเขตโบราณสถาน มีความเสี่ยงทำภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์เสียหาย

แหล่งข่าวกล่าวว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด พีรพลศิลา จึงได้เดินทางไปที่ กพร.เพื่อขอความชัดเจนในเรื่องนี้ และแนวโน้มจะมีการฟ้องร้องกรมศิลปากรเกิดขึ้น เนื่องจากมีการลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด พบว่าประกาศของกรมศิลปากรเกิดขึ้นมาภายหลังที่ได้มีการออกประทานบัตรซึ่งเป็นพื้นที่เดิมไปแล้ว อีกทั้งในการพิจารณาขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการเหมืองแร่ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำหรับใช้ประกอบการขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำฯต่อคณะรัฐมนตรี ก็มีผู้แทนจากกรมศิลปากร เป็นกรรมการอยู่ด้วยแต่ไม่มีการคัดค้านใดๆ

ขณะเดียวกัน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ได้มีหนังสือด่วนที่สุดถึง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อเร่งรัดเสนอเรื่องขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 บี ณ เขตแหล่งหินภูเขายะลา ตำบลลิดล เพราะประทานบัตรเดิมสิ้นอายุไปแล้ว หากไม่ได้ประทานบัตรใหม่ จะทำให้เกิดวิกฤตการณ์ขาดแคลนวัตถุดิบจนไม่สามารถดำเนินงานตามแผนงานและโครงการให้เสร็จตามสัญญาได้

เขายะลา
ปัจจุบัน เหมืองแร่ของห้างหุ้นส่วนจำกัด พีรพลศิลา จึงไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เพราะในการขออนุมัติของ ครม.กรณีเหมืองแปลงนี้ ก็เป็นการอนุมัติแบบมีเงื่อนไขให้โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องให้ผู้ได้รับประทานบัตรดำเนินการเพื่อป้องกันผลกระทบจากการดำเนินการต่อแหล่งโบราณคดีในบริเวณโดยรอบหรือพื้นที่ใกล้เคียงไม่ให้ได้รับความเสียหายและให้ได้รับการอนุรักษ์อย่างเหมาะสม และต้องสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ในด้านต่างๆ

“กระทรวงอุตฯ ต้องทำตามกฎหมายและมติ ครม.ยังสั่งให้กระทรวงวัฒนธรรมติดตามตรวจสอบผลกระทบที่จะเกิดขึ้นบริเวณโดยรอบของพื้นที่ตามคำขอประทานบัตรในลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บีด้วย”

โครงการที่ 2 มีการขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ธนบดีศิลา ที่จังหวัดยะลา ซึ่ง ครม.ก็ได้อนุมัติแบบมีเงื่อนไขเช่นเดียวกับเหมืองแร่ของห้างหุ้นส่วนจำกัด พีรพลศิลา ในคำขอต่ออายุประทานบัตรแปลงเดิมชนิดแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง เนื้อที่ 29 ไร่ 3 งาน 40 ตร.ว. ซึ่งเป็นแปลงเดิม 27 ไร่ 1 งาน 81 ตร.ว. และเป็นพื้นที่ขอขยายบางส่วน เนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 59 ตร.ว.

“ธนบดีศิลา จะมีแผนผังโครงการทำเหมืองเดียวกันกับของ พีรพลศิลา จะทำเหมืองได้ประมาณ 11.6 ล้านเมตริกตัน รวมมูลค่า 2,100 ล้านบาท”

โดยทั้ง 2 เหมืองจะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะจะช่วยให้เกิดความมั่นคงของวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ในจังหวัดยะลาและจังหวัดใกล้เคียง






โครงการที่ 3 ขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่และเพื่อจัดตั้งสถานที่เพื่อการเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ของนายลำพูน กองศาสนะ ที่จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นการขอประทานบัตรทำเหมืองในพื้นที่เดิมและได้มีการขยายพื้นที่เพิ่มเติม รวมเนื้อที่ 367 ไร่ มีการเว้นแนวเขตไม่ทำเหมืองในระยะ 10 เมตรรอบพื้นที่โครงการ

เหมืองแร่แห่งนี้มีปริมาณสำรองแร่ที่สามารถทำเหมืองได้ประมาณ 19.8 ล้านเมตริกตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,562 ล้านบาท

สำหรับโครงการเหมืองแร่ของนายลำพูน กองศาสนะ ที่จังหวัดสตูล ปรากฏว่า ครม.ไม่อนุมัติแต่สั่งการให้กระทรวงอุตฯ ไปพิจารณาทบทวนความถูกต้องเหมาะสมของการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่องการคัดค้านของชุมชนในพื้นที่ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องของคุณภาพดินและการเพาะปลูก รวมทั้งผลกระทบด้านสุขอนามัยของประชาชน เพื่อให้ได้ข้อยุติที่ชัดเจนแล้วจึงนำเสนอ ครม.อีกครั้งหนึ่ง

การขอผ่อนผันโครงการที่ 4 เป็นการทำเหมืองแร่ของห้างหุ้นส่วนจำกัด เจริญผลการศิลา ที่จังหวัดชุมพร ได้ยื่นขอประทานบัตรชนิดแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง เนื้อที่ 204 ไร่ 2 งาน 10 ตร.ว. ทำพื้นที่ประทานบัตรเดิมที่ 28511/15271 เต็มทั้งแปลง ซึ่งคำขอประทานบัตรนี้เป็นที่ป่า ที่อยู่ในลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี

