แพทย์จุฬาฯ แนะวิธีการออกกำลังกายที่ได้ประโยชน์สูงสุด ไม่เกิดการบาดเจ็บ และเหมาะกับวัย แถมป้องกันได้สารพัดโรค โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้และมะเร็งเต้านม เตือนผู้หญิงวัยทอง ต้องออกกำลังกายที่เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ ก่อนร่างกายจะเหี่ยวย่นเพราะการลดของ 2 ฮอร์โมน ส่วนนักปั่นจักรยานชายหักโหม ระวังโรคนกเขาไม่ขัน ชี้เซ็กซ์เป็นการออกกำลังกายถ้าปฏิบัติกิจได้ถึง 3-4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะเดียวกันกลุ่มที่ออกกำลังกายประเภท Weekend warriors มีสิทธิ์หัวใจล้มเหลวถึงชีวิตได้!
“ออกกำลังกายวันละนิดจิตแจ่มใส” ประโยคสั้นๆ แต่ให้ความหมายเชิญชวนให้คนได้เห็นความสำคัญของการออกกำลังกาย การออกกำลังกาย หมายถึง การเคลื่อนไหวของร่างกาย ทำให้ร่างกายได้ใช้งาน ได้พัฒนา ไม่ว่าจะทางด้านกล้ามเนื้อหัวใจ หัวใจ การทำงานของปอด รวมถึงอวัยวะส่วนต่างๆ ให้ร่างกายสูบฉีดโลหิต ดี และเป็นพื้นฐานสำคัญที่เปรียบเสมือนวัคซีนให้ร่างกายมีภูมิต่อต้านโรคภัย แล้ว ขณะที่ออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งสาร Endorphin หรือสารสุข และโปรตีน Brain-Derived Neurotrophic Factor (BDNF) ซึ่งโปรตีน BDNF นี้จะช่วยคลายเครียด และซ่อมแซมสมองเกี่ยวกับความจำ
ส่วนสาร Endorphin หรือสารสุข ก็จะไปสร้างความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า มีชีวิตชีวา ช่วยลดความเครียด วิตกกังวล ช่วยให้นอนหลับ แถมยังเป็นยาแก้ปวดธรรมชาติ ที่จะช่วยบรรเทาความปวด และทำให้เราออกกำลังกายได้ยาวนานขึ้นอีกด้วย
ขณะเดียวกันมีงานวิจัยเปรียบเทียบการนั่งเฉยๆ กับการเดินในเวลา 20 นาที จะพบว่าการเดิน ช่วยกระตุ้นให้เลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น และร่างกายยังหลั่งสารสุข และโปรตีนออกมาในสมอง เพื่อช่วยป้องกันภาวะความตึงเครียด และซ่อมแซมเซลล์สมองที่เสียไป ดังนั้น ถ้าคนมีอายุมาก เพียงออกกำลังกาย โดยการเดิน ก็จะช่วยด้านความจำได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดีแม้การออกกำลังกายจะมีคุณประโยชน์มากมาย แต่ก็อาจมีโทษต่อร่างกาย ถึงขั้นบาดเจ็บ หรือ อาจรุนแรงถึงชีวิตได้เช่นกัน ผศ ดร.นพ.ภาสกร วัธนธาดา หัวหน้าภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจบปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา และเป็นที่ปรึกษาด้านการออกกำลังกาย รวมทั้งได้ศึกษาค้นคว้างานวิจัยต่างๆ อธิบายถึงวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมและได้ประโยชน์สูงสุด เพราะการออกกำลังกายเป็นศาสตร์เฉพาะแต่ละคน และการออกกำลังมีทั้งประโยชน์และโทษต่อชีวิตคนเราเช่นเดียวกัน
