xs
xsm
sm
md
lg

3 ปี บิ๊กตู่ออก ม. 44 “139 ฉบับ” ใครได้ประโยชน์!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตะลึง! 3 ปี รัฐบาล “บิ๊กตู่” ประกาศใช้ ม.44 ไปแล้วถึง 139 ฉบับ เครือข่ายปฏิรูปพลังงาน-ฝ่ายการเมือง ชี้เป็นการทำลายหลักธรรมาภิบาลและความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ เปิดช่องกลุ่มทุนแสวงผลประโยชน์ ส่งผลกระทบต่อประชาชน ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น แม้รัฐบาลต่อไปจะยกเลิกได้แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศชาติ

เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยทีเดียวสำหรับการบังคับใช้มาตรา 44 ของรัฐบาลภายใต้การนำของรัฐบาล คสช. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะกรณีที่มีการนำกฎหมายเฉพาะกิจดังกล่าวมาใช้อย่างพร่ำเพรื่อ ทั้งที่มีกฎหมายปกติอยู่แล้ว จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า นับแต่เข้าดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2557 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาล คสช. ได้นำมาตรา 44 มาใช้ในเรื่องต่าง ๆไม่ต่ำกว่า 139 ฉบับ ซึ่งในบางครั้งก็ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ

ในการใช้มาตรา 44 อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดข้อกังขาว่าแท้จริงแล้วแต่ละกรณีมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดที่จะใช้กฎหมายพิเศษฉบับนี้ที่มีอำนาจครอบคลุมทั้งด้านบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ที่สำคัญรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ซึ่งดำเนินการตามคำสั่งของมาตรา 44 จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายและไม่ต้องรับโทษหากปรากฏความผิดพลาดจากการใช้ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น!
การใช้มาตรา 44 สั่งรื้อโรงแรม-รีสอร์ตบนภูทับเบิก จ.เพชรบูรณ์
อย่างไรก็ดี ต้องยอมว่าการใช้มาตรา 44 ของ คสช. ในหลายกรณีก็มีประโยชน์ต่อประชาชน ตัวอย่างเช่น มาตรา 44 เพื่อสั่งการให้รัฐจัดการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนฟรี 15 ปี คือตั้งแต่ระดับอนุบาลถึง ม.6 หรือระดับ ปวช.3 จากเดิมที่กฎหมายกำหนดให้รัฐจัดการศึกษาให้เด็กและเยาวชนฟรี 12 ปี คือตั้งแต่อนุบาลถึง ม.3 เท่านั้น ซึ่งคำสั่งดังกล่าวช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาแก่บุตรหลานของประชาชนที่มีรายได้น้อย และถือเป็นการพัฒนาจากฐานราก

หรือกรณีที่ใช้มาตรา 44 ยึดคืนที่ดิน ส.ป.ก. จากผู้ที่ถือครองที่ ส.ป.ก.เกิน 500 ไร่ ในพื้นที่ 25 จังหวัด รวมเนื้อที่ประมาณ 428,390 ไร่ เพื่อนำที่ดินที่ยึดคืนได้มาจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินต่อไป ก็นับเป็นการใช้อำนาจเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้ประชาชน และช่วยให้เกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกินได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตามด้วยการใช้มาตรา 44 สั่งรื้อโรงแรม-รีสอร์ตบนภูทับเบิก จ.เพชรบูรณ์ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ป่าลุ่มน้ำ ชั้น 1A ชั้น 1B และพื้นที่ชั้น 2 ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ ซึ่งถือว่าได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชนอย่างล้นหลาม แม้จะมีกระแสความไม่พอใจของชาวบ้านและผู้ประกอบการที่เสียประโยชน์อยู่บ้างก็ตาม

ล่าสุด การใช้มาตรา 44 สั่งชะลอการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวใน 4 มาตรา ที่เกี่ยวข้องกับบทลงโทษผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าว โดยให้ชะลอการบังคับใช้ออกไปอีก 6 เดือน จากเดิมที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. ให้เลื่อนเป็นมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2561 ทั้งนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการที่เป็นนายจ้างซึ่งได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงาน และเพื่อผ่อนผันให้แรงงานที่ทำผิดกฎหมายมีเวลาจดทะเบียนให้ถูกต้องต่อไป แนน่อนว่าการใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาวิกฤตแรงงานในครั้งนี้ทำให้รัฐบาลของ “บิ๊กตู่”ได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชนอยู่ไม่น้อยทีเดียว

ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้มาตรา 44 ในหลายกรณีไม่มีความสมเหตุสมผล บางครั้งยังขัดกับวิถีชีวิตและส่งผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งการใช้มาตรา 44 ที่ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านรุนแรงที่สุดคงหนีไม่พ้นคำสั่งที่ออกมาในช่วงสงกรานต์ปี 2560 ซึ่งรัฐบาลสั่งห้ามประชาชนผู้ใช้รถไม่ให้นั่งท้ายรถกระบะและบริเวณแค็บ อีกทั้งให้ผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง โดยให้เหตุผลเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ประชาชนเดินทางกลับบ้านเป็นจำนวนมาก เนื่องจากคำสั่งขัดต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน จึงก่อให้เกิดความไม่พอใจในวงกว้างกระทั่งกลายเป็นประเด็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก โดยเฉพาะในโลกโซเชียล ส่งผลให้รัฐบาลต้องรีบกลับลำ ประกาศชะลอคำสั่งดังกล่าวเพียงชั่วข้ามคืน

ประเด็นต่อมาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และทำให้รัฐบาลเสียศูนย์อยู่ไม่น้อยก็คือความล้มเหลวในการใช้มาตรา 44 สั่งปิดล้อมและตรวจค้นวัดพระธรรมกายเพื่อจับกุมตัวพระธัมมชโย ผู้ต้องหาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฉ้อโกงเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โดยครั้งนั้นมีการใช้กำลังตำรวจ-ทหารถึงวันละ3,000-4,000 นาย ทำการปิดล้อมวัดซึ่งเป็นศาสนสถานนานถึง 29 วัน หมดงบประมาณไป 60 ล้านบาท แต่ไม่สามารถจับกุมตัวพระธัมมชโยได้ จึงเกิดเสียงโจมตีเพราะความผิดหวังของประชาชนบางส่วนว่าขนาดใช้มาตรา 44 แล้วทำไมยังจับพระธัมมชโยไม่ได้

นอกจากนั้น “พล.อ.ประยุทธ์” ยังใช้มาตรา 44 เป็นเครื่องมือในการแต่งตั้งโยกย้ายและปลดข้าราชการ-พนักงานรัฐวิสาหกิจออกจากตำแหน่งมากมายเป็นประวัติการณ์ ชนิดที่เรียกว่า “ล้างบาง” ที่ฮือฮาที่สุดเห็นจะเป็นคำสั่งปลด นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟฯ พร้อมทั้งบอร์ดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ทั้งคณะ ออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้งนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง ขึ้นรักษาการผู้ว่าการ รฟม. แทน และแต่งตั้งบอร์ด รฟม.ชุดใหม่ ในทันที โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่าเนื่องจากนายวุฒิชาติมีปัญหาถูกร้องเรียนเรื่องการทุจริต แต่วงในชี้ว่าแท้จริงเป็นเพราะนายวุฒิชาติไม่สนองตามนโยบายรัฐบาล และไม่สามารถเร่งผลักดันทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ และรถไฟฟ้าสายสีแดง ได้ตามแผน

พร้อมปลด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกจากตำแหน่ง และตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯ กทม. ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.แทน โดยให้เหตุผลเพื่อประสิทธิภาพในการทำงาน เนื่องจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์อยู่ระหว่างถูกตรวจสอบเรื่องความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ ขณะที่อีกกระแสหนึ่งก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการเปลี่ยนตัวเพื่อกระชับอำนาจ

หรือกรณีสั่งเด้งผู้ว่าราชการจังหวัด 6 จังหวัดรวดประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กาฬสินธุ์ เชียงราย ภูเก็ต ราชบุรี และสิงห์บุรี ซึ่งรัฐบาลให้เหตุผลว่าเนื่องจากถูกร้องเรียนเรื่องการทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ โดยให้ทุกคนย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าเป็นการย้ายเข้ากรุ

อีกกรณีที่นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนคงหนีไม่พ้นการใช้มาตรา 44 เพื่อเร่งรัดการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งดำเนินการก่อสร้างโดยประเทศจีน หรือที่เรียกกันติดปากว่า “โครงการรถไฟฟ้าจีน” เนื่องจากโครงการดังกล่าวยังเป็นที่กังขาของประชาชน ทั้งในเรื่องของประสิทธิภาพเทคโนโลยี ความจำเป็นและความคุ้มค่าของโครงการ อีกทั้งราคาที่อาจสูงเกินความเป็นจริง ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามีใครได้ประโยชน์จากการใช้กฎหมายพิเศษเพื่อเร่งรัดโครงการดังกล่าวหรือไม่

