การเมืองต่างพรรคจับมือสู้ คสช. ชี้รัฐบาลดึงเกม เลื่อนเลือกตั้งออกไปไม่มีกำหนด ระบุแก้กฎหมายหลายฉบับหวังกลับเข้าสู่ฐานอำนาจ เชื่อใช้ช่องทาง ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ และคอนเนกชันกับระดับผู้ใหญ่ในหลายพรรค ผลักดัน “บิ๊กทหาร” เข้ามาเป็นผู้นำประเทศอีกรอบ ด้านเพื่อไทย สั่งลูกพรรคเกาะพื้นที่และดูแลประชาชนอย่างดี ไม่ให้ใครเจาะฐานที่มั่นได้!
ดูจะอีกยาวไกลสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่บรรดาพรรคการเมืองต่างรอคอย เพราะดูเหมือนกำหนดการเลือกตั้งจากคำสั่งของรัฐบาล คสช. จะเลื่อนออกไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีกำหนด ล่าสุดแม้แต่อดีต ส.ส.จะประชุมพบปะหารือกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังออกมาประกาศกร้าวว่า “ไม่อนุญาต” ทำเอาบรรยากาศทางการเมืองที่อึดอัดอึมครึมอยู่แล้วยิ่งทวีความเคร่งเครียดขึ้นไปอีก
ขณะที่ท่าทีและแนวทางการรับมือของพรรคการเมืองต่าง ๆ ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นต้น แต่ในท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ก็คงจะไม่ต่างกันมากนัก แม้ว่าที่ผ่านมาแต่ละพรรคจะพยายามจับมือกันเพื่อกดดันให้รัฐบาลทหารคืนอำนาจและเดินเข้าสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแต่ก็ไม่สำเร็จ ถูก คสช.ออกมาสกัดเสียก่อน จนการประชุม ส.ส.ต่างพรรคล่มไม่เป็นท่า เพราะเจอทั้งถูกขู่วางระเบิด และประกาศิตจากรัฐบาลสั่งห้ามชุมนุม ดังนั้นจากนี้การขยับอะไรจึงเป็นไปได้ยาก ทำได้อย่างเดียวคือนิ่งไว้ก่อน หากจะมีการเคลื่อนไหวอะไรหรือเจรจาเตรียมการอะไรกันก็เป็นไปแบบลับ ๆ จนกว่ารัฐบาลจะประกาศกำหนดวันเลือกตั้งอย่างชัดเจน
นายไพจิต ศรีวรขาน อดีต ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มอีสานพัฒนา ระบุว่า แม้ขณะนี้ยังไม่สามารถจัดประชุมหรือเคลื่อนไหวทางการเมืองใด ๆ ได้แต่พรรคเพื่อไทยนั้นเตรียมพร้อมเข้าสู่สนามเลือกตั้งตลอดเวลา โดยการเตรียมตัวที่ดีที่สุดคือให้อดีต ส.ส.เกาะติดพื้นที่และดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งจะได้สามารถกำหนดนโยบายให้ตรงกับความต้องการของประชาชน และด้วยกลยุทธ์นี้ไม่ว่าพรรคไหนก็ไม่อาจมาเจาะพื้นที่แย่งชิงคะแนนเสียงไปได้
อย่างไรก็ดี จากการดำเนินการหลาย ๆ อย่างของรัฐบาล คสช.ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลนี้มีเจตนาสืบทอดอำนาจและพยายามบั่นทอนศักยภาพของพรรคการเมืองเก่า ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ กกต.(คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ประกาศให้มีการกำหนดเขตเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเท่ากับเป็นการสลายกำลัง ส.ส.เดิมที่มีฐานเสียงอยู่แล้ว กรณีให้สรรหา กกต.ใหม่ เพื่อเอาคนที่สั่งได้เข้ามาแทน หรือกรณีห้ามอดีต ส.ส.นัดประชุมและเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อสกัดโอกาสในการเข้าสู่สนามเลือกตั้ง
ความเห็นดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ที่เห็นว่ารัฐบาลพยายามดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้อยู่ในอำนาจได้นานที่สุด และจงใจยืดระยะเวลาการเลือกตั้งออกไป
“ผมเชื่อว่าปี 2561 ก็ยังไม่มีการเลือกตั้ง เพราะรัฐบาลพยายามยืดระยะเวลาออกไปเรื่อย ๆ มีการแก้ไขกฎหมายเรื่องนั้นเรื่องนี้เพื่อใช้เป็นเหตุผลว่ายังแก้กฎหมายไม่เสร็จจึงยังจัดการเลือกตั้งใหม่ไม่ได้ อย่างการแก้กฎหมาย กกต.ให้มีการเซตซีโร กกต.ใหม่นั้น เห็นได้ชัดเลยว่ามีความขัดแย้งสูง มันแก้ไม่ได้ง่าย ๆ นอกจากนั้นรัฐบาลยังห้ามพรรคการเมืองเคลื่อนไหว ดังนั้นแต่ละพรรคก็ยังไม่สามารถเตรียมการเลือกตั้งได้ ทุกอย่างหยุดชะงักหมด” นายสมศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้ยังมีประเด็นที่สร้างความวิตกให้แต่ละพรรคเป็นอย่างมาก นั่นคือแนวคิดเพื่อให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอก โดยทุกฝ่ายมองว่านี่คือช่องทางในการออกกฎหมายเพื่อเป็นช่องทางในการกลับเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลชุดนี้
