xs
xsm
sm
md
lg

ตำนานความขัดแย้ง 3 ยุควงการสงฆ์ “เงิน-อำนาจ-บารมี” เหนือพระธรรมวินัย!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พระดุษฎี เมธังกุโร” ซึ่งเป็นพระธรรมวิทยากรและพระวิปัสสนาจารย์ เผยตำนานความขัดแย้งในวงการสงฆ์ 3 ยุค แจงยุคเหลือง-แดง เป็นยุควิกฤตศรัทธาสุดๆ ใช้ Hate speech เข้าต่อสู้กัน แถมเป็นยุคที่ “เงิน-อำนาจ-บารมี” ขยายอิทธิพลเหนือพระธรรมวินัย เตือนฝ่ายหนุนสมเด็จช่วงและธรรมกาย ระวังเสื่อมเพราะตัวเอง ชี้หากสมเด็จช่วงขึ้นสังฆราช มีความหมายยิ่งใหญ่กับธรรมกาย แค่เปล่งวาจาว่าธัมมชโยไม่อาบัติปาราชิก ทุกอย่างก็จบ เสนอบิ๊กตู่ใช้ ม.44 โละ ม.7 ตั้งพระสังฆราช พร้อมปฏิรูปศาสนาดึงฆราวาสที่เป็นอุบาสก อุบาสิกา ศึกษาพระธรรมวินัย เพื่อควบคุมพระสงฆ์ไม่ให้นอกลู่นอกทาง ยึดคำสอนของพุทธองค์เป็นหลัก
พระอาจารย์ดุษฎี เมธังกุโร เจ้าอาวาสวัดทุ่งไผ่ จ.ชุมพร  พระธรรมวิทยากรและพระวิปัสสนาจารย์
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวงการศาสนาที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้ ได้ทำให้สังคมขาดความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อวงการสงฆ์ ถึงวันนี้ยังไม่สามารถลดความขัดแย้งที่มีตำนานการต่อสู้มายาวนาน เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบไปสู่คู่ขัดแย้งที่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง และความขัดแย้งในยุคนี้ถือเป็นยุคเสื่อมที่สุดในวงการสงฆ์ และจะดำเนินการอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดสังฆเภทในวงการนี้

หรือหากตัดสินใจเลือกแนวทางการสถาปนาสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 วงการสงฆ์รวมไปถึงผู้คนในสังคม อาจได้เห็นความขัดแย้งอย่างไม่รู้จักจบสิ้นและอาจนำไปสู่สงครามสงฆ์ได้หรือไม่?

พระดุษฎี เมธังกุโร เจ้าอาวาสวัดทุ่งไผ่ อ.เมือง จ.ชุมพร ซึ่งเป็นพระธรรมวิทยากรและพระวิปัสสนาจารย์ ได้วิเคราะห์เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในวงการพระสงฆ์ว่า มีความขัดแย้งกันในประวัติศาสตร์มานานแล้ว และในปัจจุบัน คือ ยุคที่ 3 ที่แบ่งเป็นสีเหลืองและสีแดง ถือเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงมากที่สุด เพราะมีการเชื่อมโยงของกลุ่มการเมือง และศาสนาพุทธของกลุ่มธรรมกายซึ่งใช้เวลาในการวางรากฐานสะสมทุนทุกๆ ด้านมานาน อย่างไรก็ตามทางออกในการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน โดยแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ตลอดจนพระสงฆ์ยึดการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยเชื่อว่าจะสามารถดึงศรัทธาประชาชนต่อวงการสงฆ์ได้สำเร็จ
เหตุการณ์ชุมนุมของพระสงฆ์ที่พุทธมณฑล(วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559)
3 ยุควงการสงฆ์แตกแยก

จากเหตุการณ์ชุมนุมของพระสงฆ์ที่พุทธมณฑล เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 นั้นภาพลักษณ์ที่ปรากฏสู่สายตาประชาชนชี้ให้เห็นชัดว่าวงการสงฆ์มีความแตกแยกอย่างรุนแรง ในขณะที่ความจริงความแตกแยกของวงการสงฆ์มีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งมายาวนาน สามารถแบ่งได้ 3 ยุค ดังนี้

