xs
xsm
sm
md
lg

“ของถูก-ของหิ้ว” เหยื่อโอชะแก๊งต้มตุ๋นโลกออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“ใครว่ามีแต่ผู้ซื้อถูกหลอก” นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทยเผย ผู้ขายถูกหลอกก็มีแต่น้อย ยันมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับภาพรวม เมื่อมีผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น จากมือถือธรรมดาเปลี่ยนมาเป็นสมาร์ทโฟน ตำรวจ ปอท. ยกบัตรคอนเสิร์ตติดอันดับหนึ่งฉ้อโกงในเวลานี้ สินค้าที่มีจำกัดน้อยกว่าความต้องการ เป็นช่องให้คนร้ายหลอก “ของถูก-ของหิ้ว” ลูกค้าตรึม รับตามไม่ง่าย เหตุ IP อยู่ต่างประเทศ แนะตรวจสอบให้ดีก่อนตัดสินใจ

กลายเป็นคดีความกันมาอย่างต่อเนื่องสำหรับการใช้โลกออนไลน์เพื่อการค้า โดยเฉพาะในฝั่งผู้ซื้อที่มักเป็นฝ่ายเสียเปรียบผู้ขายอยู่เสมอ ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติไปแล้วนั่นคือการสั่งซื้อสินค้าและบริการแล้วไม่ได้รับสินค้าและบริการ หรือได้รับสินค้าและบริการต่ำกว่าคำโฆษณาที่ให้ไว้บนโลกออนไลน์

ยิ่งจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสของการเกิดคดีความในลักษณะนี้ย่อมมีมากขึ้น ในปี 2558 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปีนี้จำนวนผู้ใช้งานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตโดยภาพรวมทั้งแบบมีสายและไร้สายจะเพิ่มขึ้นเป็น 34.6 - 36.0 ล้านคน ขยายตัวกว่าร้อยละ 19.3 - 24.1 จากปี 2557 และมีอัตราการเข้าถึงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 53.6 - 55.8

ทุกวันนี้อินเทอร์เน็ตไม่ได้จำกัดเฉพาะอยู่ที่ทำงานและที่บ้านเพียงอย่างเดียว แต่ติดตัวผู้คนทั่วไปที่ใช้สมาร์ทโฟนที่เชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ได้ทุกเวลา และด้วยเทคโนโลยีที่มีทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรมหรือไลน์ ทำให้ร้านค้าทั้งที่เป็นของภาคธุรกิจและภาคบุคคลผุดขึ้นอย่างเสรี

เฟซบุ๊ก อินสตาแกรมหรือไลน์ จากเดิมที่สร้างไว้เพื่อการสื่อสารของบุคคลและเพื่อนฝูง กลายเป็นร้านค้าส่วนบุคคลได้ทันที ขึ้นอยู่กับใครจะขายสินค้าและบริการอะไร มีทั้งร้านค้ารวมและร้านค้าเดี่ยว มีทั้งขายแบบชั่วคราวและยึดเป็นอาชีพจริงจัง รวมถึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการช่วยส่งเสริมการขาย

มีทั้ง “คนขาย-คนซื้อ” ถูกหลอก

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง บริษัท ตลาดดอทคอม จำกัด และนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย การหลอกลวงจากการซื้อสินค้าผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กนั้น เวลานี้ดูเหมือนมีมากขึ้น เป็นผลมาจากการเติบโตและการเข้าถึงบริการเหล่านี้ตามการขยายตัวของอินเทอร์เน็ต หากเปรียบเทียบกับภาพรวมทั้งหมดของธุรกิจ E-Commerce ถือว่าไม่มากนัก เรื่องแบบนี้เป็นกันทุกประเทศทั่วโลกที่เปิด E-Commerce

การหลอกลวงจากการซื้อสินค้านั้นแบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ รูปแบบแรกที่พบกันมากที่สุดคือผู้ขายหลอกลวงผู้ซื้อ มีทั้งโอนเงินชำระค่าสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า หรือได้รับสินค้าแต่ไม่ตรงกับสินค้าที่สั่งไป มีทั้งของปลอม ของชำรุด
อีกแบบหนึ่งเป็นการที่ผู้ซื้อหลอกผู้ขาย กรณีนี้จะพบไม่มากนัก แต่ก็เกิดขึ้นแล้ว เช่น ลูกค้าสั่งสินค้าแล้วนัดมอบ จากนั้นลูกค้าอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการ ขู่ว่าสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย หรือเป็นสินค้าหลีกเลี่ยงภาษี แล้วเอาสินค้าไปโดยไม่ชำระเงิน

