xs
xsm
sm
md
lg

ขึ้นบัญชีดำ 10 แก๊งปล่อยเงินกู้รายใหญ่ ‘บุรีรัมย์’หนักสุด!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระทรวงยุติธรรม ขึ้นบัญชีดำ 10 แก๊งเงินกู้ภาคอีสาน พร้อมเตรียมดำเนินคดีแก๊งใหญ่ใน จ.บุรีรัมย์ พบอีสานเป็นพื้นที่ซึ่งมีปัญหาเงินกู้นอกระบบมากที่สุด “พ.ต.อ.ดุษฎี” เผย เงินกู้ขายฝากระบาดหนัก เจ้าหนี้ใช้เป็นเครื่องมือยึดที่ดินทำกินของชาวบ้าน เร่งเสนอ ครม.ยกเลิกหรือแก้ไข “กฎหมายขายฝาก” เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นทาง

กรณี “ฆ่ายกครัว 8 ศพ” ที่ จ.กระบี่ ซึ่งเป็นคดีสะเทือนขวัญในช่วงที่ผ่านมานั้น นอกจากการฆาตกรรมที่โหดร้ายรุนแรงแล้ว ประเด็นหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือเบื้องหลังของคดีดังกล่าวเกิดมาจากปัญหาการกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้นอกระบบ โดยมีเงื่อนปมเรื่อง “สัญญาขายฝาก” ที่ทำให้ผู้ตายสูญเสียบ้านและที่ดินเป็นชนวนเหตุ และจากการตรวจสอบในเชิงลึกก็พบข้อมูลที่น่าตกใจว่าปัจจุบันธุรกิจปล่อยกู้นอกระบบระบาดไปทั่วทุกหัวระแหง อีกทั้งมีเล่ห์เหลี่ยมกลโกงที่เอารัดเอาเปรียบและสร้างความเสียหายแก่ลูกหนี้ชนิดหมดเนื้อหมดตัวเลยทีเดียว
พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม
กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและการปราบปรามกวาดล้างแก๊งเงินกู้นอกระบบอย่างจริงจัง โดย พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเคยโชว์ผลงานในการทลายเครือข่ายแก๊งเงินกู้รายใหญ่ของประเทศอย่าง “วิชัย ปั้นงาม” มาแล้ว ระบุว่าที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมได้ติดตามตรวจสอบพฤติกรรมของแก๊งเงินกู้ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้มีแก๊งเงินกู้รายใหญ่ที่ถูกจับตาขึ้นบัญชีดำ จำนวน 10 แก๊งที่เข้าข่ายความรุนแรง ซึ่งทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน มีลักษณะการปล่อยกู้แบบทำสัญญาขายฝากที่ดิน และทำธุรกิจลีสซิ่ง อีกทั้งบางแก๊งยังได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากกลุ่มคนมีสี

โดยแก๊งเงินกู้จะแบ่งความรุนแรงเป็น 3 ระดับ คือ 1.นายทุนในพื้นที่ มีเป้าหมายแค่ได้กำไรจากดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าตลาด 2.นายทุนที่มีอิทธิพล มีเป้าหมายมากกว่าดอกเบี้ย ปัจจุบันที่พบมากคือ นายทุนที่ปล่อยกู้โดยใช้สัญญาขายฝาก ซึ่งจะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการบังคับข่มขู่เพื่อยึดที่ดินของลูกหนี้ และ 3.มาเฟียเงินกู้ เป็นกลุ่มธุรกิจเงินกู้ขนาดใหญ่ มีเครือข่ายกว้างขวาง กระจายไปในหลายจังหวัด ใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้ และมีข้าราชการหรือคนมีสีให้การดูแลช่วยเหลือ ซึ่งแก๊งของนายวิชัย ปั้นงาม ที่ถูกออกหมายจับไป ก็อยู่ในข่ายมาเฟียเงินกู้

อย่างไรก็ดี กลุ่มที่น่าห่วงที่สุด จะเป็นกลุ่มที่ 2 เนื่องจากในช่วง 1-2 ปีมานี้การปล่อยกู้แบบสัญญาขายฝากระบาดหนักมาก และส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่เป็นลูกหนี้อย่างรุนแรง เพราะกลุ่มนี้จะใช้กฎหมายมาบีบเพื่อยึดที่ดินของลูกหนี้ โดยทำสัญญารับขายฝากที่ดินในระยะเวลาสั้น ๆ 2-6 เดือน แลกกับการปล่อยกู้ เพราะแน่นอนว่าระยะเวลาแค่ไม่กี่เดือนลูกหนี้ย่อมไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้ก้อนโตได้ เมื่อนำเงินมาชำระหนี้ไม่ทันที่ดินก็ตกเป็นของเจ้าหนี้โดยอัตโนมัติ เพราะกฎหมายขายฝากระบุว่าหากผู้ขายฝากไม่ไถ่ถอนที่ดินคืนภายในกำหนดเวลาที่ระบุในสัญญา กรรมสิทธิ์ที่ดินจะตกเป็นของผู้รับซื้อฝากทันที เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่กระทรวงยุติธรรมกำลังหาทางแก้ไข