“การออกกำลังกาย เปรียบเสมือนการลงทุนในตลาดหุ้น ลงทุนถูกก็ได้ประโยชน์เยอะ ลงทุนผิดก็เสียประโยชน์”
อาจารย์หมอภาสกร บอกว่า ที่เปรียบการออกกำลังกายเหมือนการลงทุนในตลาดหุ้น เพราะการออกกำลังกายหากเรามีความรู้ ความเข้าใจ ก็จะได้ประโยชน์สูงสุด เช่นสามารถป้องกันการเกิดโรค หรือหากมีอาการว่าจะเป็นโรคก็ยังสามารถเลือกออกกำลังกายก่อนที่จะใช้ยาได้ ซึ่งเคยมีหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ Exercise is medicine พูดถึงการออกกำลังกาย เป็นยารักษาโรคอย่างหนึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อเมริกา ตัวอย่างคนไข้เป็นโรคความดันโลหิต แต่คนไข้ยังเป็นไม่มาก แพทย์ก็จะแนะนำให้คนไข้ไปออกกำลังกาย เพื่อรักษาโรคความดันก่อนที่จะใช้วิธีรักษาด้วยการทานยา
“วิธีนี้เปรียบเสมือนแพทย์ทางเลือกให้กับคนไข้ ซึ่งแพทย์และคนไข้ รวมทั้งคนที่เป็นเทรนเนอร์ก็ต้องรู้ว่าต้องออกกำลังกายแบบไหน หนักเบา เวลาหรือความถี่เท่าไรจึงจะเหมาะสมและไม่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือรุนแรงถึงชีวิต หากคนไข้มีโรคประจำตัว”
การออกกำลังกายที่ถูกต้อง เหมาะสม ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะออกกำลังกายประเภทเดียวกันได้เหมือนกันหมด แต่ต้องเลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสม เช่น คนที่มีโรคประจำตัว หรือ เป็นโรคบางโรค ไม่ควรออกกำลังกายบางอย่าง เช่น คนปวดหลัง ไม่ควรปั่นจักรยาน คนที่ข้อเข่าเสื่อม ไม่ควรวิ่ง การว่ายน้ำ อาจจะเหมาะกับคนหนุ่มสาว แต่อาจไม่เหมาะกับคนสูงวัย โดยเฉพาะหญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่มวลกระดูกเริ่มบาง หรือเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน เป็นต้น
ออกกำลังกายทำให้ห่างไกลโรค
การออกกำลังกาย นอกจะส่งผลดีต่อร่างกาย คือ จะทำให้ร่างกายได้ใช้งาน มีการพัฒนา เช่น หัวใจได้ทำงาน กล้ามเนื้อได้ทำงาน ฟังก์ชันการทำงานของอวัยวะดีขึ้น ซึ่งคุณประโยชน์ของการออกกำลังกาย ยังช่วยป้องกันการเกิดโรคเรื้อรัง ไม่ติดต่อหลายๆโรค อาทิ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเส้นเ ลือดสูง กระดุกพรุน โรคซึมเศร้า ช่วยการทรงตัว ลดความเสี่ยงต่อการล้ม ป้องกันกระดูกหัก รวมถึงโรคมะเร็งบางชนิด เช่นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม
โรคหัวใจและหลอดเลือด เพียง “เดินเร็วๆ ก้าวเท้าถี่ๆ แกว่งแขนแรงๆ” ก็จะกระตุ้นการทำงาน ระบบหัวใจและหลอดเลือด ให้ทำงานมากขึ้นจากภาวะปกติได้ และช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