สำหรับประเภทของสินค้าที่มีการหลอกลวงกันนั้นแยกได้อีก 2 ชนิดคือกลุ่มสินค้าที่มีราคาแพงกว่าราคาปกติ เมื่อสินค้ามีจำกัด แต่มีความต้องการมากกว่าสินค้าที่มีอยู่ ก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่มีสินค้านั้นนำมาขายในราคาที่สูงกว่าราคาจริง เช่น บัตรชมคอนเสิร์ตหรือบัตรชมการแข่งขันต่างๆ ที่คนไทยนิยม กลุ่มที่ 2 เป็นสินค้าที่ขายในราคาต่ำกว่าราคาจริงที่พบมากคือโทรศัพท์มือถือรุ่นดัง ทั้งนี้มีทั้งผู้ขายที่ขายสินค้าดังกล่าวจริงและบางส่วนที่หลอกลวง

“วิธีการหลอกลวงจะกระตุ้นให้ผู้ซื้อโอนเงินด้วยข้ออ้างต่างๆ เช่นสินค้ามีจำกัด คนจองเยอะ จากนั้นก็จะหายตัวไปไม่สามารถติดต่อได้”

นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ยอมรับว่าการซื้อขายสินค้ากันผ่านออนไลน์นั้นในทางปฏิบัติการติดตามผู้กระทำผิดไม่ง่าย เพราะทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรมหรือไลน์ ผู้ให้บริการช่องทางดังกล่าวอยู่ในต่างประเทศ เนื่องจากการดำเนินการต้องประสานไปยังผู้ให้บริการในต่างประเทศ ซึ่งเขาถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนบุคคล อีกทั้งมูลค่าของความเสียหายไม่สูงมาก ตรงนี้จึงเป็นช่องทางที่มิจฉาชีพเหล่านี้นิยมใช้

อีกทั้งบนโลกออนไลน์ยังปลอมช่องทางการติดต่อกันได้ง่าย ทำให้โอกาสที่ผู้ซื้อจะโดนหลอกก็มี

แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์จะกำหนดให้ผู้ประกอบการด้านนี้ต้องไปจดทะเบียน แต่ผู้ประกอบการที่ไปจดทะเบียนส่วนใหญ่จะเป็นผู้ให้บริการในรูปแบบของ E-Commerce แต่ผู้ค้าประเภทบุคคลส่วนใหญ่ไม่มีการจดทะเบียน ดังนั้นการติดตามในกรณีหลอกลวงจึงทำได้ในวงจำกัด
www.tarad.com 1 ใน 10 อันดับเว็บไซต์ eCommerce ที่ได้รับความนิยมของไทย
ข้อแนะนำไม่ให้ถูกหลอก

ในเรื่องดังกล่าวทางสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ได้ออกคำแนะนำสำหรับผู้ซื้อไว้ 14 ข้อเพื่อเป็นแนวทางให้ซื้อสินค้าออนไลน์อย่างมั่นใจ

1.หากเจอสินค้าที่ราคาถูกกว่าราคาท้องตลาดมากๆ จนผิดสังเกตให้ตรวจสอบกับผู้ขายให้มั่นใจเสียก่อน อย่าโลภเห็นของถูกจนโอนเงินไปให้ก่อน ผู้ร้ายมักตั้งราคาสินค้าให้ถูกกว่าท้องตลาดเพื่อโน้มน้าวให้คุณสนใจและซื้อ

2.หลีกเลี่ยงการจ่ายเงินจำนวนมากๆ ให้กับคนที่เราไม่เคยซื้อของด้วยมาก่อน หากต้องการจริงๆ ขอให้ไปเจอหน้า แล้วมอบเงินให้กันดีกว่า (ส่วนใหญ่ผู้ร้ายมักหลีกเลี่ยงการพบหน้ากันจริงๆ จะมีเทคนิคการโน้มน้าวให้คุณโอนเงินไปให้ก่อน ระวัง)

3.เมื่อพบหน้า (หากได้พบจริงๆ) ขอเอกสารยืนยันการซื้อ หรือติดต่อ เช่น สำเนาบัตรประชาชน หรือเอกสารยืนยันการซื้อสินค้า หรือขอถ่ายภาพของเค้าเอาไว้

4.ลองสั่งซื้อของจำนวนน้อยๆ ก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ผู้ค้าคนนั้นส่งของจริง และมีตัวตนจริงๆ (หากเป็นคนโกง เค้าจะพยายามให้คุณสั่งของทีละมากๆ ระวังเอาไว้)

