จุฬาฯ ยืนยันวิกฤตภัยแล้งที่เกิดซ้ำซาก ส่งผลให้เกิดวิกฤตน้ำท่วม โดยเฉพาะความเสี่ยงที่ กทม. “จมน้ำ” ในทางวิชาการทั้งของจุฬาฯ-องค์กรระดับโลก UNFCCC เกิดได้จริง! จึงไม่ใช่เรื่องขำกลิ้งอีกต่อไป พร้อมเสนอแนวทางป้องกันไว้ 3 ทางเลือก และหากใน 10 ปีไม่มีการจัดการ เตือนประชาชนรีบป้องกันตัวเอง ดีดหรือยกบ้านให้สูงขึ้นกว่า 60 เซนติเมตร พร้อมประเมิณค่าเสียหายกว่า 2 ล้านล้านบาท
วิกฤตน้ำที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ใช่มีแต่เฉพาะเรื่องภัยแล้งที่กำลังส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรอย่างหนัก โดยเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกข้าวต่างได้รับความเสียหายมหาศาลซึ่งเป็นผลมาจากการขาดแคลนน้ำที่จะใช้ในการเพาะปลูก และหากปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขก็อาจส่งผลกระทบมาถึงน้ำกินน้ำใช้ในครัวเรือนของสังคมเมืองเช่นกัน
ขณะเดียวกันยังมีปัญหาน้ำที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง หรืออาจไม่เชื่อว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย บริเวณพื้นที่ กทม.และพื้นที่ชายฝั่งยาวไปจนถึงสัตหีบ ซึ่งมีข้อมูลหลักฐานทางวิชาการยืนยันว่า พื้นที่เหล่านี้มีสิทธิ “จม” อยู่ใต้น้ำ
โดยจากข้อมูลทางวิชาการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการศึกษารวมทั้งข้อมูลจากองค์กรระดับโลก UNFCCC (United Nations Framework Convention on Climate Change) ชี้ให้เห็นว่าพื้นที่เหล่านี้พร้อมจะจมน้ำภายใน 15-20 ปี หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดีพอ
วันนี้ถึงเวลาแล้วที่สังคมต้องตระหนัก และอาจมีทางเลือกให้ประชาชนเพียงแค่ 2 ทางเลือก คือ สนับสนุนให้รัฐแก้ปัญหาตามแนวทางการศึกษาของบรรดานักวิชาการ หรือไม่ก็ต้องเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องงบประมาณ และใจ เพื่อดีดหรือยกบ้านขึ้นสูงก่อนที่วิกฤตจะมาเยือน
วิกฤตภัยแล้งตัวฉุด กทม. จมน้ำ?
รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการการเตรียมการเพื่อรับมือวิกฤตการณ์ "กรุงเทพฯ จม" สภาปฏิรูปแห่งชาติ บอกกับ Special Scoop ว่า วันนี้เรากำลังเผชิญภัยแล้ง และปัญหาทั้งน้ำแล้งกับน้ำท่วม ถือว่าเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงถึงกัน เพราะเมื่อน้ำแล้งก็มีการขุดน้ำบาดาล ทำให้เกิดปัญหาแผ่นดินทรุด และเป็นปัจจัยใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาน้ำท่วม ซึ่งปริมาณน้ำที่มีจำกัด จึงต้องมีการปรับตัวต้องปรับทั้งโครงสร้าง เพื่อแก้ปัญหาในวันนี้และในอนาคต
ทั้งนี้จากการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการการเตรียมการเพื่อรับมือวิกฤตการณ์กรุงเทพจม สภาปฏิรูปแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ที่ผ่านมานั้น ระบุว่า 3 ประเด็นที่ต้องติดตาม ประเด็นแรก คือ แนวโน้มปรากฏการณ์เอลนิโญ จะยังคงมีอยู่จนถึงต้นฤดูฝนในเดือนพฤษภาคมปี 2559 ทำให้แนวโน้มปริมาณน้ำฝนน้อยลงจึงมีความเสี่ยงสูงต่อการขาดแคลนน้ำ
