xs
xsm
sm
md
lg

ก.พ.แจงใครอยากเข้าราชการมีเฮ ปรับแนวสอบ “ภาค ก.” แก้วิกฤตสอบผ่านแค่ 6%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ก.พ. จี้ระบบการศึกษาไทย ควรปรับหลักสูตรการเรียนการสอน จากวิธีท่องจำมาเป็นการคิดวิเคราะห์แบบมีตรรกะ เพื่อปั้นเด็กจบใหม่ให้มีความรู้เทียบชั้นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงตามมาตรฐานสากล ส่วนแผนรับมือคนสอบผ่านภาค ก.ลดลงต่อเนื่อง แจงระยะสั้นยังไม่กระทบ เนื่องเพราะมีผู้สอบผ่านขึ้นบัญชีไว้ยังมีปริมาณเพียงพอ แต่ในระยะยาวต้องเร่งปรับวิธีการสอบจากสนามการสอบแบบ Paper & Pencil มาเป็นการสอบแบบ EX EXAM สมัครและสอบด้วยระบบอินเทอร์เน็ต เพิ่มรอบและโอกาสให้เด็กเพิ่งพ้นรั้วมหาวิทยาลัยสอบได้ทุกวัน คาดภายในปี 2560 เริ่มดำเนินการได้ก่อนจะเกิดวิกฤตขาดแคลนแรงงาน!


ปรากฏการณ์ที่มีผู้สอบผ่านภาค ก.เพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการในส่วนราชการต่างๆ ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดระยะ 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะใน ปี 2557 มีผู้สมัครสอบในทุกระดับการศึกษาตั้งแต่ระดับ ปวช. อนุปริญญาตรี ปริญญาตรี และปริญญาโทจำนวนกว่า 4 แสน แต่มีคนที่สอบผ่านเพียงร้อยละ 6 - 7% เท่านั้น

ดังนั้นตัวเลขผู้สอบผ่านที่มีปริมาณลดลง ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการศึกษาไทยตระหนักและพยายามหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งเป็น 1 ใน 5 องค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ มีคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ทำหน้าที่ในการดูแลและรับผิดชอบการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยเมื่อเร็วๆ นี้ รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงผลสอบ ก.พ. ที่ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อสอบภาษาอังกฤษ จึงกำชับให้มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษ รวมทั้งการเข้มงวดในหลักสูตร ซึ่งสภามหาวิทยาลัย ผู้อนุมัติหลักสูตรต่างๆ ของมหาวิทยาลัย จะต้องรับผิดชอบต่อคุณภาพของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา รวมถึงติดตามคุณภาพของบัณฑิตที่จบออกมาอีกด้วย
นายนนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
ด้าน นายนนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) บอกกับ Special Scoop ถึงเรื่องที่มีคนสอบผ่านภาค ก.ลดลง ว่าจากฐานข้อมูลคน 3 กลุ่มที่สอบ ก.พ. คือ กลุ่มแรก เป็นคนที่เพิ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย และมีความประสงค์จะรับราชการ เรียกว่าเป็นกลุ่มหน้าใหม่จริงๆ ส่วนกลุ่มที่สอง คือ คนที่สอบไม่ผ่านมาก่อน และเข้ามาสอบซ้ำ และกลุ่มที่สาม คือ คนทำงานในบริษัทเอกชนเป็นจำนวนมาก แต่รู้สึกไม่มั่นคงในอาชีพการทำงาน จึงมาสอบภาค ก. เพื่อเตรียมตัวรับราชการ

