xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” เรียกปรับทัศนคติได้ผล- “เด็กแม้ว” หัวหดกลัวถูกยึดทรัพย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คนเพื่อไทยยอมรับมาตรการ คสช. เรียกรายงานตัวได้ผล กลับมาสงบลงเยอะ เผยไม่มีเรื่องการข่มขู่หรือคุกคามใดๆ คุยด้วยเหตุผลให้เห็นกับประเทศชาติ ยอมรับขาประจำที่วิพากษ์รัฐบาลมีทั้งทำด้วยอุดมการณ์ ที่เหลือน้อยในพรรค และส่วนที่ทำไปเพื่อโชว์นาย ชำแหละพวกขาลุยวันนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน มีทรัพย์สินเงินทองมาก ไม่ทุ่มสุดตัว เหตุกลัวถูกยึดทรัพย์ กลายเป็นจุดอ่อนที่รัฐบาลใช้กำราบอยู่หมัด

หลังจากการเข้ายึดอำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปฏิกิริยาในการออกมาต่อต้าน คสช.แม้จะมีให้เห็นบ้าง แต่กระบวนการในการเข้ายุติปัญหาของ คสช. สามารถทำได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดงและสมาชิกพรรคเพื่อไทย ที่มักออกมาแสดงความเห็นตามสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงต่างๆ ไม่ว่าเป้าหมายจะเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจหรือมุ่งไปที่การลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

การเชิญตัวบุคคลดังกล่าวเข้ามาปรับทัศนคติ นับว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยหยุดหรือลดพฤติกรรมดังกล่าวลง ทั้งนี้สมาชิกพรรคเพื่อไทยในระดับนำมีทั้งถูกควบคุมตัวและเชิญไปรายงานตัวช่วงหลังจากการยึดอำนาจ บางรายที่ไม่ยอมไปรายงานตัวก็ถูกจับกุม แต่ส่วนใหญ่ได้รับการปล่อยตัวออกมาทั้งหมด

เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยเริ่มเข้าสู่มุมอับ จากการที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติถอดถอนออกจากตำแหน่งเมื่อ 23 มกราคม 2558 แกนนำคนสำคัญของพรรคเพื่อไทยได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว เพราะนั่นหมายถึงสถานะทางการเมืองของนางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องถูกเว้นวรรคไป 5 ปี

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับพรรคเพื่อไทยกับการที่จะกลับมาลงสนามการเมืองในครั้งต่อไปว่า นายใหญ่อย่างทักษิณ ชินวัตร จะชูใครมาเป็นแม่เหล็กในการเรียกศรัทธาจากฐานเสียงที่ชื่นชอบ เพราะคนในตระกูลชินวัตรที่ยังเหลืออยู่ในเวลานี้แม้จะยังมีนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวซึ่งเป็นภรรยาของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แต่ภาพลักษณ์นั้นยังคงเป็นที่กังขาของผู้คนในสังคม

ขณะเดียวกันภายใต้ช่วงที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ได้ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเนื้อหาของรัฐธรรมนูญจากกลุ่มการเมืองทั้ง 2 ฝ่ายที่จะได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะมาบังคับใช้ในอนาคต โดยเฉพาะจากฟากฝั่งพรรคเพื่อไทยสมาชิกในระดับนำของพรรค

เชิญแกนนำหารือปรองดอง

จากนั้น 23 เมษายน 2558 ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ได้มีหนังสือเชิญนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค แกนนำพรรคเพื่อไทย เช่น นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายภูมิธรรม เวชยชัย นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล แกนนำกลุ่ม นปช. เช่น นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. นางธิดา ถาวรเศรษฐ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายวรชัย เหมะ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด นักวิชาการทั้งกลุ่มนิติราษฎร์ และอื่นๆ นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมือง นักศึกษา คอลัมนิสต์บางส่วน เข้าพูดคุยรับฟังความคิดเห็นในการกำหนดแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เสริมสร้างความสามัคคี และความปรองดองสมานฉันท์ให้กับคนในชาติ ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม กล่าวว่า ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฎิรูป (ศปป.) ได้มีหนังสือเชิญแกนนำพรรคการเมือง นักวิชาการ และ สปช.เข้าหารือ เพราะทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยากให้ทุกฝ่ายมาดูว่าเราทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความปรองดองอย่างยั่งยืนในอนาคต เชิญมาเพื่อเสนอแนะแนวทางไม่ได้มีอะไรมากมาย บางคนไปพูดว่าจะเรียกมาจับกุม ไม่มี เป็นการระดมความเห็นเท่านั้น
ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป เชิญกลุ่มการเมืองหารือแก้ปัญหาความขัดแย้ง
10 เพื่อไทย-สงบ