ประเด็นที่สอง คือ ปริมาณน้ำในเขื่อนของภาคกลางเหลือเพียง 4,200 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นระดับที่น่าวิตก
ดังนั้นเมื่อ 2 สถานการณ์ คือ แนวโน้มปรากฏการณ์เอลนิโญรวมกันกับปริมาณน้ำในเขื่อนที่เหลือน้อย จึงทำให้ปริมาณน้ำจะกลับมาสู่ภาวะปกติต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อยที่สุดประมาณ 2-3 ปี ส่งผลกระทบต่อการเผชิญภาวะภัยแล้งของภาคกลางจึงต้องมีการใช้น้ำอย่างระมัดระวัง และจะต้องรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดถึง 2-3 ปี
ประเด็นที่สาม คือ การใช้น้ำในภาคเกษตรซึ่งมีอัตราสูงถึง 70% และถ้าสามารถประหยัดการใช้น้ำภาคเกษตร หรือใช้วิธีการปรับโครงสร้างการเกษตร ให้มีการปลูกพืชอื่นนอกจากข้าวได้ก็จะสามารถลดปริมาณการใช้น้ำ และทำให้มีน้ำสำรองใช้ในช่วงที่เกิดภัยแล้ง รวมทั้งเพื่อรองรับการเติบโตของเมืองในอนาคตได้
“เกษตรทันสมัย” ทางรอดเมื่อเผชิญภัยแล้ง
รัฐบาลจึงต้องมีการจัดการให้ภาคการเกษตรมีการปรับตัว ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เพื่อให้โครงสร้างการใช้น้ำภาคเกษตรลดลง นับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเริ่มมีการปรับตัวแล้ว และจากการศึกษาวิจัยถึงทางออกของการแก้ปัญหา คือแนวทาง “เกษตรทันสมัย” ที่มีการสร้างระบบครอบคุลม ทั้งในแง่พันธุ์พืช และระบบการจัดแปลง รวมไปถึงการมีเซ็นเซอร์ตรวจความชื้น ที่จะสามารถให้น้ำในจังหวะที่ถูกต้อง และพอสมควร ทำให้ได้ผลผลิตที่ดี โดยไม่ต้องใช้น้ำมากเกินความจำเป็น
ปัจจุบันนี้มีการปรับตัวในระยะสั้น โดยกระทรวงเกษตรนำร่อง เรื่องการส่งเสริมให้ปลูกพืชอื่นไปบ้างแล้ว แต่ในระยะยาว ควรต้องมีการศึกษาวิจัยว่าวิธีการทำเกษตรทันสมัย ทำอะไรได้บ้าง ควรลงทุนส่วนไหนอย่างไร เช่น ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เกษตรกรสามารถรู้ราคาพืชผลล่วงหน้าทั่วโลก และรู้การพยากรณ์อากาศว่าจะมีฝนตกตอนไหน สามารถวางแผนไปปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพน้ำในแต่ละช่วงเวลา อาจใช้การเลือกแบ่งแปลงปลูก หรือวางแผนให้มีตลาดในแต่ละจังหวัด เพื่อขายในพื้นที่ ขณะที่ท้องถิ่น เช่น เทศบาลเองก็สามารถช่วยรณรงค์ในเรื่องการท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวมาซื้อผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างในแต่ละพื้นที่
ทั้งนี้ผลลัพธ์จากการบริหารแบบเกษตรทันสมัยนั้น จะสามารถจำหน่ายพืชผลได้ราคาที่ดี และทุกคนไม่ต้องปลูกข้าวเหมือนกันหมด เพราะปัจจุบันข้าวราคาถูกของไทย ที่แห่กันปลูกไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเวียดนามหรือพม่าได้ จึงต้องเปลี่ยนมาปลูกข้าวที่เจาะตลาดระดับบน ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำผลผลิตมาก สามารถแบ่งพื้นที่ไปปลูกพืชอื่นร่วมกันได้
