รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ แฉ “4 กลุ่มธุรกิจ” พัวพันการฟอกเงิน สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาตินับแสนล้านต่อปี ผนวกกับธุรกิจสีดำ “ค้ายาเสพติด ค้าไม้เถื่อน ค้าอาวุธเถื่อน ค้ามนุษย์ ธุรกิจการพนันและคอร์รัปชัน” ต่างใช้วิธีการฟอกเงินเหมือนกันด้วยการ ซุกซ่อน ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน ซุกซ่อนเงินไว้ในที่ลับ ส่วนที่พบมากสุดคือเปิดธุรกิจบังหน้าเพื่อตกแต่งบัญชี และแปรสภาพเป็นอสังหาริมทรัพย์โอนให้คนใกล้ชิด ซึ่งทำให้ดีเอสไอตรวจสอบได้ยาก!
“การฟอกเงิน” ดูจะเป็นการกระทำนิติกรรมอำพรางที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมหลายแขนงเพื่อปกปิดหรืออำพรางแหล่งที่มาของเงินที่ได้มาโดยมิชอบด้วยการแปรหรือเปลี่ยนสภาพ 'เงินสกปรก' ให้เป็น 'เงินสะอาด' ซึ่งสามารถบอกแหล่งที่มาที่ไปได้ถูกต้องตามกฎหมาย ที่ผ่านมาการฟอกเงินจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจสีดำ เช่น การค้ายาเสพติด ค้าไม้เถื่อน ค้าอาวุธเถื่อน ค้ามนุษย์ ธุรกิจการพนัน รวมทั้งเงินทุจริตคอร์รัปชัน เป็นส่วนใหญ่
แต่ในความเป็นจริงการฟอกเงิน ไม่ได้จำกัดอยู่กับกลุ่มธุรกิจสีดำอีกต่อไป เพราะวันนี้บรรดา 'โจรใส่สูท' ที่ภายนอกดูเหมือนเป็นธุรกิจสีขาวได้ใช้วิธีการที่แยบยลซับซ้อนเพื่อปกปิดได้เนียนกว่า จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะตรวจสอบและปราบปรามให้หมดไปได้ สร้างความเสียหายแก่ประเทศชาติอย่างมหาศาล
โดย พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการปราบปรามธุรกิจผิดกฎหมายที่เกี่ยวพันกับการฟอกเงินได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า จากการทำคดีของดีเอสไอที่ผ่านมาพบว่ามี 4 กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินอย่างชัดเจนประกอบด้วย ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายรถหรู และธุรกิจที่ดิน ซึ่งการฟอกเงินใน 4 กลุ่มธุรกิจดังกล่าวมีมูลค่ารวมสูงถึงแสนล้านบาทต่อปี และสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติมหาศาล
ธุรกิจที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญานั้นส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตและจำหน่ายสินค้าที่มีการลอกเลียนเครื่องหมายการค้า หรือที่เรียกกันว่าสินค้าก๊อบปี้ สินค้าเหล่านี้จึงเป็นสินค้าผิดกฎหมาย ดังนั้นเมื่อได้เงินจากการขายสินค้าผู้ที่ทำธุรกิจจึงต้องผ่องถ่ายเงินไปเก็บไว้ในรูปแบบอื่น
ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ เป็นการฉ้อโกงในลักษณะของการระดมทุนที่หลอกให้ผู้หลงเชื่อนำเงินมาร่วมลงทุนเพื่อแลกกับผลตอบแทนสูงๆ เมื่อได้เงินมาแล้วผู้ระดมทุนจะนำเงินส่วนหนึ่งไปจ่ายผลตอบแทนให้แก่ผู้ร่วมลงทุนรายแรกๆ และผ่องถ่ายเงินอีกส่วนหนึ่งเข้าบัญชีตนเองหรือคนใกล้ชิด เช่น กรณีแชร์ล็อตเตอรี่ แชร์น้ำหอม แชร์น้ำมัน เป็นต้น
ขณะที่ธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายรถหรูนั้นมีจำนวนไม่น้อยที่มีการทำธุรกรรมอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี เช่น สวมทะเบียนว่าเป็นรถมือสองก่อนนำเข้ามา หรือแยกชิ้นส่วนแล้วนำเข้ามาประกอบในประเทศไทย ซึ่งทั้ง 2 วิธีทำให้จ่ายภาษีน้อยกว่าภาษีนำเข้ารถหรูถึง 300% ผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย หรือผู้ที่ช่วยอำนวยความสะดวก จึงต้องมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินที่ได้มาเพื่อป้องกันการตรวจสอบ
ส่วนธุรกิจที่ดินที่เข้าข่ายการฟอกเงินจะมีลักษณะของการลักลอบนำที่ดินของรัฐมาออกโฉนดแล้วนำไปหลอกขาย ซึ่งผู้กระทำผิดในธุรกิจนี้มีทั้งเอกชนและเจ้าหน้าที่รัฐ
นอกจากธุรกิจที่กรมสอบสวนคดีพิเศษระบุแล้ว ยังมีธุรกิจสีดำที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การค้ายาเสพติด ค้าไม้เถื่อน ค้าอาวุธเถื่อน ค้ามนุษย์ ธุรกิจการพนัน รวมทั้งเงินที่ได้จากการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งล้วนแต่เป็นเงินที่ได้จากธุรกิจผิดกฎหมายจึงต้องยักย้ายถ่ายเทเพื่อปิดบังอำพรางที่มาของเงินก่อนที่จะนำมาใช้จ่ายในระบบปกติ