โรคความดันโลหิตสูง การออกกำลังกายโรคควรออกกำลังกายชนิดใช้ออกซิเจน (Aerobic Exercise) เช่นการเดิน การวิ่ง การว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ซึ่งเป็นการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ จะกระตุ้นให้ปอดและหัวใจดีขึ้น (Cardiorespiratory fitness) ลดการเกิดโรคหัวใจและความดันโลหิต สามารถลดระดับความดันโลหิตได้ทั้งผู้ที่มีความดันปกติ และความดันโลหิตสูง โดยผู้ที่มีระดับความดันโลหิตปกติจะลดได้ 2/3 มิลลิเมตรปรอท ส่วนผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจะลดได้ 10/8 มิลลิเมตรปรอท
โรคเบาหวาน มีงานวิจัยและยอมรับว่า การออกกำลังกายช่วยเพิ่มการทำงานของอินซูลิน ที่มีในร่างกาย และสามารถนำน้ำตาลในกระแสเลือดเข้าไปใช้งานในเซลล์ เนื้อเยื่อต่างๆ ได้ดี ซึ่งการออกกำลังกาย จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
โรคกระดูกพรุน การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยในการทรงตัว ลดความเสี่ยงต่อการหกล้มโดยเฉพาะผู้สูงอายุ
แม้กระทั่งโรคร้าย เช่น โรคมะเร็ง อาจารย์หมอภาสกร บอกว่า เซลล์มะเร็งบางชนิด ไม่ชอบสภาวะการใช้ออกซิเจนสูง ซึ่งถ้าร่างกายคนเราใช้ออกซิเจนสูง โอกาสที่จะเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็งก็ต่ำ ซึ่งเซลล์ที่เชื่อว่าป้องกันได้ดี จะมีเซลล์มะเร็ง 2 ชนิด คือ มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเต้านม ซึ่งการออกกำลังกายจะทำให้หัวใจและหลอดเลือดมีการหมุนเวียนโลหิตดี และกระตุ้นออกซิเจนในเซลล์สูง ซึ่งจะป้องกันการเกิดมะเร็งในลำไส้ใหญ่ และเต้านมได้
ออกกำลังกาย 30 นาทีไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง
“ออกกำลังกาย ควรจะต้องรู้จักและประมาณศักยภาพ สภาพความพร้อมร่างกายก่อน มิฉะนั้น แทนที่จะได้รับประโยชน์ กลับจะได้รับโทษแทน” คุณหมอภาสกร ระบุและย้ำว่าระยะเวลาในการออกกำลังกาย ถือเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน
ดังนั้นแม้จะมีการรณรงค์ หรือ เชิญชวนจากหน่วยงานต่างๆ ว่า การออกกำลังกายวันละ 30 นาที เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดนั้น ในความเป็นจริง ระยะเวลาดังกล่าว อาจไม่เป็นสิ่งถูกต้องเสมอไป เนื่องจาก ความพร้อม หรือสภาพร่างกายของแต่ละคนไม่เท่ากันทั้งนี้เพราะคนที่ให้คำแนะนำเรื่องการออกกำลังกาย ส่วนใหญ่จะมุ่งเป็นภาพกว้างๆ สำหรับคนทั่วๆ ไป ซึ่งช่วงระยะเวลาดังกล่าว อาจเหมาะสมกับคนบางกลุ่ม แต่อาจไม่เหมาะสมกับคนบางคน การออกกำลังกายวันละ 30 นาที อาจเหมาะสมกับคนที่มีความพร้อม และออกกำลังกายต่อเนื่องสม่ำเสมอ จนร่างกายอยู่ตัว แต่สำหรับคนที่ไม่เคยออกกำลังกายเลย หรือทิ้งช่วงในการออกกำลังกายมานาน ประกอบกับอายุ วัยที่สูงขึ้น การออกกำลังภายใน 1-2 อาทิตย์แรก ไม่ควรเกิน 15 นาที
