xs
xsm
sm
md
lg

ถึงคิว “เขายายเที่ยง-เขาสอยดาว” ทหารพบ “ทุนใหญ่-ผู้มากบารมี” บุกรุกอื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เจาะลึกแผนยึดที่ดินของรัฐคืน ตั้ง 3 ชุดใหญ่ “ไล่ล่าจัดหา-จัดที่ดิน-ส่งเสริมอาชีพ” ด้าน “บิ๊กตู่” ลั่นอย่าให้ “เปิดศึกหลายด้าน” เน้นจัดการพวกรายใหญ่ นายทุน บิ๊กข้าราชการและคนมีบารมี ส่วนประชาชนพักไว้ก่อน ด้านทหารเล็งที่ดินเขายายเที่ยง เขาสอยดาว ที่พบบรรดาทุนบุกรุกเข้าถึงอุทยาน ส่วนที่รถไฟ ธนารักษ์ ทั่วประเทศ หมดสัญญายึดคืนนำมาจัดระเบียบใหม่ ไม่ใช่ “เช่าถูกๆ” อีกต่อไป

การตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ป่านับเป็นนโยบายที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เห็นได้จากแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2557 มีกองอำนวยการรักษาความสงบภายใน (กอ.รมน.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก

ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าคงเหลือ 102.1 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 31.57 ของพื้นที่ประเทศ แผนแม่บทดังกล่าวได้กำหนดเป้าหมายคือ การพิทักษ์รักษาป่าไม้ให้มีสภาพสมบูรณ์ ให้ได้พื้นที่ป่าไม้อย่างน้อยร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ภายใน 10 ปี โดยมีการดำเนินงานเป็น 3 ระยะคือ

1.เพื่อหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า และทวงคืนผืนป่าจากผู้บุกรุก ครอบครอง ให้ได้ตามที่เป้าหมายกำหนดภายใน 1 ปี

2.เพื่อให้มีระบบบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และยั่งยืน ภายใน 2 ปี

3.เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าในพื้นที่ป่าเป้าหมายทั่วทั้งประเทศให้มีสภาพที่สมบูรณ์ ภายใน 2-10 ปี

แม้กระทั่งคําแถลงนโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อ 12 กันยายน 2557 ในนโยบาย 11 ด้าน ยังบรรจุเรื่องดังกล่าวไว้ในการแถลงครั้งนี้ ในนโยบายที่ 3 ด้านการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ

ข้อ 3.7 ระบุว่า แก้ปัญหาการไร้ที่ดินทํากินของเกษตรกรและการรุกล้ำเขตป่าสงวน โดยการกระจายสิทธิการถือครองให้แก่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้รุกล้ำ และออกมาตรการป้องกันการเปลี่ยนมือไปอยู่ในครอบครองของผู้ที่มิใช่เกษตรกร ใช้เทคโนโลยีดาวเทียมสํารวจและวิธีการทำแผนที่ที่ทันสมัย แก้ไขปัญหาเขตที่ดินทับซ้อนและแนวเขตพื้นที่ป่าที่ไม่ชัดเจน อันก่อให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ

ดังนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักจึงตกอยู่กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการ

ตรวจทั้ง 2 ฝ่าย

ปฏิบัติการเข้าตรวจสอบพื้นที่ต่างๆ ที่คาดว่าจะมีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนจึงดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่เป็นข่าวฮือฮาและเป็นที่สนใจของผู้คนทั่วไปนั่นคือการเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ภายในรีสอร์ตดัง โบนันซ่า เขาใหญ่ ในสนามแข่งรถโบนันซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล สปีดเวย์ พบมีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนเกินกว่า 100 ไร่ โดยอยู่ระหว่างการชี้แจงสิทธิ์จากเจ้าของโครงการ

ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่ารีสอร์ตดังกล่าวเป็นของนายไพวงษ์ เตชะณรงค์ ผู้ที่สนิทสนมกับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ และยังเชื่อมต่อมายังพรรคไทยรักไทยของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร มาจนถึงปัจจุบัน เห็นได้จากการแสดงพลังของคนเสื้อแดงหลายครั้งเลือกใช้สถานที่แห่งนี้เป็นจุดนัดหมาย

จากนั้นเป็นการเข้าตรวจสอบ คีรีมายา รีสอร์ท ของนายกิตติ ธนากิตอำนวย ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเช่นกัน โดยลูกของกิตติคือ นายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย หรือ “ไฮโซนัท” ที่ประกาศตัวอย่างชัดเจนในช่วงการชุมนุมของ กปปส.ในฝั่งของกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ (ในขณะนั้น)

