xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สินบนซีซีทีวี งามหน้า “สภาผู้ทรงเกียรติ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ฉาวซ้ำตามติดๆ ถึงคิวเว็บไซต์กระทรวงยุติธรรม สหรัฐฯ เผยแพร่การ ดำเนินคดีกับบริษัทที่ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐและพรรคการเมืองในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ที่โยงไปถึง “ที่ปรึกษา” รัฐสภาของผู้ทรงเกียรติ

            โดยกรณีการติดสินบนในไทยที่เว็บไซต์กระทรวงยุติธรรม สหรัฐฯ เผยแพร่นั้น มีอยู่ 3 กรณี คือ หนึ่ง การดำเนินคดีกับ “บริษัท ดิอาจีโอ บีแอลซี” ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตสุรารายใหญ่ของอังกฤษ แต่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก โดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ พบว่า บริษัท ดิอาจิโอ ได้ละเมิดกฎหมายเอฟพีซีเอของสหรัฐฯ

การติดสินบนในประเทศไทย เกิดขึ้นระหว่างปี 2547 ถึงกลางปี 2552 ผ่านตัวแทนจำหน่ายสุราในประเทศไทย โดยจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่พรรคการเมืองหนึ่ง และเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 6 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 24 ล้านบาท โดยเป็นการจ่ายตรง 49 ครั้ง ให้กับบริษัทที่ปรึกษาทางการเมือง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐบาล เป็นผู้อำนวยการ เพื่อแลกกับการล็อบบี้เจ้าหน้าที่ในคดีความด้านภาษี และศุลกากรมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ

พร้อมระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยคนนี้ เคยดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในสมัยนั้น

สอง การสั่งลงโทษ บริษัท ไทโค อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นบริษัทผู้ขายระบบรักษาความปลอดภัยอิเล็กทรอนิกส์ เป็นมูลค่ากว่า 26.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,072 ล้านบาท จากข้อหาละเมิดกฎหมายเอฟซีพีเอ โดยพบว่ามีการติดสินบนในประเทศไทยด้วย โดยเกิดขึ้นระหว่างปี 2547-2548 โดยเป็นการติดสินบนผ่านบริษัทลูกในประเทศไทย ซึ่ง “ไทโค” ถือหุ้นอยู่ 49% โดยจ่ายเงินให้กับที่ปรึกษารายหนึ่ง มูลค่า 292,286 ดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยเกือบ 12 ล้านบาท ในโครงการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นค่าที่ปรึกษา ทำให้บริษัทลูกในประเทศไทยได้กำไรจากโครงการนี้ เป็นเงิน 879,258 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 35 ล้านบาท

และ สาม ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น บริษัทลูก ของไทโคในไทย ยังจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้กับ “ที่ปรึกษาคนหนึ่ง” เพื่อให้ได้มาซึ่งสัญญาการติดตั้ง กล้องวิดีโอวงจรปิด (ซีซีทีวี) ในรัฐสภาไท ยด้วย จากการจ่ายสินบนเหล่านี้ ทำให้ “เอดีที ประเทศไทย” ได้รับกำไรจากโครงการต่าง ๆ เป็นมูลค่าราว 473,262 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 19 ล้านบาท

สินบนซีซีทีวีรัฐสภาไทยที่ปูดขึ้นมาคราวนี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกมาแจกแจงว่า มีการจัดซื้อจัดจ้างกล้องซีซีทีวีจำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกอนุมัติ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2549 จำนวน 29 ล้านบาทเศษ และครั้งที่ 2 อนุมัติเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 จำนวน 26.9 ล้านบาท ซึ่งรายงานผลการตรวจสอบไม่พบการทุจริต กรณีที่สหรัฐฯ อ้างว่ามีการจ่ายเงินให้ที่ปรึกษารัฐสภา คงต้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาประสานขอข้อมูลและตรวจสอบ