หากเกษตรกรหันมาทำการเพราะปลูกตามแนวเกษตรทันสมัย ก็จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ และไม่ต้องมีการขุดน้ำบาดาลเพื่อนำมาใช้อุปโภค บริโภคมากขึ้นด้วย ซึ่งจะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะไม่ทำให้เกิดปัญหาแผ่นดินทรุด และจะไม่เป็นการซ้ำเติมพื้นที่ กทม.ที่วันนี้มีโอกาสเกิดวิกฤต “จมน้ำ” จากหลายปัจจัยเสี่ยงอยู่แล้ว
หลักฐานทางวิชาการชี้ชัดกทม.จมน้ำ
รศ.ดร.สุจริต กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ยังหยิบยกเรื่องแนวโน้มและสถานการณ์กรุงแทพฯ จมน้ำ ขึ้นมาวิเคราะห์ โดยนำข้อมูลผลจากการศึกษามาตรวจสอบข้อเท็จจริงและแนวโน้มเพื่อกำหนดมาตรการ พบว่าสาเหตุกรุงเทพฯ จมหรือไม่จมนั้นมี 2 สาเหตุ คือ “น้ำทะเลจะหนุนสูงขึ้น” และ “แผ่นดินทรุด” ซึ่งประเทศไทยเองก็ประสบภาวะน้ำท่วมอยู่แล้ว ยิ่งทำให้เหตุการณ์รุนแรงขึ้น
เห็นได้จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ที่คันกั้นแม่น้ำเจ้าพระยามีความสูงที่ 2.5 เมตร และน้ำในเวลานั้นมีระดับสูงถึง 2.4 เมตร ซึ่งเหลือเพียง 10 ซม. น้ำจะทะลักเข้าท่วมกรุงเทพฯ และหลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ จึงได้มีการป้องกันโดยการเสริมคันกั้นน้ำในปัจจุบันให้สูงขึ้นถึง 3 เมตร โดยประเมินว่าถ้าระดับน้ำหนุนเพิ่มขึ้นเท่ากับปี 2554 ก็จะยังเหลืออีก 60 ซม. แต่นั่นต้องไม่มีปัจจัยเรื่องแผ่นดินทรุด หรือระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเกินกว่านั้น
สำหรับปัญหาเรื่องแผ่นดินทรุด ซึ่งจากสถิติในอดีตที่กรุงเทพฯ มีการทรุดตัวของดินสูงถึงปีละ 10 ซม. แต่ด้วยปัจจุบันนี้มีมาตรการป้องกัน โดยห้ามเจาะน้ำบาดาล ก็ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งการสำรวจล่าสุดในปี 2557 พบว่า โดยเฉลี่ยทรุดเหลือปีละ 1 ซม.เท่านั้น และมีบางพื้นที่ที่ทรุดประมาณ 2 ซม. คือ เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ จังหวัดสมุทรปราการ และสมุทรสาคร ซึ่งมีการวิตกกันในระยะยาวจากนี้ไป ถ้าตามสถิติดินทรุด 2 ซม./ ปี ในอีก 10 ปีข้างหน้าคือ 20 ซม. และอีก 20 ปีดินก็จะทรุดถึง 40 ซม.
“ในข้อเท็จจริงนั้นอัตราการทรุดไม่ได้ต่อเนื่องเสมอไป มีโอกาสที่จะนิ่ง ไม่ทรุดลงไปมากกว่านั้นเช่นกัน ซึ่งถ้าแนวโน้มดีขึ้น ก็มีโอกาสที่การทรุดตัวจะหยุดที่จุดใดจุดหนึ่ง รวมทั้งมาตรการควบคุมการใช้น้ำบาดาลที่ดำเนินการอยู่ในวันนี้น่าจะทำให้อัตราลดน้อยลงด้วย”
สาเหตุเรื่องน้ำทะเลหนุนตัวสูงขึ้นนั้น เป็นที่ถกเถียงหาข้อเท็จจริงกันอยู่มาก ว่าสูงขึ้นเท่าไร ซึ่งมีการศึกษาในภาคสำรวจด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ดาวเทียม แต่การศึกษาในตอนต้น ข้อมูลนั้นยังไม่ตรงเนื่องจากมีปัจจัยการทรุดตัวมาทำให้หมุดที่ใช้วัดทรุดลงไปด้วย ผลที่ได้จึงเหมือนระดับน้ำทะเลสูงมากกว่าที่เป็นจริง
ทั้งจากการศึกษาของ UNFCCC แสดงให้เห็นถึงอัตราการหนุนของระดับน้ำทะเลในอนาคต ในปี 2100 พบว่าอัตรานั้นขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ปัจจุบันประชาคมโลกเน้นการลดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพราะการปล่อยก๊าซมาก ทำให้โลกอุ่น น้ำทะเลก็อุ่นและบวมขึ้น ยังมีปัจจัยเรื่องน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ละลาย
