xs
xsm
sm
md
lg

ทักษิณออกโรงแยกแดงแท้-เทียม ชี้ 1 พ.ย.บทพิสูจน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เปิดที่มานัดใส่เสื้อแดงให้กำลังใจยิ่งลักษณ์ เหตุ “ทักษิณ” พ้อแกนนำที่เข้าพบในต่างประเทศทุกครั้ง “ทำไมทิ้งนายกฯ ปู” เกมตอบโต้รัฐบาลจึงเริ่มเดินเป็นระบบ ทั้งในนามพรรคเพื่อไทย ทีมกฎหมายส่วนตัว “ปู” กระทั่งการเดินสายถี่ยิบของยิ่งลักษณ์ รวมทั้งหวังปลุกคนเสื้อแดงแสดงพลัง จน “จตุพร” ประธานนปช.ต้องออกมาเบรก คนในเพื่อไทยยอมรับเสื้อแดงเหนือ-อีสาน ไม่แฮปปี้จตุพร ขณะที่ “ทักษิณ” โพสต์ Instagram เลือกซื้อเสื้อแดงให้ตีความ

ปมขัดแย้งระหว่างคนเสื้อแดงกับนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ถึงการนัดใส่เสื้อสีแดงเพื่อให้กำลังใจนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้

จุดเริ่มต้นถูกระบุว่ามาจากการส่งต่อข้อความกันทางโลกโซเชียล และถูกนำมาขยายอย่างเป็นทางการโดยนายศิริวัฒน์ จุปะมัดถา ผู้ประสานงาน นปช. จังหวัดพะเยา ที่กล่าวว่า นปช. 17 จังหวัดภาคเหนือล้วนมีความยินดีที่จะใส่เสื้อแดงในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ เพื่อให้กำลังใจแก่นางสาวยิ่งลักษณ์

แต่กลับถูกนายจตุพร ประธาน นปช.ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว พร้อมทั้งต่อว่าไปยังกลุ่มที่มีความคิดดังกล่าวอย่างรุนแรง โดยมองว่าเป็นการวางแผนของกลุ่มที่ไม่หวังดี

“ถ้าอ่านเกมไม่ออกแล้ว อย่าเป็นผู้เป็นคนเลย หากอยากเก่ง ก็แสดงความเห็นส่วนตัวไป ประกาศว่าเป็นใครที่ไหนก็ทำไป ผมไม่ต้องการให้องค์กรไปเกี่ยวข้อง และอย่ามาทำตัวเป็นพวกเดียวกัน แล้วมาทิ่มแทงกัน พวกนี้เลวร้ายยิ่งกว่าศัตรูเสียอีก ที่ผ่านมานั้น ถ้าเชื่อกันบ้าง เราจะแพ้มาถึงวันนี้หรือ วันนี้ทุกสิ่งทุกอย่างถ้าคิดแค่สะใจ แล้วเอาตัวไม่รอด แต่เวลาปีกว่านั้น สิ่งที่เราได้มาในวันนี้ คือความชอบธรรม”

พร้อมๆ กับการออกมาเบรกกิจกรรมดังกล่าวของฝ่ายรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า หากมีการนัดใส่เสื้อแดง คนที่ทำและเป็นแกนนำต้องรับผิดชอบ เพราะมีกฎหมายในการดำเนินการอยู่ ทุกคนสามารถใส่เสื้อสีแดงได้ แต่ไม่ใช่ว่า เมื่อใส่เสื้อสีแดงแล้วจะมารวมตัวกันนั้น ทำไม่ได้

นอกจากนี้ นายศิริวัฒน์ จุปะมัดถา ยังถูกเชิญไปพบ พล.ต.วิรัช ปัญจานนท์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 34 ค่ายขุนเจืองธรรมิกราช ขอความร่วมมือไม่ให้ใส่เสื้อแดงตามที่มีการนัดหมาย

อย่างไรก็ตามเมื่อ 29 ตุลาคมใน instagram.com/thaksinlive/ ของทักษิณ ชินวัตร ได้โพสต์รูปพร้อมข้อความว่า “ไม่รู้เป็นไงแฟชั่นปีนี้ ทุกแบรนด์ดังๆ มีแต่สีแดง ทั้งๆ ที่ใกล้ฤดูหนาวแล้วปกติน่าจะเน้นสีมืดๆ ปีนี้ผมก็กลัวจะตกเทรนด์เลยเข้าไปถอยเสื้อแดงจาก Fanconnable และจาก Billionaire มาใส่ แต่เป็นสีแดงที่มีเหลืองปนนิดๆ ความปรองดอง ความยุติธรรมจะเกิดได้ต้องเกิดจาก "ใจที่เป็นธรรม" ด้วย”

