นักวิชาการชี้ 4 ปัจจัย พารัฐบาล คสช. ดิ่งเหว เกิดความขัดแย้งรุนแรง มวลชนลุกฮือขึ้นขับไล่ จากปัญหาความโปร่งใส แทรกแซงองค์กรอิสระ ใช้อำนาจโดยมิชอบ และการสืบทอดอำนาจ “ศ.ดร.บรรเจิด” ระบุ กรณีนาฬิกาหรูเป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็ง แหล่งข่าวเผย รัฐส่งทหาร 7 พันนาย ประกบแกนนำเหนือ-อีสาน สกัดพรรคคู่แข่ง ด้าน “คมสัน” ชี้สถานการณ์ใกล้สุกงอม ขณะที่ “น.ต.ประสงค์” เตือน ทุกสีเสื้อจะจับมือกันล้มรัฐบาล
นับเป็นสถานการณ์ที่น่าจับตายิ่งสำหรับการเมืองไทยในช่วงขาลงของรัฐบาล คสช. และกำลังเผชิญปัญหาวิกฤตศรัทธาอย่างหนัก อีกทั้งกระแสความไม่พอใจของภาคประชาชนที่คุกรุ่นอยู่ในขณะนี้ก็มีท่าว่าจะลุกลามบานปลายขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งหลายฝ่ายฟันธงตรงกันว่าอาจเป็นเชื้อไฟนำไปสู่ความรุนแรงซ้ำรอย 14 ตุลาฯ และพฤษภาทมิฬ !! ก็เป็นได้
สำหรับปัจจัยที่จะนำพารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงนั้นจากการประเมินท่าทีพบว่า มี 4 ประเด็นหลัก ๆ ด้วยกัน อันได้แก่ ปัญหาการคอร์รัปชัน การแทรกแซงองค์กรอิสระ การใช้อำนาจโดยมิชอบ และการสืบทอดอำนาจ
“กรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตรนั้นเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ยังมีน้ำแข็งก้อนใหญ่อยู่ใต้ผืนน้ำ ซึ่งกลุ่มที่จะเป็นตัวแปรสำคัญคือกลุ่มที่เคยสนับสนุนรัฐบาล คสช. ผิดหวังกับการปฏิรูปและรู้สึกว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา” ศ.ดร.บรรเจิดกล่าวปัจจัยแรกคือ ปัญหาความไม่โปร่งใส และความล้มเหลวในการปราบทุจริตคอร์รัปชัน จากคำมั่นสัญญาที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศว่าจะเข้ามาเพื่อขจัดปัญหาคอร์รัปชัน ทำให้คนไทยวาดหวังว่าจะได้เห็นการจัดการกับการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม แต่กลายเป็นว่ารัฐบาลชุดนี้กลับมีข้อครหาเรื่องการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่าง ๆ เสียเอง และกรณีไม่ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินนาฬิกาหรูของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ก็บังเอิญไปตอกย้ำเรื่องธรรมาภิบาลและความโปร่งใส ส่งผลให้ประชาชนหมดศรัทธาและลุกขึ้นมาตรวจสอบท้วงติงแต่รัฐบาลกลับนิ่งเฉย แม้แต่การออกมาตอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดูจะเหมือนเป็นการแก้ต่างให้หรือไม่?
