จับตารัฐบาล 'บิ๊กตู่' มีหมัดเด็ดน็อก 'คิงส์เกต' กรณีใช้คำสั่ง ม.44 ปิดเหมืองทองอัครา จนนำไปสู่การฟ้องศาลอนุญาโตฯ เรียกค่าโง่รัฐบาลไทยกว่า 3 หมื่นล้านบาท เริ่มตั้งแต่ดคีที่ ป.ป.ช.ชี้ขาดบางเรื่องแล้ว ข้าราชการมีความผิด แถมเอ็มดีบริษัทอัครา โดนเต็มๆ อีกไม่นานได้เห็นกรณีสินบนข้ามชาติ แจงในเหมืองอัครา ยังมีแร่ทองคำที่ยังไม่ได้ประทานบัตรมูลค่าเกิน 4 หมื่นล้าน และยังมีที่ไม่ได้ประเมินอีกมหาศาล ด้าน 'สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ' เสนอ ครม.ชดเชยให้คิงส์เกตฯ แต่ 'บิ๊กตู่-อนุพงษ์' ค้านโยนเรื่องให้มือกฎหมายหาหลักฐานสู้ๆ
ประเทศไทยจะต้องจ่ายค่าโง่กว่า 3 หมื่นล้านบาท กรณีการสั่งปิดเหมืองทองอัครา ซึ่งเป็นการละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) จริงหรือไม่? หรือเป็นเพียง Fake New เพื่อให้เกิดกระแสโจมตีทางการเมืองต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ใช้อำนาจ ม.44 ในรัฐบาล คสช. สั่งระงับตั้งแต่กระบวนการผลิต การต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ การสำรวจ การต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งมี บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด ประเทศออสเตรเลีย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ถือประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำชาตรี ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา
ทั้งที่ข้อเท็จจริงยังไม่ได้มีการชี้ว่าใครผิดใครถูก เพราะอยู่ในขั้นตอนการเจรจาตามเงื่อนไขของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งประชุมพิจารณาเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยในช่วงแรกเป็นการให้ทั้ง 2 ฝ่ายต่างส่งข้อมูลทั้งในรูปเอกสาร และบุคคล ขึ้นชี้แจง ซึ่งในระหว่างที่อนุญาโตฯ ยังไม่มีการตัดสินชี้ขาดใดๆ ก็ได้มีเงื่อนไขให้ทั้งรัฐบาลไทยและบริษัทคิงส์เกตฯ ที่ใช้สิทธิทาฟตา นำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตัดสิน ไปเจรจาปรองดองกัน
พูดง่ายๆ ก็เป็นการเปิดโอกาสให้คู่กรณีคือรัฐบาลไทยและบริษัท คิงส์เกตฯ ไปนัดหมาย พูดคุยและเจรจาหาทางออกร่วมกัน หากไม่สามารถหาข้อยุติได้ ก็จะเข้าสู่การฟังคำตัดสินของอนุญาโตฯ ต่อไป
“คาดว่าประมาณปลายปี 63 จะมีคำตัดสินออกมา แม้จะตัดสินว่าใครแพ้หรือใครชนะแล้วก็ตาม ทั้ง 2 ฝ่ายก็ยังมีโอกาสเจรจากันได้อยู่ เพียงแต่ว่าผู้ชนะจะถือไพ่เหนือกว่าผู้แพ้ อำนาจการต่อรองของผู้แพ้ก็จะน้อยลง” แหล่งข่าว ระบุ
จะเห็นได้ว่าขั้นตอนในการพิจารณาคดีของอนุญาโตฯ ในขั้นตอนที่ 1 จบไปแล้วเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนที่ 2 คือให้คู่กรณีไปหาทางเจรจากันเพื่อให้ได้ข้อยุติ แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 คือการตัดสินชี้ขาดของอนุญาโตฯ ตามหลักฐานทางเอกสาร การชี้แจงของบุคคลที่ให้การไว้แล้ว
“เวลานี้ยังไม่มีการคุยกันของทั้ง 2 ฝ่าย เพราะมีสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การเจรจาต้องหยุดชะงัก ซึ่งก็ยังไม่มีการนัดหมายใดๆ เกิดขึ้น”