ส่วนกรณีที่รัฐบาลบิ๊กตู่ถูกโจมตีว่าเป็นการใช้มาตรา 44 เพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุนโดยเป็นการเปิดทางให้กลุ่มทุนได้รับความยินยอมหรือได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อประกอบกิจการปิโตรเลียม ตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม การสํารวจแร่ การทําเหมือง หรือการทําเหมืองใต้ดินตามกฎหมาย ว่าด้วยแร่ หรือการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม สามารถดำเนินการบนพื้นที่ ส.ป.ก.ได้ ทั้งที่วัตถุประสงค์ของ ส.ป.ก.นั้นเป็นพื้นที่ซึ่งมีไว้เพื่อให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินได้ใช้ประโยชน์ คำสั่งดังกล่าวจึงก่อให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างหนัก 

อีกทั้งยังถือเป็นการกระทำที่ไม่เคารพต่อรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แน่นอนว่ากลุ่มที่ออกมาคัดค้านเรื่องนี้มากที่สุดก็คือกลุ่มเอ็นจีโอที่เคลื่อนไหวด้านพลังงานซึ่งต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่านี่คือการออกกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนเข้ามาฉกฉวยทรัพยากรพลังงานของประเทศ
น.ส.รสนา โตสิตระกูล แกนนำกลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน
น.ส.รสนา โตสิตระกูล แกนนำกลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน มองว่าการที่รัฐบาลนำมาตรา 44 เพื่อเปิดช่องให้เอกชนเข้ามาใช้พื้นที่ ส.ป.ก.ในการทำธุรกิจ นับเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาล เพราะในหลักการของ ส.ป.ก.คือการจัดสรรที่ดินให้แก่ผู้ยากไร้ไปใช้เพื่อทำเกษตรเท่านั้น การให้กลุ่มทุนพลังงานเข้าไปใช้พื้นที่ เท่ากับเป็นการใช้มาตรา44 มาลบล้างหลักการของ ส.ป.ก. ขณะที่การเข้าใช้พื้นที่ ส.ป.ก.ดำเนินกิจการพลังงานถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่มาตรา 44 กลับทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย ในทางกลับกันชาวบ้านที่ปลูกยางในพื้นที่ป่าสงวน กลับถูกดำเนินคดีอย่างเข้มงวด รัฐบาลไม่เคยผ่อนผัน

ในอนาคตรัฐบาลต่อไปสามารถใช้มาตรา 297 เพื่อยกเลิกมาตรา 44 ได้ แต่ไม่สามารถแก้ไขความเสียหายที่เกิดจากมาตรา 44 ได้” น.ส.รสนาระบุ
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา
ด้าน นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เห็นว่าการที่รัฐบาล คสช.นำมาตรา 44 มาใช้อย่างฟุ่มเฟือย ทำให้รัฐธรรมนูญขาดความศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งไม่ได้นำมาตรา 44 มาใช้ในเรื่องที่มีความสำคัญ อย่างเช่น การปฏิรูปการเมืองอีกด้วย

“ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็มีการนำมาตรา 17 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะกิจมาใช้ แต่ใช้ในกรณีที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น ขณะที่รัฐบาลชุดนี้การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการก็ยังใช้มาตรา 44 ทั้งที่มีระเบียบปกติอยู่แล้ว ที่ต้องเอามาตรา 44 มาใช้ก็เพราะกลัวถูกฟ้องว่าแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรม

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ย้ำว่าผลกระทบอย่างหนึ่งจากการใช้กฎหมายนี้อย่างพร่ำเพรื่อก็คือทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่น เพราะไม่รู้ว่าลงทุนไปแล้วอยู่ ๆ รัฐบาลจะใช้มาตรา 44 ประกาศยกเลิกโครงการหรือเปล่า และที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือหลายครั้งที่การใช้มาตรา 44 ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เช่นกรณีที่อนุญาตให้ตั้งโรงไฟฟ้าในพื้นที่สีเขียวโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ของประชาชน !

กำลังโหลดความคิดเห็น