ดังนั้น ในระดับโลกจึงต้องกำหนดว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นต้องควบคุมให้อยู่ที่ประมาณ 2 องศา ซึ่งจะทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นมาอีกโดยเฉลี่ย 52 ซม. แต่ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้น 4 องศา จะขึ้นถึง 73 ซม. อัตรา 4 มม. ที่กล่าวมาตอนต้นจากการวิจัย เป็นสถิติช่วงเริ่มต้นที่ทะเลยังไม่อุ่นมาก
แต่จากนี้ไปถ้าอุ่นขึ้นเรื่อยๆ สรุปได้ว่าจะสูงถึง 52-73 ซม. ใน 100 ปีข้างหน้า คิดที่ 50 ปีคือ 25 - 40 ซม. ถ้าไม่มีการควบคุมภาวะโลกร้อน จะเกิดวิกฤตอย่างแน่นอน คำนวณจากแผ่นดินทรุดและระดับน้ำทะเล จะเป็นระดับ 1.20 เมตรในอีกเพียง 50 ปี
โดยเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ทางเวิลด์แบงก์ (World bank) ได้มีการแจ้งเตือนเรื่องภาวะน้ำท่วมไปยังหลายประเทศ เช่นที่มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม รวมทั้ง เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งแจ้งให้ระมัดระวัง และมีกระแสจากหลายภาคที่มีการศึกษามาตั้งแต่ระยะนั้น ต่างให้ความเห็นถึงแนวโน้มว่ากรุงเทพฯ จะจม ไปจนถึงแนวความคิดว่าจะต้องย้ายเมืองหลวงหรือไม่
จุฬาฯ ศึกษาสถิติน้ำทะเลหนุน
ทั้งนี้ใน 3- 4 ปีที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการศึกษาน้ำทะเลหนุนให้เที่ยงตรงขึ้น และได้ผลว่าสูงขึ้นประมาณ 4 มม.ต่อปี และเมื่อประเมินจากอัตราส่วนนี้ ในระยะยาวพบว่า อีก 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 4 ซม. และ 20 ปีจะเพิ่มเป็น 8 ซม. และมีอัตราสูงสุดที่มีโอกาสเสี่ยงที่น้ำทะเลจะหนุนเพิ่มขึ้นถึง 48 ซม.
ซึ่งเมื่อนับรวมกับอัตราการทรุดตัว และสถิติน้ำทะเลนหนุน อาจมองว่าการตั้งคันป้องกันน้ำที่คิดเทียบกับปี 2554 ยังเหลือที่ 60 ซม. น่าจะรับมือได้
แต่ในความเป็นจริงนั้น ต้องดูปัจจัยทางด้านอื่นๆ อีกว่า จากนี้ไป 20 ปีจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง สิ่งที่เห็นในวันนี้คือ จะมีรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดินเกิดขึ้นมากมาย เมืองก็จะเกิดขึ้นมากด้วยตามที่ภาครัฐเน้นในนโยบายอุตสาหกรรม ทำให้ต้องศึกษาเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น น้ำดิบจะมีเพียงพอใช้หรือไม่ ซึ่งจากข้อมูลของการประปา วันนี้ มีเพียงพอที่ 5 ปีเท่านั้น ตามแผน เกินกว่านั้นต้องศึกษาเพิ่มเติม ถ้าน้ำประปาไม่เพียงพอ จะทำให้กลับมาขุดน้ำบาดาลอีกครั้ง ซึ่งจะเกิดภาวะแผ่นดินทรุดอีกอย่างแน่นอน ทำให้มีตัวแปรเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามการศึกษาตัวเลขแผ่นดินทรุดและน้ำทะเลหนุนนั้น ต้องทำทุกๆ 3-5 ปี เพื่อการอัปเดตข้อมูล เพราะสถิติอาจมีโอกาสสูงขึ้น เพราะปัจจุบันตัวเลขใช้การอ้างอิงจากต่างประเทศด้วย ซึ่งอาจไม่ตรงกัน 100% จะทำจริงต้องศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม
เปิดโซนเสี่ยงจมน้ำของ กทม.