ข้าราชการ ครู รถไฟ และเจ้าหน้าที่ไฟฟ้า ก็กำลังเผชิญกับแก๊งปล่อยกู้พวกนี้ ต้องยอมเซ็นสัญญาโอนลอยกันไว้ หาเงินมาคืนให้ไม่ได้ พวกทุนพวกนี้ก็ยึดที่ดินไปเลย ซึ่งคนทำงานก็ไม่มีจิตใจทำงานให้ราชการ เพราะมีปัญหากันเยอะมาก ซึ่งทางเราก็กำลังหาหลักฐานจัดการแก๊งพวกนี้” รองปลัดกระทรวงยุติธรรมระบุ
นายวิชัย สุวรรณประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม
ด้าน นายวิชัย สุวรรณประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับแก๊งเงินกู้นอกระบบว่า ข้อมูลจากการร้องเรียนของบรรดาลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากแก๊งเงินกู้นอกระบบพบว่า ประชาชนที่มีปัญหาเงินกู้นอกระบบมากที่สุดคือ ประชาชนในภาคอีสาน โดยมีสัดส่วนถึง 40% ของประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบทั้งหมด รองลงมาได้แก่ ประชาชนในภาคเหนือ 30% ภาคกลาง 20% และภาคใต้ 10% ลักษณะการปล่อยกู้ที่พบมากที่สุดคือหนี้ขายฝากที่ดิน ซึ่งพบมากในทุกภาค รองลงมาคือหนี้เงินกู้ไร้หลักประกัน ที่พบในทุกภาคเช่นกัน แต่พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะแตกต่างจากภาคอื่นตรงที่กลุ่มที่ปล่อยกู้เป็น “แก๊งหมวกกันน็อก” ขณะที่ภาคอื่น ๆ กลุ่มที่ปล่อยกู้เป็นนายทุนเงินกู้ นอกจากนั้นยังมีลักษณะเงินกู้แบบอื่น ๆ เช่น เงินกู้ลีสซิ่ง เงินกู้ตกเขียว เงินกู้ต่างด้าว เงินกู้ไปทำงานต่างประเทศ

ปัจจุบันมีแก๊งเงินกู้ 10 แก๊งใหญ่ที่เราจับตาและเกาะติดตลอด โดยแก๊งเหล่านี้จะมีการแตกกิ่งก้านสาขาออกไปอีก และส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด และเลือกจะใช้วิธีปล่อยกู้แบบขายฝาก รองลงมาคือปล่อยกู้แบบลีสซิ่ง สำหรับการปล่อยกู้แบบขายฝากนั้นมูลค่าการปล่อยกู้จะไม่สูงนัก และลูกหนี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยทุกเดือนโดยไม่มีเอกสารหลักฐานอะไร ขณะที่มูลค่าของที่ดินที่ทำสัญญาขายฝากสูงกว่าวงเงินกู้มาก เจ้าหนี้จึงพยายามหาวิธีทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดเพื่อยึดที่ดิน จากการรวบรวมข้อมูลในทุกพื้นที่พบว่าภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาหนี้นอกระบบรุนแรงที่สุด
“ในจังหวัดขอนแก่นมีกลุ่มนายทุนเงินกู้ทั้งหมด 8 กลุ่มที่เป็นเครือข่ายในแก๊งใหญ่ และแม้จะเป็นธุรกิจผิดกฎหมายแต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่กล้าเสี่ยงเพราะเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก ซึ่งบางแก๊งในพื้นที่ภาคเหนือมีเงินทุนหมุนกว่า 1,000 ล้านบาท