เรื่องสินบนรัฐสภา ผู้ทรงเกียรติ นี้ ต้องติดตามจากนายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ตามคุ้ยแคะมาหลายกรณี
โดยเรื่องนี้ นายวัชระ ตั้งข้อสังเกตว่า การจ่ายเงินสินบนที่ปรึกษาเพื่อให้ได้มาซึ่งสัญญาติดตั้งกล้องวงจรปิดซีซีทีวีในรัฐสภา ที่เว็บไซต์กระทรวงยุติธรรม ระบุว่า ในใบอินวอยซ์การจ่ายสินบนเป็นค่า “รีโนเวต” หรือค่าปรับปรุง ทั้งๆ ที่ความจริงไม่มีการปรับปรุงกล้องวงจรปิดในรัฐสภาไทย โดยการติดสินบนในช่วงนั้น ตรงกับสมัยนายโภคิน พลกุล จากพรรคไทยรักไทย เป็นประธานรัฐสภา

             นายวัชระยังร่ายยาวว่า สภาผู้ทรงเกียรติแห่งนี้ แปดเปื้อนอื้อฉาวด้วยเรื่องราวสารพัด ตั้งแต่กรณีต่างชาติสินบนกล้องcctv.,ทุจริตการปรับปรุงห้องงบประมาณ 36 ล้าน, ห้องยุทธศาสตร์24ล้าน, กรณีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาจัดสัมมนาที่จังหวัดขอนแก่น แล้ว กลายเป็นงานทอดกฐิน, ทุจริตนาฬิกาเรือนละ 7.5 หมื่น, ทุจริตหรือแสวงหาประโยชน์จากการก่อสร้างรัฐสภาใหม่, การทุจริตสร้างลานอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ที่อ้างว่าใช้หินอ่อนจากประเทศอิตาลี ล่าสุดอิตาลีตอบหนังสือกลับมาที่รัฐสภาไทย ยืนยันว่าหินอ่อนที่นำมาปูลานอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 มิใช่นำมาจากประเทศอิตาลีตามที่กล่าวอ้าง หรือกรณีนายเจริญ จรรย์โกมล อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทุจริตเบิกงบประมาณแผ่นดินโดยไม่จัดโครงการจริง เป็นต้น

“ถ้าไม่จริงจังในการขจัดคอร์รัปชั่นใน สนช.เราก็ไม่อาจคาดหวังได้กับการปฏิรูปประเทศ การเสนอรายการเรื่องระบบอุปถัมภ์ใน สนช. ที่ผ่านมา ก็เป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น เพราะแม่น้ำ 5 สาย ล้วนมาจากระบบอุปถัมภ์ทั้งสิ้น ท่านต้องจริงจัง เด็ดขาดกับปัญหาการทุจริต อย่าเอ้อระเหยลอยไปลอยมา แต่ไปตั้งธงจะลงโทษข้าราชการชั้นผู้น้อยให้หนักขึ้น” นายวัชระ กล่าว และยกตัวอย่างการสอบทุจริตโครงการจัดซื้อนาฬิกา 15 ล้านบาท มีการตั้งกรรมการสอบสวนลงโทษข้าราชการชั้นผู้น้อย ตัดเงินเดือน 2-4% และตั้งคณะกรรมการฯ มาอีกชุด ตั้งธงจะปลดข้าราชการชั้นผู้น้อยออกทั้งหมด ทั้งที่ผู้น้อยจำใจต้องทำตามคำสั่ง “ผู้ใหญ่” และตัวการใหญ่ยังลอยนวล

ไม่เพียงแต่นายวัชระ เท่านั้นที่ออกมาท้วงติงการปราบทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยังไม่เข้าตากรรมการ เมื่อวันก่อน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็พูดในวงประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ว่า

“.... เรื่องการทุจริตอย่ากล่าวหาว่านักการเมืองโกงเเต่ฝ่ายเดียว ต้องยอมรับว่าข้าราชการก็มีส่วนด้วย ไม่ได้กล่าวหาใครลอยๆ เพราะทุกเช้าตนจิบกาเเฟคุยกับหัวหน้าส่วนราชการ ได้ข้อมูลว่า งบประมาณยุทธศาสตร์ต่างๆทั้งหลาย ทุกวันนี้มีการคิดเปอร์เซ็นต์มากกว่าเดิม ถ้ากระทรวงมหาดไทย หรือรัฐบาลอยากได้ข้อมูลมาคุยเป็นการส่วนตัวได้ ยินดีเปิดเผย”

โยนระเบิดเข้ากลางวงเช่นนี้ คงไม่แต่สภาผู้ทรงเกียรติเท่านั้นที่สะเทือน แต่ชำเลืองดู “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็คงสะดุ้งเหมือนกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น