xs
xsm
sm
md
lg

เช็กบิล “รถหรูเถื่อน” ทลายแหล่งฟอกเงินสีดำ บทพิสูจน์ภาครัฐ หลังผลประโยชน์จุกคอมานาน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

กุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร
ป้อมพระสุเมรุ

                   

ปฏิบัติการกวาดล้างขบวนการรถยนต์หรูลักลอบนำเข้า-เลี่ยงภาษี ของ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กำลังถูกขยายผลไปถึงขบวนการโจรกรรมรถยนต์ข้ามชาติ กลายเป็น“ไฟลามทุ่ง” ที่ทำท่าจะไม่จบง่ายๆ

โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง “คนขาย - คนซื้อ” ต่างก็เป็นบุคคลในแวดวงระดับสูง มีหน้ามีตาในสังคมกันทั้งนั้น และเมื่อยิ่งสอบสวนกลุ่มบุคคลที่เรียกกันว่า “ไฮโซ - เซเลบริตี้” ทั้งหลายเหล่านี้ ไม่เพียงเข้าข่ายการซื้อ-ขายของเถื่อนผิดกฎหมายเท่านั้น ยังอาจถูกสาวต่อไปถึงวังวนการทุจริต คอร์รัปชัน ฟอกเงิน และขบวนการค้ายาเสพติด

ดังจะเห็นได้ว่า คดีทุจริต หรือคดียาเสพติดใหญ่ๆ หลายคดีมักมี “รถหรู - สปอร์ตคาร์” ตกเป็นของกลางอยู่เสมอ ตั้งแต่คดียักยอกเงิน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่ “ดาราหนุ่มรายหนึ่ง” ตกพุ่มซวย ถูกอายัดรถ ลัมบอร์กินี Lamborghini Gallardo LP560-4 สีเขียวคันงาม เนื่องจากมีเส้นทางว่า ซื้อมาจากผู้ต้องหาคนสำคัญ

หรือล่าสุด คดีเครือข่ายค้ายาเสพติดข้ามชาติ “ไซซะนะ แก้วพิมพา” ก็ได้มีการอายัดทรัพย์สินของคนสนิท-สมุนในแก๊งเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงบางส่วนที่อยู่ในการครอบครองของ “เบนซ์ เรซซิ่ง” อัครกิตติ์ วรโรจน์เจริญเดช สามีของดาราสาวชื่อดัง ซึ่งก็มีรถยนต์ Lamborghini รวมอยู่ด้วย
 
“รถหรู - สปอร์ตคาร์” กลายเป็นสินทรัพย์ยอดนิยมของบรรดาบุคคลที่ร่ำรวยมาอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย นอกเหนือจากเป็นการเสริมฐานะให้ดูโกหรูแล้ว ก็ยังเป็นการแปลง “เงินสีดำ” ให้กลายเป็นทรัพย์สินที่มีราคาค่างวด หรือเป็นแหล่งฟอกเงินชั้นดี ของคนในวงการสีดำ-สีเทา นั่นเอง

โดยมีข้อมูลที่น่าเชื่อว่า เฉพาะเงินที่ได้จากการทุจริต คอร์รัปชันในแวดวงข้าราชการ-นักการเมือง รวมทั้งเงินจากขบวนการค้าขายยาเสพติด ถูกนำ “แปรธาตุ” เป็นรถหรู-ซูเปอร์คาร์ หลายหมื่นล้านบาท โดยมีรูปแบบที่ซับซ้อนจนดูเหมือนเป็นของที่ได้มาอย่างสุจริต

แรกเริ่มเดิมที ดีเอสไอ ได้มุ่งไปที่ “อาณาจักรนิชคาร์” หรือ บริษัท นิชคาร์ กรุ๊ป จำกัด และบริษัทลูก ทั้งที่ สำนักงานใหญ่ของบริษัท โชว์รูมสาขาต่างๆ รวมทั้งโชว์รูมภายในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน โดยได้นำหมายศาลเข้าตรวจอายัดรถยนต์หรู และซูเปอร์คาร์ที่ต้องสงสัยว่าชำระภาษีไม่ครบถ้วน ไว้มากกว่า 100 คัน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นยี่ห้อดังๆ ระดับไฮเอนด์ทั้งสิ้น ทั้งลัมบอร์กินี (Lamborghini) และ เฟอร์รารี (Ferrari) มาเซราติ (Maserati) โรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royse) แอสตัน มาร์ติน (Aston Martin) แมคลาเรน (McLAREN) และเฟอรารี่ (Ferrari)

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรถที่อยู่ในความครอบครองของ “นิชคาร์” นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นรถที่ใช้ “ลูกไม้” สำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริงต่อกรมศุลกากร โดย “ดีเอสไอ” ระบุว่า แต่ละคันจะสำแดงราคาเท็จไม่เกิน 40% ของราคาจริง และใช้ช่องทางการนำเข้าที่แตกต่างกัน เพื่อให้อัตราภาษีที่ต้องชำระแก่ “กรมศุลกากร” ต่ำกว่าความเป็นจริง