สำหรับวิธีการฟอกเงินเพื่อปิดบังอำพรางที่มาของทรัพย์สินที่ได้มาอย่างผิดกฎหมายนั้น รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ชี้ว่ามีหลายวิธีด้วยกัน ได้แก่
1) ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน โดยนำเงินที่ได้โอนเข้าบัญชีผู้ใกล้ชิดหรือบุคคลอื่นก่อนที่จะโอนกลับเข้ามายังบัญชีตัวเอง บางคนอาจโอนเงินสดไปฝากไว้ในธนาคารต่างประเทศที่ไม่มีการควบคุมระบบธนาคารอย่างเข้มงวด แล้วโอนเงินกลับเข้ามา
2) แปรสภาพเป็นสินทรัพย์ เช่น ซื้อที่ดิน ซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ ซื้อทอง ซื้อหุ้น ทั้งซื้อในนามตนเองและบุคคลอื่น ซึ่งบางรายอาจตกแต่งตัวเลขการซื้อขายที่ได้กำไรเกินจริงเพื่ออ้างที่มาของรายได้
3) เปิดธุรกิจบังหน้า โดยนำเงินที่ได้จากธุรกิจผิดกฎหมายมาลงทุนเพื่อตกแต่งตัวเลขที่มาของรายได้ว่ามาจากการทำธุรกิจ หรืออาจซื้อกิจการในต่างประเทศซึ่งเป็นเขตปลอดภาษีแล้วให้กิจการของตนเองที่อยู่ในประเทศกู้ยืมเงินหรือสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทในต่างประเทศในราคาที่สูงเกินจริง เพื่อให้เงินที่ได้มาอย่างผิดกฎหมายกลายเป็นเงินที่ถูกกฎหมาย
4) ซุกซ่อนเงินที่ได้ไว้ในห้องหรือสถานที่ลับ แล้วค่อย ๆ ทยอยนำเงินออกมาใช้
รองอธิบดีดีเอสไอ บอกว่า วิธีการฟอกเงินที่ได้จากธุรกิจสีเทาเหล่านี้มีหลายรูปแบบด้วยกัน ที่พบมากคือ การเปิดธุรกิจบังหน้าเพื่อตกแต่งบัญชีโดยที่ไม่มีการซื้อขายหรือการทำธุรกิจจริง และการซื้ออสังหาริมทรัพย์แล้วโอนให้บุคคลใกล้ชิด เช่น ลูกหลาน หรือญาติ เพื่อปิดบังมูลค่าทรัพย์สินที่มีอยู่จริง ซึ่งการโอนเงินหรือทรัพย์สินให้คนนอกจะทำให้การตรวจสอบเป็นไปได้ยาก เพราะเราไม่มีข้อมูลว่าโอนไปให้ใคร และเนื่องจากผลตอบแทนจากธุรกิจผิดกฎหมายแต่ละครั้ง แต่ละกรณี มีมูลค่าสูง ทำให้บางคนยอมติดคุก นำเงินที่ได้ไปฟอกหรือไปซ่อน รอให้ออกจากคุกจึงกลับมาใช้เงิน
อย่างไรก็ดี หากดีเอสไอสามารถจับกุมผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินหรือมีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ ในเบื้องต้นดีเอสไอก็จะตรวจสอบที่มาของเงิน ตรวจสอบเส้นทางการเงินว่ามีการสั่งจ่ายให้ใคร โอนให้ใคร ไล่ดูบัญชี โดยเราสามารถประสานขอข้อมูลจากธนาคารหรือตลาดหลักทรัพย์ได้ ซึ่งแม้คดีฟอกเงินจะใช้เวลานานแต่ก็สามารถนำไปสู่การอายัดและยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดินได้
ปัจจุบันมีคดีที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินและเป็นที่สนใจของประชาชนซึ่งอยู่ในการดูแลของดีเอสไอ เช่น คดีพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ที่ถูกออกหมายจับ ทั้งฟอกเงิน และรับของโจร ซึ่งพัวพันกับการทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น รวมถึงนายอนันต์ อัศวโภคิน อดีตผู้บริหาร บมจ.แอลเอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHBANK) และธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (LH Bank) ที่ถูกกล่าวหาร่วมกันฟอกเงิน และสมคบกันฟอกเงิน ที่ได้มาจากการยักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด เช่นกัน
รวมไปถึงคดีรถหรูที่ดีเอสไอออกมากวาดล้างขบวนการนำเข้ารถหรูเถื่อน-เลี่ยงภาษี และอาจมีการขยายผลไปถึงกระบวนการฟอกเงิน ซึ่งสอดคล้องกับที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกมาทลายแก๊งจับกุมเครือข่ายค้ายา "ไซซะนะ" ผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ชาวลาว ซึ่งมีเม็ดเงินผิดกฎหมายมหาศาล โดยชี้ให้เห็นถึงการฟอกเงินของกลุ่มพ่อค้ายาเสพติดที่ใช้วิธีการเปิดธุรกิจ 'ซื้อขายรถหรู' บังหน้า และหนึ่งในผู้ต้องหาร่วมกันฟอกเงินคือ เบนซ์ เรซซิ่ง สามีของ แพท ณปภา เป็นต้น
ดังนั้นการกวาดล้างและปราบปรามขบวนการฟอกเงินจึงถือเป็นความจำเป็นต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความสงบสุขของชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!