รศ.ดร.สุจริต ย้ำว่า จากข้อมูลที่ทำการศึกษาทั้งหมด มีการนำมาวิเคราะห์พบว่า ภายใน 10 ปีของกรุงเทพฯ พื้นที่มีความเสี่ยงจะจมน้ำนั้น เป็นแนวที่ติดทะเลทั้งหมด นั่นเพราะเจอกับสภาพน้ำทะเลจะหนุนขึ้นมาจากทางภาคใต้และโซนในพื้นที่ตะวันออก เช่นบริเวณเขตบางขุนเทียน ตั้งแต่ถนนพระราม 2 ลงไป โซนตะวันออกคือตั้งแต่ถนนสุขุมวิทลงไป หนองงูเห่า จังหวัดสมุทรปรการ ที่มีพื้นที่ต่ำบางจุดที่น้ำทะเลหนุนกินลึกเข้ามาอยู่แล้ว
ในการป้องกันและแก้ไขตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ ได้เสนอทางเลือก 3 ทาง ประกอบด้วย 1. เสริมคันกันน้ำเจ้าพระยาขึ้นมาอีกจาก 3 เมตร เป็น 5 เมตร วิธีการนี้มีข้อดีคือทำง่าย งบประมาณไม่สูง (ประมาณหมื่นล้านบาท) แต่มีข้อเสียทางด้านทัศนียภาพไม่สวยงาม จะมองไม่เห็นแม่น้ำเจ้าพระยา และในระยะยาวยังมีโอกาสทรุดที่ต้องเสริมอีกทุก 10 ปี และยังต้องมีการปรับปรุงซ่อมแซมต่อเนื่อง
ทางออกที่ 2 คือ ปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยาไปเลย เหมือนที่เวนิส หรือแม่น้ำเทมส์ ในประเทศอังกฤษ เพื่อป้องกันเวลาน้ำขึ้นสูง น้ำจะไม่เข้า ข้อเสียคือ จะเกิดปัญหาน้ำเสีย และการคมนาคมทางเรือลำบาก ซึ่งจะเกิดปัญหาสังคมเรื่องการประท้วงคัดค้านตามมา
สำหรับทางออกที่ 3 คือ ปิดปากอ่าวไทย ตั้งแต่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตลอดแนว ไปจนถึงอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งจากการประเมินงบประมาณการก่อสร้างอยู่ที่ประมาณแสนล้านบาท และวิธีการนี้มีข้อดีคือ จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง เพราะลดกระแสคลื่นได้ ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ถาวรที่สุด
แต่มีข้อเสียคือ เมื่อเปรียบเทียบกันใน 3ทางเลือกแล้ว ใช้เวลาก่อสร้างนานมากที่สุด และมีค่าใช้จ่ายสูงสุด และส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมสูงเช่นกัน
รัฐจะต้องเร่งดำเนินการในเชิงนโยบาย
รศ.ดร.สุจริต ระบุว่า รัฐควรจะมีแนวทางในการจัดการปัญหาให้ชัดเจน เพราะหากปล่อยไม่มีการแก้ไข ในขณะที่เมืองก็มีการพัฒนา มีการขยายตัวของผังเมือง จึงมีโครงการเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนของภาครัฐในเรื่องการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้า 10 สาย ยังมีโครงการลงทุน อาคารขนาดใหญ่ของภาคเอกชนมากมาย การประปาทั้งของการประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาค ก็จัดทำแผนการใช้น้ำแค่ 5 ปี ซึ่งในความเป็นจริง ต้องมีหน่วยงานดูแลชัดเจน
“ถ้าไม่มีการแก้ไข หรือทำอะไรเลย 10 ปีจากนี้ไป คาดว่าความเสียหายถึง 2 ล้านล้านบาท และจะมีความเสี่ยงจากแนวคันกั้นน้ำที่เราเหลือเพียง 60 ซม.แน่นอน จากทั้งเรื่องน้ำทะเลหนุน เรื่องพื้นดินทรุด จากปัญหาการใช้น้ำบาดาล และแรงกดทับจากการก่อสร้างต่างๆ ซึ่งมีการหารือกับประปาทั้งสองแห่งเบื้องต้นจะไปจัดการเตรียมแผนรองรับการใช้น้ำจาก 5 ปีเป็น 20 ปี”