ดังนั้น ในช่วงเวลาที่ยังไม่มีการนัดหมายเจรจา ต่างฝ่ายต่างต้องหาข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์กับฝ่ายของตัวเอง เพื่อนำมาหักล้าง และทำให้ฝ่ายคู่ต่อสู้ต้องยอมหรือสร้างความพอใจให้ทั้ง 2 ฝ่าย ก็จะทำให้การเจรจาหาข้อยุติได้ง่าย”
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรรม ระบุว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ได้นำกรณีเหมืองทองอัคราเสนอที่ประชุม ครม.ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อขอให้ ครม.อนุมัติการจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้แก่บริษัท คิงส์เกตฯ เพื่อยุติปัญหาการฟ้องร้องที่เกิดขึ้น แต่ปรากฏว่า นายกรัฐมนตรี ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของรัฐมนตรีสุริยะ เพราะเชื่อว่ารัฐบาลมีหลักฐานและเหตุผลเพียงพอในการดำเนินการออกคำสั่ง ม.44 ปิดเหมืองอัคราเป็นการชั่วคราว แต่ยังเปิดโอกาสให้บริษัท อัคราฯ สามารถยื่นขออนุญาตในการดำเนินการต่อได้
“นายกฯ ได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายไปศึกษา และรายงานข้อเท็จจริงทุกอย่างที่เกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจของเหมืองทองอัครา โดยขอให้นึกถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ”
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวย้ำว่า การที่นายสุริยะ เสนอเรื่องนี้เข้าไปใน ครม.เพื่อให้ชดเชยเหมืองทองนั้น น่าจะเป็นเพราะว่า นายสุริยะ เพิ่งมารับตำแหน่งรัฐมนตรี คุมกระทรวงนี้ แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นของเหมืองทองอัครา มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเยอะมาก นายกฯ บิ๊กตู่ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย จึงไม่เห็นชอบกับข้อเสนอของนายสุริยะ และส่งเรื่องนี้ให้ทีมงานด้านกฎหมายของนายกรัฐมนตรีไปศึกษาให้ละเอียด
“นายกฯ ก็รู้ว่าบริษัท คิงส์เกต ติดต่อพูดคุยกับนายสุริยะ และเข้าใจเจตนาของนายสุริยะ เพื่อให้เรื่องนี้ยุติลงได้ เพราะหากประเทศไทยจะต้องเสีย ก็ต้องเสียน้อยที่สุดที่มีการประเมินเบื้องต้นอยู่แค่พันกว่าล้าน ตามอายุประทานบัตร หรือไม่เสียเลย”
โดยที่ผ่านมา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ได้เน้นย้ำกับนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตฯ และประธานคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทย กับบริษัท คิงส์เกตฯ ทั้งก่อนนำคณะไปยื่นให้การต่อศาลอนุญาโตฯ รวมทั้งผู้แทนทุกคน และผู้บริหารกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทั่งเวลานี้ขอให้ยึดหลักการ 3 ข้อในการเจรจาเพื่อนำไปสู่ข้อยุติว่า 1.จะต้องไม่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย 2.ประชาชนในชุมชนหรือในพื้นที่จะต้องไม่ได้รับผลกระทบ ทั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และ 3.เอกชนซึ่งหมายถึงเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ ก็ต้องอยู่ได้เช่นกัน
หากจะถามว่าเหตุใด บริษัท คิงส์เกตฯ จึงอยากจะเจรจาและต้องการทำธุรกิจเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่นี้ต่อไปอีกซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นข้อได้เปรียบของรัฐบาลไทยหรือไม่?