จากกระแสตรวจสอบจึงกลายเป็นกระแสต่อต้านและขับไล่ ทั้งในรูปแบบการชุมนุมและลงมติผ่านโพลของกลุ่มต่างๆ ซึ่งประชาชนขานรับสนับสนุนให้ พล.อ.ประวิตรลาออก ตามที่เคยลั่นวาจาไว้ว่าหากประชาชนไม่อยากให้อยู่ก็พร้อมจะไป แต่เมื่อผลโพลออกมาเช่นนี้ “บิ๊กป้อม” กลับไม่ใส่ใจ แถมโฆษกกระทรวงกลาโหมยังให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่า พล.อ.ประวิตรจะเดินหน้าทำงานต่อไป ! ส่งผลให้กระแสความไม่พอใจยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ศ.ดร.บรรเจิด สิงคเนติ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้วิเคราะห์สถานการณ์ของรัฐบาลว่า รัฐบาลกำลังเผชิญกับวิกฤตศรัทธา ทั้งเรื่องผลงานและปัญหาความโปร่งใส ซึ่งในเรื่องของผลงานนั้นประชาชนผิดหวังกับการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ที่รัฐบาลเคยรับปากไว้ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปตำรวจ การปฏิรูปการศึกษา ขณะที่ปัญหาความโปร่งใสนั้นมีหลากหลายกรณีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่มาแตกหักจากกรณีนาฬิกาหรู
ด้าน นายคมสัน โพธิ์คง รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต บอกว่า ขณะนี้สถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในขั้นที่สุกแล้วแต่ยังไม่งอม คนส่วนใหญ่ไม่พอใจการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการปราบคอร์รัปชัน ซึ่งประชาชนมองว่ารัฐบาลที่อาสาเข้ามาปราบปรามคอร์รัปชันกลับคอร์รัปชันเสียเอง ปัจจุบันถูกพุ่งเป้าไปที่กรณีนาฬิกาหรู ถ้า พล.อ.ประวิตร ลาออกกระแสความไม่พอใจก็จะลดลง ตรงข้ามถ้าไม่ลาออกความไม่พอใจจะขยายวงกว้างขึ้น และกรณีของ พล.อ.ประวิตรก็อาจนำไปสู่สถานการณ์ที่สุกงอมหากมีประเด็นอื่นเข้ามาเสริม
ปัจจัยต่อมาคือ การแทรกแซงองค์กรอิสระ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีการแทรกแซงและชี้นำการทำงานขององค์กรอิสระต่าง ๆ อย่างชัดเจน โดยเฉพาะสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หน่วยงานหลักที่มีบทบาทในการยกร่างกฎหมายต่าง ๆ นอกจากจะถือกำเนิดมาจากการแต่งตั้งของ คสช.แล้ว ยังเห็นได้ชัดว่าการออกกฎหมายหรือการแก้ไขกฎหมายล้วนเป็นไปเพื่อสนองความต้องการของ คสช. โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ล่าสุด สนช.มีมติขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งซึ่งส่งผลให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป จากเดิมที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ประกาศไว้ครั้งล่าสุดว่าน่าจะอยู่ในช่วง พ.ย. 2561 ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าภารกิจนี้มีเป้าหมายเพื่อการสืบทอดอำนาจของ คสช.
อีกองค์กรที่สังคมมองว่าถูกแทรกแซงอย่างหนักก็คือ ป.ป.ช. ซึ่งถูกแทรงแซงมาตั้งแต่ขั้นตอนการแต่งตั้ง โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ อดีตหน้าห้องของ พล.อ.ประวิตร ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง สนช. ได้รับใบสั่งให้ลาออก เพื่อไปนั่งเป็นประธานกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งที่ขาดคุณสมบัติ ยิ่งเมื่อ ป.ป.ช.ยิ่งเฉย ไม่ตรวจสอบกรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตรที่ไม่มีการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน ก็ยิ่งทำให้เกิดข้อครหา แม้ภายหลัง ป.ป.ช.จะตั้งกรรมการสอบเรื่องนี้โดยที่ พล.ต.อ.วัชรพล ออกตัวว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่ก็ไม่สามารถล้างภาพความไม่เป็นกลางของ ป.ป.ช.ออกไปได้
ปัจจัยประการที่ 3 ซึ่งจะนำไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองก็คือ การใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐบาล คสช. โดยเฉพาะการนำกฎหมายพิเศษ ม.44 มาบังคับใช้ในหลายกรณี และล่าสุดที่ก่อให้เกิดแรงต้านอย่างหนักก็คือการนำคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มาใช้เพื่อสกัดกั้นการออกมาเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมกลุ่มต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบของการจับกุมและข่มขู่คุกคาม ซึ่งเหตุที่สังคมมองว่าเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบก็เพราะเป็นการบังคับใช้กฎหมายแบบไร้เหตุผล และไม่ฟังเสียงประชาชน
