ทหารแฉ!โครงการสวัสดิการเงินกู้สำหรับซื้อที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้านพักอาศัย เป็นเรื่องของ 'ทหารหลอกทหารกันเอง' ทั้งที่รู้ว่าแปลงที่ดินที่ขออนุมัติ ไปตรวจแล้วไม่เหมาะสม แต่ค้านไม่ได้ เพราะ 'นายสั่ง' แจงทุกขั้นตอนผู้จัดสรรรู้ดีว่าจะต้องทำอย่างไร เพื่อให้อนุมติได้เร็ว ชี้โครงการ 'เงินทอน' จากการอัปราคา มีมานานแล้ว ส่วนการแบ่งแปลงขายนิยมทำแบบ 'ตีนตะขาบ' ยันนางอนงค์ มิตรจันทร์ มีโครงการสวัสดิการทหารในอีกหลายจังหวัด ทั้งสกลนคร อุดรธานี
ว่าไปแล้วเป้าประสงค์ในการจัดทำโครงการสวัสดิการเงินกู้สำหรับซื้อที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้านพักอาศัยให้กับกำลังพลหรือทหารระดับต่างๆ นั้นเป็นเรื่องที่ดีและมีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ทหารชั้นผู้น้อยมีโอกาสมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง เริ่มตั้งแต่การกู้เงินสวัสดิการเพื่อไปซื้อที่ดินเปล่าเก็บไว้ก่อนและเมื่อผ่อนที่ดินหมดก็สามารถไปขอกู้เพิ่มเพื่อนำเงินไปสร้างบ้านอยู่อาศัยต่อไป
แต่ภายใต้โครงการดีๆ กลับมีพวกแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการใช้อำนาจหน้าที่และในฐานะผู้บังคับบัญชาสร้างผลประโยชน์ให้กับพวกพ้องตัวเองหรือไม่? โดยเฉพาะหากไม่มีเหตุการณ์ 'จ่าคลั่ง' สังคมจะรู้ถึงขบวนการเงินทอนในโครงการสวัสดิการทหารได้อย่างไร
สำหรับเหตุการณ์จ่าคลั่ง จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา ทหารสังกัดกรมสรรพาวุธกระสุนที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ จ.นครราชสีมา ก่อเหตุสะเทือนขวัญยิง พ.อ.อนันต์ฐโรจน์ กระแส ผู้บังคับกองพันฯ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง กับ นางอนงค์ มิตรจันทร์ แม่ยาย คาบ้านพัก ก่อนบุกปล้นคลังอาวุธพร้อมรถฮัมวี่ออกมา จนกระทั่งสติแตกนำไปสู่โศกนาฏกรรมกราดยิงผู้คนไม่เลือกหน้า ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็ก ทั้งที่วัดป่าศรัทธารวมและศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 มีผู้เสียชีวิตถึง 30 คน บาดเจ็บ 58 คน
ส่วนจ่าคลั่ง ก็ถูกตำรวจชุดปฏิบัติการพิเศษวิสามัญฆาตกรรม บริเวณห้องเย็นของฟู้ดแลนด์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต จบชีวิตหลังเหตุการณ์ตึงเครียดกว่า 18 ชั่วโมง
จากนั้นนำไปสู่การค้นหาและเปิดโปงสาเหตุที่จ่าคลั่งยิง พ.อ.อนันต์ฐโรจน์ และแม่ยาย มาจากการเบี้ยวค่านายหน้าทั้งที่มีการทวงถามมาเป็นระยะ โดยนางอนงค์ทำโครงการจัดสรรที่ดินสร้างบ้านพักเพื่อขายให้บรรดาเจ้าหน้าที่ทหาร และโครงการนี้ก็ขายหมดแล้ว โดยมีนายหน้าเป็นตัวกลางทำหน้าที่ขายและจดจำนองให้ลูกค้า
