โควิด-19 พ่นพิษวัดพระธรรมกาย ทำเอาวัดช็อตเงิน ตั้งแต่ยกเลิกโครงการบวชภาคฤดูร้อน สูญเสียเงินบริจาคไปเยอะ แถมบุญใหญ่เดือนเมษายน 2 งาน ทั้งบุญต้นเดือน และวันเกิดธัมมชโย ที่หวังเป็นรายได้หลักเข้าวัดต้องถ่ายทอดผ่านออนไลน์ กระทบหนักถึงขั้นเปิดรับบริจาค “กองบุญบำรุงวัด” ค่าน้ำ ค่าไฟและภัตตาหาร เตรียมมอบ “ดวงแก้วสิริมหาสมบัติ” ตอบแทน พร้อมอำนวยความสะดวกบริจาคผ่าน e-donation
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ขยายวงกว้างไปเกือบทั้งโลก ตอนนี้สหรัฐฯ และอิตาลี กลายเป็นประเทศที่มีประชากรเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวนี้สูงกว่าประเทศจีนที่เป็นต้นทางของ COVID-19 และยังไม่มีแนวโน้มที่การแพร่ระบาดในฝั่งยุโรปและสหรัฐอเมริกาจะคลี่คลายลง
ประเทศไทยในระยะแรกมีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่มากนัก แต่เริ่มพบมากขึ้นจากแฟนมวยที่เข้าชมการชกในสนามมวยลุมพินีเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 และเริ่มแสดงอาการ 13 มีนาคม 2563 ทั้งนี้ แฟนมวยที่มาจากต่างจังหวัดเมื่อกลับภูมิลำเนาทำให้เชื้อกระจายไปยังบุคคลใกล้ชิด รวมถึงมาตรการปิดสถานที่ต่างๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อของกรุงเทพมหานคร ทำให้แรงงานจากกรุงเทพฯ ไหลกลับไปต่างจังหวัด จำนวนผู้ติดเชื้อในช่วงเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
แม้จะมีการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีผลบังคับใช้เมื่อ 26 มีนาคม 2563 แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นทุกวัน ไม่แสดงสัญญาณว่าจะลดลง ดังนั้นจึงมีการออกข้อกำหนดเพิ่มเติมฉบับที่ 2 ห้ามออกนอกเคหสถานช่วงเวลา 4 ทุ่มถึงตี 4 วันรุ่งขึ้น ผู้ใดฝ่าฝืนระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มีผลตั้งแต่ 3 เมษายน 2563 เป็นต้นไป
ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 1 ล้านคนไปแล้ว และผู้เสียชีวิตมากกว่า 5 หมื่นคน ส่วนในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อกระจายไปในหลายจังหวัดเกือบครอบคลุมทั้งประเทศ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 20 ราย จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทะลุ 2,000 ราย
อยู่บ้าน-หยุดเชื้อ-เพื่อชาติ
ภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อ COVID-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบอาชีพค้าขาย พนักงานและลูกจ้างรายวันจำนวนมาก ต้องอยู่ในสถานะไม่มีงานทำขาดรายได้ รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือคนละ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน รวมถึงความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ขณะที่สถาบันการเงินเกือบทุกแห่งออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของทางธนาคาร เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น
เมื่อคำแนะนำให้ประชาชนอยู่บ้าน ลดการเดินทางไปสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมากเพื่อลดการแพร่กระจายและลดการติดเชื้อ รวมถึงความเข้มงวดของหน่วยงานรัฐในเรื่องการเดินทางข้ามจังหวัด ทำให้ไม่สะดวกต่อผู้เดินทางและอาจต้องถูกกักตัวเพื่อสังเกตอาการโรค 14 วัน รวมถึงสถานที่ทำงานหลายแห่งอนุญาตให้พนักงานสามารถทำงานที่บ้านได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เลือกที่จะอยู่บ้าน
การดำเนินชีวิตของผู้คนท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ต้องจัดสรรเงินจำนวนหนึ่งหาทางป้องกันตัวเองด้วยการซื้ออุปกรณ์ทั้งหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ น้ำยาฆ่าเชื้อ เท่าที่จะหามาได้ ต้องจัดซื้ออาหารแห้งจำนวนหนึ่งเตรียมพร้อมหากมีมาตรการปิดเมืองห้ามออกนอกบ้านขึ้นมา
