xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมกายต่างแดนระทม “ช่วยตัวเอง” สำนักงานใหญ่เข้ม-ไม่เลิกงานบุญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

วัดพระธรรมกาย วิตก COVID-19 ออกประกาศห้ามพระและคนในงดออกนอกวัด อนุญาตได้เฉพาะบางกรณี หากไปพื้นที่เสี่ยงกลับมาต้องกักตัว 14 วัน แต่ยังไม่เลิกงานบุญเปิดโอกาสให้พระและสาธุชนจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลร่วมงานได้ ส่วนธรรมกายภาคพื้นยุโรปใช้เครือข่ายออนไลน์ทำกิจกรรม ยกเลิกบวชนานาชาติ งดรับบุคคลภายนอกพักในวัด อดีตคนธรรมกายชี้เป็นนโยบายที่สาขาในต่างประเทศต้องช่วยเหลือตัวเอง


หนึ่งในข้อแนะนำสำหรับการป้องกันการติดเชื้อไวรัส COVID-19 นั่นคือการหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก จนรัฐบาลต้องมีมาตรการปิดสนามมวยและสถานบันเทิงต่างๆ รวมไปถึงสถาบันการศึกษา หลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากกว่าวันละ 30 รายในช่วงที่ผ่านมา

อีกหนึ่งสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมากไปรวมตัวกันจำนวนมาก นั่นคือกิจกรรมทางพุทธศาสนา วัดพระธรรมกายขึ้นชื่อเป็นอย่างมากเรื่องสานุศิษย์จำนวนมากนิยมไปร่วมบุญตามที่วัดแห่งนี้กำหนดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบุญใหญ่วันอาทิตย์ต้นเดือน หรือวันสำคัญอื่นๆ ทางศาสนาและวัดสำคัญของทางวัดที่กำหนดขึ้น รวมไปถึงกิจกรรมสวดธัมมจักกัปปวัตนสูตรที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง

แม้ทางวัดพระธรรมกายจะยกเลิกโครงการอบรมธรรมทายาทภาคฤดูร้อน 2563 ไปแล้ว และมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ออกมาเป็นระยะ พร้อมทั้งใช้อาคารบุญรักษาของทางวัดเป็นสถานที่เฝ้าสังเกตอาการผู้ติดเชื้อ

เข้ม! คนในห้ามออก

หนึ่งในผู้สังเกตการณ์สถานการณ์วัดพระธรรมกาย กล่าวว่า เท่าที่ทราบทางวัดพระธรรมกายได้แบ่งการป้องกัน COVID-19 ออกเป็น 2 ส่วน คือ มาตรการป้องกันพระและบุคคลภายในวัด และมาตรการป้องกันนอกวัด

มาตรการป้องกันภายในวัดนั้น ได้มีประกาศของวัดพระธรรมกายเมื่อ 16 มีนาคม 2562 เรื่องมาตรการจำกัดการเข้าออกวัดช่วงการแพร่ระบาด COVID-19

เนื่องด้วยสถานการณ์ระบาดของโรค COVID-19 ทั่วโลกและในประเทศไทยมีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพและชีวิตของสมาชิกองค์กร ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารงานบุคคล วาระพิเศษ 16 มีนาคม 2563 จึงมีมติให้ออกประกาศ ข้อปฏิบัติสำหรับสมาชิกเขตในที่พักอาศัยภายในองค์กร เพื่อป้องกันการระบาด COVID-19 ดังนี้

สมาชิกเขตในที่พักอาศัยภายในองค์กรให้ปฏิบัติดังนี้

1. พระภิกษุ สามเณร งดรับกิจนิมนต์นอกวัดทุกประเภท

2. พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และสมาชิกเขตในอื่นๆ ที่พักอาศัยภายในองค์กร งดออกนอกวัด (รวมถึงร้านค้าและที่พักที่อยู่ติดเขตวัดด้วย) เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ปล่อยปลา ทำบุญสวดอภิธรรม ไปสนามบิน ไปซื้อของ ประชุมนอกวัด กลับไปเยี่ยมบ้าน ไปธุระต่างจังหวัด เป็นต้น