แต่การที่จะขายพื้นที่จัดสรรในโครงการได้หมดนั้นจะต้องได้ลูกค้า(ทหาร) 2 กลุ่ม คือทหารที่ต้องการผ่อนซื้อที่อยู่อาศัยเก็บไว้เป็นทรัพย์สินในอนาคต อีกกลุ่มหนึ่งคือทหารที่ต้องการเงินส่วนต่างไปใช้หนี้หรือมีความจำเป็นอื่นๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าแต่ละโครงการมีทหารกลุ่มไหนมากกว่ากัน กรณีจ่าคลั่ง ก็เป็นกลุ่มที่ 2 ที่ต้องการนำเงินส่วนต่างไปใช้หนี้และซื้อในสิ่งที่ตัวเองชอบ ก็คือปืน
นี่คือจุดเริ่มต้นของขบวนการเงินทอน ที่หากไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้บังคับบัญชา และหน่วยงานทหารที่เกี่ยวข้องในเรื่องโครงการสวัสดิการเงินกู้ ว่ากันว่าจะไม่สามารถกระทำการได้สำเร็จ เพราะเงินทอนเกิดขึ้นได้จากการสร้างราคาที่ดินให้มีมูลค่าสูงกว่าราคาซื้อขายจริงระหว่างผู้จัดสรรและทหารที่ซื้อที่ดินจัดสรรนั้นๆ
ที่สำคัญการปล่อยกู้เงินโครงการ อทบ.เคหสงเคราะห์เพื่อซื้อที่ดินและปลูกสร้างบ้านนั้น ไม่ว่าจะกู้สูงกว่ามูลค่าจริงเท่าใด หากผู้บังคับบัญชาอนุมัติ โอกาสในการสูญเสียไม่มี เนื่องจากใช้วิธีการหักเงินเดือนของผู้กู้ จึงเป็นเรื่องที่ผู้อนุมัติไม่มีความเสี่ยงแต่ประการใด
“เคสจ่าคลั่ง กู้เงินสวัสดิการ(อทบ.) 1.5 ล้าน แต่จริงๆ ค่าบ้านและที่ดิน 1.1 ล้านบาท จะมีส่วนต่างอยู่ที่ 4 แสนบาทที่เกิดจากการอัปราคาที่ดินให้สูงเพื่อการปล่อยเงินกู้ได้สูงด้วย”
จากข้อมูล “ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม” ของ นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ได้ออกมาโพสต์รูปภาพ เอกสารซึ่งเป็นบันทึกข้อความการจ่ายเงินเพื่อการเคหสงเคราะห์ ซึ่งทางเพจได้ระบุข้อความว่า
“เปิดหลักฐานปมเบี้ยวเงินส่วนต่างค่าบ้านที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ จ.ส.อ.จักรพันธ์ ทวงเงินแล้วไม่ได้ จนก่อเหตุยิงโดยที่แฟนผู้พันพูดไม่เป็นความจริง ที่สำคัญ ยังถูกอมเบี้ยเลี้ยงและสั่งขังลงโทษ (เงินกู้ 1,125,000 ล้าน ค่าจ้างสร้างบ้าน 750,000 บาท คงเหลือเงินทอน 375,100 บาท) และยังมีค่านายหน้าอีก 50,000 บาท ต่างหากที่ จ.ส.อ.จักรพันธ์ แนะนำลูกค้า”
แหล่งข่าวจากกองทัพบก ระบุว่า นางอนงค์ มิตรจันทร์ ทำโครงการจัดสรรเพื่อสวัสดิการทหารมาเป็นเวลา 10 กว่าปี ซึ่งตัวเธอเป็นคนกว้างขวางทั้งในวงการทหาร ข้าราชการ เป็นที่รู้จักของบรรดานายหน้าค้าที่ดิน ส่วนโครงการจัดสรรเพื่อสวัสดิการทหารไม่ได้มีเฉพาะที่โคราชเท่านั้น แต่ยังมีที่ ปทุมธานี และในอีสาน โดยเฉพาะที่จังหวัดสกลนคร อุดรธานี ก็จะทำวิธีเดียวกัน
“เท่าที่รู้ นางอนงค์ไม่น่าจะเป็นเจ้าของตัวจริงทั้งหมด เราก็พอรู้ว่ามีใครอยู่เบื้องหลัง แต่เมื่อทุกอย่างมาเป็นชื่อของนางอนงค์ ก็ต้องเป็นไปตามนั้น”
ขณะที่การทำโครงการจัดสรรเพื่อสวัสดิการทหาร มีข้อดีคือที่ดินที่นำมาจัดสรรไม่จำเป็นต้องเป็นแปลงใหญ่ 50 หรือเป็น100 ไร่ขึ้นไป เพียงหาที่ดินขนาด 5-20 ไร่ แล้วนำไปแบ่งเป็นแปลงละ30 ตารางวา หรือเท่าไหร่ก็ได้ขึ้นอยู่กับคนซื้อ คนขายตกลงกัน เนื่องเพราะโครงการสวัสดิการทหารไม่มีการยื่นขออนุญาตจัดสรรจากกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ดังนั้น โครงการที่เกิดขึ้นจึงมักจะใช้พื้นที่ห่างไกล บางที่ไม่มีถนนเข้า ไม่มีน้ำประปา ไม่มีไฟฟ้า ทหารที่ซื้อไปแล้วเมื่อจะปลูกสร้างก็ต้องไปขอไฟฟ้า ขอน้ำกันเอง ยกเว้นแต่ว่าซื้อไว้นานจนความเจริญเข้าไปถึง ก็จะโชคดีไป แหล่งข่าวเล่าว่า ที่ผ่านมาหลักเกณฑ์ในการทำโครงการ
