xs
xsm
sm
md
lg

ทหารฉายภาพที่มาปัญหาเวที ศปป. “แม่ทัพภาค 1” เผย อาจจัดเวทีใหญ่รับฟังความเห็นร่าง รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เผย เวที ศปป. “ทหารฉายภาพเหตุการณ์ทางการเมือง” สรุปที่มาที่ไปปัญหา “แม่ทัพภาค 1” ระบุจะใช้อำนาจพิเศษตลอดไปไม่ได้ ขอร้องทุกฝ่ายให้ความเห็นร่าง รธน.สร้างสรรค์ ชี้อาจจัดเวทีใหญ่รับฟังความเห็นร่าง รธน. ด้าน “แม้น้องเกด” โวย! เวที ศปป. มีแต่ คสช. ถกกับ นักการเมือง “ปชป.” บอก “มาร์ค” เสนอ 2 ทางออกสร้างปรองดอง

วันนี้ (23 เม.ย.) มีรายงานว่า การหารือระหว่างตัวแทน ศปป. กับผู้ที่ถูกเชิญเข้ามาแสดงความคิดเห็น ที่สโมสรทหารบก เช้านี้ พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก เป็นประธานการพูดคุย โดยมี พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการพูดคุย โดยได้เปิดให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นคนละ 10 นาที

ระหว่างแลกเปลี่ยนความเห็น พล.ท.กัมปนาท กล่าวว่า เราจะใช้อำนาจพิเศษตลอดไปไม่ได้ แม้ว่าตอนนี้จะมีมาตรา 44 ก็ใช้เฉพาะกรณีจำเป็น พร้อมทั้งพยายามใช้กฎหมายปกติในการแก้ไขปัญหา เพราะที่ผ่านมาเราก็ถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนั้นเราจึงไม่ได้ดำเนินการเหมือนรัฐประหาร 2549 ที่ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.)

ทั้งนี้ ยังได้ขอให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการออกสื่อวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าต้องการเสนอแนะ ควรผ่านช่องทางที่ คสช. จัดให้ หรือเสนอตรงไปที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าเป็นไปได้อาจจะจัดเวทีเพื่อให้ทุกคนเสนอความเห็นโดยตรงกับกรรมาธิการยกร่างฯ

ทั้งนี้ ในวงหารือ ตัวแทนพรรคการเมือง มองว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำไปสู่ความขัดแย้ง และอาจย้อนกลับไปสู่การรัฐประหาร ขณที่ตัวแทน 4 พรรค แสดงความคิดเห็น โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เล่าว่า มีคนแก่เข้ามาบอกว่ารู้สึกดีใจที่ 2 พรรคการเมืองใหญ่ ร่วมมือกันต่อต้านเผด็จการ และที่ห่วงคือร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เสมือนเป็นระเบิดเวลาแห่งความขัดแย้ง เมื่อเข้าสู่โรดแมประยะที่ 3 รัฐธรรมนูญบังคับใช้แล้ว ทางรัฐบาลจะทำอย่างไร ถ้าไม่มีมาตรา 44 หรือกฎอัยการศึก แล้วจะคุมสถานการณ์ได้หรือไม่

ด้าน นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกฯ และแกนนำพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า วันนี้ทาง ศปป.ได้เชิญมาแสดงความคิดเห็นแนวทางสร้างความปรองดอง รวมถึงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งตนได้แสดงความเห็นว่าความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ กติกาต้องมีความเป็นธรรม รวมถึงร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังพิจารณาอยู่ จะต้องเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ นอกจากนี้ได้พูดถึงกระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมายต้องมีความเป็นธรรม และควรให้การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมที่ผ่านมาด้วย

“บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยดี ทาง ศปป. ได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เชิญมา โดยผู้ที่มาร่วมได้แสดงความเห็นอย่างหลากหลาย ขณะที่ทาง ศปป. ได้ชี้แจงการดำเนินการสร้างความปรองดองที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ที่สำคัญได้ขอความร่วมมือผู้ถูกเชิญในวันนี้ในส่วนของการแสดงความเห็นทางการเมือง อย่าให้เป็นไปในแนวทางสร้างความขัดแย้ง” นายพงศ์เทพ กล่าว