ในยุคแรก เกิดปัญหาขึ้นระหว่างธรรมยุตกับมหานิกาย ในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่มีการตั้งคณะธรรมยุตขึ้นมา และแม้ว่าเป็นคนส่วนน้อย คือมีอัตราส่วน 1 ต่อ 20

ในขณะที่พระสงฆ์ส่วนที่เหลือเป็นมหานิกาย แต่สายธรรมยุตเป็นพระสงฆ์ที่มีการศึกษา และมีฐานะทางสังคมสูงกว่า เป็นเจ้านายเสียเป็นส่วนใหญ่ และมีลักษณะเป็นพระสงฆ์ที่เคร่งครัด เช่นไม่จับเงินทอง ไม่ฉันอาหารประเภทนมหลังเพล เป็นพระป่า ทำให้คนมีความเลื่อมใสศรัทธา

ทั้งนี้จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ตำแหน่งระหว่างทั้ง 2 นิกายนั้นไม่มีความแตกต่างกัน เช่นสมเด็จก็มี 4 ระดับเท่ากัน แต่พระสงฆ์จากธรรมยุตจะได้ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเป็นจำนวนมาก เพราะได้รับการแต่งตั้งเป็นสมเด็จเร็วกว่ามหานิกาย

ซึ่งเหตุแห่งความแตกแยกนั้น เกิดจากการปฏิบัติที่ต่างกัน เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 5 เคยมีเหตุการณ์ที่จังหวัดตราด มีการปฏิบัติต่อพระสงฆ์ในมหานิกายเหมือนเป็นเพียงสามเณร เรียกว่าอนุปสัมบัน (ผู้ที่ไม่ได้เป็นภิกษุ หมายถึง สามเณร และคฤหัสถ์) จนกระทั่งเจ้าคณะจังหวัด ท่านก็ได้ไปศึกษาหนังสือบุพพสิกขาวรรณนา ซึ่งเป็นหนังสือพระวินัยของธรรมยุต และแก้ต่างให้พระมหานิกาย รวมทั้งปรับปรุงให้มหานิกายในจังหวัดเข้มแข็งเพราะเน้นเรื่องการศึกษาและการฝึกวินัย “เรื่องนี้เป็นการยกตัวอย่างว่าพอธรรมยุตเคร่งครัด มหานิกายก็เคร่งครัดไปด้วย”

ขณะที่ความขัดแย้งสมัยรัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 8 เกิดขึ้นในลักษณะของการช่วงชิง แต่ธรรมยุตได้เปรียบเพราะได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายปกครอง ในขณะเดียวกันมหานิกายก็มีจำนวนมากกว่า แม้ที่มหามงกุฏในปัจจุบันซึ่งเป็นสถาบันของธรรมยุต แต่ก็จำเป็นต้องรับพระสงฆ์จากมหานิกายเข้าไปเรียน เพราะธรรมยุตมีจำนวนนักศึกษาน้อยไม่เพียงพอ

โดยสรุปความขัดแย้งในยุคแรกนี้เกิดจากมหานิกายรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเหยียดว่าเป็นเหมือนสามเณร การศึกษาด้อยกว่า และไม่เคร่งครัดเท่าธรรมยุต ซึ่งในความเป็นจริงนั้นธรรมะเป็นเรื่องเดียวกัน แตกต่างเพียงวินัยปลีกย่อย เช่นเรื่องพิธีสวด เรื่องการถือศีลบางข้อ เรื่องการจับเงิน และการนุ่งห่มเท่านั้น