ขณะนี้กระบวนการในการตรวจสอบเอกสารสิทธิ หรือกระบวนการดำเนินคดีในทางกฎหมายของ 2 รีสอร์ตยังคงดำเนินการต่อไป รวมไปถึงพื้นที่อื่นๆ ที่ภาครัฐได้เข้าไปตรวจสอบ

ปฏิบัติการในครั้งนี้ของรัฐบาลกำลังทำให้คนในสังคมเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมืองไหน หากมีการกระทำผิดกฎหมายก็จะต้องถูกดำเนินการตรวจสอบและเอาผิดเช่นเดียวกัน หลังจากที่เป้าใหญ่คือโบนันซ่า ทำให้การเข้าดำเนินการดังกล่าวถูกมองว่ามีเรื่องทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการเร่งจัดการกับฝ่ายตรงข้ามนั่นคือกลุ่มคนของพรรคเพื่อไทย ดังนั้นการเข้าตรวจสอบคีรีมายาในเวลาต่อมาจึงดำเนินการเพื่อลบข้อครหาดังกล่าว
สนามแข่งรถโบนันซ่า ที่มีปัญหาเรื่องบุกรุกที่ป่าสงวน
เป้าหลักคือจัดสรรที่ทำกิน

นอกจากเป้าหมายในการยึดคืนพื้นที่ที่ถูกบุกรุกแล้ว ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย หารือกันเพื่อหาแนวทางจัดหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรในลักษณะที่ไม่ได้ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ให้กับประชาชนที่ยากจนไร้ที่ดินทำกิน

ที่จริงแล้วเรื่องการยึดพื้นที่คืนจากผู้บุกรุกกลับมาเป็นของรัฐนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ได้หารือกันเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2557 ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการแก้ปัญหาที่ดินทำกินให้กับราษฎรที่ยากจน ด้วยการตั้งคณะอนุกรรมการมา 3 คณะ ประกอบด้วย

คณะที่ 1 คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานอนุกรรมการ มีหน้าที่หลักในการสำรวจ ตรวจสอบ และจัดทำข้อมูลที่ดินและแผนที่ขอบเขตที่ดินที่จะจัดให้แก่ผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย พร้อมด้วยรายชื่อผู้ครอบครอง และส่งมอบให้คณะอนุกรรมการจัดที่ดินทำกินดำเนินการต่อไป โดยการจัดหาที่ดินจะเป็นการมอบให้ไปทำกิน ไม่ใช่การแจก

คณะที่ 2 คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย เป็นประธานอนุกรรมการ มีหน้าที่หลักในการจัดคนลงพื้นที่หลังจากคณะอนุฯ คณะที่ 1 จัดหาที่ดินแล้ว คณะอนุฯ ชุดที่ 2 จะพิจารณาจำนวนคนที่จะลงพื้นที่ให้เหมาะสมกับขนาด ลักษณะ ของพื้นที่ตามท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะมีบัญชีรายชื่อของราษฎรผู้ยากไร้อยู่แล้ว รวมทั้งจะมีรายชื่อของราษฎรที่บุกรุกพื้นที่ป่าที่ถูกผลักดันออกมา ที่คณะอนุฯ คณะที่ 1 ได้มอบให้ โดยทั้งหมดจะมีการพิจารณาจัดหาที่ดินให้เพื่อไปทำกิน

คณะที่ 3 คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ถ้ามี) ที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานอนุกรรมการ มีหน้าที่ทำงานคู่กับคณะอนุฯ คณะที่ 2 โดยจะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมของการทำเกษตรกรรมใดๆ ในแต่ละพื้นที่ และจะเป็นผู้จัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดินตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งพิจารณาจัดทำระบบสหกรณ์หรือระบบอื่นที่เหมาะสมตามลักษณะของพื้นที่อีกครั้ง

นอกจากนี้ยังมีในส่วนของเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นเครือข่ายอีกทางหนึ่ง ที่จะช่วยทั้งป้องกันและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีเครือข่ายลงไปในระดับหมู่บ้านช่วยกันสอดส่องดูแลอีกชั้นหนึ่ง
บ้านพัก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มีปัญหาเรื่องบุกรุกพื้นที่บนเขายายเที่ยง นครราชสีมา
“เขายายเที่ยง-เขาสอยดาว” คิวต่อไป

