xs
xsm
sm
md
lg

ดอกเบี้ยฝากติดดิน พันธบัตรใหม่ 5 ปี รับจริง 1.9%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หมดทางเลือกผลตอบแทนจากเงินฝาก พันธบัตรรุ่นใหม่ 5 ปี ดอกเบี้ยจริง 1.91% ส่วน 10 ปีแค่ 2.27% แม้ให้สูงกว่าตลาด แต่ต่ำมากไม่เร้าใจแถมถูกล็อกยาว นักการเงินไม่ฟันธงขายหมดหรือไม่ แนะใครที่ไม่มีทางเลือกคงต้องจำใจ ส่วนใครที่คิดว่าดอกเบี้ยมีโอกาสปรับขึ้นต้องรอ ช่วงนี้ต้องหาแหล่งพักเงิน ทำใจฝากสั้น-ปลอดภาษี-สลากออมทรัพย์ ล่าสุดสลากออมสินเหลือ 0.66% ธ.ก.ส.ยังคง 0.83%

นับวันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากยิ่งอยู่ในอาการที่ถดถอยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะบัญชีเงินฝากประจำที่ปรับลดลงชนิดเดือนต่อเดือน อย่างบัญชีเงินฝากประจำของธนาคารกรุงไทยในเดือนเมษายนมีฝากประจำ 4 เดือนดอกเบี้ย 1.5% และ 8 เดือนดอกเบี้ย 1.6% เริ่มเข้าเดือนพฤษภาคมออกเงินฝาก 9 เดือนดอกเบี้ย 1.45% เงินฝาก 14 เดือนดอกเบี้ย 1.5% หักภาษีแล้วจะเหลือผลตอบแทนจริง 1.2325% และ 1.275%

ขณะที่ธนาคารออมสินยังมีเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 5 เดือนตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2559 ดอกเบี้ย 1.3% (เทียบเท่าเงินฝากประจำ 1.53%) และเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 11 เดือน ดอกเบี้ย 1.45% (เทียบเท่าเงินฝากประจำ 1.71%)

เช่นเดียวกับสลากออมทรัพย์ของธนาคารออมสิน จากงวดที่ 84 ผลตอบแทนอยู่ที่ 0.83% หลังจากขายครบจำนวน ปัจจุบันเข้างวดที่ 85 ผลตอบแทนอยู่ที่ 0.66% เท่านั้น เปรียบเทียบกับสลากงวด 58 เมื่อ 3 ปีที่ครบกำหนด ครั้งนั้นผลตอบแทนกรณีไม่ถูกรางวัลอยู่ที่ 2%

พันธบัตรรุ่นใหม่-ดอกไม่งาม

นอกจากการไหลลงของดอกเบี้ยเงินฝากนอกบัญชีเงินฝากของธนาคารและสลากออมสินแล้ว ยังส่งผลไปถึงพันธบัตรรัฐบาลรุ่นใหม่ที่กำลังเตรียมเสนอขายต่อประชาชน โดยพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ครั้งที่ 2 วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท กำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได แบ่งเป็น 2 รุ่น คือ พันธบัตรรุ่นอายุ 5 ปี ปีที่ 1 ดอกเบี้ย 1.75% ปีที่ 2-3 ดอกเบี้ย 2.00% ปีที่ 4 ดอกเบี้ย 2.50% ปีที่ 5 ดอกเบี้ย 3.00% ส่วนพันธบัตรรุ่นอายุ 10 ปี ปีที่ 1-5 ดอกเบี้ย 2.25% ปีที่ 6-9 ดอกเบี้ย 3.00% ปีที่ 10 ดอกเบี้ย 3.50%

พันธบัตรรุ่นนี้จำหน่ายผ่านเคาน์เตอร์ทุกสาขา เครื่องถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) และผ่านระบบอินเทอร์เน็ตของธนาคารตัวแทนจำหน่าย 4 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งแต่เวลา 8.30 น. ของวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 จนถึงเวลา 15.00 น. ของวันที่ 31 สิงหาคม 2559 และจำหน่ายที่บูทสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะในงานมหกรรมการเงิน กรุงเทพฯ ครั้งที่ 16 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 12-15 พฤษภาคม 2559