“หลวงพ่อชา สุภัทโท” วัดหนองป่าพง นั้น ท่านก็เป็นมหานิกาย ท่านไปขอเรียนจากหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และจะญัตติเปลี่ยนเป็นธรรมยุต แต่หลวงปู่มั่นท่านกล่าวว่าไม่ต้องญัตติ เพราะถ้ามหานิกายไม่มีอาจารย์ก็จะไม่มีการสอนฝั่งมหานิกายเลย ขอให้เป็นลูกศิษย์ท่านในทางธรรมะ แต่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนนิกาย หรือแม้แต่สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ท่านก็เป็นสายมหานิกาย แล้วมาญัตติเป็นธรรมยุตทีหลัง สำหรับที่มาของธรรมยุตมาจากรามัญนิกาย คือพระมอญ โดยรัชกาลที่ 4 ศึกษาสมัยทรงผนวชเป็นเวลา 27 ปี ที่วัดบวรฯ

ดังนั้นความขัดแย้งในยุคแรกจึงเป็นเรื่องของความรู้สึกถูกเหยียดหยาม และไม่ได้รับความเป็นธรรมแต่ไม่ได้มีเหตุการณ์ที่รุนแรงและแบ่งขั้วกันเหมือนปัจจุบัน

ในยุคที่สอง สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างธรรมยุตและมหานิกายได้บรรเทาเบาบางลง จะเห็นได้ว่ามหานิกายก็ไปเรียนที่มหามงกุฎซึ่งเป็นสำนักของธรรมยุต หรือเวลาพระสงฆ์เดินทางไปต่างประเทศก็มีความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่มีการแบ่งแยก พระรุ่นใหม่ที่ไม่รู้เรื่องของความแตกแยกก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ แม้จะไม่เป็นหนึ่งเดียวกันแต่ก็ไม่มีความขัดแย้งที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตามในหมู่พระผู้ใหญ่ที่บริหารยังมีความรู้สึกแบ่งแยกอยู่ จนปี 2484 เกิด พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ซึ่งเป็นลักษณะประชาธิปไตย มีการแบ่งอำนาจบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติออกจากกัน สมเด็จพระสังฆราชที่เป็นประมุขของสงฆ์ มีสังฆนายกเหมือนนายกรัฐมนตรี และมีคณะบริหารที่เรียกว่าสังฆมนตรีซึ่งมี 4 กระทรวง คือ สังฆมนตรีปกครอง เป็นเหมือน รมว.มหาดไทย สังฆมนตรีศึกษาเหมือนกระทรวงศึกษา สังฆมนตรีเผยแผ่ ทำหน้าที่เผยแผ่หลักธรรม และสังฆมนตรีสาธารณูปการ เป็นส่วนของการพัฒนาศาสวัตถุต่างๆ เช่นการสร้างวัด เป็นต้น

ยกตัวอย่างสังฆมนตรีที่มีชื่อเสียง เช่น พระพิมลธรรม วัดมหาธาตุฯ ซึ่งเป็นสังฆมนตรีปกครอง ทำให้เกิดความนิยมของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐานสี่ (แบบยุบหนอ-พองหนอ สายมหานิกาย ) แบบพม่ากระจายไปทั่วประเทศ โดยในความเป็นจริงกรรมฐานของไทย เป็นแบบอานาปานสติแบบสวนโมกข์ คือสายพุทโธ ซึ่งเป็นแบบเดิมของไทย แต่เมื่อวัดมหาธาตุฯ ขึ้นมาเป็นสังฆมนตรีปกครอง ก็ไปอุดหนุนสายพองหนอ ยุบหนอแบบพม่า การแบ่งแยกในยุคนี้ออกมาในรูปแบบอนุรักษนิยม กับฝ่ายเสรีนิยม