โดยนอกจากกลุ่มที่เชียร์รัฐบาลแล้วเจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งให้จับกุมทุกกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่กดดันให้ พล.อ.ประวิตรลาออก กลุ่มที่เรียกร้องให้จัดการเลือกตั้ง รวมทั้งกลุ่มที่ขอให้รัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องต่าง ๆ แม้แต่นิสิตนักศึกษาที่จัดขบวนพาเหรดล้อเลียนการเมือง ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 72 เมื่อเร็ว ๆ นี้รัฐบาลยังส่งเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจในและนอกเครื่องแบบเข้าไปตรวจสอบกดดัน อีกทั้งยังห้ามไม่ให้ขบวนพาเหรดล้อเรื่องนาฬิกา ห้ามเอ่ยชื่อองค์กร-ตัวบุคคล และห้ามทำหุ่นที่มีลักษณะคล้ายผู้นำทหาร-ผู้นำประเทศอีกด้วย ซึ่งแรงกดดันดังกล่าวทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถึงกับต้องออกจดหมายปรามนิสิตจุฬาฯ หากแต่รัฐบาลหารู้ไม่ว่าการกระทำเช่นนี้ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลกลายเป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ และเท่ากับเป็นการ “เรียกแขก” ให้ออกมาร่วมต่อต้านรัฐบาลมากยิ่งขึ้น
ศ.ดร.บรรเจิด ชี้ว่า “รัฐบาลลืมนึกไปว่าสถานการณ์ตอนนี้ต่างจากช่วงที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศใหม่ๆ ประชาชนยังศรัทธาและมีความหวัง การใช้อำนาจพิเศษต่าง ๆ จึงไม่มีปัญหา แต่ปัจจุบันอยู่ในภาวะที่ประชาชนเสื่อมศรัทธา การใช้อำนาจพิเศษจับกุมผู้ชุมนุมจึงรังแต่จะเกิดกระแสต่อต้านเพิ่มมากขึ้น”
ขณะที่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตนายทหารผู้คร่ำหวอดในวงการการเมือง แสดงความวิตกต่อสถานการณ์ดังกล่าวว่า ขณะนี้ภาคประชาชนอึดอัด ไม่พอใจการใช้อำนาจตามอำเภอใจของรัฐบาล คสช. โดยกลุ่มองค์กรต่าง ๆ มีการออกแถลงการณ์ประณามการจับกุมผู้ชุมนุม ขณะที่ในโลกโซเชียลก็มีการแสดงความไม่พอใจต่อการใช้อำนาจของรัฐบาล
“ตอนนี้บ้านเมืองกลับเข้าสู่วงจรความไม่สงบซึ่งมีสาเหตุมาจากการใช้อำนาจของรัฐ รัฐบาลมองประชาชo ว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบและใช้อำนาจเกินขอบเขตกับผู้ชุมนุม ซึ่งถือว่าเป็นแนวคิดที่อันตรายมาก หากจะเกิดสถานการณ์รุนแรงก็ไม่ได้เกิดจากประชาชน แต่เกิดจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปควบคุมฝูงชน จากนี้ให้ระวังกลุ่มที่ไม่ถูกกัน ทั้งเหลืองทั้งแดงและสีอื่น ๆ จะจับมือกันเพื่อล้มล้างการใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐบาล แนวร่วมทุกกลุ่มจะไหลมารวมกันเพราะต่างอึดอัดในเรื่องเดียวกัน” น.ต.ประสงค์ระบุ
ปัจจัยสุดท้ายที่จะนำไปสู่ความรุนแรงก็คือ การสืบทอดอำนาจของ คสช. หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าประเด็นนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมาขับไล่รัฐบาล และมีความเป็นไปได้สูงที่ฝ่าย คสช.ก็จะไม่ยอมถอย ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการปะทะ และสถานการณ์อาจบานปลายถึงขั้นเกิด “การนองเลือด” เช่นเดียวกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อปี 2535
“คสช.เปิดหน้าชัดเจนว่าสืบทอดอำนาจ ตอนนี้ทราบมาว่ามีการส่งทหารกว่า 7,000 นาย ลงพื้นที่ภาคเหนือและอีสานเพื่อประกบแกนนำในพื้นที่ กดดันไม่ให้สนับสนุนพรรคการเมืองอื่น ซึ่งอาจจะไม่ค่อยได้ผล เพราะนักการเมืองท้องถิ่น รวมถึงข้าราชการ มองว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าอำนาจอาจเปลี่ยนมือ แม้แต่ระดับบิ๊กใน คสช.บางคนก็ยังเกียร์ว่าง เพราะเขาก็ไม่มั่นใจเหมือนกันว่าอำนาจที่มีอยู่จะยั่งยืน ตอนนี้ประชาชนกำลังสะสมความไม่พอใจที่มีต่อรัฐบาล คสช. แต่เชื่อว่ายังไม่มีอะไรรุนแรงเพราะยังไม่มีแกนนำที่จะออกมาไล่รัฐบาล แต่ถึงจุดหนึ่งเมื่อประชาชนทนไม่ไหวเขาจะลุกฮือและสถานการณ์ก็จะผลักดันให้เกิดแกนนำขึ้นมาเอง ส่วนจะถึงขั้นนองเลือดหรือไม่ก็ต้องดูหลังการเลือกตั้ง หากเลือกตั้งแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ กลับเข้ามาเป็นนายกฯ อีก ก็จะถูกขับไล่เหมือนกรณี พล.อ.สุจินดา คราประยูร และอาจซ้ำรอยพฤษภาทมิฬ” แหล่งข่าวระบุ