xs
xsm
sm
md
lg

แฉ! ทุบ “การบินไทย” เอื้อสิงคโปร์แอร์ไลน์ พบเตรียมแยก 4 ธุรกิจทำกำไรออกมาขายกิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คนการบินไทย ฟันธง “นักการเมือง-บอร์ดคนนอก” เข้ามาหากิน ต้นเหตุการล่มสลายของสายการบินแห่งชาติ แฉ ขบวนการทุบการบินไทย เพื่อเอื้อประโยชน์ให้สิงคโปร์แอร์ไลน์ เปิดทางยึดเส้นทางการบินทั้งในและต่างประเทศ ผ่านบริษัทลูกที่เข้ามาร่วมทุน เตือน! ระวังเหลือบอาศัยแผนฟื้นฟู เตรียมแยกครัวการบินไทย แอร์คาร์โก้ หน่วยซ่อมบำรุง และฝ่ายภาคพื้น แหล่งสร้างรายได้สำคัญออกขาย เอาเงินเข้ากระเป๋า

ใครจะเชื่อว่าสายการบินแห่งชาติซึ่งเพิ่งได้รับรางวัล 1 ใน 10 สายการบินที่ดีที่สุดในโลก เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา ณ วันนี้จะต้องเข้าสู่กระบวนการของศาลล้มละลายเพื่อฟื้นฟูกิจการ จากปัญหาการขาดทุนสะสม ขณะที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างออกมาแจกแจงถึงสาเหตุที่ทำให้การบินไทยขาดทุนมหาศาล แต่ประเด็นหนึ่งที่น่าตกใจ แต่ไม่เคยมีใครออกมาเปิดโปงก็คือ...ขบวนการในการ “ทุบ!” การบินไทย เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่สายการบินต่างชาติ ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของการบินไทย

นายสุเทพ สืบสันติวงศ์ อดีตรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
นายสุเทพ สืบสันติวงศ์ อดีตรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การบินไทยล่มสลาย คือมีความพยายามที่จะทุบการบินไทยเพื่อเอื้อประโยชน์ให้สายการบินต่างชาติที่เป็นคู่แข่งอย่างสิงคโปร์แอร์ไลน์ ที่เห็นได้ชัดคือ การจัดทำแผนปฏิรูปการบินไทย ในปี 2557 ซึ่งมีการว่าจ้างบริษัทเบน บริษัทที่ปรึกษาจากสิงคโปร์ มาทำแผนฟื้นฟู ในวงเงิน 35 ล้านบาท ซึ่งหากย้อนไปดูเบื้องลึกเบื้องหลังจะพบว่า มิสเตอร์เดอราจน์ ลาเต้ และมิสเตอร์อลัน ครูส บุคลากร 2 คนของบริษัทเบนที่เข้ามาทำแผนฟื้นฟู เคยทำงานให้เทมาเส็ก ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ และสิงคโปร์แอร์ไลน์ก็อยู่ภายใต้เทมาเส็กด้วย ซึ่งเราตั้งข้อสงสัยว่าการตั้ง 2 คนนี้เข้ามาอาจมีนัยที่ไม่โปร่งใส สุ่มเสี่ยงว่าอาจจะให้คำปรึกษาที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการบินไทย

และก็เป็นไปตามที่คาดการณ์ ดูแล้วแผนการฟื้นฟูการบินไทยของบริษัทเบน เป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่สิงคโปร์แอร์ไลน์ เพราะเมื่อแผนฟื้นฟูออกมาก็มีคำสั่งที่ทำให้เกิดข้อกังขา คือ ให้การบินไทยทำ “โครงการหดเพื่อโต” โดย 1) ทำการขายทรัพย์สินที่ไม่จำเป็นเพื่อเอาเงินเข้าบริษัท เช่น โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โรงแรมริมแม่น้ำ ย่านสี่พระยา ซึ่งการบินไทยถือหุ้นอยู่และได้เงินปันผล 20-40 ล้านบาททุกปี และที่น่าสังเกตคือมีกรรมการของการบินไทยคนหนึ่งที่สนับสนุนเรื่องนี้ซึ่งสวมหมวก 2 ใบ คือเป็นกรรมการในบริษัทที่ซื้อหุ้นโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน จากการบินไทยด้วย