ในขั้นตอนคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินที่ถือเป็นด่านแรกนั้น จะมีทุกหน่วยงานกระทรวงต่างๆ ที่มีที่ดินถือครองอยู่ มาวางแผนร่วมกันและตรวจสอบว่าแต่ละหน่วยงานมีพื้นที่อยู่เท่าไหร่ ในส่วนนี้จะทำให้ทราบว่าหน่วยงานใดมีที่ดินที่พอจะนำไปจัดสรรได้

เมื่อแต่ละหน่วยงานเริ่มตรวจสอบพื้นที่ของตัวเอง ตรงนี้จึงทำให้พบว่าพื้นที่ของใครหายไปโดยเฉพาะกรมป่าไม้ที่มักมีปัญหาเรื่องการบุกรุกที่ป่าสงวน ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการตรวจสอบพื้นที่จริงว่ามีใครเข้าไปรุกล้ำพื้นที่ดังกล่าวและต้องดำเนินการตามกฎหมาย

นอกจากนี้ก่อนเข้าไปตรวจสอบ จะต้องตรวจสอบก่อนว่าที่ผืนที่ถูกบุกรุกดังกล่าวนั้นมีการดำเนินคดีหรือยัง หากดำเนินคดีก็ให้เป็นไปตามกระบวนการ แต่ถ้ายังไม่ดำเนินคดีก็จะต้องเรียกผู้ครอบครองให้มาพิสูจน์สิทธิ์ว่าครอบครองมาได้อย่างไร

อย่างไรก็ตามนโยบายของรัฐบาลนี้จะมุ่งไปที่กลุ่มนายทุนที่เข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าเป็นลำดับแรก ส่วนการบุกรุกในภาคประชาชนค่อยดำเนินการภายหลัง ทั้งนี้เป็นเพราะรัฐบาลไม่ต้องการเปิดศึกหลายด้าน และการจัดการกับกลุ่มทุนรายใหญ่จะมีพื้นที่ในการบุกรุกจำนวนมากกว่า หากดำเนินการได้จะได้พื้นที่คืนมาจำนวนมาก และจะพิจารณาคดีดังกล่าวด้วยความเป็นธรรม

“นายกฯ บอกในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ว่าทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันและช่วยกันจัดการทีละเรื่อง อย่าเปิดศึกหลายด้าน เพราะวันนี้ปัญหาเศรษฐกิจก็จะแย่อยู่แล้ว ถ้าช่วยกันนำที่ดินของรัฐกลับคืนมาได้จะเป็นประโยชน์มาก เพราะรัฐบาลอื่นๆ ทำได้ยาก”

เนื่องจากที่ผ่านมาเรื่องการจัดการที่ดินของไทยมีความซับซ้อน เช่น อยู่ก่อนประกาศเขตป่าสงวนหรืออยู่หลัง เอกสารสิทธิที่ได้มานั้นออกโดยชอบหรือไม่ รวมถึงการซื้อขายนั้นผู้ครอบครองเดิมมีสิทธิ์ขายหรือไม่ โดยจะยึดมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 30 มิถุนายน 2541 เป็นหลัก

หากทุกอย่างพิสูจน์แล้วว่าพื้นที่ดังกล่าวได้มามีเอกสารหลักฐานมาแสดงอย่างถูกต้อง ชอบธรรม ก็คงต้องให้สิทธิกับผู้ครอบครองเหล่านั้นดำเนินการต่อไป แต่หากได้มาอย่างไม่ถูกต้องก็ต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายจนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลออกมา

“ตอนนี้หน่วยงานของรัฐเตรียมดึงเอาพื้นที่ที่เคยมีข้อพิพาท เพราะทหารมีข้อมูลพื้นที่นี้ไว้แล้วอย่างที่เขายายเที่ยง นครราชสีมา ที่เคยเป็นบ้านพักของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และพื้นที่ในตำบลหนองสาหร่าย ปากช่องนครราชสีมา ที่วันนี้มีกลุ่มทุน นักการเมืองเข้าไปยึดครองกันมาก หรือพื้นที่สนามกอล์ฟสอยดาวไฮแลนด์ อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ของคนในตระกูลโสภณพนิช และพื้นที่อื่นของหน่วยงานต่างๆ ที่ถูกบุกรุก ทั้งของการรถไฟแห่งประเทศไทยหรือกรมธนารักษ์ที่จะต้องนำมาบริหารจัดการกันใหม่”