ยุคที่สาม คือ ความขัดแย้งในปัจจุบัน แม้ว่าจะไม่มีเรื่องของธรรมยุตและมหานิกายเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่กลายเป็นเรื่องความขัดแย้งต่อเนื่องระหว่างขวา (อนุรักษนิยม) กับซ้าย (สังคมนิยม) จนมาถึงยุคเหลือง แดง แต่การแบ่งแยกกลับไขว้สลับกัน ฝ่ายที่เป็นอนุรักษนิยมเดิมกลับไปเป็นฝ่ายแดง นิยมนายทักษิณ ชินวัตร นิยมทุน ในขณะที่ฝ่ายสังคมนิยมกลับมาปกป้องสถาบันชั้นสูง ซึ่งในระยะหลังๆ จึงเป็นเรื่องยากในการแยกระหว่างอนุรักษนิยม หรือสังคมนิยม เพราะไม่มีความเชื่อมโยงโดยตรง และต่างมีความคิดเป็นปัจเจกมาก จึงแบ่งได้เพียงเหลือง และแดง ซึ่งเชื่อมโยงไปถึง “วัดธรรมกาย” ที่มีฐานมวลชนหลายล้านคน

และมีอิทธิพลของธรรมกายแทรกซึมไปทั่ว ทั้งสร้างสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับพระผู้ใหญ่ และมหาเถรสมาคม ซึ่งว่ากันว่า “เงินพันล้าน” สามารถได้มาซึ่งอำนาจและบารมี จึงเป็นเรื่องสำคัญในยุคนี้ ปรากฏให้เห็นจากกรณีพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ละเลยธรรมวินัย คดีความผิดไม่สามารถตัดสินได้อย่างถูกต้อง จึงทำให้เกิดความวุ่นวายอย่างทุกวันนี้

“ยุคนี้จึงเป็นยุค “เงิน-อำนาจ-บารมี” เข้ามาเกี่ยวโยง พระสงฆ์ละเลยพระธรรมวินัย พระที่ปฏิบัติไม่ดี มีคดีความผิด ไม่สามารถตัดสินได้อย่างถูกต้อง จึงทำให้เกิดความวุ่นวายทุกวันนี้เรียกได้ว่าเป็นยุค “เสื่อมที่สุด”
ม็อบพระแดงร่วมชุมนุมประท้วงกับกลุ่มคนเสื้อแดง (14 มีนาคม 2553 )
เปิดสงครามวาทกรรมที่ดุเดือด

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคเหลืองแดง ซึ่งเป็นยุคตกต่ำที่สุด กอปรกับเป็นยุคของ “โซเชียลมีเดีย” ก็ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของวงการสงฆ์เลวร้ายขึ้นไปอีก จนนำไปสู่วาทกรรม หรือ Hate speech มีทั้งพระสงฆ์ใส่กันเอง ทั้งในเรื่องการใส่ร้ายป้ายสี การปล่อยข่าวลือ มีการพูดหยาบคาย ตัดต่อ ซึ่งเป็นความตกต่ำเสียหาย และทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง ซึ่งต่างจากในยุคแรกของความขัดแย้งของพระต่างนิกายนั้น เป็นเรื่องของศักดิ์ศรี และในยุคขวา-ซ้ายเป็นเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองเท่านั้น

“ยุคนี้เป็นเรื่องการหาโอกาสเป็นใหญ่ โดยเฉพาะฝ่ายที่สนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่คาดหวังว่าจะมีโอกาสเป็นใหญ่ในภายภาคหน้านั้น ก็ได้ผลประโยชน์ แต่ไม่ได้สนใจผลประโยชน์ของชาติ”

โดยฝ่ายที่เร่งรีบอยากจะให้ตั้งสังฆราชก็จะอ้างเรื่องของกฎหมาย ทั้งที่กฎหมายนี้เพิ่งแก้ทีหลังในปี 2535 หรือเบี่ยงเป็นเรื่องธรรมยุตผูกขาดไม่อยากให้มหานิกายเป็นใหญ่ ตามที่ทางมหานิกายเคยเปรยว่า ช่วงเวลามีสังฆราชในมหานิกายนั้นไม่ถึง 20 ปีแต่ธรรมยุตมีเป็นร้อยปีเมื่อรวมระยะเวลา ซึ่งการผูกขาดของธรรมยุตไม่ใช่เรื่องจริง