นายไพจิต แสดงความเห็นว่า การแก้กฎหมายลักษณะนี้เป็นการเปิดช่องให้คนที่มีบารมีเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่ต้องผ่านระบบการเลือกตั้ง เพราะหากระบุว่าถ้าไม่มีพรรคใดมีเสียงมากพอที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีก็ให้วุฒิสภาทำหน้าที่โหวตเลือกนายกฯ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่คนบางกลุ่มจะล็อบบี้ ส.ว.ให้เลือกตนเอง เพราะแน่นอนว่าเป็นเรื่องยากที่พรรคใดพรรคหนึ่งจะได้เสียงข้างมากในสภาจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ และการจะรวบรวมเสียงในสภาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลก็ต้องใช้เวลา
ด้าน นายสมศักดิ์ มองว่า รัฐบาลชุดนี้อาจจำเป็นต้องเข้ามาเป็นนายกฯ เอง อาจใช้วิธีส่งตัวแทนเข้ามา หรือใช้บารมีล็อบบี้ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ เพื่อให้นักการเมืองเข้ามาสวามิภักดิ์และสร้างอำนาจให้แก่ตัวเอง
ขณะที่แหล่งข่าวจากพรรคการเมืองใหญ่ ระบุว่า นี่คือความอัปยศในการใช้อำนาจแก้กฎหมายเพื่อให้บิ๊กทหารบางคนกลับเข้าสู่ฐานอำนาจ
“ก็เห็นกันอยู่ว่ารัฐบาลนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับระดับผู้ใหญ่ของหลายพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นคุณสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ของพรรคเพื่อไทย คุณเนวิน ชิดชอบ ซึ่งมีบารมีในพรรคภูมิใจไทย หรือแม้แต่คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ยังประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์”
ดังนั้นการจะล็อบบี้แต่ละพรรคให้ยอมรับบิ๊กทหารที่เข้ามาเป็นนายกฯ คนนอกจึงไม่ใช่เรื่องยาก สมมติระบุว่าการโหวตเลือกนายกฯ ต้องอาศัยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำหนดให้มี ส.ส. 500 คน มี ส.ว. 250 คน กึ่งหนึ่งของรัฐสภาก็เท่ากับ 375 คน ถ้ามีเสียง ส.ว.ในมืออยู่แล้ว 250 เสียง หา ส.ส.เพิ่มอีก 125 เสียง จึงไม่ใช่เรื่องยากแน่นอน
“เขาต่อรองได้ว่าถ้าผมเป็นนายกฯ พรรคคุณได้จัดตั้งรัฐบาล ผลประโยชน์ลงตัวอะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นแบบนั้นคิดว่านโยบายของรัฐบาลใหม่จะเป็นยังไง ทำไมเขาต้องสนใจเสียงของประชาชนเพราะเขาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เรื่องนี้น่ากลัวมาก” แหล่งข่าวจากพรรคการเมืองใหญ่แสดงความวิตก
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีการจัดตั้งพรรคการเมืองนั้นผู้ใหญ่จากพรรคการเมืองแต่ละพรรคกลับมีความเห็นแตกต่างกันไป โดยนายไพจิต จากพรรคเพื่อไทย มองว่ามีความเป็นไปได้ แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทยเพราะพรรคยังคงมีคะแนนนิยมดี และเชื่อว่าคงไม่มีอดีต ส.ส.ของเพื่อไทยคนไหนกล้าเสี่ยงย้ายพรรคไปอยู่พรรคการเมืองใหม่ที่ยังไม่มีใครรู้จัก
ขณะที่นายสมศักดิ์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กลับเห็นต่างออกไป โดยมองว่า การที่บิ๊กทหารจะตั้งพรรคการเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่ทหารจะมาเล่นการเมือง โดยเฉพาะกระแสในภาคอีสานถึงขั้นเกลียดทหารเลยทีเดียว
นับแต่นี้การเมืองไทยจะเดินไปในทิศทางใด การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศต่อไปจะเป็นใคร คงต้องจับตาดูกันต่อไป แต่ที่แน่ ๆ คงไม่ใช่ระยะเวลาอันใกล้นี้อย่างแน่นอน...