“เหมืองนี้มีปริมาณสำรองแร่ที่สามารถทำเหมืองได้ 26.5 ล้านเมตริกตัน คิดเป็นมูลค่า 4,765 ล้านบาท มีการเว้นพื้นที่การทำเหมืองห่างระยะ 10 เมตร มีแนวป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม หน้าเหมืองมีลักษณะขั้นบันไดบนภูเขา และทำเหมืองลึกลงไปเป็นบ่อแต่ละขั้นมีความสูงไม่เกิน 10 เมตร “

เหมืองแร่ของห้างหุ้นส่วนจำกัด เจริญผลการศิลา ได้รับอนุมัติจาก ครม.เพียงแต่ให้ กพร. กำกับเหมืองแห่งนี้ให้ดำเนินตามความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด


โครงการที่ 5 เสนอขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์เพื่อต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองแร่ของห้างหุ้นส่วนจำกัดเพชรสมุทร (1970) จังหวัดเพชรบุรี เป็นเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งเป็นการขอต่ออายุประทานบัตรในพื้นที่เดิม ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าและอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองชุมพลเหนือ อำเภอเขาย้อย เนื้อที่ 127 ไร่ 2 งาน 60 ตร.ว.

“เหมืองเพชรสมุทร มีคดีฟ้องร้องอยู่กับ กพร. เพราะบริษัททำเหมืองในพื้นที่ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตประทานบัตร และกรณีทำเหมืองในเขตห้ามทำเหมือง (Buffer Zone) ซึ่งศาลฯ มีคำพิพากษาให้จำเลยคือบริษัทและพวกรวม 4 คน ชำระค่าเสียหายให้รัฐ พร้อมดอกเบี้ยรวม 39 ล้านบาท จนกว่าจะเสร็จสิ้น”

แต่การดำเนินคดีทางแพ่งต่อ หจก.เพชรสมุทร หรือกรณีที่ผู้ขอฯ แพ้คดีทางแพ่ง ไม่ทำให้ผู้ขอขาดคุณสมบัติตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 จึงทำให้ กพร.สามารถดำเนินการเพื่ออนุญาตคำขอต่ออายุประทานบัตรต่อไปได้

“เหมืองเพชรสมุทร ออกแบบทำเหมืองได้ประมาณ 80.34 ไร่ มีปริมาณสำรองแร่ที่สามารถทำเหมืองได้ประมาณ 9.4 ล้านเมตริกตัน รวมมูลค่า 1,697.5 ล้านบาท”

โครงการนี้ ครม.อนุมัติ เพียงแต่ว่าให้ กพร.กำกับให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดเพชรสมุทร ดำเนินการตามความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง


โครงการที่ 6 เสนอขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อทำเหมืองแร่ของบริษัท เทพอุทิศธุรกิจ จำกัด ยื่นขอประทานบัตร ชนิดแร่โดโลไมต์ ที่ตำบลปากแพรก อำเภอเมืองกาญจนบุรี เนื้อที่ 224 ไร่ 3 งาน 4 ตร.ว. โดยขอทับพื้นที่บางส่วนของประทานบัตร บริษัทเทพอุทิศการแร่ จำกัด และของนางชูศรี สมสมัย ซึ่งเป็นชนิดแร่โดโลไมต์ และหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง

“พื้นที่ประทานบัตรทั้งหมดเนื้อที่ 224 ไร่ 3 งาน 4 ตร.ว. มีปริมาณสำรองแร่ที่สามารถทำเหมืองได้ ประมาณ 5.9 ล้านเมตริกตัน มูลค่า 3,272 ล้านบาท”

ที่สำคัญบริเวณเหมืองแปลงนี้เป็นแหล่งแร่โดโลไมต์ที่มีศักยภาพสูง ทั้งด้านปริมาณสำรองแหล่งแร่ ความสมบูรณ์ของแหล่งแร่ ซึ่งจะนำไปผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ เช่นอุตสาหกรรมเครื่องแก้ว อุตสาหกรรมกระจก เป็นต้น

โดย ครม.เห็นชอบอนุมัติเพียงแต่ว่าให้ กพร.ไปกำกับให้บริษัทเทพอุทิศธุรกิจ จำกัด ดำเนินการตามความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

โครงการที่ 7 การขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่ของห้างหุ้นส่วนจำกัด พลัดแอกอุตสาหกรรมเหมืองแร่ จังหวัดสระบุรี ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 บี ของลุ่มน้ำป่าสักเป็นชนิดแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง เนื้อที่ 267 ไร่ 94 ตร.ว. ซึ่งพื้นที่คำขอประทานบัตรแปลงนี้เป็นที่ป่าและอยู่ในเขตนิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท ซึ่งกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการได้อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่แล้ว

ขณะที่พลัดแอกอุตสาหกรรมเหมืองแร่ มีพื้นที่ทำเหมือง 156 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 267 ไร่ มีปริมาณสำรองแร่ที่สามารถทำเหมืองได้ประมาณ 18.8 ล้านเมตริกตัน มูลค่า 3,384 ล้านบาท โดยบริเวณดังกล่าวจะเป็นแหล่งหินปูนคุณภาพดี และเหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้าง แร่ที่ผลิตได้ส่วนใหญ่รองรับความต้องการในจังหวัดสระบุรี และ กทม.ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ว่ากันว่าโครงการพลัดแอกอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ครม.ยังไม่ได้มีการอนุมัติ เพราะมีเสียงคัดค้านจากรัฐมนตรีบางคนขอให้มีการตรวจสอบ เนื่องจากการอนุมัติที่เสนอขึ้นมานั้นอาจมีบางอย่างไม่ถูกต้อง

อย่างไรก็ดี การต่ออายุประทานบัตร ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม และผลกระทบที่มีต่อชุมชนและโบราณสถาน ซึ่งโครงการดังกล่าวมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่นักธุรกิจ!?



กำลังโหลดความคิดเห็น