ด้วยเหตุผลที่โรคดังกล่าวเกิดขึ้นใหม่ ยังไม่มียารักษาที่ได้ผล และมีจำนวนผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทุกคนต่างปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อรักษาชีวิต กิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นย่อมถูกตัดออกไป หลายธุรกิจได้รับผลกระทบทั้งแบบที่รัฐสั่งห้ามเปิดบริการหรือกิจการบางประเภทที่เปิดให้บริการได้ ลูกค้าก็น้อยลงไปอย่างน่าใจหาย ต้องหาทางออกด้วยการออกโปรโมชั่นด้านราคาเพื่อจูงใจ
ธรรมกายเริ่มสะดุด
อีกหนึ่งภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการที่ผู้คนหวาดกลัว COVID-19 ไม่กล้าออกจากบ้าน ลดกิจกรรมไปในพื้นที่เสี่ยงที่มีคนรวมตัวหลายคน โดยเฉพาะกิจกรรมทางศาสนา ที่มีข้อแนะนำจากคณะสงฆ์ชั้นปกครองให้เลื่อนหรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมต่างๆ ของทางวัดในช่วงเวลานี้ ขณะที่บางวัดก็งดการให้เข้าชมวัดเพื่อเป็นการป้องกันเชื้อเช่นกัน แต่ยังไม่พบว่ามีวัดใดที่ประสบปัญหาจนต้องออกมาร้องขอความช่วยเหลือ
“วัดโดยทั่วไปพระสงฆ์ไม่ประสบปัญหามากนัก ยังสามารถออกบิณฑบาตได้ และพุทธศาสนิกชนก็ยังตักบาตรพระได้อยู่ และในช่วงนี้ยังไม่มีงานบุญตามวันสำคัญทางพุทธศาสนา ตอนนี้อาจมีเพียงวัดพระธรรมกายเท่านั้น ที่กำลังประสบปัญหาทางด้านการเงิน จนต้องขอให้ผู้ที่ศรัทธาร่วมกันบริจาคให้กับทางวัด”
เป็นที่ทราบกันดีว่าวัดพระธรรมกายมีกิจกรรมด้านพระพุทธศาสนามาโดยตลอด นอกเหนือจากวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาแล้ว ทางวัดยังมีกิจกรรมสำหรับครูบาอาจารย์ของทางวัดและกิจกรรมอื่นๆ แล้วแต่ทางวัดจะจัดขึ้นอีก ดึงให้ผู้ที่ศรัทธาเข้าร่วมกิจกรรมได้ตลอดเวลา
ผิดแผน 2 งานบุญใหญ่
เดิมทางวัดพระธรรมกายได้กำหนดงานบุญใหญ่ของทางวัดเดือนเมษายน 2563 ไว้ 2 งาน คือ วันอาทิตย์ที่ 5 เมษายน 2563 ซึ่งเป็นงานบุญใหญ่ที่ทางวัดจัดขึ้นทุกอาทิตย์แรกของเดือน และในวันดังกล่าวทางวัดกำหนดพิธีประกอบและอัญเชิญสิริปทุมทิพย์พร้อมกันอีกด้วย
อีกงานหนึ่งที่ถือว่ามีความสำคัญต่อวัดพระธรรมกายเป็นอย่างมาก นั่นคือ วันพุธที่ 22 เมษายน 2563 กำหนดพิธีทอดผ้าป่าเนื่องในวันคุ้มครองโลก และพิธีฉลองเกาะแก้วเจดีย์สวรรค์ ที่จริงแล้วคนในวัดต่างทราบดีว่าวันดังกล่าวนี้คือวันเกิดของพระธัมมชโย บังเอิญที่วันนั้นตรงกับวันคุ้มครองโลก ทางวัดจึงใช้ชื่อวันคุ้มครองโลกในการจัดกิจกรรม
ปกติงานบุญใหญ่วันอาทิตย์ต้นเดือนจะมีลูกศิษย์วัดพระธรรมกายเข้ามาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก เชื่อว่าในวันดังกล่าวนั้นผู้ที่มาร่วมบุญจะได้ผลบุญมากกว่าวันอื่นๆ เนื่องจากมีพิธีบูชาข้าวพระ เชื่อกันว่าเพื่อถวายต่อองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะที่วันที่ 22 เมษายน ตรงกับวันเกิดของพระธัมมชโย แน่นอนว่าลูกศิษย์จำนวนมากต่างต้องการไปร่วมอวยพรและร่วมทำบุญกับทางวัด
2 งานนี้ถือว่าเป็น 2 งานใหญ่ หากทางวัดสามารถจัดงานได้ตามปกติ น่าจะมีลูกศิษย์มาร่วมทำบุญกับทางวัดเป็นจำนวนมาก เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ไม่เอื้ออำนวยต่อการจัดงาน ย่อมส่งผลต่อรายได้ของทางวัดพระธรรมกายไม่น้อย
เงินบริจาคหายไปหลายงาน
ทั้ง 2 งานนี้กำหนดล่วงหน้ามาก่อนที่จะมีการระบาดในวงกว้าง จากนั้นทางวัดพยายามแสดงให้เห็นว่าได้ทำความสะอาดจุดสำคัญต่างๆ ของทางวัดเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่จะมาร่วมงาน แต่เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้นจึงต้องปรับกิจกรรมใหม่