ส่วนผลการสอบของทั้ง 3 กลุ่มนี้ สอบผ่านภาค ก.ได้ประมาณร้อยละ 6 - 7% ของจำนวนผู้ที่สอบทั้งหมด ซึ่งถือว่าน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะหลังที่มีการสอบภาษาอังกฤษ (เริ่มในปี 2557) ค่าเฉลี่ยในการสอบผ่านก็จะยิ่งลดลง จากปกติที่อัตราการสอบผ่าน ก.พ. ก็น้อยอยู่แล้ว ซึ่งสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งมีข้อมูลของตัวเองโดยชัดเจน ทั้งอัตราการเข้าสอบและสอบผ่าน ที่สามารถเป็นตัวสะท้อนในแง่คุณภาพของแต่ละสถาบันในการผลิตบัณฑิตของตน
ที่มา : รวบรวมข้อมูลโดย Special Scoop
โดยในภาพรวมของ ก.พ. ซึ่งเป็นองค์กรกลางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในราชการพลเรือน ก.พ. ในฐานะผู้ใช้ที่ไม่เน้นสถาบันการศึกษาใดเป็นการเฉพาะนั้น เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้น จะต้องมองย้อนกลับไปที่กระบวนการผลิต ปรัชญาของการผลิตเป็นหลัก ทั้งนี้เพราะในหลักการสอบของ ก.พ. เป็นการวัด Attitude test ในเรื่องตรรกะ เชาวน์ปัญญา การคิดวิเคราะห์ การใช้เหตุใช้ผล และที่เพิ่มมาคือการใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งถ้าสิ่งเหล่านี้บัณฑิตสอบไม่ผ่าน ต้องดูว่าหลักสูตรการศึกษาไม่สนองตอบต่อทักษะ ความสามารถที่จะมาใช้ในการรับราชการหรือไม่ ซึ่งก็มีความเชื่อว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสากล ไม่ใช่เป็นเรื่องที่มาใช้กับส่วนราชการเท่านั้น การคิดวิเคราะห์ การรู้เหตุ รู้ผล การมีตรรกะ เป็นสิ่งที่หน่วยงานใดก็ต้องการทั้งนั้น

สถาบันการศึกษาต้องปรับตัว

เลขาธิการ ก.พ.ย้ำว่า สถาบันการศึกษาและสถาบันที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ตั้งแต่กระทรวงศึกษาธิการ ไปจนถึงแต่ละมหาวิทยาลัยต้องพิจารณาทั้งหมด ต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อผลิตคนมารับใช้สังคม มารองรับตลาดแรงงาน ต้องสร้างทักษะ ความสามารถ และทัศนคติให้เด็กเพื่อจะมาทำงานได้ โดยทบทวนเรื่องวิธีการสอน เช่น เน้นเรื่องการใช้ความจำมากเกินไป หรือ เน้นแต่ตัวเนื้อหา แต่ไม่ได้เน้นเรื่องวิธีการคิด วิเคราะห์ การตีโจทย์

ปัญหาหลักๆ ที่ทำให้มีผู้สอบผ่านในอัตราที่ลดลง คือ คุณภาพของสถาบันการศึกษา ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน และต้องพยายามไม่ให้ไปกระทบกับสถาบัน และการที่ ก.พ.ให้ข้อมูลรายละเอียดว่ามหาวิทยาลัยที่ไหนมีจำนวนผู้สอบผ่านภาค ก.ในสัดส่วนเท่าไหร่ เป็นเรื่องที่ต้องให้ความยุติธรรมต่อกัน เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยเองก็มีข้อด้อยและข้อจำกัดต่างกัน เช่น การจัดสรรงบประมาณรายหัวก็ได้รับในอัตราที่น้อยกว่า

รวมถึงในด้านความเก่าแก่ของสถาบันที่เปิดสอนมานานนั้น ถือว่าเป็นจุดเด่นที่ทำให้มหาวิทยาลัยนั้นๆสามารถจะดึงดูดบุคลากรอาจารย์ที่มีองค์ความรู้และมีประสบการณ์ ซึ่งมหาวิทยาลัยบางแห่งที่ไม่มีจุดเด่นเหล่านี้ก็สู้มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและมีความเก่าแก่ไม่ได้ เรื่องตัวนักศึกษาเองก็มีตัวเลือกมากขึ้น เรียกได้ว่า ปัญหาคุณภาพของสถาบันทางการศึกษา มีรายละเอียดซึ่งต้องทำความเข้าใจว่าความเสียเปรียบนั้นเป็นข้อจํากัดและเป็นอุปสรรคมาขวางกั้นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายต้องให้ความเข้าใจซึ่งกันและกัน