ซึ่งจากข้อมูลย้อนหลังที่มีเพียง 5 ปี ระบุว่า ทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ในส่วนนี้ไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท หรือปีละราว 3 พันล้านบาท จากเม็ดเงินภาษีที่ตกหล่นไป
 
ที่น่าตกใจก็คือ สถานะของ “นิชคาร์” นั้นเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ได้รับ Authorize - ใบอนุญาต แต่เพียงผู้เดียว จากแบรนด์ดังๆ ที่ถูกอายัดในการตรวจค้นเสียด้วย แต่กลับมามีชื่อพัวพันกับขบวนการสำแดงราคาเท็จ ซึ่งต้องมีการปลอมแปลงต้นขั้วใบราคาจากต่างประเทศ โดยมีข้อมูลว่า “เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมศุลกากร” รู้เห็นเป็นใจด้วย

แต่จนถึงขณะนี้ ทั้ง เสรี รักษ์วิทย์ (ชินบารมี) เจ้าพ่อซูเปอร์คาร์เมืองไทย หรือ ทายาทอย่าง “เสี่ยแชมป์” วิทวัส ชินบารมี ที่รับรู้โดยทั่วกันว่าเป็น “เจ้าของอาณาจักรนิชคาร์” ก็ยังไม่มีทีท่าจะออกมาชี้แจงแต่ประการใด

ถัดจาก “นิชคาร์” ที่เป็นเบอร์ 1 ในวงการค้าขายรถหรู-ซูเปอร์คาร์ของเมืองไทยแล้ว “ดีเอสไอ” ก็ได้ขยายผล ก่อนเดินหน้าเข้าตรวจค้น และอายัดรถหรู-ซูเปอร์คาร์ ในเครือบริษัทอื่นอย่างเท่าเทียม โดยเบ็ดเสร็จ “ดีเอสไอ” สามารถอายัดรถที่ต้องสงสัยว่าผิดกฎหมายได้มากกว่า160 คัน

และที่น่าสนใจคือ เครือข่ายของ “บริษัท เอสทีที ออโต้คาร์ จำกัด” ที่มีหนุ่มกระทงอย่าง “บอย ยูนิตี้” ภาณุศักดิ์ เตชธีรสิริ ไฮโซชื่อดัง เป็นเจ้าของบริษัทฯ ที่นอกจากจะเป็นที่รู้จักในฐานะอดีตคู่รักของดาราสาวหลายคนแล้ว ไม่กี่ปีก่อนก็ยังเคยถูกตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) นำกำลังเจ้าเข้าตรวจสอบรถหรู “บริษัท ยูนิตี้ ออโต้ เซอร์วิส จำกัด” ของเจ้าตัวมาครั้งหนึ่งแล้ว หลังมีผู้เสียหายร้องเรียนว่า ซื้อรถยนต์จาก “บอย ยูนิตี้” แต่ไม่สามารถนำไปจดทะเบียนได้ เนื่องจากรถยังไม่ได้เสียภาษีนำเข้าอย่างถูกต้อง

แต่เรื่องก็เงียบหายไป การดำเนินธุรกิจค้าขายรถยนต์ของ “บอย ยูนิตี้” ก็เป็นไปได้ด้วยดี คล้ายกับกรณีของ “นิชคาร์” ที่แม้มีคดีเก่าค้างอยู่ในชั้นสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำมาค้าขายในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเลย 

“บอย ยูนิตี้” ยังถือเป็น “จิ๊กซอร์สำคัญ” ตามข้อมูลของหน่วยต่อต้านการโจรกรรมรถยนต์สหราชอาณาจักร หรือ NaVCIS (National Vihicle Crime Intelligence Sevice) ประสานมาว่า มีรถยนต์ซูเปอร์คาร์ที่ถูกโจรกรรมจากประเทศอังกฤษจำนวน 42 คัน ส่งมาที่ประเทศไทย แต่ละคันมีการระบุรุ่น พร้อมหมายเลขตัวถัง-หมายเลขเครื่องยนต์ของรถที่ถูกโจรกรรมมาอย่างครบถ้วน ทำให้ “ดีเอสไอ” ทำงานได้ง่ายขึ้น และติดตามได้แล้วไม่น้อยกว่า 14 คัน ส่วนใหญ่พบอยู่ที่โชว์รูม บริษัทเอสทีที ออโต้คาร์ รวมถึงพบใน “เขตปลอดภาษีของกรมศุลกากร” (Bangkok Free Trade Zone) ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ แต่ก็มีหลุดรอดไปอยู่บนเรือขนส่งสินค้าจำนวน 2 คัน ซึ่งเพิ่งเดินทางออกจากท่าเทียบเรือไปไม่นาน จุดหมายปลายทางที่เกาะฮ่องกง