3. กรณีไปร่วมงานศพ อนุญาตเฉพาะที่เป็นบุพการีของสมาชิกในองค์กรเท่านั้น โดยได้รับความเห็นชอบจากประธานอาศรมนั้นๆ และจัดสมาชิกไปร่วมงานในจำนวนที่เหมาะสมเท่าที่จำเป็น แล้วเมื่อกลับมาต้องไปรายงานตัวที่อาคารบุญรักษา

4. กรณีต้องซื้ออุปโภคหรืออื่นๆ ให้สั่งซื้อทางออนไลน์เท่าที่จำเป็น โดยกำหนดจุดรับส่งของที่ลานจอดรถหน้าศูนย์สื่อมวลชนบริเวณประตู 7 เท่านั้น และผู้ส่งซื้อต้องมารับของด้วยตัวเอง

5. สมาชิก 3 อาศรม และกลุ่มศรัทธาวาสที่อยู่ต่างจังหวัดหรือพักค้างภายนอกวัด สามารถมาปฏิบัติงานหรือร่วมงานบุญแบบไป-กลับได้ แต่ให้งดการเข้ามาเยี่ยมหรือพักค้างในอาศรม/หมุ่กุฏิ/บ้านพักภายในวัด ในช่วงนี้ไปก่อน

6. กรณีจำเป็นต้องไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลภายนอกและมีการนัดหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว ให้ขออนุญาตจากแพทย์สหคลินิกบุญรักษ์ หากโรงพยาบาลนั้นอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เมื่อกลับมาสมาชิกท่านนั้นอาจต้องปลีกวิเวก 14 วัน ตามดุลพินิจของแพทย์

7. กรณีจำเป็นต้องไปทำนิติกรรม ให้ขออนุญาตจากกองนิติการ และสหคลินิกบุญรักษ์ หากบริเวณนั้นอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เมื่อกลับมาสมาชิกท่านนั้นอาจต้องปลีกวิเวก 14 วัน ตามดุลพินิจของแพทย์

ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยขององค์กร และด้วยความห่วงใยในการดูแลสุขภาพของสมาชิกองค์กรทุกรูปทุกคน ขอความร่วมมือปฏิบัติตามนโยบายอย่างจริงจัง


ไม่ยกเลิกงานบุญ

ส่วนมาตรการป้องกันนอกวัดนั้น คณะทำงานป้องกัน COVID-19 วัดพระธรรมกายได้ออกประกาศมาเมื่อ 17 มีนาคม 2563 ประกาศข้อปฏิบัติสำหรับพระภิกษุและสาธุชนที่มาร่วมงานบุญในปริเขตวัดพระธรรมกาย

1. งานบุญวันอาทิตย์ ให้เฉพาะพระภิกษุและสาธุชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเข้ามาร่วมงานได้

2. พระภิกษุและสาธุชนต่างจังหวัดให้ร่วมงานบุญผ่านการถ่ายทอดสดทาง GBN

3. พระภิกษุและสาธุชนที่มาร่วมงานบุญในบริเวณวัดให้ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง

4. นั่งในบริเวณที่เจ้าหน้าที่จัดให้ มีระยะห่าง 1.5 เมตร

5. ล้างมือทุกครั้งหลังจากสัมผัสพื้นผิวต่างๆ เช่น ลูกบิดประตูและราวบันได เป็นต้น

6. กรณีเข้าปฏิบัติธรรมที่สภาธรรมกายสากล ต้องได้รับการสแกนตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าพื้นที่จากทีมงานอาสาสมัคร

“เป็นอันว่างานบุญของวัดพระธรรมกายบางกิจกรรมยังคงจัดต่อไป แม้ว่าข้อปฏิบัติของทางวัดจะมีมาตรการป้องกันในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม ส่วนจะขัดต่อข้อห้ามของภาครัฐหรือไม่ ตรงนี้หน่วยงานรัฐจะต้องเป็นผู้พิจารณา”