ดอกเบี้ยเฉลี่ยของพันธบัตร 5 ปี อยู่ที่ 2.25% แต่ต้องเสียภาษีอีก 15% ดังนั้นดอกเบี้ยรับจริงอยู่ที่ 1.91% ส่วนดอกเบี้ยเฉลี่ยของพันธบัตร 10 ปี อยู่ที่ 2.68% หักภาษีแล้วเหลือ 2.27%

ตัวดอกเบี้ยของพันธบัตรที่กำหนดออกมานั้นถือว่าเป็นไปตามสภาพตลาด เพราะตอนนี้ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีอยู่ที่ 1.59% และ 10 ปีอยู่ที่ 1.83% ดังนั้นดอกเบี้ยสุทธิของพันธบัตร 5 ปีและ 10 ปีที่กำลังจะเสนอขายนั้นถือว่าให้สูงกว่าสภาพตลาด ถือว่าเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามปกติที่ต้องอิงจากผลตอบแทนในตลาดเป็นหลัก

วัดใจซื้อ-ไม่ซื้อ

นักการเงินรายหนึ่งกล่าวว่า ตรงนี้ต้องขึ้นกับผู้ออมว่าจะเลือกลงทุนในพันธบัตรรุ่นนี้ต่อหรือไม่ โดยเฉพาะผู้ที่เคยถือพันธบัตรที่กำลังครบกำหนดมีทั้งพันธบัตรไทยเข้มแข็งเมื่อปี 2553 อายุ 6 ปี ดอกเบี้ยในเวลานั้นเฉลี่ยที่ 4.17% และพันธบัตรออมทรัพย์ 3 ปี ปีงบประมาณ 2556 ดอกเบี้ย 3.5% ซึ่งครบกำหนดในช่วงนี้พอดี เพราะวันนี้อัตราดอกเบี้ยในพันธบัตรถือว่าต่ำมาก

ไม่มีใครตอบได้ว่าอีก 5 ปีนับจากนี้อัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้นหรือต่ำลงหากใช้ดอกเบี้ยพันธบัตรชุดนี้เป็นเกณฑ์ หากประเมินว่าดอกเบี้ยเงินฝากจากนี้อีก 5 ปีคงต้องขยับขึ้นแน่ ก็อาจต้องผันเงินออมไปพักรอไว้ที่ใดที่หนึ่งก่อน ส่วนหนึ่งมีเรื่องของแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่มีโอกาสปรับขึ้นได้อีก หากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ฟื้นตัว

หากกังวลว่าดอกเบี้ยอาจปรับลดลงไปอีกและพอใจกับอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรชุดนี้ก็ตัดสินใจลงทุนต่อ หรืออาจลงทุนต่อบางส่วนถือไว้รอบางส่วนก็ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละบุคคล

ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจในเวลานี้ ตัวอัตราดอกเบี้ยถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก โอกาสที่จะลงต่อไปอีกคงไม่มาก สภาพนี้เป็นกันทั่วโลก เชื่อว่าหลายคนก็ประเมินสถานการณ์ว่าภายใน 5 ปีดอกเบี้ยก็น่าจะปรับตัวขึ้นได้บ้างและไม่อยากถูกล็อกเงินออมไว้ถึง 5 ปี เห็นจากท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐที่ปรับดอกเบี้ยขึ้นในช่วงปลายปี 2558 และอาจจะปรับขึ้นอีกครั้งในปีนี้ ส่วนจะมากหรือน้อยเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์