ล่าสุดทางวัดพระธรรมกายได้ปรับเปลี่ยนงานบุญวันที่ 5 เมษายน 2563 เป็นจัดพิธีบูชาข้าวพระผ่าน GBN งดพิธีอัญเชิญสิริปทุมทิพย์ ส่วนงานวันคุ้มครองโลก 22 เมษายน 2563 งดจัดพิธีทอดผ้าป่า งดจัดพิธีฉลองเกาะแก้วเจดีย์สวรรค์
เป็นอันว่างานบุญใหญ่ทั้ง 2 งานนี้ผิดแผนไปจากที่ทางวัดพระธรรมกายคาดหวังไว้ โอกาสที่จะได้รับเงินบริจาคจากผู้ที่มาร่วมบุญย่อมลดน้อยลง
ก่อนหน้านี้ทางวัดพระธรรมกายได้ยกเลิกโครงการบวชภาคฤดูร้อนของทางวัดหลายโครงการ ก่อนที่จะมีประกาศของคณะสงฆ์จังหวัดปทุมธานีออกมา เงินบริจาคจากการจัดหาเจ้าภาพบวชพระและสามเณรจึงหายไปเป็นจำนวนมาก
ชวนบริจาค “กองบุญบำรุงวัด”
แหล่งข่าวที่ติดตามสถานการณ์ของวัดพระธรรมกายกล่าวว่า เงินทุนของวัดพระธรรมกายตอนนี้ไม่ได้มีมากเหมือนในอดีต เนื่องจากบัญชีของมูลนิธิธรรมกาย และมูลนิธิคุณยายจันทร์เคยถูกอายัดไว้และยังอยู่ในขั้นตอนของคดีความ ทำให้วัดต้องสร้างกิจกรรมงานบุญอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงวัด ไม่มีใครคาดคิดว่า COVID-19 จะรุนแรงและอาจต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะคลี่คลาย
ขณะนี้ทางวัดพระธรรมกายได้เชิญชวนให้ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบุญ “กองบุญบำรุงวัด” ด้วยข้อความ “ห่วงใยวัดให้ร่วมบุญ” ในสถานการณ์พิเศษ (COVID-19) เพื่อใช้เป็นค่าภัตตาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ข้าวของเครื่องใช้ สิ่งของจำเป็นต่างๆ ยารักษาโรค ฯลฯ และสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายทุกๆ เดือน
ทั้งนี้ ทางวัดพระธรรมกายได้จัดเตรียม ของขวัญกองทุนบำรุงวัดในสถานการณ์พิเศษ (COVID-19) นั่นคือดวงแก้วสิริมหาสมบัติ (วาระครบรอบ 50 ปี วัดพระธรรมกาย) เพื่อมอบให้กับผู้ที่ร่วมบุญในกองทุนบำรุงวัด สามารถสอบถามได้ที่ผู้ประสานงานที่ท่านสังกัด
พร้อมทั้งนำข้อความทบทวนโอวาทคุณครูไม่ใหญ่ (พระธัมมชโย) มาโพสต์ “ไม่ว่าสถานการณ์ของโลกจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่อย่าขาดในการสั่งสมบุญ เพราะเราเกิดมาสร้างบารมี ก็ต้องสร้างบารมีให้เต็มที่” และอีกข้อความ “อย่ากังวล เพราะความกังวล ยิ่งใช้ ยิ่งมี ไม่หมดสักที ติดไปชาติหน้า” ทบทวนโอวาทหลวงพ่อธัมมชโย
ยานแม่...ก็ไม่รอด
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้สาขาของวัดพระธรรมกายในต่างประเทศ ที่มีการระบาดอย่างรุนแรงตามประเทศต่างๆ นั้นเคยประสบปัญหานี้มาก่อน เริ่มที่สาขาเกาหลี ญี่ปุ่น และต่อด้วยสาขาในยุโรป ต้องหาทางช่วยเหลือตัวเองในการประกาศบนเฟสบุ๊กให้ร่วมบุญค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าเช่าสถานที่ รวมถึงค่าภัตตาหารแต่ละมื้อ
ในตอนนี้แม้กระทั่งวัดพระธรรมกายที่เปรียบเสมือนสำนักงานใหญ่ ก็ต้องร้องขอให้ผู้ที่ศรัทธาเข้ามาร่วมบริจาคด้วยเช่นกัน
วัดพระธรรมกายถือเป็นวัดใหญ่มีพระภิกษุจำนวนมาก และยังมีอุบาสก-อุบาสิกาในวัดอีกจำนวนหนึ่ง และยังมีสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ที่ต้องดูแลบำรุงรักษา ประเมินว่าภายในวัดน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 1,000 ชีวิต ดังนั้นค่าใช้จ่ายภายในวัดจึงสูงมาก เมื่องานบุญของทางวัดสะดุดลงด้วยสถานการณ์ COVID-19 ย่อมทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายภายในวัด
อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันการทำบุญไม่จำเป็นต้องเดินทางไปทำที่วัดเพียงอย่างเดียว ทางวัดได้มีระบบ e-donation สั่งสมบุญได้ปลอดภัย แม้ในภาวะ COVID-19 ระบาด แม้จะอยู่ไกล แต่ไม่ขาดบุญ ท่านที่มีบัญชีธนาคารกรุงไทย สามารถทำบุญออนไลน์ได้ทั่วโลก เพียงสแกน QR Code ของทางวัด สมัครสมาชิก รออีเมลยืนยันก็สามารถใช้งานได้ทันที