อย่างไรก็ตาม ได้มีประกาศคณะสงฆ์กรุงเทพมหานครออกมา เมื่อ 18 มีนาคม 2563 ให้งดการจัดกิจกรรมทางพระศาสนาที่มีประชาชนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก เช่น กิจกรรมการจัดงานวัด งานบุญประจำปี และงานบุญประเพณีต่างๆ แต่วัดพระธรรมกายอยู่ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ประกาศดังกล่าวจึงไม่ครอบคลุมไปถึงวัดพระธรรมกาย


ยุโรประบาดหนัก

ทั้งนี้ วัดพระธรรมกายไม่ได้มีแค่ที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานีเท่านั้น วัดพระธรรมกายมีสาขาอยู่ทั่วโลก บางสาขาอยู่ในประเทศที่มีการระบาดอย่างหนัก อย่างที่เกาหลีใต้มีวัดภาวนาโซล และวัดภาวนาคย็องจู ที่ต้องปิดวัด จนต้องขอรับการบริจาคจากสาธุชนเป็นค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าเช่าวัด และค่าภัตตาหารแต่ละวัน ขณะที่สาขาในประเทศญี่ปุ่น ก็มีการเชิญชวนให้ร่วมบริจาคด้วยเช่นกัน

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดได้ลามไปยังทวีปยุโรปและขยายวงกว้างขึ้นทุกขณะ อิตาลีนับว่าเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงที่สุดนอกประเทศจีน วัดพระธรรมกายก็มีสาขาที่นั่นเช่นกัน แม้จะยังไม่อยู่ในสถานการณ์เดียวกับที่เกาหลีใต้ แต่พื้นที่ตั้งของวัดพระธรรมกายอิตาลี ในแคว้นปีเยมอนเต รัฐบาลอิตาลีได้มีคำสั่งปิดแคว้นนี้เมื่อ 8 มีนาคม 2563 และยังมีอีกหลายสาขาของวัดพระธรรมกายในยุโรปที่ต้องเผชิญต่อสถานการณ์ดังกล่าว

แน่นอนว่าสาขาของวัดพระธรรมกายในยุโรปและในอีกหลายประเทศที่อยู่ในพื้นที่การแพร่ระบาด อาจต้องขอรับความช่วยเหลือในอีกไม่ช้านี้ ล่าสุด คือวัดพระธรรมกายเดนมาร์กที่แจ้งให้ร่วมบุญ


ธรรมกายยุโรปทำกิจกรรมผ่านออนไลน์

ทั้งนี้ ได้มีประกาศของคณะกรรมการบริหารงานวัดพระธรรมกายภาคพื้นยุโรป เมื่อ 14 มีนาคม 2563 เรื่อง ปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมต่างๆ ภายในวัด เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา (COVID-19)

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) สถานการณ์ในทวีปยุโรปทวีความรุนแรงขึ้นในทุกพื้นที่ในหลายๆ ประเทศ ก็มีการห้ามการทำกิจกรรม ปิดโรงเรียน ห้างร้านต่างๆ หรือถึงขั้นปิดประเทศ เพื่อความปลอดภัยของนักสร้างบารมีทุกท่าน เพื่อความเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่และเพื่อความเหมาะสมปลอดภัยในการสร้างบารมีในช่วงวิกฤตการณ์ไวรัสนี้

ดังนั้น ในการนี้คณะกรรมการบริหารงานภาคพื้นยุโรป จึงได้มีมติในที่ประชุมเมื่อ 13 มีนาคม 2563 ครั้งที่ 9/2563 ให้ปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมงานบุญต่างๆ ภายในวัด เพื่อให้สอดคล้องตามประกาศของรัฐบาลในแต่ละประเทศในทวีปยุโรป ในการป้องกันและควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) และเพื่อความปลอดภัยของนักสร้างบารมีทุกท่านดังนี้

1. การร่วมกิจกรรมงานบุญ พิธีบูชาข้าวพระอาทิตย์ต้นเดือนในเวลาธรรมกาย พร้อมกับทางวัดพระธรรมกายประเทศไทย ให้ผ่านทางระบบ Network ช่อง GBN (เริ่มเดือนเมษายนนี้)

2. การร่วมกิจกรรมต่างๆ วันอาทิตย์ ลงศูนย์ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมชาวท้องถิ่น ปฏิบัติธรรมพิเศษ ผ่านทางสื่อสารระบบออนไลน์ (Line App, Facebook, Youtube live)