ส่วนจำนวนผู้สอบผ่านได้น้อยลงวันนี้เป็นปัญหาหรือไม่นั้น หากพิจารณาจากตัวเลขจำนวนของผู้สอบผ่านที่มีการสะสมมาหลายปี จนถึงวันนี้ ยังเกินกว่าความต้องการอยู่ แต่หากไม่มีการแก้ไขอย่างถูกต้อง ก็อาจจะกลายเป็นวิกฤตในอนาคต โดยจากสถิติการเกิดที่ลดลง ขณะที่อัตราการครองอายุสูงขึ้น ดังนั้นวิกฤตที่จะเห็นชัดคือสังคมสูงอายุจะตามมา และเกิดการขาดแคลนแรงงาน (Labour force) ของทั้งประเทศ ซึ่งมีทั้งภาครัฐและเอกชนจะขาดแคลนในสัดส่วนที่แตกต่างกันไป
ที่มา : รวบรวมข้อมูลโดย Special Scoop
ดังนั้นสถานการณ์ปัจจุบันที่มีคนสอบผ่านภาค ก.น้อย ไม่ใช่ประเด็นที่น่าวิตก เนื่องจากการสอบภาค ก. ไม่มีวันหมดอายุ ดังนั้นผู้ที่มีหนังสือรับรองจาก ก.พ. ว่าสอบผ่านในปีใดๆ ก็ใช้ได้หมด เพียงแต่โดยธรรมชาติผู้ที่สอบผ่านและนำหลักฐานมาเพื่อความประสงค์เข้ารับราชการนั้น ส่วนใหญ่เฉลี่ยจะอยู่ที่คนซึ่งจบการศึกษามาไม่เกิน 3 ปี มักไม่ใช่คนที่ทำงานอยู่แล้วเกินกว่า 5 ปี หลังจากได้ภาค ก. แล้วก็จะสอบภาค ข. ภาค ค. ต่อไป

ปัจจุบันจึงยังไม่มีจุดที่ซัปพลายกับดีมานด์มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะตำแหน่งงานที่ว่างต่อปีโดยเฉลี่ยสำหรับตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญนั้น หมุนเวียนไม่เกินปีละหนึ่งหมื่นอัตรา จากอัตราการเกษียณต่อปีอยู่ที่ห้าพันเศษๆ รวมอัตราว่างอื่นๆ รวมกัน เช่น การออกจากงาน

ส่วนแนวโน้มจากนี้ไปเมื่อมหาวิทยาลัยเริ่มปรับการบริหารจัดการ จากมหาวิทยาลัยรัฐมาสู่มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐนั้น จะเป็นตัวแปรที่สำคัญที่ช่วยลดปัญหาคุณภาพการศึกษาได้หรือไม่ คงไม่ใช่เงื่อนไขที่สำคัญ เหมือนเรื่องไก่กับไข่ อันไหนเกิดก่อนกัน เช่นเดียวกัน มหาวิทยาลัยต้องสร้างชื่อขึ้นมาก่อนหรืออาจารย์ต้องสร้างชื่อขึ้นมาก่อน ศิษย์จึงจะวิ่งเข้าหาหรือไม่ หรือต้องได้ศิษย์ที่เก่งเข้ามาก่อนจึงจะสามารถพัฒนาและยกระดับมหาวิทยาลัยขึ้นมาได้

แผนปรับตัวของสำนักงาน ก.พ.

อย่างไรก็ดี ก.พ.ก็ได้หยิบยกปัญหานี้มาหารือ และก็พยายามประเมินหาวิธีการแก้ไข เพราะข้อสอบโดยพื้นฐานนั้นมีมาตรฐานในการออกข้อสอบ โดยบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิที่ออกข้อสอบ ก็ชัดเจนถึงมาตรฐานในการสอบในระดับหนึ่ง และการสอบนี้ไม่ใช่การสอบในเชิงความจำ แต่เป็นการสอบในเชิงการคิดวิเคราะห์ การใช้เหตุผล ตรรกะ การใช้ภาษาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

