ชุมชนเกาะเกร็ด หลังต้องเผชิญวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ปี 54 สวนผลไม้ ทุเรียน ส้มโอ กู่ไม่กลับ และจากผลกระทบของเทศกาลขายสินค้าในอิมแพ็ค เมืองทองธานี ทำให้คนเที่ยวลดจำนวนลง ยุคนี้จึงต้องเข้าสู่การปรับตัว โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มต่อยอดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เครื่องปั้นดินเผา สินค้าภูมิปัญญาไทยที่ยังเป็นเอกลักษณ์ ด้วยการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ส่วนคนในพื้นที่และชาวบ้านที่ลงทุนโฮมสเตย์ หวังให้รัฐมีนโยบายสนับสนุนเกาะเกร็ด เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน
“Special Scoop” สำรวจรอบๆ เกาะเกร็ด ซึ่งคนจำนวนมากรับรู้ถึงบรรยากาศของเส้นทางการสัญจร ที่ยังคงรักษาวิถีชีวิตแบบเดิมได้ คือไม่มีรถยนต์วิ่งในเกาะ แต่จะเป็นทางเดินและทางจักรยานที่ทอดยาวไปพร้อมกับคลองรอบๆ เกาะเกร็ด ซึ่งถือเป็นอีกมุมที่ใช้เป็นจุดขายให้กับผู้คนที่อยากมาสัมผัสเกาะเกร็ดซึ่ง “ชาวบ้านและคนพื้นที่” มองว่านี่เป็นโอกาสของการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ในรูปแบบของ “การท่องเที่ยวเชิงเกษตร” และหวังให้ภาครัฐยื่นมือเข้ามาสนับสนุนด้วย
อย่างไรก็ตามความพยายามที่จะผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่นั้น ยังเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ในอนาคต ซึ่งบางช่วงเวลาพบว่าปริมาณคนมาเที่ยวที่เกาะเกร็ดมีจำนวนลดลง
นายชาญชัย ใจเย็น มัคคุเทศก์เกาะเกร็ด และกรรมการหมู่บ้านวัย 58 ปี ซึ่งเป็นคนพื้นที่อยู่อาศัยมานานตั้งแต่ปี 2526 กล่าวว่า ที่ผ่านมาเกาะเกร็ดเจอวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ทำให้ทุกอย่างในเกาะที่เคยรุ่งเรืองต้องหยุดลง ชุมชนในตอนนั้นต้องช่วยกันป้องกันน้ำเข้าโบราณสถาน
แต่ในแง่การทำกินนั้นไม่มีอะไรเหลือ สวนทุเรียน สวนส้มโอ เสียหายหมด เรียกว่าเป็นอัมพาตไปทั้งเกาะ ทำอะไรไม่ได้ ไม่มีอะไรกิน แต่ยังดีที่ได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการ ทหาร และหน่วยงานต่างๆ ปัจจุบันก็ยังถือว่าฟื้นขึ้นมาได้เพียง 40% ต้องเริ่มปลูกทุเรียนใหม่ แต่ก็ได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มในปีที่ผ่านมาอีกครั้ง จึงฟื้นได้ไม่เต็มที่
ส่วนเอกลักษณ์ของเกาะเกร็ดเช่นเครื่องปั้นดินเผาที่ลดน้อยลงจากเดิม ก็เป็นผลพวงจากน้ำท่วมใหญ่ปี 54 เตาเผาขนาดใหญ่และเครื่องมือเสียหาย จนหลายรายเลิกทำ ปริมาณสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์จึงมีน้อยลง สินค้าที่ขายในเกาะ 60% เป็นสินค้าผลผลิตในท้องถิ่น เช่น หน่อกะลา ข้าวแช่ ขนมหวาน สินค้าที่เหลืออาจมาจากภายนอกบ้าง
พื้นที่แต่ละโซนของเกาะเกร็ดมีทั้งคนไทย มอญ และมุสลิม อาศัยอยู่ และจะมีจุดเด่นที่มีความหลากหลายและแตกต่างกัน นับตั้งแต่ร้านอาหาร ร้านกาแฟ เครื่องปั้นดินเผา ขนมหวาน ผ้าบาติก การแสดงรำไทยมอญ ทุกเสาร์อาทิตย์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ใช้เวลาที่นี่นานๆ