แตกต่างจากครั้งก่อนที่มีการเรียกบุคคลที่ส่วนใหญ่เป็นคนจากพรรคเพื่อไทยเข้ามาทำความเข้าใจและปรับทัศนคติ หลังจากที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองตามช่วงเวลาต่างๆ ก่อนหน้านี้บรรดาสมาชิกคนสำคัญของพรรคเพื่อไทยได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยจากการถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ด้วยแง่มุมต่างๆ จนต้องถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติเชิญตัวบุคคลเหล่านี้มาเพื่อปรับทัศนคติและทำความเข้าใจ

บุคคลแรกที่ออกมาวิจารณ์ในเรื่องดังกล่าวคือ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย

โดยกองทัพภาคที่ 1 ได้เชิญตัวมาหลังจากที่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้โพสต์ความเห็นบนเฟซบุ๊กว่า กรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีปล่อยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวว่า การถอดถอนครั้งนี้ขัดหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมอย่างสิ้นเชิง ใครที่รักความถูกต้องไม่อาจยอมรับได้ วัตถุประสงค์ของการถอดถอนครั้งนี้ คือ การกำจัดตระกูลชินวัตรให้พ้นไปจากการเมือง และทำลายศักยภาพของพรรคเพื่อไทย เป็นผลจากการรัฐประหาร

ถัดมาเป็นคิวของ ดร.สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่าอาจจะเป็นไปได้ที่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะอยู่นานเกินกว่าที่ตั้งโรดแมปไว้ หากยังมีการยั่วยุ และปลุกปั่น ขัดขวางการทำงานของรัฐบาล หรือยังมีความเคลื่อนไหวในการก่อความไม่สงบว่า ถ้ารัฐบาลและ คสช. จะอยู่เกินโรดแมปที่ตั้งไว้ ก็ต้องออกมาบอกและอธิบายให้ชัดเจน โดยเฉพาะกับชาวต่างชาติ เพราะก่อนหน้านี้เคยประกาศชัดเจนแล้วว่าจะทำตามโรดแมปที่วางไว้ แต่เมื่อมีหมอดูบอกว่าให้อยู่ต่อก็ต้องบอกอธิบายให้เข้าใจ

ตนไม่แปลกใจหากบอกว่ารัฐบาลอาจจะอยู่ต่อเกินโรดแมป เพราะตั้งแต่ คสช. และรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ก็มีคำพูดชัดเจนว่าหากรัฐธรรมนูญไม่เสร็จหรือร่างรัฐธรรมนูญออกมาไม่ถูกใจจะตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ เพื่อเขียนร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ แสดงว่ามีเจตนาที่จะอยู่นานอยู่แล้ว ซึ่งเราไม่ได้กังวลว่ารัฐบาลจะอยู่นานเพราะรู้ว่าตั้งใจอย่างนั้นอยู่แล้ว
ผลการถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำให้คนในพรรคเพื่อไทยออกมาวิจารณ์รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
โชว์นาย-ไม่ให้ลืม

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ

โดยได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "การแสดงความกังวลต่อกฎอัยการศึกของนายแดเนียล รัสเซล แล้วถูกตั้งคำถามกลับจากทางการไทยว่า ถ้าอเมริกาเป็นแบบเราบ้างจะทำอย่างไร เป็นข่าวใหญ่หลายฉบับ รัฐบาลแสดงออกคล้ายกับว่าเขาจนแต้มไม่มีคำตอบให้ แต่ผมเห็นว่าเขาเลือกที่จะเงียบตามมารยาททางการทูต เพราะถ้าตอบเขาคงบอกว่า "ไม่มีทางที่ประเทศเขาจะเป็นแบบนี้"

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช และคณะทำงานทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาระบุว่าเศรษฐกิจของประเทศแย่ และยังวิจารณ์ในเรื่องนโยบายพลังงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ รวมถึงภาพลักษณ์ประเทศไทยในสายตาประชาคมโลก

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด เป็นแกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง เว็บมาสเตอร์ของเว็บไซต์เพื่อสังคมหลายแห่ง และอดีตประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา แม้ในรอบนี้จะยังไม่ถูกเชิญตัวเข้ามาปรับทัศนคติแต่บทบาทที่ผ่านมามักเข้าไปเกี่ยวข้องกับการออกมาต่อต้านรัฐประหารของกลุ่มนักศึกษา อีกทั้งยังจัดทำข้าวถุงลายจุด ออกจำหน่าย