5.อย่าไว้ใจแค่ social network ของผู้ขาย เพราะบางคนมีหลายแอกเคานต์ พยายามขอแอกเคานต์จริงๆ ที่เค้าใช้ ที่สามารถเห็นเพื่อนๆ และพฤติกรรมของเค้าจริงๆ ได้ (หากเค้าจริงใจ เค้าต้องให้)

6.ดูว่ามีชื่อจริง นามสกุลจริง ของเจ้าของร้านแสดงอยู่ไหม หากมีชื่อจริง หรือเลขบัญชีธนาคารที่เราต้องจ่ายเงินไปให้ ลองใช้ชื่อเหล่านั้นค้นหาตรวจสอบใน Google ก่อนว่ามีประวัติอย่างไรมาบ้าง เพราะหากเป็นชื่อหรือบัญชีที่เคยโกงมาก่อน ก็อาจจะเจอคนอื่นๆ มาพูดถึงหรือบ่นถึงไว้ในที่อื่นๆ เช่นกัน หากเป็นบัญชีธนาคารในรูปแบบบริษัทหรือนิติบุคคล ก็จะมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

7.ตรวจสอบชื่อเว็บไซต์ ว่าชื่อเว็บนี้จดหรือตั้งมานานแล้วหรือยัง สำหรับ .com เช็กได้ที่ http://dawhois.com สำหรับชื่อเว็บที่ลงท้ายด้วย .th เช็กได้ที่ http://thnic.co.th/whois หากเว็บที่เปิดมานานแล้วเกิน 6 เดือนขึ้นไป ก็จะมีความน่าเชื่อมากกว่าเว็บที่เพิ่งเปิดมาเพียงไม่กี่เดือน (ส่วนใหญ่เว็บที่หลอกลวงจะเปิดได้ในช่วงเวลาสั้นๆ)

8.หากเป็นผู้ที่ขายกับผู้ให้บริการที่มีชื่อเสียงก็จะมีความน่าเชื่อถือระดับหนึ่ง เพราะผู้ให้บริการจะมีการตรวจสอบร้านค้ามาก่อน

9.เช็กการพูดคุยและโต้ตอบกันก่อนหน้านี้ของผู้ขายหรือเว็บนั้นๆ เช่นในเว็บบอร์ด หรือโซเชียลมีเดีย ดูว่ามีคนเข้าไปเขียนตอบอะไรบ้าง หรือกระทู้ล่าสุดที่่ตอบคือเมื่อวันไหน? เพราะหากคำถามถูกทิ้งไม่ได้ตอบไว้นาน และต้องเช็กว่ามีผู้เคยได้รับสินค้าแล้วหรือยังด้วย เพราะจะสามารถตรวจสอบตัวตนของเจ้าของนั้นได้ (ระวัง Account ที่เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่ๆ)

10.ตรวจสอบดูความใหม่ของสินค้าหน้าเว็บไซต์ และการอัปเดตเว็บไซต์ หากเว็บไซต์มีการอัปเดตเป็นประจำ เช่นมีสินค้าใหม่ๆ, มีการเปลี่ยนแปลงโปรโมชัน การแปลี่ยนแปลงข่าวสารหน้าเว็บเป็นประจำ ก็แสดงให้เห็นว่าเจ้าของร้านดูแลหน้าเว็บไซต์เป็นประจำ ทำให้เรามั่นใจได้มากขึ้น

11.ดูว่ามีลูกค้าที่เคยซื้อสินค้ากับร้านนี้หรือไม่ ลองเช็กได้ทางเว็บบอร์ดของทางร้าน (หากมี) หรือลอง email ติดต่อไปหาคนที่เคยซื้อไป ว่าบริการของร้านค้าเป็นอย่างไรบ้าง เราจะได้มั่นใจมากขึ้น

12.เช็กเบอร์ติดต่อของร้านค้า หากมีเบอร์ที่เป็น 02 หรือเบอร์บ้านจะมีความน่าเชื่อถือมากกว่า เพราะมีที่อยู่หลักแหล่งแน่นอน ในเว็บไซต์ควรมีที่อยู่ของธุรกิจแสดงอยู่ เพื่อบ่งบอกว่าร้านค้าหรือเจ้าของร้านอยู่ที่ไหน จะดีกว่าเว็บไซต์ที่ไม่แสดงข้อมูลที่อยู่จริงๆ