เพราะจากข้อมูลของ ก.พ.ร.เชื่อว่าในบริเวณเหมืองทองอัคราในส่วนที่ยังไม่ได้ประทานบัตรและจะต้องดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่นั้น เป็นแหล่งแร่และทรัพยากรแร่ซึ่งมีแร่ทองคำจำนวนมาก หากสามารถประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำได้ จะมีมูลค่ามหาศาล
“มีการประเมินมูลค่าไว้ที่นี่ยังมีสินแร่ทองคำ แร่เงิน และสายแร่อื่นๆ ที่ตีมูลค่ากันไว้ไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้ประทานบัตร ก็ไม่สามารถดำเนินการได้”
อย่างไรก็ดี บริษัท อัคราฯ ได้ประเมินตัวเลขความเสียโอกาสของเหมืองอัคราที่ถูกคำสั่ง ม.44 โดยวัดจากปริมาณสำรองแร่ที่สามารถพัฒนามาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งเป็นข้อมูล ณ ปี 2562 เป็นแร่ทองคำ 890,000 ออนซ์ คิดเป็นวงเงินปริมาณ 37,020 ล้านบาท และแร่เงิน 8,900,000 ออนซ์ คิดเป็นวงเงินประมาณ 4,272 ล้านบาท รวมมูลค่าทั้งสิ้น 41,292 ล้านบาท
“ยังไม่รวมเศษทองที่อยู่ในโรงประกอบโลหการที่ถูกสั่งหยุด ไม่สามารถขนย้ายหรือสกัดต่อได้ ซึ่งยังไม่ได้มีการตีมูลค่าชัดเจนไว้”
รวมทั้งยังมีปริมาณแร่สำรวจไว้และมีศักยภาพในการพัฒนา แต่ยังไม่อยู่ในแผนการทำเหมือง และยังไม่ได้มีการประเมินคุณค่าทางเศรษฐกิจ หรือมีการประเมินคุณค่าแล้ว แต่ยังไม่คุ้มค่าในขณะที่มีการประเมิน ซึ่งมีแร่ทองคำ 3,420,000 ออนซ์ และแร่เงิน 29,000,000 ออนซ์
ซึ่งตัวเลขแร่ทอง หากเป็นราคาประเมินเวลานี้น่าจะมีมูลค่าสูงกว่าที่ประเมินไว้ในปี 2562 เนื่องจากราคาทองในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นมาก
ดังนั้น การที่ยื่นฟ้องศาลอนุญาโตฯ ของบริษัท คิงส์เกตฯ ก็เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ในแหล่งแร่ดังกล่าว และบริษัท คิงส์เกตฯ ก็เชื่อว่าจะเป็นฝ่ายชนะรัฐบาลไทย เนื่องจากยืนยันว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมายทั้งในเรื่องของ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม และเรื่องของการดูแลสุขภาพประชาชนที่อยู่รอบๆ เหมืองทองอัครา โดยอ้างอิงเอกสารที่เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เหมืองทองอัคราจะดำเนินการตรวจสอบทุกครั้งควบคู่กับกรมเหมืองแร่ฯ ที่มีการร้องเรียนของประชาชน รวมไปถึงตัวเลขการจ่ายค่าภาคหลวงตามที่กฎหมายกำหนด
“หลักฐานที่คิงส์เกตฯ มีอยู่ ใช้สถาบันที่เชื่อถือได้ในการตรวจสอบเรื่องของสุขภาพ เรามีข้อมูลโรงพยาบาลรามาฯ ก็ชัดเจน ส่วนที่ว่าเหมืองมีการปล่อยโลหะหนักรั่วไหล ก็ให้ ก.พ.ร.เป็นผู้เลือกและว่าจ้าง โดยอัคราเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ซึ่งก็เลือกบริษัทแบร์ โดแบร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้เชี่ยวชาญการประเมินเหมืองทองคำ ที่ทั่วโลกใช้มาตรวจสอบเหมืองอัครา ก็ไม่พบไซยาไนต์รั่วไหล”
ขณะที่บริษัท คิงส์เกตฯ เชื่อว่า การที่รัฐบาลไทยสั่งปิดเหมืองที่ผ่านมาจะใช้เพียงหลักฐานการร้องเรียนของผู้ประท้วงเป็นหลัก!
แต่บริษัท คิงส์เกตฯ ก็รู้อยู่เต็มอกว่า ยังมีปมประเด็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลไทยมีโอกาส 'น็อก' คิงส์เกตฯ ได้แน่นอน!