2) มีการตัดเส้นทางการบินที่สำคัญๆ ของการบินไทยออกไป เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ-กรุงโรม (ประเทศอิตาลี) กรุงเทพฯ-มอสโก (ประเทศรัสเซีย) กรุงเทพฯ-โจฮันเนสเบิร์ก (เมืองใหญ่ในแอฟริกาใต้) ลดเที่ยวบินเส้นทางกรุงเทพฯ-ลอนดอน (ประเทศอังกฤษ) ซึ่งเท่ากับเป็นการฆ่าการบินไทย

“ดูแล้วสิ่งที่บริษัทเบน ซึ่งเป็นที่ปรึกษาในการฟื้นฟูการบินไทยทำนั้นล้วนเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่สิงคโปร์แอร์ไลน์ ซึ่งเป็นคู่แข่งของการบินไทย ตอนนั้นนกสกู๊ตตั้งเสร็จแล้ว คาดว่าเป็นการตัดเส้นทางการบินของการบินไทยเพื่อให้นกสกู๊ตมาบินแทน มีความพยายามทำให้การบินไทยอ่อนแอ ซึ่งการยกเลิกเส้นทางการบินและขายหุ้นในโรงแรมที่ทำกำไรถือเป็นการทำลายแหล่งรายได้ที่สำคัญของการบินไทย” นายสุเทพ ระบุ

นายโยธิน ภมรมนตรี อดีตรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายคุณภาพและความปลอดภัย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับ นายโยธิน ภมรมนตรี อดีตรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายคุณภาพและความปลอดภัย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักกันในนาม “กัปตันโยธิน” ซึ่งระบุว่า เมื่อเดือน เม.ย.2560 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำเรื่องถึงการบินไทยว่า ปัญหาจากความเสียหายของการบินไทยนั้น แผนปฏิรูปที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 นั้นล้มเหลว ไม่สามารถสร้างรายได้เพิ่ม ไม่สามารถควบคุมรายจ่าย นอกจากนั้นตนเองยังพบว่าที่ผ่านมามีการเปิดช่องให้บริษัทลูกของสิงคโปร์แอร์ไลน์เข้ามาสวมสิทธิดำเนินธุรกิจการบินทั้งเส้นทางภายในประเทศและเส้นทางระหว่างประเทศซึ่งเคยเป็นของการบินไทย โดยเข้ามาในรูปของบริษัทร่วมทุน

“มีผู้บริหารบางคนของการบินไทย ในฐานะบริษัทผู้ถือหุ้นใหญ่ของนกแอร์ สนับสนุนเห็นชอบให้สายการบินนกแอร์ไปร่วมทุนกับบริษัท สกู๊ตแอร์ ซึ่งเป็นลูกของสิงคโปร์แอร์ไลน์ และจัดตั้งเป็น ‘สายการบินนกสกู๊ต’ ทำการบินแข่งกับการบินไทย ในเส้นทางเดียวกัน โดยเช่าเครื่องบินเก่ามาจากสิงคโปร์แอร์ไลน์ ทำการซ่อมบำรุงโดยสิงคโปร์ แต่ ‘สวมสิทธิ’ ใช้สิทธิการบินของประเทศไทย ซึ่งสร้างความเสียหายในระยะยาวให้แก่การบินไทยอย่างมหาศาล” กัปตันโยธิน ระบุ


ทั้งนี้ นายสุเทพ อดีตรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย ชี้ชัดว่า ปัญหาการขาดทุนของการบินไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมานั้นล้วนเกิดการคอร์รัปชันและการทุจริตเชิงนโยบาย ผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมืองและบอร์ดที่มาจากคนนอก ยกตัวอย่างเช่น กรณีการพิจารณาอนุมัติเส้นทางการบินให้แก่สายการบินต่างๆ ซึ่งในอดีตคนของการบินไทยซึ่งถือเป็นสายการบินแห่งชาติต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาอนุมัติด้วย แต่ปัจจุบันคนการบินไทยไม่มีสิทธิเข้าร่วมประชุม อีกทั้งการตัดเส้นทางการบินภายในประเทศซึ่งเป็นของการบินไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติ ไปให้เอกชนและบริษัทร่วมทุนของสายการบินต่างชาติก็เป็นสิ่งที่ไม่มีประเทศใดในโลกทำกัน จุดแข็งของการบินไทยคือเราเป็นจุดเชื่อมเส้นทางการค้าและการท่องเที่ยวในภูมิภาคแถบนี้ แต่กลับมีคนเอาจุดแข็งตรงนี้มาเป็นแหล่งทำมาหากิน