นอกจากนี้ยังใช้ Hate speech ที่สร้างความเกลียดชังรุนแรงให้กับฝ่ายตรงข้าม เช่น การปั่นกระแสว่า
หลวงปู่พุทธอิสระที่ออกมาคัดค้านการตั้งสมเด็จช่วงขึ้นเป็นสังฆราชเป็นพรรคการเมือง มีลูกน้องเป็นทหาร ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องจริงเช่นกัน

ฝ่ายที่ต้องการตั้งสมเด็จพระสังฆราชก็ยังชอบใช้คำพูดว่า “พระสงฆ์ 2 แสนรูปจะออกมาชุมนุมถ้ายังไม่มีการตั้งสมเด็จช่วง” ทั้งที่ความจริงที่ออกมาที่พุทธมณฑลก็เป็นเพียงกลุ่มพระสงฆ์ที่สนับสนุนให้ตั้งพระสังฆราชเท่านั้น และในความเป็นจริง พระสงฆ์ส่วนใหญ่เกินกว่าครึ่งไม่ได้ออกมาเพราะไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้

“การอ้างว่าพระสงฆ์ 2 แสนรูปจะออกมาเคลื่อนไหว ถือว่าเป็นคำอ้างโตเกินไป เพราะเมื่อพระสงฆ์ออกมาแล้วได้ทำให้ภาพลักษณ์เสียหาย จนมีคำถามว่าจะมีพระไว้ทำอะไร ต่อไปไม่มีพระก็ได้ ไม่ต้องเสียเงินเลี้ยงด้วย พระสงฆ์จึงต้องยึดธรรมวินัยเพื่อเรียกศรัทธาคืนจากประชาชน”


ตั้ง/ไม่ตั้งสมเด็จช่วงใครได้ใครเสีย

พระอาจารย์ดุษฎี กล่าวว่า หากมีการแต่งตั้งสมเด็จช่วงขึ้นเป็นสังฆราชองค์ที่ 20 นั้น เชื่อว่าคนที่จะออกมาขุดคุ้ยเรื่องของสมเด็จช่วงมีทั้งทีมเดิมที่ต่อต้าน คือ หลวงปู่พุทธอิสระ นายไพบูลย์ นิติตะวัน หรือพระสายวัดป่า และสายสันติอโศก ก็จะออกมาเพราะรับไม่ได้ รวมทั้งคนที่เป็นกลางๆ ก็จะออกมาอีกมาก

แต่หากยังไม่มีการแต่งตั้งสังฆราชเป็นเวลานาน ก็ไม่ใช่เรื่องดี เพราะจะเกิดสังฆเภทหนักขึ้นเรื่อยๆ และความรุนแรงจะตามมาอีกมาก

ตั้งแต่การทวงถามจากฝ่ายมหานิกาย และมีการคัดค้านเรื่องความมัวหมองไปเรื่อยๆ ทั้งเรื่องรถหรู เรื่องคดีการยักยอกเงินของธรรมกายที่มาถวายให้วัดปากน้ำ โดยเฉพาะเรื่องพระลิขิตของพระสังฆราชนั้นสำคัญมาก เพราะถ้ามหาเถรสมาคมยืนยันว่าธัมมชโยไม่ปาราชิก หมายความว่าสมเด็จพระสังฆราชต้องอาบัติสังฆาทิเสส การไปโจทก์ว่าคนนั้นเป็นปาราชิกโดยที่เขาไม่ได้เป็น จะต้องอาบัติสังฆาทิเสส เปรียบเสมือนการติดคุกทางโลก ไม่เป็นที่ยอมรับในหมู่สงฆ์ ซึ่งเป็นการกล่าวหาที่รุนแรง

ที่สำคัญกลุ่มธรรมกายน่าจะออกมาแน่นอน เพราะเป็นฝ่ายได้เปรียบในทางคำตัดสิน โดยอ้างได้ว่ากฎหมายผ่าน และมติมหาเถระฯ เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาก็ผ่านแล้ว ว่าพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชให้พระธัมมชโยปาราชิกนั้นสิ้นสุดไปแล้ว และด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้เจ้าคณะจังหวัดไม่สามารถจะรื้อฟื้นขึ้นมาได้ และ มส.ไม่มีอำนาจเช่นกัน