นับจากวันนี้ไปรัฐบาลยังมีเวลาในการเตรียมตัว ถ้าต้องการให้กรุงเทพฯ เป็น Greater Bangkok หรือเมืองสมัยใหม่นั้น น่าจะใช้โอกาสนี้ในการจัดผังเมืองให้เป็นพื้นที่ทันสมัย และสวยงามไปด้วย จึงต้องหาคนมาดูแลเรื่องนี้ เพราะปัจจุบันมีการกระจายอำนาจ ทำให้ไม่มีหน่วยที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ดำเนินการได้ในทุกพื้นที่ เช่น กทม. ไม่มีอำนาจในเขตนนทบุรี และปทุมธานี ซึ่งมีข้อจำกัดเพราะมีหมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในบริเวณนนทบุรี ทำให้เกิดข้อจำกัดในการขยายคูคลอง
เพราะน้ำที่ท่วมเป็นเพราะปัญหาที่แคบ การแก้ปัญหาน้ำต้องมีทางระบายน้ำ พื้นที่แก้มลิง หากไม่มีการจัดผังเมือง จะไม่สามารถทำได้ แต่การจัดผังเมืองในปัจจุบันเป็นผังเมืองจังหวัด ไม่มีงานภูมิภาค จึงต้องเพิ่มเติมรวมทั้ง 7 จังหวัดไปพร้อมๆ กัน คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา สมุทรสงคราม และนครปฐม
วันนี้จึงได้เสนอตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ที่จะแก้ปัญหาทั้งเรื่องแผ่นดินทรุด น้ำทะเลหนุนสูง ไปจนถึงการจัดผังเมือง โดยสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ชุดที่ผ่านมา ได้ส่งมอบแผนให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปแล้ว และรัฐบาลได้ส่งไปที่สภาขับเคลื่อนปฎิรูปประเทศ (สปท.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
“เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาดำเนินการ โดยกำหนดให้ใช้เวลา 10 ปี แบ่งเป็น 5 ปีศึกษา อีก 5 ปีออกแบบและก่อสร้างก็จะสามารถบริหารจัดการได้ หากไม่ทำอะไรภายใน 10 ปีนี้จะเริ่มอยู่ในภาวะอันตราย ถ้ามีปัญหาน้ำท่วมแบบปี 2554 ก็จะเสียหายทั้งหมด”
ดังนั้นเชื่อว่ารัฐบาลต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เห็นด้วยกับหลักการนี้แล้ว และส่งต่อให้สภาขับเคลื่อนฯ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลา 20 ปีในการดำเนินการ คือไม่ได้หยุดนิ่ง แบ่งเป็น 5 ปีแรก คือ การเตรียมข้อมูล ศึกษาถึงรายละเอียด และแนวทางเพื่อป้องกันสาเหตุไม่ให้เกิดขึ้น
รวมถึงติดตามถึงผลกระทบของทางออกที่ 1, 2 ,3 ที่ทางจุฬาฯ ศึกษา ประกอบกับหน่วยงานวิชาการต่างๆ มาร่วมเสนอทางออกกัน พร้อมๆ กับการเตรียมคน และทำความเข้าใจโดยใช้งานวิชาการและงานชุมชน เพราะหากไม่มีการทำความเข้าใจแต่แรกจะมีการต่อต้านทำให้ไม่สามารถเดินหน้าได้ และในอีก 5 ปีถัดไป คือ การออกแบบและก่อสร้าง และอีก 10 ปีนั้นจะเป็นการบริหารจัดการส่วนที่เหลือทั้งหมด
กรณีศึกษาจากต่างชาติ
ศ.ดร.สุจริต บอกว่า การที่รัฐจะดำเนินการอะไรที่กระทบคนจำนวนมาก จะต้องฟังเสียงจากชุมชน ซึ่งการทำแผนของคณะกรรมการนั้น เป็นการเสนอทางออกและเป็นทางเลือก แต่จะลงมือทำอะไรก็ตามจะต้องมีชุมชนเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพราะท้ายที่สุดต้องเป็นการศึกษาร่วมกัน เช่นหากชุมชนตัดสินใจขอทำแค่คันกั้นน้ำ ก็ต้องชี้แจงให้ชุมชนเข้าใจด้วยว่า ถ้าทำแค่คันกั้นน้ำ จะเป็นการแก้ที่ไม่ถาวร ซึ่งต้องยอมรับด้วยว่าอีก 5 ปีจะต้องมีการซ่อมแซมแน่นอน