อีกส่วนหนึ่งสำหรับการจัดการเรื่องของที่ดินของรัฐ เฉพาะส่วนในเมืองที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบุกรุก เช่นที่เช่าเดิม หากครบสัญญาก็คงต้องพิจารณาอัตราค่าเช่ากันใหม่ในราคาที่เป็นจริง หรือที่ของหน่วยงานราชการที่เคยขอใช้พื้นที่จากทางธนารักษ์หรือการรถไฟแห่งประเทศไทย ปัจจุบันมีหลายส่วนงานที่ย้ายไปใช้พื้นที่อื่น ที่ที่ว่างนั้นต้องมาพิจารณากันอีกว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ในทางใด
การรื้อร้านค้าที่ตำบลหนองสาหร่าย นครราชสีมา
ยึดที่คืนแต่อาจไม่ได้ป่าคืน

“เรียนตามตรงว่าในกรณีที่กลุ่มทุนที่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแล้วผลออกมาว่ากระทำผิด แน่นอนว่าพื้นที่ที่รุกล้ำนั้นต้องกลายมาเป็นของรัฐตามเดิม แต่การที่จะแก้ปัญหาหลังจากนั้นคงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของระดับรัฐบาลว่าจะดำเนินการกับสภาพของพื้นที่ที่ได้คืนมานั้นอย่างไร” หนึ่งในคณะทำงานด้านตรวจสอบการบุกรุกที่ดินของรัฐกล่าว

การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเหล่านั้นเพียงอย่างเดียว อาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เนื่องจากมีสภาพที่เชื่อมต่อกับองค์ประกอบเดิมที่กลุ่มทุนมีอยู่แล้ว จึงอาจต้องมาหารือกันว่าจะจัดการกับพื้นที่ที่ได้คืนมาอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หากพิจารณาแล้วเห็นว่ารื้อถอนแล้วปลูกเป็นป่าใหม่ก็เป็นแนวทางหนึ่ง อีกแนวทางหนึ่งอาจใช้วิธีที่คิดค่าเช่าจากกลุ่มทุนเหล่านั้นแทน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมและความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ

ที่ผ่านมาในคดีเดิมๆ กับการเข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนนั้น ส่วนใหญ่มักเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง มีตำแหน่งและบารมีสูงด้วยกันแทบทั้งสิ้น มีทั้งส่วนที่เป็นนักการเมืองและไม่ใช่นักการเมือง การเข้ามาครอบครองมีทั้งทางตรงและทางอ้อม ถามว่ากรมป่าไม้ทราบหรือไม่ว่ามีการบุกรุก ตอบเลยว่าทราบ แต่ด้วยปัจจัยทางการเมือง การดำเนินการทางกฎหมายนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลในแต่ละยุคว่าใครเป็นพวกใคร

เจ้าหน้าที่ที่ลงไปปฏิบัติงานหากมีการเปลี่ยนรัฐบาล โดยฝ่ายที่เคยถูกดำเนินการกลับมาเป็นรัฐบาลใหม่ เรื่องที่เคยตรวจสอบก็จะเงียบหายไป รวมไปถึงความมั่นคงในการทำงานของเจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวก็จะเหลือน้อยลง ปัญหานี้จึงแก้ไขได้ลำบาก

เช่นเดียวกับขั้นตอนในการดำเนินคดี เนื่องจากประเทศไทยไม่มีการเก็บข้อมูลพื้นที่ป่าอย่างเป็นระบบ กฎหมายที่ออกมาตามหลังจากการเข้าครอบครองในอดีตทำให้กลายเป็นจุดอ่อนในทางคดี รวมไปถึงกระบวนการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ ทำให้หลายคดีไม่สามารถเอาผิดในทางอาญาได้ อย่างมากก็แค่ได้พื้นที่คืนไปบางส่วน

อย่างกรณีของโบนันซ่าถ้ากลุ่มทุนสามารถไปสืบหาคนที่ขายมาได้แล้วให้การต่อศาลว่าเดิมเป็นที่ครอบครองมาตั้งแต่บรรพบุรุษมายืนยัน การเอาผิดก็จะทำได้ยาก หรือถ้าได้พื้นที่คืนมาบางส่วนเช่น ครึ่งหนึ่งของสนามแข่งรถ ถามว่าภาครัฐจะรื้อสนามแข่งรถส่วนที่เกินออกมาแล้วปลูกเป็นป่าทดแทนหรือไม่ สุดท้ายก็หนีไม่พ้นที่จะต้องมาบริหารพื้นที่ร่วมกัน กลายเป็นรัฐได้พื้นที่คืนแต่ไม่ได้ป่าคืน

กำลังโหลดความคิดเห็น