สวัสดิการทหารนั้น เจ้าของโครงการฯ จะต้องมีการหารือและผ่านขั้นตอนแต่ละหน่วยงานของกองทัพภาค ที่ต้องการจัดหาที่ดินและบ้านเป็นสวัสดิการให้ทหารไว้ก่อน โดยต้องมีการแบ่งผังชัดเจนว่าแปลงไหนใครจอง ดังนั้นเจ้าของโครงการจึงเลือกที่จะแบ่งขายเป็นแปลงเล็กๆ จำนวน 30-40 แปลงก่อน โดยใช้ที่ดินประมาณ 5-20 ไร่ เพื่อจะได้รับอนุมัติโดยเร็ว เพราะการจะอนุมัติได้นั้นตามขั้นตอนกองทัพภาคจะต้องส่งมาที่กรมสวัสดิการทหารบก เป็นผู้ตรวจสอบ อนุมัติเข้าโครงการเงินกู้โครงการ อทบ.เคหสงเคราะห์เพื่อปลูกสร้างบ้าน จากกรมสวัสดิการทหาร
“กรมสวัสดิการฯ จะส่งเจ้าหน้าที่ 3-4 นาย ไปดูความเหมาะสมของพื้นที่ที่จะจัดสรรให้ทหารผ่อนกัน ก็ได้แต่ไปดูจริงๆ แต่นายสั่งให้ไฟเขียวก็ต้องไฟเขียว ไม่ต้องเสนอแนะอะไร ไม่ต้องพูดอะไรว่ามันดีหรือไม่ดี มันเหมาะหรือไม่เหมาะ ไปต่อต้านอะไรก็ไม่ได้”
แหล่งข่าวบอกอีกว่า จริงๆ แล้วเรื่อง 'เงินทอน' ในโครงการจัดสรรเพื่อสวัสดิการทหาร มีมานาน 30 กว่าปีแล้ว แต่ที่น่าเจ็บใจที่สุดคือ โครงการนี้เท่ากับการส่งเสริมให้ทหารหลอกทหารกันเอง ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นโครงการที่ดี ต้องการช่วยให้ทหารชั้นผู้น้อยรู้จักการออม มีที่อยู่ มีทรัพย์สิน เป็นของตัวเองและครอบครัว แต่เมื่อผู้บังคับบัญชาให้ไปดูที่ดินแล้วพบว่า ที่ดินบางโครงการไม่เหมาะสม ก็ไม่ควรอนุมัติ แต่นี่กลับอนุมัติ
“รู้มั้ยมีที่ดินที่ทหารได้ผ่อนตามโครงการสวัสดิการกันไว้หลายแห่ง หลายจังหวัด เป็นหลายร้อยหลายพันแปลง จนวันนี้เติบโตเป็นนายร้อย นายพันกันแล้ว ผ่านมา 30 ปี ที่ดินแปลงจัดสรรนี้ยังไม่มีใครไปสร้างบ้านกันเลย เพราะที่ดินยังไม่มีความเจริญเข้าไป ยังคงเป็นป่า พวกเราก็ได้แต่พูดกันว่าตอนนั้นซื้อกันไปได้อย่างไร ก็ช่างแม่งมัน จะบอกว่าเป็นสินทรัพย์ในอนาคต ก็ไม่รู้ว่าจะได้หรือเปล่า ไปถึงรุ่นลูกก็ยังไม่รู้ว่าจะเจริญขึ้นมาหรือไม่”
แหล่งข่าวเล่าต่อว่า ผู้จัดสรรที่จะได้รับอนุมติโครงการดังกล่าว รู้ว่าจะผ่านแต่ละขั้นตอนต้องทำอย่างไร จึงจะผ่านได้ง่าย ซึ่งทุกขั้นตอนเป็นต้นทุนทั้งสิ้น แต่การเข้ามาจัดสรรขายให้ทหารจะได้เงินสดไปแน่นอน ส่วนจะเต็มจำนวนแค่ไหน เป็นเรื่องที่รู้กันเฉพาะเท่านั้น
ดังนั้นที่ดินที่นำไปขายนั้น เจ้าหน้าที่ที่ไปตรวจสอบจึงไม่จำเป็นต้องไปรู้ละเอียดว่าถูกหรือแพง แค่ไปตรวจตามภารกิจก็เพียงพอ และในการแบ่งแปลงที่ดินขาย สิ่งที่เหมือนกันเกือบทุกโครงการในการไปซื้อที่ดินที่ยังห่างไกลความเจริญ และบางพื้นที่ก็ยังเป็นป่า บางที่ก็ปลูกข้าวโพด ปลูกมัน ปลูกอ้อย ก็จะใช้วิธีการแบ่งเป็น 'ตีนตะขาบ' ซึ่งหมายถึงจะมีถนนลูกรังกว้าง 6-8 เมตร อยู่ตรงกลาง ส่วน 2 ฝั่งก็จะเป็นแปลงที่ดิน บางที่ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ รอความเจริญเข้าไป