ดังนั้นหากคิดว่าพันธบัตรรุ่นนี้ไม่น่าสนใจ ก็ต้องรอพันธบัตรรุ่นใหม่ที่จะออกมาในรุ่นต่อไปว่าดอกเบี้ยที่เสนอมานั้นยอมรับได้หรือไม่ เราก็ไม่กล้าที่จะคาดการณ์ว่าพันธบัตรรุ่นนี้จะขายหมดหรือไม่ หากดูเฉพาะผลตอบแทนที่ได้ถือว่าต่ำมากไม่ดึงดูดใจนักกับระยะเวลา 5 ปีและ 10 ปี ขณะที่มีความเป็นไปได้ที่ดอกเบี้ยมีโอกาสปรับสูงขึ้น

อย่างพันธบัตร 3 ปีที่เสนอขายเมื่อปลายปี 2558 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2559 ดอกเบี้ย 3% ครั้งนั้นยอดขายไม่คึกคักนัก เหลืออยู่พอสมควร เมื่อธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับลดอัตราดอกเบี้ยจึงทำให้มีแรงซื้อเข้ามาในพันธบัตรชุดนั้นจนหมดอย่างรวดเร็ว

ทางเลือกอื่น-ตัน

แต่ในระยะนี้คงต้องหาแหล่งพักเงินออมไว้ก่อน และต้องยอมรับสภาพว่าดอกเบี้ยเงินฝากในระยะนี้ตอบแทนต่ำ

ตอนนี้มีการออกเงินฝากดอกเบี้ยพิเศษกันเพียงไม่กี่แบงก์เท่านั้น มีของกรุงไทย เป็นเงินฝากประจำ และธนาคารออมสินเป็นเงินฝากเผื่อเรียกไม่เสียภาษี(ดอกเบี้ยไม่เกิน 2 หมื่นบาท) ดอกเบี้ยจะไม่เกิน 1.7% หาดอกเบี้ยที่สูงกว่านี้ในกลุ่มเงินฝากคงยาก หลายคนอาจมองไปถึงเงินฝากปลอดภาษี 24 เดือน เดิมมีของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เคยให้อัตราดอกเบี้ย 3.4% แต่ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือเพียง 2.9% เมื่อ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้หากท่านสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่ที่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันนั่นคือดอกเบี้ยดังกล่าวนั้นเป็นดอกเบี้ย 24 เดือนหรือ 2 ปี ถ้าจะคิดเป็นรายปีต้องหาร 2

ส่วนบัญชีเงินฝากที่ทำธุรกรรมผ่าน Internet ที่หลายคนนิยมนั้น ขณะนี้ผลตอบแทนปรับลดลงมาเหลือที่ 1.6%

อีกทางหนึ่งคือการฝากเงินไว้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ยังให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าธนาคารพาณิชย์ แต่อาจมีข้อจำกัดในเรื่องการเข้าถึง ที่ทำงานของใครมีสหกรณ์ออมทรัพย์อยู่ย่อมเป็นตัวเลือกที่ดี แต่ต้องพิจารณาเรื่องของความมั่นคงด้วยเช่นกัน เพราะมีหลายแห่งเปิดรับสมาชิกคนนอกและผู้บริหารอาจมีปัญหาด้านการบริหาร

“จริงๆ แล้วยังมีสถาบันการเงินที่ให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าธนาคารพาณิชย์อยู่บ้างเช่น บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์และได้รับการคุ้มครองเงินฝากเช่นกัน แต่หลายคนยังกังวลในเรื่องความมั่นคง”

ช่องทางที่จะหาแหล่งพักเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงตอนนี้หายากมาก เดิมหลายคนประเมินว่าหลังจาก 11 สิงหาคม 2559 ที่การคุ้มครองเงินฝากจะเหลือเพียง 1 ล้านบาทนั้นอาจทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากมีโอกาสขยับขึ้นได้ โดยเฉพาะสถาบันการเงินขนาดเล็ก แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ขยายระยะเวลาออกไปเป็น 11 สิงหาคม 2563

ดังนั้นความหวังในส่วนนี้จึงหมดไป หากยังคงต้องการหาผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยจากธนาคารพาณิชย์ อาจจะต้องยอมเสี่ยงที่จะไปหาผลตอบแทนด้วยวิธีอื่น