ทั้งที่ความจริงมติของมหาเถระฯ ที่ออกมาเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาเป็นเหมือนการแอบทำ มีการประชุมลับ ซึ่งไม่สง่าผ่าเผย รวมทั้งมีข้อทักท้วงที่ไม่ถูกต้องเรื่องคดีที่ติดค้าง ว่าไปแล้วยุคนี้ธรรมกายนั้นได้เปรียบทั้งเรื่องเงิน มีเส้นสายในการบริหาร มีฝ่ายกฎหมาย เรียกว่าได้เปรียบในทุกด้าน แต่ความมัวหมองต่างๆ ที่ยังเป็นมลทินอยู่นั้นก็จะทำให้แพ้ภัยตนเองได้เช่นกัน

ดังนั้นหากสมเด็จช่วงไม่ได้รับการสถาปนาเป็นสังฆราชจริงๆ และธรรมกายจะออกมาเคลื่อนไหว กดดัน ก็ต้องทบทวนให้ดี เพราะจะทำให้ภาพติดลบมากขึ้น และการชุมนุมที่พุทธมณฑลถือว่าเป็นการเดินที่พลาดเช่นกัน

หากจะถามว่าพระสงฆ์กลุ่มนี้ขู่รัฐหรือมวลชนได้หรือไม่ ในความเป็นจริงสามารถขู่ได้ว่าจะเดินขบวน และทำให้คนกลัวเพราะไม่อยากให้พระออกมา

“แต่ถ้าออกมาเดินขบวนแล้ว ความศักดิ์สิทธิ์ก็หมด คำขู่ก็ไม่มีความหมาย เพราะทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ แถมยังโดนตำหนิไปทั่ว แนวร่วมก็จะหายไปหมด ที่สำคัญพุทธมณฑลนั้นเป็นที่ทำการของทำเนียบสงฆ์ เถรสมาคมประชุมที่นั่น คนจะมองว่าเหมือนรู้กันอยู่แล้ว การเลือกสถานที่ผิดยิ่งทำให้เสียภาพลักษณ์เข้าไปอีก”

3 ทางออกแก้วิกฤตสงฆ์แตก

พระอาจารย์ดุษฎี ได้เสนอแนวทางในการแก้วิกฤตสงฆ์ 3 แนวทาง เพื่อยุติความวุ่นวายที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้

ทางออกที่ 1 คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เลือกใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ไขมาตรา 7 ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ปี 2535 โดยจะเป็นการดำเนินการผ่านฝ่ายรัฐบาลเอง หรือใช้อำนาจผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ตาม โดยให้กลับไปเป็นแบบเดิม เพื่อให้มหาเถรสมาคมเสนอชื่อขึ้นไป 2-3 รูปเพื่อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวินิจฉัย โดยเสนอพระผู้ใหญ่ที่มีสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ หากมีการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วัดราชบพิตร (ธรรมยุติกนิกาย) สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศน์ (ธรรมยุติกนิกาย) และสมเด็จธีรญาณมุนีวัดเทพศิรินทร์ (ธรรมยุติกนิกาย)

วิธีการนี้หากรัฐบาล คสช.นำมาแก้ไข จะไม่ทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

อย่างไรก็ดีการเสนอชื่อเพียงรูปเดี่ยวเช่นทุกวันนี้ โดยการเปลี่ยนแปลงมาตรา 7 ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ปี 2535 ซึ่งเสมือนเป็นการล็อกสเปก ว่าเมื่อสิ้นพระสังฆราชให้คัดเลือกและนำเสนอเพียงชื่อเดียว โดยเสนอผู้ที่อาวุโสโดยสมณศักดิ์สูงสุด จึงยิ่งทำให้วงการสงฆ์มีการวิ่งเต้นกันเกิดขึ้น และหากใครขึ้นเป็นสมเด็จเร็วก็มีโอกาสเป็นพระสังฆราช ไม่นับพรรษาสูง คุณธรรมความดีไม่สำคัญ ซึ่งในอดีตการเสนอชื่อพระสังฆราชจะเสนอไป 2-3 ชื่อเพื่อพระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“แต่การแก้กฎหมายนี้เป็นเหมือนการล็อกจนมีผลมาถึงการสถาปนาสมเด็จช่วง ที่กำลังเป็นปัญหาในขณะนี้”