พร้อมทั้งวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลไม่จริงใจต่อการช่วยเหลือชาวนา รัฐบาลใหม่นี้ไม่มีโครงการรับจำนำข้าว ตนเลยอยากทำข้าวตราลายจุดวางจำหน่าย เพราะมีชาวนามาบ่นให้ฟังว่า ข้าวราคาถูกมาก เหลือประมาณตันละ 6,000 กว่าบาท ตนรู้สึกสะเทือนใจจริงๆ จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ราคาข้าวเพิ่มขึ้นและสร้างคุณภาพชีวิตให้ชาวนาได้บ้าง โดยข้าวถุงนี้จะซื้อจากชาวนาในราคา 15,000 บาทต่อเกวียน แบบเดียวกับโครงการรับจำนำข้าว จำหน่ายในราคา 200 บาทต่อถุง 5 กิโลกรัม

พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายสมบัติยังอยู่ในรายชื่อผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองที่เคยถูกเรียกปรับทัศนคติ และรับปากกับฝ่ายความมั่นคงว่าจะไม่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองให้เกิดความวุ่นวายอีก ดังนั้น การออกมาเคลื่อนไหวแบบไม่สร้างสรรค์เช่นนี้ อาจทำให้เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องทบทวนมาตรการที่ใช้กับนายสมบัติต่อไป

หาจังหวะโชว์

นายวรชัย เหมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ เขต 4 ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี พ.ศ. 2554 สังกัดพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาแสดงความเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่ให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด หรือองค์กรอิสระที่ยังให้คนเก่าดำรงตำแหน่งได้ต่อ รวมถึงกรณีที่รัฐบาลไม่มีอำนาจโยกย้ายข้าราชการได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนปิดบังอำนาจของประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยมากกว่าเดิม

อีกทั้งยังกล่าวถึงกรณีคนร้ายลอบวางระเบิดหน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนว่า คิดว่าน่าจะเป็นฝีมือของคน 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ต้องการให้คงกฎอัยการศึกไว้ โดยอ้างว่ายังมีเหตุรุนแรงอยู่ และ 2.กลุ่มที่มีอำนาจไม่พอใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ต้องการลองของประลองกำลัง เพื่อสร้างสถานการณ์ ส่งสัญญาณไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ ฉะนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มีคนจงใจสร้างให้เกิดขึ้น

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แกนนำเสื้อแดงคนสำคัญ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ถูกเตือนจาก คสช.อาจถูกเรียกเข้ามารายงานตัว จากการแสดงความเห็นทั้งเรื่องเหตุระเบิดที่ศาลอาญาว่าเป็นการจัดฉากของเจ้าหน้าที่ หรือการกล่าวถึงกรณีของนางสาวยิ่งลักษณ์ว่า หากอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงรายนี้ต้องติดคุกจริง คุกแตกแน่นอน

นอกจากนี้ยังมีความพยายามที่จะจัดงานของคณะกรรมการญาติวีรชน 10 เมษายน 2558 แต่ถูกระงับไป

นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้อีสาน อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคไทยรักไทย แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แม้จะไม่มีบทบาทในการออกมาต่อต้านหรือแสดงความคิดเห็นต่อการรัฐประหาร หลังจากที่ออกมาประกาศยุติบทบาททางการเมือง ภายหลังถูกเรียกรายงานตัวเมื่อครั้งมีการยึดอำนาจ แต่ถือว่าในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองก่อนหน้านี้สุภรณ์มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น

อีกทั้งยังเคยเข้าร่วม "มหกรรมปรองดองสมานฉันท์คืนความสุขให้ประชาชน" กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อ 22 กรกฎาคม 2557 โดยมีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย แกนนำ กปปส. และอดีต ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ แกนนำ นปช.คนเสื้อแดง

นายสิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทยและหนึ่งในทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ถูกเชิญเข้ามาทำความเข้าใจกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หลังจากที่โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอความร่วมมือไม่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนหลัง สนช. ลงมติถอดถอนเมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นยังคงให้ข่าวกับสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายและสมาชิกพรรคเพื่อไทย ถูกเชิญตัวไปปรับทัศนคติดเช่นกัน เนื่องจาก นายเรืองไกร ได้ส่งหนังสือถึง นายแพทริค เมอร์ฟีย์ อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย โดยชี้แจงสถานการณ์ในไทยและให้ความชัดเจนแก่สหรัฐฯ ว่าการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องการเมือง พร้อมวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล
แกนนำพรรคเพื่อไทยที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล
เพื่อไทยวันนี้-กลัวถูกยึดทรัพย์