สำหรับคนที่มองเรื่องสลากออมทรัพย์ที่มีทั้งของธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. อายุ 3 ปีเท่ากัน ขณะนี้ผลตอบแทนกรณีไม่ถูกรางวัลของออมสินชุดที่ 85 เหลือเพียง 0.66% แต่ของ ธ.ก.ส.ยังคงไว้ที่ 0.83% ตามเดิม ผู้ต้องการออมเงินผ่านสลากที่เงินต้นไม่สูญนั้นก็ต้องพิจารณากันเอง
สลากออมทรัพย์ของ ธ.ออมสินและ ธ.ก.ส. อีกหนึ่งทางเลือก
หุ้นกู้เน้นขายรายใหญ่

หากยังเน้นในกลุ่มคล้ายเงินฝาก ตอนนี้มีหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนที่เสนอขายออกมา อย่างหุ้นกู้ของบริษัทบัตรกรุงไทย หรือ KTC เปิดขายไปเมื่อ 3-4 พฤษภาคมที่ผ่านมา อันดับความน่าเชื่อถือ A+ อายุ 3 ปี ดอกเบี้ย 1.88% และอายุ 5 ปี ดอกเบี้ย 2.12% อย่างกรณีนี้จะเห็นได้ว่าดอกเบี้ย 5 ปีของหุ้นกู้ KTC ให้ต่ำกว่าดอกเบี้ยเฉลี่ยของพันธบัตร 5 ปี ดอกเบี้ย 2.25%

ส่วนหุ้นกู้ของบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง 10 ปี ดอกเบี้ย 2.7% เกือบเป็นอัตราเดียวกับพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีในล็อตนี้

แม้จะมีบริษัทที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยพันธบัตรอย่างเช่น บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค หรือ ECF เสนอขายหุ้นกู้ของบริษัท มูลค่าไม่เกิน 500 ล้านบาท อายุ 1 ปี 9 เดือน ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2561 อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 5.40 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน หรือบริษัท ณุศาศิริ หรือ NUSA เสนอขายหุ้นกู้ของบริษัท มูลค่าไม่เกิน 800 ล้านบาท อายุ 1 ปี 9 เดือน ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2561 กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 5.60 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุก 3 เดือน แต่ทั้ง 2 บริษัทเลือกที่จะเสนอขายให้กับนักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนรายใหญ่ ประชาชนทั่วไปไม่สามารถซื้อได้

ขยับขึ้นไปอีกระดับอาจต้องนำเงินออมไปลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ ที่มีนโยบายในการลงทุนให้เลือกทั้งตลาดเงิน พันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้บริษัทเอกชน มีทั้งกองที่ทำได้ถึงผลตอบแทนที่ตกลงกันไว้ซึ่งไม่ต่างจากดอกเบี้ยเงินฝากมากนักและกองที่ผู้ออมเงินจะต้องติดตามเอง

ผลตอบแทนของกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ระดับ 2-3% ในระยะเวลา 1 ปีนั้นก็มี เมื่อซื้อกองทุนรวมนั้นแล้วผู้ออมจะต้องดูมูลค่าของหน่วยลงทุนเอง หากได้ผลตอบแทนเป็นที่พอใจก็สามารถสั่งขายได้ แต่กองทุนรวมจะมีความเสี่ยงมากกว่าเงินฝาก เงินฝากเงินต้นยังอยู่ครบ แต่กองทุนรวมตราสารหนี้บางกองเงินต้นอาจหายไปได้บางส่วน ตรงนี้ผู้มีเงินออมต้องตัดสินใจ

ดังนั้นผู้ที่มีเงินออมและไม่ต้องการความเสี่ยงก็ต้องยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ส่วนจะเลือกออมด้วยวิธีใด ช่องทางใด ควรศึกษาให้รอบคอบก่อนการตัดสินใจ

กำลังโหลดความคิดเห็น