ตัวอย่างเช่นที่ดินโครงการสวัสดิการที่จังหวัดนครราชสีมาแห่งหนึ่ง เจ้าของโครงการชื่อ 'ฟ' ทหารชั้นผู้น้อยก็มีการซื้อกันไว้ ตอนนั้นก็ห่างไกลมากๆ บางคนผ่อนไปแล้วก็ไม่อยากได้แล้ว เพราะไม่รู้ว่าอีกกี่ปีจะเจริญ จะมีคนไปสร้างบ้านอยู่หรือไม่ จึงอยากจะได้เงินคืน ก็มีการนำไปขายให้หัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชา หรือเพื่อนๆ นายทหารคนอื่นๆ ที่ต้องการ ผ่านมาแล้วเกือบ 30 ปีเช่นกัน กลับโชคดีที่วันนี้มีความเจริญเข้าไปถึงบ้าง แต่ก็ต้องประสบปัญหาในเรื่องของทางออกถึงขั้นฟ้องร้องกันอยู่ในขณะนี้
“แปลงนี้ก็มีการจัดสรรขาย 30-40 แปลงเช่นกัน ผ่านมา 30 ปี มีถนนเข้ามาก็เพิ่งจะรู้กันว่า เจ้าของคือ 'ฟ' กันที่ดินข้างหน้าไว้ 1-2 ไร่ มีการปิดล้อมไม่ให้คนซื้อที่ตามโครงการจัดสรรของทหารใช้เป็นทางออก เพราะตามผังที่มีการจัดสรรขายมีทางออกอยู่ตรงที่มีการปิดกั้น จนนำไปสู่การฟ้องร้องเกิดขึ้น”
ขณะเดียวกันในการทำโครงการจัดสรรเพื่อสวัสดิการในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้าง ตรงที่ไม่ต้องมีชื่อผู้ซื้อแนบมาด้วยในการส่งไปยังกรมสวัสดิการฯ เพียงแต่ว่ายังคงผ่านขั้นตอนเช่นเดิมเพื่อเสนอให้กรมสวัสดิการฯ ประทับตราอนุมัติเท่านั้น
“เมื่อได้รับการประทับตราแล้ว ก็สามารถนำมาตั้งโต๊ะขายในค่ายทหารได้ ก็คือการออกบูทขายที่ดินและบ้านในค่ายทหารนั่นแหละ ส่วนทหารคนไหนสนใจก็จะสามารถซื้อได้และผ่อนชำระในโครงการเงินกู้ ที่อาจจะผ่อนจากโครงการ อทบ.เคหสงเคราะห์ หรือผ่อนกับธนาคารที่มีการติดต่อไว้กับกรมสวัสดิการฯ”
อย่างไรก็ดี โครงการจัดสรรของเอกชนที่เข้ามาจัดสรรตามโครงการสวัสดิการทหาร จะมีความแตกต่างกับโครงการจัดสรรเอกชนทั่วไปที่ไม่ได้เข้าโครงการ เพราะเอกชนที่ไม่ได้เข้าโครงการก็เป็นเรื่องของทหารแต่ละบุคคลที่ไปซื้อ และไปยื่นกู้กับธนาคาร ส่วนใครที่ผ่านตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแล้ว ก็มักจะมีการชำระด้วยตนเอง ไม่ได้มีการขออนุมัติหักจากเงินเดือน
ถึงวันนี้แหล่งข่าวจากกองทัพ ก็ยังยืนยันว่าโครงการสวัสดิการเงินกู้ฯ ที่กองทัพจัดขึ้นมานั้น ถือเป็นโครงการที่ดินและมีประโยชน์ เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรที่จะตัดขบวนการหาประโยชน์จากโครงการนี้ได้เท่านั้น โดยเฉพาะการที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ประกาศว่า เคยมีโครงการบ้านสวัสดิการ ที่หน่วยงานบางหน่วยร่วมมือกับพ่อค้าโดยมีการวิ่งเต้น และยืนยันว่ามีข้อมูลเชิงลึกที่จะเอาผิดนายทหาร ตั้งแต่ระดับนายพลถึงพันเอก จะลงโทษถึงขั้นให้ออกจากราชการในช่วงเดือน ก.พ.ถึง เม.ย.ที่จะถึงนี้
นี่คือคำมั่นสัญญาที่ออกจากปาก ผบ.ทบ. ถือเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู ส่วนจะทำได้จริงหรือไม่ต้องติดตาม!