3. โครงการส่วนกลางยุโรป โครงการบวชธรรมทายาทนานาชาติ โครงการปฏิบัติธรรมสาธุชน ที่จัดขึ้นในระหว่างเดือนมีนาคม-30 มิถุนายน 2563 (เลื่อนโครงการไม่มีกำหนด)

4. งดรับอาคันตุกะทั้งพระภิกษุและฆราวาสพักในวัด ตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 (หรือสถานการณ์ไวรัสโคโรนา (COVID-19) ตามประกาศของประเทศนั้นๆ)

ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงประกาศใด คณะกรรมการบริหารงานภาคพื้นยุโรป จะแจ้งให้ทราบต่อไป จึงแจ้งประกาศมาเพื่อทราบ ณ โอกาสนี้

เจ้าภาพภัตตาหาร เดือนเมษายน วัดภาวนาคย็องจู เกาหลีใต้
สาขาต่างแดนต้องช่วยตัวเอง

มีข้อน่าสังเกตว่า สาขาของวัดพระธรรมกายในต่างประเทศ ที่อยู่ในพื้นที่หรือใกล้เคียงกับการระบาดของโรคนั้น เจ้าอาวาสต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเอง โดยที่วัดพระธรรมกายส่วนกลางให้ความช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ น้อยมาก แม้กระทั่งการใช้สื่อโซเชียลจากส่วนกลางในการบอกบุญให้ร่วมกันช่วยเหลือสาขาที่ประสบภัยก็มีให้เห็นน้อยมาก อย่างที่เกาหลีใต้ ทางวัดสาขาทั้ง 2 แห่งต้องใช้เพจสาขาของวัดเองในการบอกบุญขอรับบริจาค

อดีตคนของวัดพระธรรมกาย กล่าวว่า วัดพระธรรมกายมีนโยบายมาตั้งแต่แรกแล้วว่า สาขาของวัดในต่างประเทศมีหน้าที่ในการดูแลตัวเอง เราจึงไม่พบว่ามีการสนับสนุนทางการเงินจากทางส่วนกลาง แต่พอมีข่าวนำเสนอออกไปว่าสาขาที่เกาหลีใต้ลำบาก ก็เริ่มมีเพจจากส่วนกลางโพสต์แจ้งเรื่องบ้างเล็กน้อย

สาขาของวัดพระธรรมกายในต่างประเทศ มักอยู่ในพื้นที่ที่มีคนไทยพักอาศัย บางแห่งเช่าอยู่ภายในอาคาร ทั้งหมดขึ้นอยู่กับศรัทธาของคนไทยในต่างแดนเป็นผู้เกื้อหนุนค่าใช้จ่าย อย่างที่เกาหลีใต้เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาด เมื่อรัฐบาลเกาหลีสั่งหยุดกิจกรรมต่างๆ ทำให้วัดทั้ง 2 แห่งต้องปิดวัด คนไทยจำนวนหนึ่งเลือกเดินทางกลับประเทศไทย และการเดินทางมาทำบุญที่วัดไม่สะดวกเหมือนก่อน ทำให้วัดต้องขอรับบริจาค

เท่าที่สังเกตผู้ที่ร่วมเป็นเจ้าภาพภัตตาหารของวัดสาขาในเกาหลี ส่วนใหญ่น่าจะเป็นเจ้าภาพจากเมืองไทย ซึ่งในยุคนี้มีเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วย เช่น เฟซบุ๊กที่สามารถแจ้งข่าวสารระหว่างกันได้ หรือสามารถไลฟ์สดการสวดมนต์ทำวัตร ให้พรต่างๆ ได้ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ส่วนเรื่องการถวายปัจจัยนั้นก็ทำได้ด้วยการโอนเงินที่เจ้าอาวาสวัดสาขามักมีบัญชีทั้งที่ประเทศต้นทางและที่ประเทศไทย โดยทางวัดจะนำเอาปัจจัยเหล่านี้ไปจัดเตรียมภัตตาหารเอง



กำลังโหลดความคิดเห็น