กลายเป็นสิ่งที่คนในพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงต้องตีความกันว่า การโพสต์ของทักษิณในครั้งนี้ ต้องการจะสื่ออะไรให้กับคนเสื้อแดง เพราะไม่ได้กล่าวว่าสนับสนุนให้มีการใส่เสื้อแดง เพียงแต่บอกว่าตัวเองเลือกซื้อเสื้อผ้าสีแดง ส่วนจะเป็นการตอบโต้นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.ที่ไม่เห็นด้วยกับการนัดใส่เสื้อแดงในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ต้องรอดูกันต่อไป
ทักษิณ ชินวัตร โพสต์ภาพเลือกซื้อเสื้อสีแดง บน thaksinlive (ที่มา:instagram/thaksinlive)
“ทักษิณ” พ้อทำไมไม่ช่วยยิ่งลักษณ์

แหล่งข่าวภายในพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า “ทั้งหมดทั้งมวลนั้นเกิดขึ้นจากการที่แกนนำพรรคเพื่อไทยที่ได้เดินทางไปพบกับคุณทักษิณ ชินวัตร ในต่างประเทศ ซึ่งคุณทักษิณจะพูดกับคนที่ไปพบเสมอว่า ทำไมคนในพรรคไม่มีน้ำใจ ทำไมทิ้งนายกฯ ไม่ช่วยนายกฯ ยิ่งลักษณ์บ้างเลย ปล่อยให้คุณยิ่งลักษณ์ต้องถูกดำเนินคดี”

นี่จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนจากกลุ่มแกนนำให้ต้องมีกิจกรรมเพื่อปกป้องน้องสาวของทักษิณ ชินวัตร

จะเห็นได้ว่าหลังจากที่อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ถูกรัฐบาลเตรียมใช้คำสั่งทางปกครองตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ให้นางสาวยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวราว 5 แสนล้านบาท แนวทางการต่อสู้ของอดีตนายกฯ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น มีทั้งทนายความส่วนตัวของยิ่งลักษณ์ และใช้ตัวพรรคเพื่อไทยเดินคู่ไปกับทนายส่วนตัว บุคคลระดับแกนนำของพรรคเริ่มออกมาแจกแจงโครงการรับจำนำข้าวมากขึ้น

ระดับแกนนำ นปช.อย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.ก็กล่าวผ่านรายการ Peace TV อย่างต่อเนื่อง หรือนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. คนสำคัญก็จัดกิจกรรมประกวดเรียงความหัวข้อ ครอบครัวของฉันในวันที่ไม่มีจำนำข้าว

จุดเริ่มต้นอยู่ที่การออกมาแถลงเรื่องนโยบายรับจำนำข้าวจากพรรคเพื่อไทยเมื่อ 22 ตุลาคม 2558 จากนั้นข่าวเรื่องการนัดใส่เสื้อแดงให้กำลังใจนางสาวยิ่งลักษณ์ในวันที่ 1 พฤศจิกายนก็แพร่ออกมา

ขณะที่มีความพยายามปลุกมวลชนคนเสื้อแดงผ่านกิจกรรมให้กำลังใจนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ แต่ถูกเบรกจากฝายรัฐบาลและประธาน นปช.เอง

เช่นเดียวกับนางสาวยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรีที่มีการเดินสายไปตามสถานที่ต่างๆ ด้านหนึ่งเพื่อไม่ให้หลุดไปจากสายตาของฐานเสียง อีกด้านเท่ากับเป็นการลงไปทดสอบกระแสของตัวเองและพรรคเพื่อไทยไปในตัว จะเห็นได้ว่าในเดือนตุลาคมคุณยิ่งลักษณ์เดินสายบ่อยมากและเป็นข่าวมาโดยตลอด ทั้งทำบุญไหว้พระ พักผ่อนไปในพื้นที่ต่างๆ รวมไปถึงการเข้ามาตรวจหลักฐานคดีรับจำนำข้าวที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อ 29 ตุลาคม ตามมาด้วยการโพสต์ภาพกอดหนังสือทักษิณ ชินวัตร ชีวิตและงาน เมื่อ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา

ปลุก “เสื้อแดง” ไม่ขึ้น

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นกระบวนการที่มีการออกแบบมา และยังสามารถใช้ทดสอบปฏิกิริยาของรัฐบาลไปในตัวว่ามีท่าทีอย่างไรกับกิจกรรมต่างๆ ที่ทางทีมงานของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์เดินเครื่องในเวลานี้

อย่างไรก็ตามความพยายามที่จะปลุกกระแสคนเสื้อแดง โดยเริ่มต้นที่การสวมเสื้อแดงเพื่อให้กำลังใจยิ่งลักษณ์นั้น อาจจะไม่คึกคักนัก เพราะเป็นเพียงแนวคิดจากกลุ่มแกนนำบางส่วนที่รับโจทย์มาหลังจากถูกตัดพ้อจากอดีตนายกฯ ทักษิณ แต่ไม่ได้ทำอย่างเป็นระบบเหมือนที่ผ่านมา

“ตอนนี้อดีต ส.ส.ของเพื่อไทยหลายคนหยุดทุกอย่าง ไม่ลงพื้นที่ไปพบประชาชนเหมือนก่อน จึงทำให้ทุกอย่างขาดตอน ด้านหนึ่งอ้างเรื่องกลัวขัดคำสั่งของคณะรักษาความสงบ อีกด้านก็เริ่มมองอนาคตของพรรคเพื่อไทยว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้นายใหญ่เองก็บ่นมากับคณะที่เดินทางไปเยี่ยมเสมอ”

แม้กระทั่งกลุ่มก้อนของคนเสื้อแดงเอง ที่หลายคนมองว่านายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.จะรวมน้ำใจคนเสื้อแดงให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวได้ ตอนนี้ก็พิสูจน์แล้วว่าตัวประธาน นปช.เองนั้นไม่สามารถทำได้

เสื้อแดงเหนือกับแดงอีสานเขาไม่เอาด้วยกับจตุพร เพราะแกนนำ นปช.เป็นคนใต้เกือบทั้งหมด อย่างแรมโบ้อีสานที่พยายามสร้างบทบาทในช่วงนั้นก็ถูกกันออกไป อีกทั้งบุคลิกของจตุพรที่ไม่รับฟังความคิดเห็นคนอื่น ไม่ให้เกียรติคนอื่น ใครที่เห็นแย้งกับตัวเองก็ด่ากราด แล้วอย่างนี้จะประสานคนเสื้อแดงได้อย่างไร

ที่มีการรวมตัวกันของคนเสื้อแดงในนาม นปช.นั้น ทำได้เพียงสิ้นสุดในเหตุการณ์ปี 2553 เท่านั้น ตอนนั้นเป็นเรื่องของอุดมการณ์ มีการจัดการอย่างเป็นระบบ แต่หลังจากปี 2553 เป็นต้นมาทุกอย่างเปลี่ยนไปจากเดิม อย่างการชุมนุมต่อต้าน กปปส.ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อมีเหตุทำอย่างถูกจัดการอย่างง่ายดาย

“ตอนนี้มีเสื้อแดงบางกลุ่มที่ไม่ใช่ระดับแกนนำ ยังคงทำกิจการเพื่อหารายได้นำเอาไปช่วยเหลือพี่น้องเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดี อย่างนายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือฟอร์ด เส้นทางสีแดง หรือเดินทางไปเยี่ยมญาติผู้ต้องหาอยู่เป็นระยะ ซึ่งแตกต่างจากแกนนำ นปช. ที่ไม่ได้ดำเนินการในส่วนนี้เลย”
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โพสต์ภาพกอดหนังสือ ทักษิณ ชินวัตร ชีวิตและงาน (ที่มา:Facebook/Yingluck Shinawatra)
เสื้อแดงไม่ Happy จตุพร

แกนนำคนเสื้อแดงภาคอีสานกล่าวต่อไปว่า ด้านหนึ่งเขาอาจจะอ้างได้ว่าเคลื่อนไหวอะไรไม่ได้ เพราะ คสช.จับตาอยู่ แต่เรื่องการไปเยี่ยมเพื่อนร่วมอุดมการณ์หรือหาทางช่วยเหลือครอบครัวพวกเขาเป็นเรื่องที่ทำได้ ตอนนี้คนเสื้อแดงโดยเฉพาะคนที่อยู่ไกลจากนายใหญ่ต้องต่อสู้ด้วยตัวเอง ทุกคนลำบาก เมื่อเป็นเช่นนี้หากมีกิจกรรมอะไรที่เสี่ยงต่อพวกเขา ทุกคนก็ถอย