ในทางตรงกันข้าม ถ้าคนที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมของร่างกาย แต่ออกกำลังกายโดยใช้เวลาเท่ากับคนที่มีความพร้อม การออกกำลังกายนั้นอาจเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ และอาจมีความเสี่ยงต่อชีวิตได้ แต่ถ้าออกกำลังกายจนอยู่ตัวแล้ว สัก 2-3 เดือน ระยะเวลา 30 นาที จะไม่มีปัญหา
สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องรู้จักและประมาณศักยภาพ สภาพความพร้อมของร่างกายตนเองเป็นหลัก ขณะเดียวกันการได้รับความรู้จากคนที่แนะนำ หรือ ที่ปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์ ก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
“ถ้าเราเลือกจะเต้นแอโรบิก ก็ไม่จำเป็นต้องเต้นให้เหมือนผู้นำบนเวที ที่เต้นเร็วและแรง หรือต้องใช้เวลานานๆ เพราะผู้นำเต้นบนเวทีเขาออกกำลังกายมาต่อเนื่อง ถ้าเราไม่ใช่ก็ไม่จำเป็นต้องทำแบบเขาเพราะจะทำให้เราเกิดการบาดเจ็บขึ้นมาได้”
เลือกประเภทกีฬาให้เหมาะ ไม่ตาย ไม่เจ็บ
อาจารย์หมอภาสกร บอกว่า มีงานวิจัยจาก Harvard Alamni Study ระบุว่าการออกกำลังกายมากเกินกว่า 3,500 กิโลแคลอรีต่อสัปดาห์ เสี่ยงหัวใจวายเสียชีวิตมากกว่าคนที่ออกกำลังกายแบบพอดี และการที่คนส่วนใหญ่จะออกกำลังกายได้ 3,500 กิโลแคลอรีต่อสัปดาห์ ต้องออกทุกวัน วันละ 1 ชั่วโมง ซึ่งบางวันอาจจะไม่ไหว เนื่องจากร่างกายยังไม่ฟื้น
“มีงานวิจัยของ Harvard Alamni ที่ออกมาภายหลัง บอกว่าการออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 1,000 กิโลแคลอรีต่อสัปดาห์ เป็นเวลาที่ดีที่สุดเช่นกัน”
ขณะที่มีคนอีกกลุ่มหนึ่งมีพฤติกรรมเลือกที่จะออกกำลังเฉพาะเสาร์ อาทิตย์ 2 วันติดกัน และจะออกกำลังกายอย่างหนัก ซึ่งเรียกผู้ออกกำลังกายลักษณะนี้ว่า Weekend warriors พวกเขาจะออกกำลังกาย มากกว่า 1,000 กิโลแคลอรีเพื่อชดเชย เมื่อเทียบกับผู้ที่ออกกำลังกายสัปดาห์ละหลายวัน และจากข้อมูลของ Harvard Alamni Study พบว่า กลุ่มคนที่มีพฤติกรรมการออกกำลังกายแบบนี้ แม้จะมีอัตราการตายต่ำกว่า กลุ่มผู้ไม่ออกกำลังกาย แต่คนกลุ่มนี้กลับมีอัตราการตายสูงกว่าคนที่ออกกำลังกายแค่ 500 กิโลแคลอรีต่อสัปดาห์ ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงต่อโรคหัวใจระหว่างการออกกำลังกายของกลุ่ม Weekend warriors
“เกิด heart attack จากการออกกำลังกายอย่างหนักติดต่อกัน 2 วัน ทำให้ร่างกายยังไม่ฟื้น ซึ่งอาจนำไปสู่อาการหัวใจล้มเหลวได้ง่าย”
นอกจากนี้การออกกำลังกาย 2 วันติดกัน ก็มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บสูง เพราะกล้ามเนื้อไม่ฟื้น อาจารย์หมอภาสกร แนะนำว่า ถ้าจะออกกำลังกาย 2 วันติดกัน ควรเลี่ยงกีฬาที่ซ้ำกัน แต่ควรเลือกกีฬาที่ต่างประเภทกัน เพราะถ้าเป็นประเภทเดียวกัน จะมีการใช้กล้ามเนื้อเดียวกัน ทำให้กล้ามเนื้อมีโอกาสล้าสูง จึงควรเลือกการออกกำลังกายต่างประเภท เช่น วิ่งหนึ่งวัน อีกวันว่ายน้ำ