ประเด็นแรก จะเป็นเรื่องของสินบนข้ามชาติที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีการสอบสวนอยู่ในเวลานี้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประมาณปี 2558 โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ข้อมูลและหลักฐานบางอย่างจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์และการลงทุนของประเทศออสเตรเลีย (Australian Securities and Investment Commission : ASIC) ส่งมาให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) ซึ่งพบว่ามีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย ที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย ถูกร้องเรียนว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำการทุจริตในการขุดเหมืองแร่ทองคำในไทย
โดยมีการโอนเงินจากประเทศออสเตรเลียมายังประเทศไทย ที่อาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการขอใบอนุญาตขุดเหมืองแร่ทองคำ หรือเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจเหมืองแร่ทองคำ พร้อมทั้งให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐในประเทศไทยด้วย
“เรื่องนี้มีนักการเมือง มีข้าราชการไม่ต่ำกว่า 13 คน เข้าไปเกี่ยวข้องในการรับสินบนจากบริษัทข้ามชาติเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ในการขุดเหมืองแร่ทองคำ”
ดูเหมือนว่าเรื่องนี้จะทำให้การต่อสู้ของรัฐบาลไทยมีโอกาสเหนือบริษัท คิงส์เกตฯ ขึ้นมาได้หรือไม่? เพราะเมื่อประมาณต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดนายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดี ก.พ.ร.กับพวกรวม 6 คน กรณีอนุญาตให้บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด หรือบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด เปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือโดยมิชอบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนดังกล่าว
จากพยานหลักฐานข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การพิจารณาอนุญาตของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2554 ที่ให้บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด (มหาชน) เปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมือง ซึ่งรวมถึงการย้ายตำแหน่งที่ตั้งบ่อกักเก็บกากแร่แห่งที่ 2 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมของรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยการปฏิบัติหรือละเว้นไม่สั่งการตามอำนาจหน้าที่ให้บริษัทฯ เสนอรายละเอียดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพร้อมกับมาตรการป้องกันที่สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบด้านสิ่งแวดล้อมก่อนอนุญาตให้บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด เปลี่ยนแปลงแผนผังในวันที่ 11 มี.ค.2554 ตามที่มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้กำหนดไว้
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติว่า การกระทำของนายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ นายสัจจาวุธ นาคนิยม ผู้อำนวยการสำนักการอนุญาต นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารสิ่งแวดล้อม และนายคันธศักดิ์ แข็งแรง วิศวกรเหมืองแร่ชำนาญการ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 85 (1)
ส่วนการกระทำของบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด หรือบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) และนายปกรณ์ สุขุม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด มีมูลความผิดทางอาญา ฐานสนับสนุน ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86
ส่วนประเด็นที่ ก.ล.ต. ไทยที่ส่งข้อมูลและหลักฐานที่ได้รับจาก ASIC กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า นายประเสริฐ บุญชัยสุข อดีต รมว.อุตสาหกรรม และนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีต รมว.มหาดไทย ผู้ถูกกล่าวหา เรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อให้กลุ่มบริษัท คิงส์เกต ได้ประโยชน์ในการสำรวจและทำเหมืองแร่ในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ พิจิตร และ จ.พิษณุโลก โดยมิชอบนั้น เรื่องดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการไต่สวน และตรวจสอบเส้นทางการเงิน ซึ่งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ
ประเด็นที่ 2 ที่อยู่ในการพิจารณาของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีที่เหมืองอัคราถูกกล่าวหามีความผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และ พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 ในการดำเนินกิจการเหมืองแร่โดยเข้ายึดถือครอบครองพื้นที่ป่าและรุกล้ำเขตพื้นที่ทางหลวง โดยเหตุเกิดบริเวณตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่
วันนี้กรมที่ดินได้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิ ตรงนี้แล้วใช่หรือไม่?
นี่แค่เพียง 2 ประเด็นตัวอย่างที่รัฐบาลไทยใช้เป็นหลักฐานต่อสู้ในคณะอนุญาโตฯ โดยเฉพาะคดีสินบนข้ามชาติถือว่าเป็นการกระทำที่มิชอบในการดำเนินธุรกิจ”
จากนี้ไปต้องจับตาว่า รัฐบาลไทยจะมีหลักฐานเด็ดอะไรทยอยออกมาอีกที่จะพิสูจน์ให้เห็นชัดว่าการที่บิ๊กตู่ออก ม.44 ปิดเหมืองทองคำอัครานั้น เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนจริงๆ ถึงวันนั้นหลักฐานที่บริษัท คิงส์เกตฯ เชื่อว่าจะชนะก็จะถูกหักล้างด้วยข้อเท็จจริงจากรัฐบาลไทย
ส่งผลให้การเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยและบริษัท คิงส์เกตฯ เพื่อหาข้อยุติก็จะง่ายขึ้นในทันที โดยอาจจะไม่ต้องให้ศาลอนุญาโตฯ มีคำสั่งชี้ขาดก็เป็นได้
และต้องไม่ลืมว่าในเหมืองทองอัครา ยังมีแร่ทองคำ แร่เงิน และสินแร่อื่นๆ ที่มีมูลค่าที่อาจจะมากกว่าแสนล้านบาทในอนาคตอยู่ที่นั่น!?