"พูดตรงๆ ระดับแกนนำที่ใกล้ชิดนาย ลองดูสิว่าฐานะความเป็นอยู่ของพวกเขาเป็นอย่างไร รวยขึ้น ยิ่งถ้าต่อสู้แล้วชนะก็มีเก้าอี้ ส.ส.หรือเก้าอี้รัฐมนตรีรองรับ แม้จะมีคดีติดตัวแต่ก็ได้รับการช่วยเหลือมีการประกันตัวออกมาให้ มีทีมทนายความจากพรรคเพื่อไทยเข้ามาช่วย"

ทางอีสานคงไม่มีใครเอาด้วยแม้แต่ขวัญชัย ไพรพนา เขาก็ไม่เอาด้วยกับการนัดใส่เสื้อแดง ที่กล่าวมานี้ไม่ได้หมายความว่าพวกเราเห็นด้วยกับแนวทางของจตุพร แต่ทุกคนต้องทำมาหากิน เรื่องใส่เสื้อแดงนั้น ตอนนี้พวกเราก็ใส่บ้างตามชีวิตประจำวัน แต่ถ้าจะให้ใส่ไปแล้วรวมตัวกันนั้นคงไม่มีใครอยากทำเพราะรัฐบาลก็มีทีมงานคอยประกบอยู่ ทำไมต้องเอาตัวเองไปเสี่ยงกับการผิดข้อบังคับของรัฐในเวลานี้

ส่วนใครจะใส่ก็เป็นสิทธิของแต่ละบุคคล แต่ถามว่าหากเกิดปัญหาขึ้นมาแล้วถูกจับกุม ใครจะเข้ามาช่วยเหลือพวกเรา สมมติว่าประธาน นปช.ออกมาเชิญชวน เราก็คงไม่ทำตาม เพราะเหล่าบรรดาแกนนำ นปช.นั้นไม่ได้รับผิดชอบอะไรกับคนเสื้อแดงเลย

คนเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดี พวกที่ถูกจำคุกทุกวันนี้ ถามว่าแกนนำ นปช.เข้าไปช่วยเหลืออะไรหรือไม่ อย่างในกลุ่มของเราที่ถูกดำเนินคดีก็ต้องต่อสู้กันเอง

ภายในคนเสื้อแดงมีทั้งกลุ่มที่มีอุดมการณ์ บางกลุ่มที่เน้นเคลื่อนไหวตามแรงเงินที่เข้ามา และบางกลุ่มที่อยากเข้ามามีอำนาจจึงจำเป็นต้องสร้างผลงานขึ้นมาเพื่อให้เข้าตานาย ที่ผ่านมาก็ประเมินกันว่าภายใต้แกนนำของ นปช.นั้นการต่อสู้ทุกครั้งคนเสื้อแดงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้มาโดยตลอด แน่นอนว่ามีอีกหลายกลุ่มที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในระดับแกนนำของ นปช.

จากนี้ไปพลังของคนเสื้อแดงคงจะไม่เข้มแข็งเหมือนเดิมอีกแล้ว โดยเฉพาะเสื้อแดงในระดับชาวบ้านที่ต้องทำมาหากิน หลายคนเริ่มที่จะถอยออกจากแนวทางของคนเสื้อแดง เริ่มรับรู้ว่าสิ่งที่ทำไปในอดีตนั้นเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งให้กับนักการเมือง แม้แต่โครงการรับจำนำข้าวที่เคยถูกอกถูกใจชาวนาที่รับจำนำในราคาที่สูงกว่าตลาด แต่สุดท้ายรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ก็ไม่มีเงินจ่ายให้กับชาวนา จนต้องออกมาเรียกร้อง และรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ต้องเข้ามาดำเนินการแก้ไขให้

หลายคนจึงเริ่มถอย ดังนั้นกิจกรรมในทางการเมืองของคนเสื้อแดงหรือพรรคเพื่อไทยจึงเริ่มที่จะมีมวลชนเข้ามาร่วมน้อยลง

กำลังโหลดความคิดเห็น