กรณีศึกษาเช่นที่ฟุกุชิมา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเกิดสึนามิ คันกั้นน้ำบริเวณนั้นสูงถึง 20 เมตรแล้ว แต่คลื่นมาที่ 40 เมตร ทำให้กันน้ำไม่ได้ หลังเกิดเหตุการณ์ภาครัฐเสนอให้ทำคันขึ้นไปถึง 40 เมตร แต่ชุมชนไม่ยอมรับ เพราะจะไม่เห็นทะเล จึงขอให้คงระดับไว้ที่เดิมคือ 20 เมตร แต่ขอให้รัฐมีระบบการเตือนภัยในอนาคต เพื่อจะได้อพยพทัน
วิธีคิดที่แตกต่างกันของชาวชุมชนเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา เพราะชุมชนประเมินว่าสึนามิไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ในที่สุดภาครัฐก็ต้องปรับที่ระดับคันกั้นน้ำเท่าเดิม โดยหากน้ำล้นกว่าที่สร้างไว้คันจะชำรุด เสียหาย จึงมีการเตรียมตึกสูงไว้สำหรับผู้สูงอายุหลบภัย
ในขณะที่คนหนุ่มสาวให้หนีขึ้นเขาถ้าเกิดเหตุการณ์ หรือตัวอย่างที่จาการ์ตา อินโดนีเซีย ซึ่งเกิดน้ำท่วม และมีแนวคิดย้ายชุมชนออกไป แต่ชุมชนไม่ยอมย้ายออกไปถาวร ยอมที่จะอพยพไปที่อื่น ประมาณ 1-2 เดือน และกลับมาทำมาหากินที่ภูมิลำเนาเดิม จึงเป็นการยอมรับร่วมกัน
ซึ่งแนวคิดที่เสนอเป็นในเชิงวิศวกรรม ในแนวทางป้องกัน แต่ในฐานะคณะกรรมการฯ ต้องยินดีรับฟังความเห็นจากชุมชน ดังนั้นการเสนอ 3 ทางเลือกนี้ หากได้ร่วมศึกษาปัญหากับชุมชน อาจจะมีทางเลือกที่ 4,5 หรือ 6 ก็เป็นได้ การแก้ปัญหาต้องใช้ความรู้ทางวิชาการ และการยอมรับจากชุมชนร่วมกันไม่ใช่การดึงดันจะเอาแต่ฝั่งเดียว เพราะทางออกท้ายสุดต้องออกมาในเชิงสังคม
รณรงค์ให้ประชาชนลดโลกร้อนช่วยลดปัญหา
ศ.ดร.สุจริต บอกอีกว่า ระหว่างที่โครงการปัองกัน กทม.จมน้ำ อยู่ในขั้นตอนการศึกษานั้น หน่วยงานของรัฐในวันนี้ ได้เข้าใจในปัญหาและร่วมมือป้องกันเบื้องต้น เช่น กทม. ก็ได้เริ่มดำเนินการบางส่วน มีการป้องกันโซนบางขุนเทียน ที่มีการเว้นพื้นที่ไว้ 1 กม. ไม่ให้มีสิ่งก่อสร้าง เผื่อไว้กรณีที่มีน้ำรุกเข้ามาก็จะได้กันไว้ได้เบื้องต้น และมีการทยอยยกถนน โดยเริ่มจากถนนชนบท หรือสายเล็กๆ ยกเป็นช่วงๆ เพื่อแก้ปัญหาไปก่อน
ขณะที่หน่วยราชการที่มีหน้าที่ เช่น กรมทรัพยากรน้ำบาดาลต้องติดตามเรื่องการทรุดตัว และใน 3 โซนที่ยังมีการทรุดหนัก ต้องไปกำกับให้มีการใช้น้ำบาดาลน้อยลงเพื่อลดการทรุด การประปาทั้งนครหลวงและภูมิภาค ก็ได้ปรับแผนใช้น้ำจาก 5 ปีเป็น 20 ปี เพื่อรองรับอัตราการขยายตัวของชุมชนและภาคอุตสาหกรรม ทำให้ต้องเตรียมตัวเรื่องการเตรียมน้ำดิบ โดยวางแผนร่วมกับกรมชลประทาน เนื่องจากถ้าน้ำไม่เพียงพอก็จะทำให้โรงงานหันไปใช้น้ำบาดาลอีก
ส่วนการเตรียมการล่วงหน้า เรื่องการวางผังเมืองต้องให้แต่ละจังหวัดวางแผนร่วมกัน ทำเป็นผังร่วมกันไปพร้อมกับการเติบโตของรถไฟใต้ดิน และการขยายตัวของอุตสาหกรรมตามนโยบายรัฐบาล เพื่อให้ไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง เพื่อความเป็นเมืองที่น่าอยู่
นอกจากนี้ยังมีเรื่องสำคัญคือ พ.ร.บ. น้ำที่จะเข้า สปท. เพราะที่ผ่านมาเรื่องน้ำมีจุดอ่อนที่สำคัญที่สุด คือไม่มีกฏหมาย การตกลงใดๆ จึงกลายเป็นข้อตกลงเชิงบริหารเข้า ครม. พอมีการเปลี่ยนแปลงใน ครม. เรื่องก็จะเปลี่ยน จึงได้เสนอให้มี พ.ร.บ. น้ำเพื่อเป็นแผนแม่บท ในการดูแลให้เกิดความชัดเจน