“คนที่ถูกเรียกให้เข้าไปรายงานตัวกับทาง คสช. เมื่อกลับมาแล้ว ส่วนใหญ่จะเบาลงเกือบทุกราย ไม่ได้มีการข่มขู่หรือคุกคามใดๆ เพียงแต่ขอความร่วมมือเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง หากเป็นพื้นที่ตามต่างจังหวัด นายทหารที่รับรายงานตัวก็รู้จักกันดี เป็นพี่เป็นน้องกันทั้งนั้น เพียงแต่เขาต้องทำตามหน้าที่ที่ผู้บังคับบัญชากำชับมา หากเราไม่ร่วมมือทั้งเขาและเราก็มองหน้ากันลำบาก” แหล่งข่าวจากคนเสื้อแดงกล่าว

สอดคล้องกับสมาชิกพรรคเพื่อไทยรายหนึ่งที่กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กลุ่มบุคคลที่ถูกเรียกรายงานตัวหรือเรียกไปปรับทัศนคติเพิ่มเติมนั้น เป็นผลมาจากการแสดงความคิดเห็นในทางการเมืองที่อาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ฝ่ายทหารไม่ได้มีการข่มขู่หรือคุกคามใดๆ เพียงแต่ไปพูดคุยและทำความเข้าใจระหว่างกัน โดยขอให้เห็นกับความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เพราะแต่ละท่านถือว่ามีวุฒิภาวะกันแล้ว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเรียกเข้าไปรายงานตัวนั้น บางคนกังวลว่าอาจต้องพักอยู่ในค่ายทหารเหมือนในช่วงแรก ทำให้การใช้ชีวิตไม่สะดวก อีกทั้งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติกับนายกรัฐมนตรีเป็นคนคนเดียวกัน ทุกคนก็รู้ดีว่าท่านมีอำนาจเต็มมือ โดยเฉพาะอำนาจทางด้านกฎหมาย แต่บางคนกังวลไปไกลถึงเรื่องความปลอดภัย

จะเห็นได้ว่าคนที่ออกมาแสดงความเห็นในทางการเมืองนั้น จะแบ่งเป็นช่วงๆ บางคนแสดงความเห็นที่อิงหลักวิชาการมาตลอดอย่างนายจาตุรนต์ ฉายแสง แต่บางคนก็ออกมาเฉพาะในช่วงที่สร้างผลงานให้กับตัวเองได้ อย่างช่วงที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ถูกถอดถอนบางคนออกมาเพื่อแสดงให้นายใหญ่เห็นว่าเขายังพร้อมทำงานให้พรรคเพื่อไทยอยู่ หลังจากนั้นก็จะเงียบหายไป

คนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เขาไม่ได้กลัวเรื่องมาตรา 44 แต่สิ่งที่เขากลัวมากที่สุดคือเรื่องความปลอดภัยและการถูกยึดทรัพย์

จะเห็นได้ว่าพลเอกประยุทธ์ออกมาพูดว่า “ถ้าคนที่เคลื่อนไหวยังไม่หยุด จะห้ามออกนอกประเทศ ตรวจสอบทางการเงิน และห้ามดำเนินการทางการเงินด้วย ที่ผ่านมามีการผ่อนผันการใช้กฎอัยการศึกษามาตลอด แต่ต่อไปจะเข้มข้นขึ้นตามสถานการณ์ของบ้านเมือง”

จึงทำให้หลายคนหยุดหรือเคลื่อนไหวเบาลง

เขากล่าวต่อไปว่า คนในเพื่อไทยมีหลายส่วน จะให้ต่อสู้เหมือนในอดีตนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ อย่างเมื่อปี 2549 2552 และ 2553 นั้น คนที่เดินหน้าชนกับอำนาจรัฐในขณะนั้น เป็นเพราะไม่มีอะไรจะเสีย แต่เมื่อเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาล คนที่สู้ในช่วงนั้นมีทรัพย์สินเงินทองมากขึ้น หากจะให้ไปสู้เหมือนเมื่อก่อน คงต้องคิดหนัก โดยเฉพาะหากถูกตรวจสอบเรื่องทรัพย์สิน ย่อมไม่คุ้มต่อการลงทุนลงแรงไป

ประการต่อมาต้องยอมรับว่าการเข้ายึดอำนาจในครั้งนี้ ฝ่ายทหารทำงานเป็นทีม มียุทธศาสตร์ นอกจากเรื่องของอำนาจที่มีอยู่ในมือแล้ว ยังมีเรื่องของการดำเนินการทางจิตวิทยาด้วย แปลงฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเข้ามาเป็นมิตร คนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยหันมาให้ความร่วมมือ แม้กระทั่งคนในเพื่อไทยบางคนก็หันไปสนิทสนมกับฝ่ายอำนาจรัฐมากขึ้น

นี่จึงถือว่าเป็นความสำเร็จของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ที่ใช้สยบความเคลื่อนไหวของฝ่ายที่ต่อต้าน

กำลังโหลดความคิดเห็น