โดย 1 ใน 2 คัน เป็นรถเมอร์เซเดสเบนซ์ Mercedes-Benz รุ่น G350 Bluetec ที่มีข้อมูลว่าเป็นของ “บอย ยูนิตี้” ซึ่งทาง “ดีเอสไอ” ได้เคยทำหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 23 พ.ค.60 เพื่อขอให้ระงับการดำเนินการใดๆ ทั้งเคลื่อนย้าย ทำลาย หรือจำหน่าย รถยนต์ในเขตปลอดภาษีของกรมศุลกากรโดยเด็ดขาด แต่ Benz G350 Bluetec คันที่ว่า ก็ยังหลุดรอดไปก่อนหน้านั้น

โดยมีข้อมูลว่า เอกชนเจ้าของรถ Benz G350 Bluetec ได้ทำเรื่องนำรถออกจากฟรีโซนฯ ของกรมศุลกากรตั้งแต่ต้นเดือนพ.ค. แจ้งว่า จุดหมายปลายทางที่ฮ่องกง และจะกลับมาถึงประเทศไทยประมาณ ก.ค.นี้ ซึ่งเป็นการทำเรื่องก่อนที่ “ดีเอสไอ” จะเปิดฉากกวาดล้างขบวนการรถหรูเถื่อนด้วยซ้ำ

สะท้อนว่ามี “หนอนบ่อนไส้” ในหน่วยงานรัฐ ที่ทำให้ “เจ้าของรถ” มีเส้นสายกว้างขวาง รับรู้ล่วงหน้าว่ากำลังจะถูกอายัดรถเพื่อดำเนินคดี

สอดรับกับข่าวความเคลื่อนไหวจาก สตง. ที่ พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ทำหนังสือถึง กุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร จำนวน 2 ฉบับ ลงวันที่ 29 พ.ค.60

ฉบับแรกให้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้ารถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักร และมีการสำแดงราคาอันเป็นเท็จในคดีที่ ดีเอสไอ เข้าไปตรวจค้นและอายัดรถภายใน 15วัน

อีกฉบับ ให้ดำเนินการเอาผิดกับ “เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร 9 ราย” ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจคืนภาษีอากรให้กับบริษัทเอกชนที่เป็นผู้นำเข้ารถยนต์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้แก่บริษัท จูบิลี่ ไลน์ จำกัด และบริษัท นิชคาร์ จำกัด เป็นเงินภาษีคืนกว่า 19.88 ล้านบาท พร้อมระบุชื่อทั้ง 9 ราย ดังนี้ 
            
  ฉวีวรรณ คงเจริญกิจกุล อดีตรองอธิบดีกรมศุลกากร ธีระ สุวรรณพงษ์ นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ ประพันธ์ พิสมยรมย์ นิติกรชำนาญการ บุญสืบ บุญญกนก นิติกรชำนาญการ ที่เหลือเป็นนักวิชาการศุลกากรชำนาญการ ได้แก่ พร้อมชาย สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, รำพินธ์ กำแพงทิพย์, บัญชา กอ-สนาน และ ดาริศรา บุญยะนันท์

ถือเป็นเรื่องราวที่สร้างความสะเทือนเลื่อนลั่นให้กับ “วงการเกรย์มาร์เก็ต” หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการ “วงการธุรกิจนำเข้ารถอิสระ” ที่นับวันน่าจะถูกขนานนามใหม่ว่า “แบล็กมาร์เก็ต” เนื่องจากมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับ “ธุรกิจสีดำ” ทั้งการทุจริตคอร์รัปชัน ฟอกเงิน และขบวนการค้ายาเสพติด อย่างแยกไม่ออก

ปฏิบัติการรอบนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งบนพิสูจน์ของทั้ง ดีเอสไอ- สตง. -ป.ป.ช. ที่ระยะหลังเสียรังวัด ไปกับคดีใหญ่ๆ หลายคดี กรมศุลกากร ภายใต้การนำของ “อธิบดีฯกุลิศ” ที่ต้องเปิดให้มีการตรวจสอบทำความสะอาดหน่วยงานในสังกัดที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งผลประโยชน์ของเครือข่ายอาชญากรรม

หากทุกหน่วยงานก้าวข้ามเรื่องผลประโยชน์ หรือ “ใบสั่งเฉพาะกิจ” แล้วผนึกกำลังในการกวาดล้างตัดวงจรอุบาทว์อย่างจริงจัง ไม่เพียงแต่จะกระชากหน้ากากคนทำธุรกิจผิดกฎหมายได้แล้ว ก็จะเปิดโปงเหล่าไฮโซ เซเลบริตี้ ข้าราชการ และนักการเมือง ที่เชิดหน้าชูคอในสังคม ให้รู้ว่าเบื้องหลังคนเหล่านี้สกปรกเพียงใดด้วย
 
หลังจากที่หน่วยงานที่รับผิดชอบต่างก็ “หลิ่วตา” หรือมี “ผลประโยชน์จุกคอ” มานาน จนปล่อยให้ขบวนการผิดกฎหมายเติบโต จนยิ่งใหญ่คับประเทศขนาดนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น