ดังนั้นกระทรวงยุติธรรมก็พยายามกวาดล้างอย่างจริงจัง โดยเร็ว ๆ นี้จะมีการดำเนินคดีกับแก๊งเงินกู้รายใหญ่ในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีมูลค่าการปล่อยกู้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และมีลูกหนี้ในบัญชีเกือบ 500 ราย ซึ่งแก๊งนี้เป็นแก๊งเงินกู้ขายฝากเช่นกัน โดยให้ลูกหนี้เซ็นสัญญาเปล่า แล้วเจ้าหนี้มากรอกตัวเลขเงินกู้และรายละเอียดต่าง ๆ เอง และใช้วิธียึดโฉนดที่ดินไว้แม้จะได้รับคืนเงินกู้แล้ว
ชาวนาบุรีรัมย์ถูกสาวใหญ่หลอกนำโฉนดบ้านและที่นาไปขายฝากนายทุนรวมกว่า 100 ไร่ สุดท้ายกลายเป็นหนี้กว่า 10 ล้านบาท ทั้งที่ไม่ได้ใช้เงินเลยและจ่อถูกยึดที่ดินทั้งหมด วอนช่วยเหลือ
ทั้งนี้ การปล่อยกู้ในแต่ละแบบจะมีเล่ห์กลและวิธีการที่แตกต่างกันไป สำหรับ “การปล่อยกู้แบบขายฝาก” นั้นเป็นการใช้ช่องว่างทางกฎหมายบังคับเพื่อยึดที่ดินของลูกหนี้ โดยเล่ห์เหลี่ยมในการปล่อยกู้แบบขายฝากจะเริ่มตั้งแต่วิธีหาลูกค้าที่มากู้เงินเลย บางแก๊งจะให้บุคคลที่น่าเชื่อถือในชุมชน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการครู เป็นเครือข่ายในการหาลูกค้าแลกกับค่าตอบแทน โดยบุคคลเหล่านี้อาจไม่ทราบถึงกลโกงต่าง ๆ บางรายมีการหลอกให้ลูกหนี้กู้เงินโดยทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อนำเงินไปชำระหนี้กับสถาบันการเงิน โดยหลอกว่าเงินกู้ก้อนใหม่มีภาระดอกเบี้ยน้อยกว่า และสามารถแก้ไขสัญญาเพื่อยืดระยะเวลาชำระหนี้ให้นานกว่าที่ระบุในสัญญา

ในส่วนของการทำสัญญาขายฝากก็มีกระบวนการฉ้อโกงอยู่มากมายเช่นกัน เช่น ให้เงินกู้ไม่ครบตามที่ระบุในสัญญา โดยอ้างว่าส่วนที่ขาดถูกหักเป็นค่าดำเนินการและดอกเบี้ย, มีการแก้ไขตัวเลขเงินกู้ให้สูงกว่าที่ตกลงกับลูกหนี้, เจ้าหนี้ไม่ยอมให้เอกสารสัญญากับลูกหนี้, เจ้าหนี้มอบฉันทะให้ลูกหนี้เป็นผู้ทำนิติกรรมรับซื้อฝากที่ดินที่สำนักงานที่ดินแทน ลูกหนี้จึงเป็นทั้งผู้ทำนิติกรรมขายฝากและรับซื้อฝาก ทั้งนี้เพื่อสร้างหลักฐานและพยานกดดันให้ลูกหนี้ยอมให้เจ้าหนี้ยึดที่ดิน ที่สำคัญเจ้าหนี้จะพยายามทำทุกวิถีทางให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดเพื่อให้ที่ดินตกเป็นของตนเอง เช่น ไม่ยอมพบลูกหนี้เมื่อถึงกำหนดไถ่ถอน โดยอ้างว่าติดธุระ หรือไปต่างประเทศ, ได้รับชำระเงินกู้ตามสัญญาแล้วแต่ไม่ยอมคืนโฉนดให้ลูกหนี้

ส่วน “เงินกู้ลีสซิ่ง” คือการให้ลูกหนี้ไปทำสัญญาผ่อนรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์กับเต็นท์รถหรือบริษัทลีสซิ่ง โดยให้ชื่อเจ้าของรถเป็นของเจ้าหนี้ แลกกับเงินกู้ที่ลูกหนี้กู้ยืม ขณะที่ “เงินกู้ตกเขียว” เป็นการปล่อยกู้ให้แก่เกษตรกร โดยมีการทำสัญญาว่าเมื่อได้ผลิตผลทางการเกษตรแล้วลูกหนี้จะต้องนำมาขายให้แก่เจ้าหนี้ในราคาที่เจ้าหนี้กำหนด ซึ่งนอกจากเงินก้อนแรกแล้ว ระหว่างที่ผักผลไม้ยังไม่ออกดอกออกผล ลูกหนี้ก็อาจจะมีหนี้เพิ่มขึ้นจากการซื้อเชื่อสินค้าอุปโภคบริโภคจากเจ้าหนี้ด้วย