“ถ้าจะปั่นจักรยานเพื่อให้ได้ 1,000 กิโลแคลอรีต่อสัปดาห์ ก็ไม่แนะนำ หรือถ้าจะว่ายน้ำชั่วโมงหนึ่ง ได้ 300-500 ตามอัตราความเร็ว เฉลี่ยต้องว่ายน้ำ 2-3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก็ไม่สมควรทำ เพราะอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายมากกว่า การออกกำลังกายที่ดี คือ ต้องรู้จักผสมผสาน”
ตัวอย่างการออกกำลังกาย วันหนึ่งเลือกออกกำลังกายโดยการว่ายน้ำ ซึ่งใน 1 ชั่วโมง ร่างกายเผาผลาญไป 260-750 กิโลแคลอรี ขณะที่อีกวัน อาจเลือกออกกำลังกายโดยขี่จักรยาน ซึ่งเป็นการใช้กล้ามเนื้อคนละมัดกัน ใน 1 ชั่วโมง มีการเผาผลาญประมาณ 250-600 กิโลแคลอรี เป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสม กล้ามเนื้อไม่ล้า แต่มีการฟื้นตัว และไม่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ
ผู้หญิงต้องเตรียมร่างกายก่อนหมดประจำเดือน
อาจารย์หมอภาสกร บอกว่า โดยธรรมชาติ ผู้หญิงที่มีอายุเฉลี่ย 50 ปี จะเป็นวัยที่รังไข่หยุดการทำงาน จะไม่มีประจำเดือน และไม่มีการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ซึ่งการขาดฮอร์โมนสองตัวนี้ จะทำให้กล้ามเนื้อลีบลงเร็ว และจะลดลงอย่างมาก รวมถึงกระดูกก็จะบางลง และอาจเกิดกระดูกพรุนได้
ผู้หญิงในวัยนี้จึงควรฝึกออกกำลังกายเพื่อสร้างกล้ามเนื้อและกระดูก ด้วยการเล่น Weight training เพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้อให้กับร่างกาย ซึ่งจะเพิ่มความยืดหยุ่น ทำให้ทรงตัวได้ดี ไม่เสี่ยงต่อการหกล้ม ทั้งนี้ กีฬาที่เหมาะสมได้แก่ การเดิน แอโรบิก
กีฬาบางประเภทเสี่ยงบาดเจ็บ
ส่วนกีฬาที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ มักจะเป็นกีฬาที่ใช้ความเร็วและกึ่งการแข่งขัน กีฬาที่ลงน้ำหนัก เวต เช่น ฟุตบอล เทนนิส แบดมินตัน ส่วนใหญ่มักมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ จึงต้องให้ความสำคัญของกล้ามเนื้อแต่ละมัด เนื่องเพราะกีฬาแต่ละประเภท ให้ความสำคัญไม่เหมือนกัน หากผู้เล่นไม่เข้าใจก็อาจจะก่อให้เกิดโทษได้
“หลายคนมักจะเรียนรู้โดยการลองผิดลองถูก นักกีฬาหลายคนเล่นไปเล่นมาเกิดเจ็บ แล้วถึงไปหาความรู้เพื่อแก้ไข แต่ในความเป็นจริง ถ้าไปปรึกษาคนที่มีความรู้ก่อน ก็จะไม่เจ็บและปลอดภัยกว่า”
โดยเฉพาะถ้าเราเข้าใจว่ากีฬาหรือประเภทของการออกกำลังกายที่เราชอบและต้องการเล่นนั้นมีคุณและโทษอย่างไร ก็จะสามารถแก้ไขได้ทัน เช่นการปั่นจักรยานที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันของคนทุกกลุ่ม
•ปั่นจักรยาน เพลิน เสี่ยงนกเขาไม่ขัน การออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยาน ส่วนพลังงาน ที่ใช้มากน้อย ขึ้นอยู่กับอัตราความเร็ว ระยะทางและสภาพของพื้นที่ที่เราปั่น ซึ่ง การปั่นธรรมดา จะใช้พลังงานแค่ชั่วโมงละ 200 กิโลแคลอรี หากต้องปั่น 4-5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถึงจะได้ 1,000 กิโลแคลอรี