13.หากเว็บไซต์นั้นๆ มีการจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ก็จะน่าเชื่อถือมากขึ้น เช็กและตรวจสอบได้ที่ http://www.dbd.go.th/edirectory

14.ชำระเงินด้วยบัตรเครดิต (หากร้านค้ารองรับ) เพราะหากมีปัญหา เราสามารถดึงเงินกลับได้เพราะเป็นการชำระเงินแบบ “เครดิต” ซึ่งแตกต่างกับการจ่ายเงินสด หรือโอนเงิน เพราะหากจ่ายไปแล้ว แล้วผู้ขายเอาเงินออกไป ก็ยากที่จะไปเอาเงินคืน

ผู้ซื้อสินค้ารายหนึ่งยอมรับว่า “การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ขายด้วยวิธีการนี้ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกหลอกได้ในระดับหนึ่ง ทำให้เรามั่นใจว่าเงินที่เราจ่ายไปจากการสั่งซื้อสินค้านั้น เราจะได้รับสินค้าจริง เพราะระยะหลังสินค้าหลายรายการต้องทำรายการผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ได้สินค้าในราคาที่ถูกกว่าหน้าร้านอย่างกลุ่มวัสดุก่อสร้าง”
ผู้เสียหายจากการซื้อบัตรชมคอนเสิร์ตในอดีต
หลอกขาย “บัตรคอนเสิร์ต” ฮอต

เจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) กล่าวว่า กรณีที่ถูกหลอกมากที่สุดในขณะนี้คือบัตรคอนเสิร์ตทั้งในและต่างประเทศที่มาแสดงในประเทศไทย คนที่อยากดูแล้วจองบัตรไม่ทัน ก็จะมีพวกมิจฉาชีพมาประกาศขายกันตามโซเชียลเน็ตเวิร์ก ใครที่อยากได้ก็ต้องโอนเงินเข้าไป มีทั้งบัญชีธนาคาร หรือบางรายที่กำหนดให้โอนเงินผ่านบัตรเติมเงิน โดยในรายหลังนี้การติดตามจับกุมจะทำได้ยากกว่าหากเกิดปัญหาการฉ้อโกง นอกนั้นจะเป็นเรื่องของการหลอกลวงซื้อสินค้าทั่วไป

ส่วนการดำเนินคดีนั้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจในหน่วยงานดังกล่าวยอมรับว่า หากช่องทางที่คนร้ายใช้เป็น IP ที่มาจากต่างประเทศ การดำเนินการจะทำได้ลำบาก การขอความร่วมมือให้ลบหรือสกัดกระทำได้ยาก และคนที่เขาค้าขายผ่านออนไลน์ที่สุจริตก็มี

การหลอกลวงมีหลายรูปแบบมีทั้งปลอมเว็บไซต์ ปลอม e-mail ปลอมเฟซบุ๊ก ปลอม IG หรือปลอม Line โดยจะมีการเปลี่ยนเนื้อหาในการโกงไปตามความชำนาญของคนร้าย ทั้งหาคู่ต่างชาติ หรือถูกรางวัลแต่ต้องจ่ายภาษี หรือติดขัดสินค้าที่ศุลกากรต้องมีค่าธรรมเนียม แต่ที่เหมือนกันคือต้องการให้เหยื่อโอนเงินไปให้จากนั้นก็จะปิดบัญชีหรือหนีไป

ในการฉ้อโกงนั้นบางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้สื่อออนไลน์ลงประกาศขายสินค้าเท่านั้น เพียงแต่ใช้เป็นเครื่องมือในการล่อให้เหยื่อมาติดกับหรือใช้เป็นช่องทางในการโน้มน้าวให้เหยื่อโอนเงินเข้ามา เช่น บางรายที่ไปขอสินเชื่อกับผู้ให้บริการปกติ แต่เจ้าหน้าที่ในนั้นต้องการหลอกเอาเงินจากผู้ใช้บริการอาจใช้เครื่องมือสื่อสารเหล่านี้แจ้งเรื่องว่าติดขัดในขั้นตอนต่างๆ หากต้องการลัดคิว ให้เหยื่อโอนเงินเข้ามาเป็นค่าดำเนินการ หรือบางแห่งไม่มีบริการดังกล่าวอยู่จริงแต่อ้างว่าต้องโอนค่าดอกเบี้ยมาก่อนจึงจะอนุมัติเงินกู้ เป็นต้น

