xs
xsm
sm
md
lg

Index Fund ทางเลือกสำหรับผู้ชอบจับจังหวะการลงทุนด้วยตนเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดยฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด

ท่ามกลางภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำทั่วโลก นักลงทุนต่างพยายามแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมประเภทต่างๆที่ไม่ใช่เงินฝากประจำหรือพันธบัตรรัฐบาล ผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ หุ้น อสังหาริมทรัพย์ หรือสินทรัพย์ทางเลือกอย่างทองคำและน้ำมันที่มีความผันผวนสูงกว่า

โดยส่วนใหญ่กองทุนรวมในเมืองไทยนั้นมุ่งเน้นลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีชี้วัด หรือมีการบริหารแบบเชิงรุก (Active Fund) ด้วย 2 กลยุทธ์หลักคือการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจ (Top Down) และการคัดเลือกสินทรัพย์ (Bottom Up) โดยอาศัยผู้จัดการกองทุนที่มีความรู้ความชำนาญสูงและเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายกว่า เลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสมในการบริหารกองทุน

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนบางกลุ่มที่ติดตามตลาดอย่างใกล้ชิดและเข้าใจภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งนักลงทุนที่จับจังหวะการซื้อขายตามภาวะตลาด มักจะมองว่าค่าธรรมเนียมการจัดการของกองทุนที่บริหารแบบเชิงรุกนั้นอยู่ในระดับที่สูงเกินไปและไม่คุ้มค่ากับผลลัพธ์ที่ได้ในช่วงที่ตลาดการเงินทั่วโลกมีความผันผวนสูง และเปิดโอกาสให้ทำกำไรในระยะสั้นได้เช่นนี้

ด้วยเหตุผลนี้ การลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีการบริหารแบบเชิงรับ (Index Fund หรือ Passive Fund) ที่มีนโยบายสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับการเคลื่อนไหวของดัชนีอ้างอิงมากที่สุด จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของนักลงทุนที่ต้องการจัดพอร์ตการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์หลากหลายประเภททั่วโลกด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า เนื่องจากค่าธรรมเนียมการจัดการจะต่ำกว่ากองทุนที่บริหารแบบเชิงรุกอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ เพราะ Index Fund ไม่ได้นำความรู้ความสามารถของผู้จัดการกองทุนในการคัดเลือกสินทรัพย์เข้ามาเป็นปัจจัยในการสร้างผลการดำเนินงาน รวมถึงกองทุนมีค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ต่ำกว่า Active Fund อีกด้วย

จากทฤษฎีตลาดประสิทธิภาพ* (Efficient Market Hypothesis) หรือ EMH พบว่าการลงทุนผ่าน Index Fund มีแนวโน้มที่จะสร้างผลการดำเนินงานที่ดีกว่า Active Fund ในตลาดการเงินประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยุโรป และ ญี่ปุ่นมากกว่าในตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ เนื่องจากตลาดหุ้นของประเทศพัฒนาแล้วจะมีประสิทธิภาพด้านข้อมูลข่าวสารสูง รวมถึงจะไม่มีนักลงทุนคนใดสามารถใช้ข้อมูลภายในที่ยังไม่ได้เปิดเผย (Inside Information) ในการทำกำไรได้ ซึ่งในตลาดประเทศเกิดใหม่ยังคงต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกระยะหนึ่ง

จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ต้นปี 2559 กองทุนหุ้นทั่วโลกที่มีการบริหารแบบเชิงรุกมีเงินทุนไหลออกกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่มีเงินทุนไหลเข้ากองทุนเชิงรับมากกว่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับกองทุนตราสารหนี้ทั่วโลกที่บริหารแบบเชิงรุกที่มีเงินไหลออกประมาณ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่กองทุนเชิงรับมีเม็ดเงินไหลเข้ากว่า 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ที่มา: EPFR research, Financial Times, 11 เม.ย. 2559) นอกจากนี้ขนาด Index Fund ทั่วโลกมีการขยายตัวอย่างมาก โดยขยายตัวมากกว่า 3 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2548 จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ว่านักลงทุนหันมาสนใจการลงทุนผ่านกองทุนรวมแบบเชิงรับมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม อาจเป็นการยากสำหรับการตอบคำถามที่ว่า “สรุปแล้วกองทุนประเภทใดดีกว่ากัน” แต่ผู้เขียนขอตั้งคำถามกลับไปว่า กองทุนทั้ง 2 ประเภทที่กล่าวมาเหมาะสมกับนักลงทุนกลุ่มใดมากกว่า

เนื่องจากแต่ละประเภทก็จะมีข้อดีข้อเสียและเหมาะกับสไตล์การลงทุนของนักลงทุนไปคนละแบบ หากนักลงทุนที่ขาดประสบการณ์การลงทุน ไม่มีเวลามากพอ หรือเชื่อมั่นในฝีมือบริหารจัดการกองทุนของผู้จัดการกองทุน ก็ควรลงทุนใน Active Fund เพื่อหวังผลตอบแทนที่หักด้วยค่าธรรมเนียมแล้วเหนือกว่าดัชนีอ้างอิงได้ในระยะยาว

ขณะที่กองทุน Index Fund จะเหมาะสำหรับนักลงทุนที่มีประสบการณ์การลงทุน พอมีเวลาติดตามข้อมูลตลาด และมีความรู้ความสามารถในการจับจังหวะการเข้าลงทุนระยะสั้นด้วยตนเอง เพื่อให้สามารถสร้างผลตอบแทนที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีอ้างอิงด้วยต้นทุนการบริหารจัดการที่ต่ำ

ส่วนข้อดีข้อเสียของกองทุนแต่ละประเภท อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า Index Fund มีกลยุทธ์การลงทุนเชิงรับเพื่อเลียนแบบดัชนีอ้างอิงโดยเน้นสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงดัชนีอ้างอิงให้มากที่สุด จึงไม่เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนคัดเลือกหลักทรัพย์เข้าพอร์ตการลงทุนได้ ผู้ลงทุนจึงต้องลงทุนในหลักทรัพย์ทุกตัวที่กองทุนรวมดัชนีไปเลียนแบบมา แต่ในบางสภาวะที่ตลาดมีความผันผวนมากๆ กองทุนประเภท Active Fund ที่ผู้จัดการกองทุนใช้ความสามารถในการคัดเลือกหลักทรัพย์รายตัว ก็อาจมีความจำเป็นเพื่อคัดเลือกหลักทรัพย์ที่ดีและมีความเหมาะสมในภาวะตลาดขณะนั้น

อย่างไรก็ตาม จะมีกองทุนดัชนี หรือ Index Fund ประเภทที่ลงทุนในรายกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ ดัชนีหุ้นกลุ่มไอที ดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงาน ซึ่งอาจเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์สำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนเป็นรายอุตสาหกรรม และต้องการใช้เข้ามาเสริมพอร์ตโฟลิโอของตนเองเพื่อจับจังหวะทำกำไรด้วยตนเองในภาวะตลาดที่เหมาะสม นอกจากนี้ Index Fund ยังคงเป็นทางเลือกที่ดีในการจัดพอร์ตการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์หลากหลายประเภททั่วโลกได้

หมายเหตุ *การวิเคราะห์ตามทฤษฎีตลาดที่มีประสิทธิภาพ เป็นตลาดแข่งขันสมบรูณ์ ซึ่งเชื่อว่ามูลค่าที่ควรจะเป็นของหุ้นหรือสินทรัพย์นั้นจะเท่ากับราคาตลาดเสมอ แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น ณ เวลาใดเวลาหนึ่งจะเป็นข้อมูลสะท้อนข่าวสารอย่างสมบรูณ์

คำเตือน : ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน


กำลังโหลดความคิดเห็น