“ทุกวันนี้เราวางแผนทุกๆ 4 ปีคือตามรัฐบาล พอรัฐบาลเปลี่ยนก็เป็นเรื่องใหม่อีก จึงไม่มีอะไรที่ยั่งยืน และแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวกับน้ำก็มีกฎหมายของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่กระทรวงเดียว แต่เมื่อมี พ.ร.บ.น้ำก็จะทำให้การบริหารคล่องตัวขึ้น เพราะมีอำนาจจริงในการดูแลซึ่งมีการสนอนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการฯ และถ้ามีกฏหมายได้ก็ถือว่าเริ่มมีโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการน้ำซึ่งต้องใช้เวลา 10-20 ปี”
สำหรับภาคประชาชนโดยเฉพาะภาคเมือง ต้องปรับวิถีชีวิตเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น เช่นการใช้น้ำอย่างประหยัด การไม่เพิ่มของเสีย ไม่เพิ่มก๊าซ เพื่อลดสภาวะโลกร้อน เป็นต้น และน้ำอุปโภคและบริโภคที่ใช้ในกรุงเทพฯ นั้น ใช้น้ำจากเขื่อนเป็นหลัก และในอนาคตการสร้างเขื่อนเป็นเรื่องที่ยาก และประเทศไทยยังมีน้ำ ที่สำคัญคือน้ำในหน้าฝน ดังนั้นทุกจังหวัดควรมีแหล่งสำรองเก็บน้ำฝนไว้ใช้ ไม่ทิ้งลงทะเลทั้งหมด เช่นเดียวกับบึงพระราม 9 ซึ่งมีพื้นที่แหล่งน้ำสำรองกักเก็บน้ำในหน้าฝนไว้ใช้ในจังหวัดของตนเองได้ในกรณีที่มีน้ำไม่เพียงพอ ก็สามารถนำมาช่วยเสริม ไม่ใช่การรอพึ่งจากน้ำในเขื่อนเพียงอย่างเดียว รวมทั้งจะได้ไม่ต้องหันไปใช้น้ำบาดาลกันอีก
รศ.ดร.สุจริต ระบุว่า หากไม่มีการดำเนินการใดๆ จากภาครัฐ หรือภาครัฐดำเนินการแต่มีเสียงคัดค้านจากภาคประชาชน หรือองค์กร NGO ต่างๆ จนทำให้โครงการที่รัฐตั้งใจจะทำไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ก็คงเหลือเพียงให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต้องเลือกที่จะป้องกันบ้านและทรัพย์สินของตัวเอง ด้วยการดีดหรือยกบ้านให้สูงขึ้นมาเกินกว่า 60 ซม. ซึ่งมีความเสี่ยงจากนี้ไปอีก 10 ปี หรือถ้าหน่วยงานรัฐมีการยกถนนสูงขึ้นไปอีก เราก็ต้องยกถนนสูงขึ้นไปกว่าที่ยกในครั้งแรกอีกเช่นกัน
“ภายใน 20 ปีข้างหน้าก็อาจจะมีปัญหาเรื่องของถนนที่ถมสูงขึ้นเกินกว่านั้น ทำให้ต้องยกบ้านขึ้นไปอีก จึงไม่ใช่ทางแก้ที่ถาวร และค่าใช้จ่ายรวมกันอาจมหาศาลกว่าการลงทุนของรัฐเสียอีก ซึ่งถ้าภาครัฐและครัวเรือนไม่มีการเดินหน้าที่เป็นรูปธรรม ได้มีการประเมินมาแล้วว่าถ้ากรุงเทพฯ จม มูลค่าความเสียหายของเมืองจะถึง 2 ล้านล้านบาท รวมทั้งผลกระทบเรื่องน้ำเค็มเข้าพื้นที่ ทำให้น้ำประปามีปัญหาตามมาอีกเช่นกัน”
รศ.ดร.สุจริต ย้ำว่า อยากให้ประชาชนได้ติดตามข้อมูล ข้อเท็จจริงในเชิงวิชาการ เช่นบ้านเราอยู่บริเวณใดก็ต้องติดตามข้อมูลสภาพที่ใกล้เคียงของเราว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่าตระหนกกับข่าวลือที่มีขึ้นมามากมาย เพราะมีแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งหน่วยงานทางวิชาการ โดยเฉพาะที่จุฬาฯ ก็ได้มีการติดตามและเฝ้าระวังอยู่แล้ว จึงอยากให้ประชาชนนึกถึงประเทศเนเธอร์แลนด์ที่พื้นที่ต่ำกว่าน้ำทะเล 6 เมตรก็ยังอยู่ได้ เพราะมีการเตรียมล่วงหน้า ไม่ใช่เกิดแล้วค่อยมาแก้ไข !!