สำหรับทางออกที่ 2 เป็นแนวทางของพระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นพระนักเผยแผ่ ได้เสนอทางออกที่น่าสนใจ คือ การปลดล็อกโดยสมเด็จช่วง เช่น ท่านออกมาปรามไม่ให้เกิดความขัดแย้ง หรือสละสิทธิ์การเป็นพระสังฆราช น่าจะเป็นทางออกที่ดีกับทุกฝ่าย

“สมเด็จช่วงเองก็ตกเป็นเครื่องมือเช่นกัน เพราะในความเป็นจริงท่านดี ไม่มีอะไร เพียงแต่สมเด็จช่วงใจดีใครว่าอย่างไรก็ตามนั้น จึงเปรียบเสมือนลูกน้องใช้อาจารย์เป็นเครื่องมือหากิน ถ้าอาจารย์เป็นชั้นผู้ใหญ่ จะทำให้ตนใหญ่ไปด้วยและสามารถเอาไว้หาประโยชน์ เรียกว่าคนแวดล้อมของท่านเป็นคนไม่ดีท่านเลยพลอยเดือดร้อนไปด้วย”

“ที่น่าสนใจและจะเกิดขึ้นตามมาหากสมเด็จช่วงได้ขึ้นเป็นพระสังฆราช จะส่งผลให้เรื่องอาบัติปาราชิกของพระธัมมชโยก็ถูกล้างไปในทันที เพราะฐานะของท่านเป็นพระสังฆราชก็สามารถพูดได้เช่นกันว่าไม่อาบัติปาราชิก การขึ้นเป็นพระสังฆราชของสมเด็จช่วงจึงมีความหมายต่อธรรมกายมาก”

ทางออกที่ 3 เป็นอีกประเด็นที่ต้องปรับเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน คือ การปฏิรูป พ.ร.บ. สงฆ์ โดยเฉพาะในเรื่องของศาลสงฆ์ ซึ่งในปัจจุบันไม่สามารถทำงานได้ทันต่อสถานการณ์จริง เจ้าคณะต่างๆ ที่ทำงานดูแลระดับจังหวัด ระดับอำเภอก็หนักมากแล้ว ยังต้องทำงานในด้านกฎหมายอีก หากจะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องศาลสงฆ์ เสนอว่าควรตั้งศาลชั้นต้นจังหวัดละศาลเดียวเท่านั้น และต้องได้องค์คณะที่เก่ง เช่นจบประโยค 9 รู้ภาษาบาลี แตกฉานเรื่องพระวินัย และแตกฉานเรื่องกระบวนการพิจารณาแบบทางโลก

ศาลชั้นต้นในจังหวัดมีเพียงศาลเดียว เพียงพอต่อจำนวนพระที่มีเพียงสองแสนรูป และการอาบัติไม่เกิดขึ้นทุกวันไม่เหมือนทางโลก จำนวนคดีต่อปีไม่มาก ส่วนศาลอุทธรณ์มีหน (ทิศ) ละหนึ่งศาลเท่านั้น โดยการฎีกาจึงค่อยมาที่กรุงเทพฯ ลักษณะนี้ศาลจะจบที่อุทธรณ์ทั้งหมด เพราะกรณีพระที่ดื่มเหล้า ปาราชิก โกงเงิน หลักฐานการทำผิดนั้นชัดเจน ตัดสินไม่ยาก