เงินกู้อีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ “เงินกู้ต่างด้าว” ซึ่งพบมากในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเจ้าหนี้จะหลอกให้คนต่างด้าวทำสัญญาเงินกู้เพื่อผ่อนบ้านกับเจ้าหนี้ โดยหลอกว่าสามารถทำให้ต่างด้าวมีกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินในประเทศไทยได้ และเมื่อผ่อนบ้านครบตามจำนวนแล้วเจ้าหนี้จะโอนที่และบ้านคืนให้ และสุดท้ายคือ “เงินกู้ไปทำงานต่างประเทศ” ซึ่งพบในภาคอีสาน โดยเจ้าหนี้อาจเป็นเจ้าของหรือเครือข่ายของบริษัทที่ส่งคนงานไปทำงานต่างประเทศ ใช้วิธีชักชวนให้ชาวบ้านไปทำงานต่างประเทศโดยตนเองจะออกเงินกู้ให้ชาวบ้านเพื่อนำไปใช้เป็นค่าดำเนินการต่าง ๆ และหักเงินจากค่าแรงที่ได้รับ โดยให้ผู้ที่จะไปทำงานต่างประเทศต้องทำบัตรเอทีเอ็มแล้วเก็บบัตรไว้ที่เจ้าหนี้ เมื่อเงินเดือนออกก็ให้บริษัทในต่างประเทศโอนเข้าบัญชีเอทีเอ็มของลูกหนี้ โดยเจ้าหนี้อ้างว่าส่วนหนึ่งจะหักเป็นเงินกู้และอีกส่วนจะส่งให้ครอบครัวของลูกหนี้ แต่จริง ๆ แล้วเก็บไว้เองทั้งหมด หนำซ้ำบางรายเมื่อลูกหนี้ชำระหนี้แล้วก็ไม่ยอมลดหนี้ให้ตามสัญญา

ด้วยปัญหาการปล่อยกู้แบบขายฝากได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่เป็นลูกหนี้อย่างหนัก กระทรวงยุติธรรมจึงเร่งหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดย พ.ต.อ.ดุษฎี ระบุว่า กระทรวงยุติธรรมได้รวมรวบประเด็นปัญหาและผลกระทบที่กระทบจากการปล่อยกู้โดยใช้กฎหมายขายฝากเป็นเครื่องมือ พร้อมทั้งเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาใน 2 แนวทางคือ ให้แก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายขายฝาก โดยปลัดกระทรวงยุติธรรมจะนำข้อมูลและข้อเสนอดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

โดยแนวทางแก้ไขเสนอไป 2 แนวทาง คือ แนวทางแรก ให้มีการแก้ไขกฎหมายขายฝากเพื่ออุดช่องโหว่ของกฎหมายที่เจ้าหนี้นำไปใช้เป็นช่องทางในการยึดที่ดินของลูกหนี้ โดยจะแก้ไขใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1) ระยะเวลาขายฝากควรมากกว่า 3-6 เดือน โดยกำหนดระยะเวลาขายฝากไม่เกิน 1 ปี 2) มูลค่าการขายฝากที่ดินควรเท่ากับราคาประเมินในขณะนั้น 3) ไม่ควรมีการขายฝากที่ดินที่ทำการเกษตรและที่ดินผืนสุดท้าย 4) หากมีปัญหาด้านเศรษฐกิจอันส่งผลให้ลูกหนี้ไม่สามารถไถ่ถอนที่ดินคืนได้ เจ้าหนี้ยังไม่สามารถยึดที่ดินได้ แต่ควรให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลแก้ไขก่อน

แนวทางที่สอง คือ เสนอให้ยกเลิกกฎหมายขายฝากเพื่อยุติปัญหา เนื่องจากการแก้ไขกฎหมายต้องใช้เวลา และแม้จะมีการแก้กฎหมายแล้วก็อาจจะยังมีช่องที่เจ้าหนี้สามารถฉ้อโกงได้ อีกทั้งแม้จะยกเลิกกฎหมายดังกล่าวก็ยังมีกฎหมายการจำนองที่นำมาใช้ในการค้ำประกันเงินกู้ได้

การแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดก็คือควรยกเลิกกฎหมายมากกว่า เพราะเป็นการแก้ปัญหาแบบตัดไฟแต่ต้นลม” รองปลัดกระทรวงยุติธรรมระบุ

กำลังโหลดความคิดเห็น