กองทัพบกอนุมัติผลิตหน้ากากป้องกันสารพิษทางทหารและการแพทย์จากงานวิจัยที่ สกสว. สนับสนุนทุน รวม 20,000 ชิ้น มูลค่า 600 ล้านบาท “อ.อ๊อด วีรชัย” เตรียมขอรับการสนับสนุนทุนจัดทำจากหน่วยงานให้ทุนและภาคเอกชน หวังช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ที่ขาดแคลนทั้งในพื้นที่ด้ามขวานสามชายแดนใต้และขอนแก่นเพิ่มเติมแห่งละ 500 ชิ้น
รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เปิดเผยว่า ตนได้รับหนังสือด่วนที่สุดจากสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก (สวพ.ทบ.) แจ้งว่าผู้บัญชาการทหารบกได้อนุมัติในหลักการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ให้ดำเนินการผลิตหน้ากากเต็มหน้าซึ่งเป็นยุทธภัณฑ์ทางทหาร เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งล่าสุดได้ส่งเรื่องให้กรมอุตสาหกรรมทหารทราบ และส่งเรื่องขึ้นไปยังกระทรวงกลาโหม เพื่อให้อนุมัติการผลิตแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในโควต้าปีละ 20,000 ชิ้น
ทั้งนี้ สวพ.ทบ.สนับสนุนองค์ความรู้ในการดำเนินการจัดทำหน้ากากป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ โดยดัดแปลงหน้ากากจากผลงานวิจัย “การพัฒนาหน้ากากป้องกันสารเคมี-ชีวะสำหรับพลประจำรถถัง เพื่อใช้ในประเทศ” ซึ่งมี รศ. ดร.วีรชัยเป็นหัวหน้าโครงการ ด้วยทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทางกองทัพบกได้พิจารณาเห็นว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวมีความจำเป็นและเร่งด่วน ตามสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาที่เกิดขึ้น จึงไม่ขัดข้องที่โรงพยาบาลราชวิถีจะนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปจัดทำหน้าหน้ากากป้องกันสารพิษ เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจากการขาดแคลนหน้ากากป้องกันเชื้อโรค
ทางกองทัพบกมีความห่วงใยถึงผลกระทบและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับบุคลากรทางการแพทย์ และเนื่องจากโครงการวิจัยยังไม่เสร็จสิ้น อยู่ในขั้นตอนการเตรียมการทดสอบและประเมินโครงการ ยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานของกองทัพบก สวพ.ทบ.จึงเสนอแนะให้มีการศึกษาการนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความมั่นใจด้านความปลอดภัยในการใช้งานอย่างแท้จริง และหากมีผู้ดำเนินการจะนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เฉพาะกรณีดังกล่าวเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลอื่น ๆ ต่อไป ขอให้เป็นความเห็นชอบร่วมระหว่างผู้ดำเนินการและผู้รับประโยชน์
รศ.ดร.วีรชัยระบุว่า นอกจากโรงพยาบาลราชวิถีแล้ว เขายังได้รบการติดต่อจากโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นให้ช่วยผลิตหน้ากากป้องกันสารพิษจำนวน 500 ชิ้น เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโรคโควิด-19 จากผู้ป่วย และขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกัน เช่นเดียวกับโรงพยาบาลในสามจังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อีกจำนวน 1,500 ชิ้น
รศ.ดร.วีรชัยจะขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการผลิตหน้ากากจากหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยและภาคเอกชนที่ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว โดยทุนวิจัยที่ได้รับจาก สกสว. ทั้งสองเฟสมีจำนวน 10 ล้านบาท ทางกองทัพบกได้จัดซื้อไปในราคาอันละ 30,000 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 600 ล้านบาท นับว่าคุ้มค่ามหาศาลต่อประเทศในการประหยัดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าหน้ากากจากต่างประเทศกว่า 500 ล้านบาท