สิ่งที่ทดสอบ คือ พื้นฐานความรู้และทักษะที่ข้าราชการจำเป็นต้องมี ซึ่งไม่ได้วัดความรู้ทางวิชาการที่เรียนที่มหาวิทยาลัยโดยตรง ปัจจัยเหล่านี้อยู่ที่วิธีการเรียนการสอน หากเป็นการเรียนการสอนที่ท่องจำก็มักจะสอบไม่ผ่าน ต้องมีการคิดวิเคราะห์ รู้จักนำความรู้มาแอปพลายในการใช้ รู้จักสรุปเหตุผล รู้จักที่จะมีตรรกะในความคิดเชื่อมโยงต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่จะท่องจำได้ แต่ต้องเข้าใจ การสอบลักษณะนี้ทำมาหลายสิบปี จึงอาจกล่าวได้ว่า ลักษณะความคิดวิเคราะห์ และภาษาอังกฤษเป็นอุปสรรคใหญ่ของคนที่ต้องการสอบ ก.พ. ในปัจจุบันนี้ ย้อนหลังไปประมาณ 5 ปี อัตราผู้สมัครสอบ ก.พ. จนถึงปัจจุบันมีคนสมัครสอบไม่น้อยคือ 4 แสนเกือบ 5 แสนในปีนี้ แต่คนสอบผ่านน้อยลงเรื่อยๆ
ที่มา : รวบรวมข้อมูลโดย Special Scoop
สำหรับแนวทางเพื่อจะรับมือกับสถานการณ์ที่มีคนสอบผ่านลดลงนั้น สำนักงาน ก.พ. มีแผนจะทำการสอบแบบใหม่ ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนปรับแก้ระเบียบ และเปลี่ยนวิธีการไปเป็น E Exam ซึ่งแต่เดิมใช้วิธีการจัดกลุ่มสอบแบบ Paper & Pencil ซึ่งทำเพียงปีละครั้งเนื่องจากจำนวนมีมาก เช่น ในปีนี้ทำสอบครั้งเดียว แต่แบ่งเป็น 2 รอบ คือเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา และ ส.ค. ที่จะถึงนี้ ในอนาคตจะสร้างศูนย์สอบอิเล็กโทรนิกส์ คือสอบด้วยคอมพิวเตอร์ที่สำนักงาน ก.พ. ติวานนท์ อ.เมืองนนทบุรี จะมีที่นั่งสอบประมาณ 600-700 ที่นั่ง ซึ่งใน 1 วันสอบได้ 2 รอบ ประมาณหนึ่งพันกว่าคน และ E Exam นั้น สามารถสอบได้ทุกวัน โดยเปิดให้จองรอบสมัครสอบในอินเทอร์เน็ต และมีการเปิดรอบพิเศษ เช่นสำหรับปริญญาโท

ซึ่งการสอบวิธีการนี้ มีข้อดี คือ ทำให้เกิดการหมุนเวียนกับคนที่เพิ่งจบการศึกษา โดยจะให้ Priority กับบัณฑิตจบใหม่ และจะเพิ่มโอกาสในการสอบมากขึ้น ส่วนคนที่สอบไม่ผ่านจะเว้นวรรคเป็นระยะเวลาหนึ่ง เป็นต้น

ส่วนความคืบหน้าของแผนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียด และต้องมีการปรับระเบียบการสอบ และการขออนุมัติโครงการเพราะต้องมีการเข้าระเบียบพัสดุ หรือระเบียบร่วมทุน เพราะต้องเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน อีกประเด็นคือเรื่องของสต๊อกข้อสอบ ซึ่งต้องมีข้อสอบหมุนเวียนมากเพียงพอ รวมทั้งการปรับปรุงอาคารให้เป็นอาคารสอบ เพื่อรองรับปริมาณคน และปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยให้พร้อมในปี 2560

การสอบด้วยรูปแบบใหม่นี้ ถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการสอบ แต่การผ่านหรือจะช่วยให้มีจำนวนผู้ที่สอบผ่านภาค ก.เพิ่มขึ้นนั้นอยู่ที่ความรู้ความสามารถของคนที่สอบ และเป็นวิธีการให้ความสำคัญต่อการวัดผลคนได้ตรงกับทักษะความรู้ที่โลกต้องการอีกด้วย

“เมื่อมี E Exam ข้อสอบจะสามารถปรับได้มากกว่าการสอบในกระดาษ เช่น เพิ่มเรื่องของ Conversation หรือการฟัง ในวิชาภาษาอังกฤษได้ง่ายขึ้น รวมทั้งข้อสอบอื่นๆ ก็สามารถเพิ่มวิธีการสอบโดยใช้ Multi-Media เข้ามาช่วย โครงการนี้ถือเป็นการเปลี่ยนวิธีการสอบที่ก้าวกระโดด ที่ ก.พ.จะมีลูกเล่นอะไรได้อีกมาก เป็นระบบที่ทันสมัย มีการวัดผลหลากรูปแบบ ไม่ใช่แค่ Multiple choices ซึ่งหวังว่าจะเป็นการพัฒนาไปอีกขั้น” นายนนทิกรกล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น