ปฏิรูปศาสนาเรียกศรัทธาชาวพุทธ

พระอาจารย์ดุษฎี ย้ำว่า การปฏิรูป พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เป็นทางแก้ปัญหาวิกฤตศรัทธาของชาวพุทธที่มีต่อพระสงฆ์ไทยได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะกฎหมายตรวจสอบเงินวัด ที่ปัจจุบันมีการสั่งจ่ายเงินของวัดอยู่ในมือของเจ้าอาวาสคนเดียว และหากว่าเจ้าอาวาสกับไวยาวัจกรรู้กัน จะไม่สามารถตรวจสอบอะไรได้

ขณะเดียวกันด้านพระสงฆ์ก็ต้องยึดพระธรรมวินัย ไม่ให้ความสำคัญที่สมณศักดิ์เท่านั้น ให้ดูที่วัตรปฏิบัติหรืออย่างน้อยดูที่พรรษาก็ได้ ถ้าวัตรปฏิบัติดีเท่ากันให้ดูพรรษา ซึ่งเป็นพุทธบัญญัติ และพระสงฆ์บวชทีหลังต้องกราบพระสงฆ์ที่บวชก่อน พระสงฆ์ที่บวชก่อนก็ต้องทำตัวให้น่าเคารพ มีหลักการปกครองอยู่แล้ว แต่พอไปยึดที่สมณศักดิ์ก็เหมือนแย่งกันเป็นนายพล เหยียบหัวเพื่อนขึ้นไป ซึ่งการเอาตำแหน่ง เอายศมาเป็นตัวแบ่งคน วันนี้พอพระหนุ่มขึ้นเป็นชั้นพรหม พระที่มีคุณธรรมสูงกว่า อายุมากกกว่า พรรษามากกว่า ความรู้ก็ดีกว่าก็ต้องกราบพระหนุ่ม

“สมณศักดิ์เป็นปัญหาและควรยกเลิก สมณศักดิ์ของพระก็เหมือนตำแหน่งพระยาในทางโลก ทางฝ่ายบ้านเมืองยกเลิกฐานันดรศักดิ์ไปนานแล้ว เหลือแต่ทางคณะสงฆ์ที่ยังเป็นศักดินาตกค้างอยู่ ยังมีเจ้าคุณอยู่ ถึงจะยกเลิกไปตามแบบทางโลก ตำแหน่งพระมหาเปรียญธรรมก็ยังมีอยู่ได้เพราะเป็นความรู้ของท่านเหมือนเป็น ดร.



แต่สมณศักดิ์ทำให้พระวิ่งเต้นเพราะเป็นเรื่องของยศ ตำแหน่งเช่นเจ้าคณะตำบล อำเภอ จังหวัด ซึ่งก็คืออำนาจ หากจะไม่ยกเลิกก็ต้องคัดเลือกคนที่มีความรู้เหมาะสม เปรียบเสมือนถ้าไม่มีความรู้แล้วได้เป็นศาสตราจารย์ก็ไม่ถูกต้อง คนก็จะดูถูกเอาได้ เหมือนไปทำลายคุณค่าของสมณศักดิ์

ส่วนฆราวาสที่เป็นอุบาสก อุบาสิกา ต้องศึกษาพระธรรมวินัย ว่าพระทำอะไรได้ ไม่ได้ อะไรผิด จะได้คุมพระไม่ให้หลงทางตามพระ พระก็จะไม่ทำนอกลู่นอกทาง สอนผิดไม่ได้ เพราะฆราวาสรู้ทันว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนี้ และถ้าโยมรักษาศีลห้าได้จริงจะศักดิ์สิทธิ์กว่าพระ พระก็ต้องเริ่มปรับปรุงตัว เพราะโยมดีกว่าพระ ถ้าปฏิบัติธรรมพระต้องสอนต้องนำโยมก็ต้องดีกว่า พระไม่จำเป็นต้องมีจำนวนมากแต่ต้องเป็นพระดี มีปัญญาจริง มีคนศรัทธาจริงจะดีกว่า” พระอาจารย์ดุษฎีกล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น