“หายนะของการบินไทยที่เกิดขึ้นนานนับ 10 ปีนั้นล้วนเกิดจากการนักการเมืองและบอร์ดบางคนที่ตั้งโดยนักการเมืองเข้ามาแสวงประโยชน์ แม้แต่ตอนนี้ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตของการบินไทยยังมีการโยนหินถามทางว่าจะให้การบินไทยเป็นโฮลดิ้ง แล้วให้ไทยสมายล์ดำเนินกิจการการบินแทนดีหรือไม่ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมขณะที่การบินไทยล่มสลายแต่หุ้นการบินไทยกลับขึ้น อย่างไรก็ดี วิกฤตครั้งนี้ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้แก้ไขปัญหา ขอเรียนตรงๆ ว่าหากการบินไทยบริหารงานโดยพนักงานของการบินไทยเอง โดยไม่มีนักการเมือง นักฉวยโอกาส นักโกงกิน อยู่เบื้องหลัง รับรองว่าว่าการบินไทยไปได้ดีแน่ๆ” นายสุเทพ กล่าว


นับจากนี้ หลังจากที่การบินไทยสิ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจและเข้าสู่แผนฟื้นฟู มีหลายสิ่งที่พึงต้องระวัง โดย กัปตันโยธิน ระบุว่า จากข้อมูลพบว่า ขณะนี้มีความพยายามจะแปรรูป แยก 4 หน่วยธุรกิจหลักที่ทำกำไรให้การบินไทย อันได้แก่ ฝ่ายโภชนาการ หรือที่เรียกกันว่าครัวการบินไทย ฝ่ายช่าง ฝ่ายภาคพื้น และฝ่ายแอร์คาร์โก้ ออกมาตั้งเป็นบริษัทลูก เพื่อเอาไปขาย เอาไปทำมาหากินกัน แต่ถูกสหภาพการบินไทยคัดค้านไว้

“หากแยก 4 หน่วยธุรกิจดังกล่าวสำเร็จ การบินไทยก็ไม่เหลืออะไร หน่วยงานที่สร้างรายได้ ทำกำไรจะถูกฮุบไปหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เราจึงต้องช่วยกันส่งเสียงคัดค้าน” กัปตันโยธิน ระบุ

ทั้งนี้ อดีตกัปตันการบินไทย ชี้ว่า ในการฟื้นฟูการบินไทยครั้งนี้จำเป็นต้องดำเนินการ 3 เรื่องเร่งด่วนคือ 1.การบินไทยควรใช้โอกาสนี้ในการเจรจากับเจ้าหนี้ โดยเฉพาะบริษัทที่ขายเครื่องบินให้การบินไทย เพื่อขอผ่อนผันการผ่อนชำระ โดยชี้ให้เห็นว่าแม้การผ่อนชำระจะล่าช้า แต่หากการบินไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้ บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินก็ยังได้เงินอยู่ 2.ปรับวิธีบริหารความเสี่ยงของราคาน้ำมัน โดยหากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่าราคาที่ซื้อล่วงหน้า ก็ให้นำส่วนต่างดังกล่าวไปหารเฉลี่ยจำนวนผู้โดยสารและบวกเพิ่มในค่าตั๋วของเที่ยบินนั้นๆ ซึ่งโดยรวมแล้วจะส่งผลให้ราคาตั๋วปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่หากราคาน้ำมันต่ำกว่าราคาที่ซื้อล่วงหน้าก็นำไปปรับลดในค่าตั๋วในลักษณะเดียวกัน และ 3.การบินไทยต้องให้ความสำคัญกับบุคลากร ซึ่งเป็นหัวใจของธุรกิจบริการ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคในช่วงวิกฤต

นอกจากนั้น กัปตันโยธินยังได้แนะนำว่า หลังจากวิกฤตโควิด-19 คาดว่าการบินไทยจะกลับมาให้บริการเต็มรูปแบบอีกครั้งในเดือน ก.ย. ซึ่งเป็นช่วงโลว์ซีซัน จึงอาจทำรายได้ได้ไม่มากนัก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องวางแผนในภาพรวมทั้งหมด เช่น เดือนไหนที่มีผู้ใช้บริการเยอะ ก็อาจต้องวางแผนเช่าเครื่องบินเพิ่มเติม มีการวางแผนเส้นทางการบินใหม่เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ เช่น จากเดิมที่บินกรุงเทพฯ-ฮ่องกง ก็เปลี่ยนเป็น กรุงเทพฯ-ฮ่องกง-ไทเป ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า


กำลังโหลดความคิดเห็น