พวกมิจฉาชีพเหล่านี้มักจะใช้เว็บไซต์ดังๆ ที่เปิดให้มีการฝากประกาศต่างๆ เป็นช่องทางในการล่อเหยื่อ เพราะเว็บเหล่านี้มีความน่าเชื่อถือ โดยที่เจ้าของเว็บไซต์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหลอกลวงดังกล่าว
สั่งซื้อไอโฟนสุดท้ายได้แค่ก้อนหิน
“ของถูก-ของหิ้ว” ดูดผู้ซื้อง่าย

แหล่งข่าวด้านการตลาดรายหนึ่งกล่าวว่า การสื่อออนไลน์ในปัจจุบันเพื่อการหลอกลวงนั้นมีมากขึ้นตามสภาพการเข้าถึง เกือบทุกบ้านต้องใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อใช้สำหรับการเรียนของลูกหลานในปัจจุบัน การเปลี่ยนมาเป็นระบบ 3G ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย สมาร์ทโฟนจะมีมากขึ้นเพื่อเปลี่ยนมาทดแทนเครื่องระบบเดิม การเปิด Wifi ฟรีในหลายพื้นที่ ทำให้การเข้าถึงในภาคประชาชนมีมากขึ้น และเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพเหล่านี้มีมากขึ้นตามไปด้วย

การนำเอาราคาสินค้าถูกมาเป็นตัวล่อถือเป็นวิธีการหลักที่นำมาใช้ล่อลูกค้า กลุ่มสินค้าที่หิ้วมาจากต่างประเทศ สินค้าปลอดภาษี ราคาถูกกว่าในเมืองไทยจะเป็นสินค้าที่ขายดีสำหรับทางออนไลน์ ผู้ซื้อคงต้องพิจารณาข้อมูลรอบด้านก่อนตัดสินใจซื้อ

อีกกรณีหนึ่งเป็นการทำการค้าออนไลน์ปกติ เช่น รับจองโรงแรมและทัวร์ในพื้นที่ จองตั๋วเครื่องบินราคาถูก ที่ทำโดยสุจริตก็มีที่คนจองกันมากๆ เพราะใช้บริการได้จริง แต่รายที่เกิดปัญหานั้นเป็นเรื่องของปัญหาส่วนตัว แล้วนำเงินของลูกค้าไปหมุนในส่วนอื่น สุดท้ายจึงเกิดปัญหา แต่ก็มีบางรายที่สร้างเรื่องขึ้นมา ไม่มีการให้บริการจริง

“ก่อนจะตัดสินใจซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์นั้น ที่มีปัญหาน้อยมักเป็นสินค้าที่มีราคาไม่สูง อย่างกลุ่มสินค้าแฟชั่น โดยดูจากความถี่ในการโพสต์สินค้า ดูจากการเข้ามาตอบคำถามลูกค้า บางรายแจ้งเรื่องการจัดส่ง หรือตรวจสอบการแจ้งเตือนถึงร้านค้าดังกล่าวบนอินเทอร์เน็ต เพราะถ้ามีผู้เสียหายจากร้านดังกล่าวก็มักจะมาโพสต์แจ้งเตือนลูกค้ารายอื่นๆ ตรงนี้จะช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกโกงได้”

สำหรับสินค้าที่มีราคาสูงนั้นไม่ว่าจะเป็นสินค้าใหม่หรือสินค้ามือสอง วิธีการที่ดีที่สุดคือการนัดเจอเพื่อรับสินค้าและชำระเงิน โดยผู้ซื้อจะได้ตรวจสอบสินค้าดังกล่าวได้จนเป็นที่พอใจ และผู้ขายจะได้รับการชำระเงินทันทีจากผู้ซื้อ ส่วนลูกค้าที่ไม่สะดวกแต่ต้องการสั่งซื้อสินค้าดังกล่าวด้วยการโอนเงินและส่งมอบสินค้าทางไปรษณีย์ กรณีนี้ต้องวัดดวงว่าผู้ขายจะดำเนินการอย่างสุจริตหรือไม่ แม้จะป้องกันด้วยการชำระเงินปลายทางเมื่อได้รับสินค้า แต่ภายใต้ระเบียบของไปรษณีย์นั้นผู้ซื้อต้องชำระเงินดังกล่าวก่อนรับของ และไม่สามารถแกะกล่องสินค้าออกดูก่อนชำระเงินได้

ดังนั้นปัญหาการฉ้อโกงจากการซื้อสินค้าออนไลน์จะยังคงมีอยู่ต่อไป ตราบใดผู้ซื้อไม่ระมัดระวัง ไม่รอบคอบในการตรวจสอบความน่าเชื่อถือก่อนซื้อสินค้า

กำลังโหลดความคิดเห็น