ปัจจุบันแม้ว่าเกาะเกร็ดจะกลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเช่นอดีต แต่เนื่องจากในย่านนี้ คนมีทางเลือกไปจับจ่ายสินค้า เที่ยวที่อื่นๆ ได้ โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน ปริมาณคนมาเที่ยวที่เกาะเกร็ดจะน้อยลง
“ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพอากาศร้อน และงานแสดงสินค้าเมืองทองธานีมีเครื่องปรับอากาศเย็นๆ และยิ่งไปกว่านั้น บางงานเช่น งานโอทอปของดีสี่ภาค ยังมีสินค้าใกล้เคียงกันอีกด้วย ตรงนี้ส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าในเกาะเกร็ด นอกจากนั้นบางคนมาเที่ยวที่เกาะเกร็ดก่อนในช่วงเช้า 09.00 - 10.00 น. ซื้อสินค้าเล็กๆ น้อยๆ ประเภทอาหาร ขนม หลังจากนั้นจะไปแวะเที่ยวต่อที่งานเมืองทอง”
นั่งเรือวนรอบเกาะ เส้นทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตามคนในพื้นที่ไม่ได้กังวลกับเรื่องนี้มากนัก เพราะรายได้หลักของคนที่นี่ยังมาจากการท่องเที่ยว คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ซึ่งโปรแกรมท่องเที่ยวลักษณะเป็น One day trip ไม่จำกัดเวลายังเป็นที่นิยม
ที่ผ่านมาทั้งนักท่องเที่ยวเดินทางมาเอง และเป็นหมู่คณะ ไปจนถึงกรุ๊ปนักท่องเที่ยวที่บริษัทนำเที่ยวจัดมาเป็นกลุ่มใหญ่ เช่น จากภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยนิยมเดินเที่ยวระยะสั้นๆ หรือท่องเที่ยวเส้นทางน้ำ เริ่มจากลงเรือที่วัดกลางเกร็ดเริ่มตั้งแต่เวลา 10 โมงเช้า และแวะไหว้พระที่วัดฉิมพลี วนรอบเกาะแล้วขึ้นท่าที่วัดปรมัยยิกาวาศ จากนั้นเดินเที่ยวตลาดและไปลงเรืออีกครั้งที่วัดเสาธงทอง เพื่อท่องเที่ยวทางเรือไปคลองขนมหวาน ตลาดน้ำ ดูผ้าบาติก แวะวัดใหญ่สว่างอารมณ์ และล่องเรือเรื่อยมาแวะไหว้พระที่วัดเชียงเลน
ส่วนบริษัททัวร์ที่นำกรุ๊ปทัวร์มาลง ก็สามารถปรับให้เหมาะสมได้ตามความต้องการของกรุ๊ป เช่น ทัวร์ไหว้พระเก้าวัดที่นี่ก็มี และยังเป็นที่นิยมอยู่ เรียกได้ว่ากิจกรรมท่องเที่ยวที่มีในรูปแบบต่างๆ นั้น เป็นการกระจายรายได้ให้ทั่วถึงทั้งชุมชนรายใหญ่และรายเล็ก และรูปแบบสินค้าในแต่ละรายไม่ซ้ำกัน จึงมีโอกาสในการขายมากขึ้น
เนื่องจากคนขายของในเกาะเกร็ด ส่วนใหญ่จะเป็นคนในพื้นที่ หรือบางคนจะมีการแบ่งเป็นพื้นที่ให้เช่าขายของ ซึ่งยอดขายจะดีเฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์ หรือวันนักขัตฤกษ์เท่านั้น แต่ด้วยเหตุผลว่าไม่ต้องจ่ายค่าเช่าร้าน ดังนั้นถ้าคนจากนอกเกาะจะมาทำกำไรจากการค้าขายที่นี่อาจจะมีรายได้ไม่เป็นกอบเป็นกำอย่างที่คิด เพราะคนพื้นที่ขายของแบบเศรษฐกิจพอเพียง พออยู่ได้ไม่ลำบาก
นอกจากนี้ใน 2 ปีที่ผ่านมา ยังมีการพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ๆ ที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาพักผ่อนที่เกาะเกร็ด เช่น การพักในโฮมสเตย์ ซึ่งบนเกาะมีโฮมสเตย์ 2- 3 แห่ง ที่มีคนพื้นที่เป็นเจ้าของและเปิดให้บริการมาเป็นเวลาไม่นานนัก สำหรับการตอบรับของนักท่องเที่ยวก็ค่อนข้างดี ทุกปีช่วงหน้าหนาว อากาศเย็นสบาย จะมีนักท่องเที่ยวเข้าพักจนเต็ม
เกาะเกร็ดยุคโฮมสเตย์
ปัจจุบันเกาะเกร็ดกำลังพัฒนาสู่การท่องเที่ยวในเชิงเกษตรกร โดยคนในชุมชนร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้น