มีข้อมูลวิจัยของสมาคมศัลยศาสตร์ทางเดินปัสสาวะของอเมริกา เมื่อ 10 ปีที่แล้ว จากคนทำข้อมูลย้อนหลัง พบว่า คนปั่นจักรยานเกินกว่า 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยเฉพาะเพศชาย มีอัตราความเสี่ยงเกิดโรคอีดี หรือ โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เพิ่มขึ้น 2 เท่าในทุกอายุ
อาจารย์หมอภาสกร บอกว่า จากข้อมูลงานวิจัยที่สะท้อนมานั้น จึงไม่แนะนำให้ปั่นจักรยานเกินกว่า 3 ชั่วโมง ในผู้ชาย เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อโรคนกเขาไม่ขัน หรือ โรคอีดี (เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ) และสำหรับผู้หญิงเอง ก็อาจพบปัญหา ท่อทางเดินปัสสาวะอักเสบ มีแนวโน้มมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งนอกจากความเสี่ยงจากโรคพวกนี้แล้ว อีกหนึ่งโรคที่พวกนักปั่นมีความเสี่ยงสูง คือโรคปวดหลัง
ทั้งนี้ สิงห์นักปั่น ควรมีวิธีป้องกันและมีความรู้เพียงพอในการป้องกันตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการ เลือกเบาะที่มีความกว้างพอที่จะรองรับกระดูก และเบาะไม่ควรมีจมูกยื่นด้านหน้า เบาะควรปรับแนวราบ เวลาปั่น ไม่ต้องโน้มตัวมาด้านหน้ามาก และ ควรปรับเปลี่ยนท่านั่งมาเป็นท่ายืนบ่อยๆ
อาจารย์หมอภาสกร บอกว่า มีวิธีการทดสอบในการออกกำลังกายว่า เราออกกำลังกายในระดับที่ กำลังดี ไม่หนักเกินไป คือการ Talk test คือ สามารถพูดได้สั้นๆ ตะกุกตะกักขณะออกกำลังกาย ซึ่งใช้ในกรณีที่ไม่มีเครื่องมือจับ ถือเป็นเครื่องมือธรรมชาติที่ใช้ทดสอบได้
นอกจากนี้มีคำถามที่หลายคนสงสัยว่า การมีเซ็กซ์ใช่การออกกำลังกายหรือไม่ เคยมีผลการศึกษาพบว่า การมีเซ็กซ์ ผู้ชายสามารถเผาผลาญพลังงานได้ 4.2 แคลอรีต่อนาที ระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งถ้าเทียบการออกกำลังบนลู่วิ่ง ในระยะเวลาเท่ากัน จะเผาผลาญพลังงานออกไป 9.2 แคลอรี ส่วนผู้หญิง ขณะมีเพศสัมพันธ์ จะเผาผลาญพลังงานได้ 3.1 แคลอรีต่อนาที แต่หากวิ่งบนลู่ จะเผาผลาญพลังงานได้ 7.1 แคลอรี
“เซ็กซ์ เป็นการออกกำลังกายประเภทหนึ่ง เพียงแต่ว่าคุณต้องมีเซ็กซ์เท่ากับการออกกำลังกาย เช่น 3-4 ชั่วโมงต่ออาทิตย์ได้หรือไม่ ถ้าคุณทำได้ ก็ถือว่าเป็นการออกกำลังกายอีกประเภทหนึ่งเช่นกัน” อาจารย์หมอภาสกร ระบุ
ดังนั้นหัวใจของการออกกำลังกายให้ได้ประโยชน์สูงสุด คือ สภาวะการออกกำลังกายที่เหมาะสม ด้วยการเลือกประเภทของการออกกำลังกาย ความหนักของการออกกำลังกาย ความถี่ และระยะเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้ต้องยึดตัวเองเป็นหลักให้มากที่สุด!