นายณรงค์ศักดิ์ สว่างเนตร คนพื้นที่เกาะเกร็ด ที่ตั้งเป้าหมายชีวิตวัยหลังเกษียณจากงานรับราชการว่า จะออกมาทำไร่ทำสวนแบบผสม กล่าวว่า เมื่อต้องเผชิญวิกฤต การเพาะปลูกพืชผลได้ไม่ดี ต้นไม้ไม่โต เพราะผลกระทบของน้ำเค็มที่ทำให้ดินไม่ดี และน้ำไม่เพียงพอ
ดังนั้นในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา จึงตัดสินใจดึงเงินออมส่วนตัวหลายแสนบาทที่รับราชการ มาลงทุนสร้างบ้านพัก “โต้งโฮมสเตย์” 4 หลังบนที่ดิน 4 ไร่ครึ่ง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ที่นิยมพักผ่อนในที่ที่มีความสงบร่มเย็นของสวน ซึ่งปลูกทุเรียน กล้วย ส้มโอ มะนาว ไว้รอบๆ เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมภูมิทัศน์ รวมถึงกิจกรรมต่างๆ เช่น ดูหิ่งห้อย ปั่นจักรยานรอบเกาะ
“กิจการที่พักถือว่ามีรายได้ค่อนข้างดี หากใช้คติอยู่แบบพอเพียง และไม่หวังผลกำไรมาก ทำให้ทุกวันนี้มีรายได้หลักสำหรับค่าน้ำ ค่าไฟ ใช้จ่ายประจำวันนั้น มาจากธุรกิจโฮมสเตย์ที่เปิดให้พักในราคาคืนละ 600 บาท และบางครั้งก็มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาพักเป็นเดือน ซึ่งนักท่องเที่ยวมาจากหลายที่ เช่น จองผ่านอินเทอร์เน็ต หรือเพจเฟซบุ๊กที่บางครั้งมาเป็นกลุ่มใหญ่กว่า 10 คน คิดราคาคนละ 100 บาท”
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า หวังความช่วยเหลือให้ภาครัฐเข้ามาลงพื้นที่ เพราะเกาะเกร็ดเป็นพื้นที่สีเขียว ทำสิ่งปลูกสร้างไม่ได้ แต่คนในชุมชนมีความตั้งใจทำจริง
โดยในช่วงที่ผ่านมา เมื่อมีปัญหาน้ำท่วม ส่งผลทำให้มีน้ำเค็มเข้ามาในสวนผลไม้ของชาวบ้าน ก็มีความช่วยเหลือเข้ามา แต่ก็ไม่เพียงพอและทั่วถึงทุกครัวเรือน และหากว่ามีการแก้ปัญหาทั้งดินและน้ำแบบยั่งยืน จะทำให้ผลผลิตพืชผลดีขึ้น ช่วยให้คนเกาะเกร็ดมีรายได้มากขึ้น
“ตัวอย่าง ทุเรียนกว่าจะได้ผลต้องใช้เวลา 5-7 ปี เกิดปัญหาน้ำเค็ม ดินเสีย ที่ทำมาทั้งหมดก็ไม่เหลืออะไร จากที่เคยกู้สหกรณ์การเกษตรมาลงทุนปลูกพืช วันนี้ถ้าชำระไม่ได้ ก็เสี่ยงกับการถูกยึดที่ทำกิน”
ดังนั้นรายได้หลักของคนในเกาะจึงมักจะมาจากการค้าขาย และท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งการปลุกกระแสท่องเที่ยวเกาะเกร็ดให้กลับมานิยมอีกครั้ง ก็ต้องมีการโปรโมตผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อในเกาะ มีนโยบายและโครงการส่งเสริมที่ชัดเจน
ขณะเดียวกันพื้นที่ว่างในเกาะ ก็มองว่ายังสามารถทำประโยชน์ได้อีกมาก เพราะถ้ามีหน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยส่งเสริมพัฒนาในด้านการท่องเที่ยว จะทำให้เกาะเกร็ดพัฒนาได้ดีกว่านี้
“ที่ผ่านมาถึงจุดนี้ได้ เพราะชาวบ้านช่วยกัน สิ่งที่ยังขาดคือความสนับสนุนของภาครัฐที่จะทำให้เป็นรูปแบบ เช่น การพัฒนาพื้นที่ ปรับภูมิทัศน์ ทำประตูน้ำปรับระดับน้ำในเกาะ และกันน้ำเค็ม สร้างจุดขายเพิ่มเติมในคลองหลังเกาะเป็นที่พายเรือพักผ่อนหย่อนใจ ปล่อยปลา ปลูกต้นไม้สวยงาม ทำราวกั้นสะพานป้องกันอุบัติเหตุให้บรรดานักปั่นจักรยาน ซึ่งทั้งหมดจะช่วยสร้างอาชีพเพิ่มเติมในพื้นที่หลังเกาะโดยรอบ ไม่แออัดอยู่แต่ด้านหน้าที่มีพื้นที่ขายของ จนไม่มีพื้นที่สวยงามให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม” นายณรงค์ศักดิ์กล่าว