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จากการที่ตนได้เดินทางไปกับนายอภิสิทธิ์ และ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อประชุมร่วมกับศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) นั้น บรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย วงประชุมไม่ได้พูดคุยกันแบบดุเดือด หรือขัดแย้งกัน อะไรที่เห็นไม่ตรงกันก็มีการพูดคุยชี้แจงกันให้เข้าใจ ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารก็ได้เตรียมอาหารกลางวันเลี้ยง และได้เปิดให้แสดงความคิดเห็นคนละ 10 นาที พร้อมทั้งเปิดวีดีโอฉายภาพเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 49 จนถึงปัจจุบัน และสรุปที่มาที่ไปของปัญหาว่ามีอะไรบ้าง

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ ได้แสดงความเห็นว่า คำว่าปรองดองไม่ได้ให้ทุกคนต้องคิดเหมือนกัน การปรองดองคือทำอย่างไรให้คนที่คิดต่างอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่มีความรุนแรง ไม่ใช้กำลัง และเสนอแนวทางสร้างความปรองดองที่ต้องทำใน 2 เรื่องคือ

1. กระบวนการประชาธิปไตย เพื่อกำหนดทิศทางของประเทศ คือ ประชาธิปไตยอยู่ที่รัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี มีความก้าวหน้า ให้สิทธิแก่ประชาชนไม่น้อยกว่ารัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่มีกติกาที่เป็นธรรม ทั้งนี้ ถ้าการแก้ปัญหาครั้งนี้ ยังตั้งโจทย์ไม่ถูก คำตอบก็ไม่มีทางที่จะถูก

2 .กระบวนการยุติธรรม กำหนดความผิดถูกของคนในประเทศ คือ เรื่องที่ชี้ผิดชี้ถูกจะต้องเข้าสู่กระบวนการปรองดองสมานฉันท์ การจะนิรโทษกรรม จะมานิรโทษเลยโดยที่ไม่เข้ากระบวนการปรองดองไม่ได้ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่บอกว่ารัฐธรรมนูญยังเป็นต้นตอของความขัดแย้ง ซึ่ง นายจาตุรนต์ เห็นด้วยที่จะให้มีการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน

“ในวงหารือ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวยอมรับว่า เห็นต่างได้ แต่อย่าสร้างความรุนแรง และยังบอกอีกว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างอยู่ จะนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างหนัก รวมถึงไม่อยากให้รีบเลือกตั้งจนขาดสติ ล่าช้าไป 2 - 3 ปี ไม่เป็นไร แต่ขอให้ดี มีความเป็นธรรม รัฐธรรมนูญควรทำประชามติก่อน แม้จะต้องใช้งบประมาณถึง 3 พันล้านบาท ก็ตาม หากประชามติไม่ผ่าน รัฐธรรมนูญก็ร่างกันใหม่”

ส่วนทหารได้ขอความร่วมมืออะไรเป็นพิเศษหรือไม่ เช่นการห้ามให้สัมภาษณ์ นายวิรัตน์ กล่าวว่า ไม่ได้พูดขออะไร เพียงแต่บอกว่าจะประสานผู้มีอำนาจ ส่วนร่างรัฐธรรมนูญก็จะให้ทุกพรรคช่วยดูว่าจุดใดควรต้องแก้ไข นอกจากนี้ยังขอความเห็นแต่ละพรรคการเมืองในเรื่องของการจัดทำรัฐธรรมนูญด้วย.

อีกด้าน นางพะเยาว์ อัคฮาด หรือ แม่น้องเกด กล่าวว่า ที่เดินทางมาในวันนี้ เพราะอยากรู้ว่าโรดแมปที่จะมาสร้างความปรองดองจะออกมาในรูปแบบไหน แต่พอฟังหลาย ๆ คนที่พูดในห้องประชุม ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าตกลงจะเป็นการปรองดองกันระหว่างนักการเมือง กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เท่านั้นหรือ เพราะเรื่องของประชาชนแทบจะไม่มีการพูดถึงเลย หากรู้ว่าเป็นการปรองดองระหว่างนักการเมืองกับ คสช. จะได้ไม่เสียเวลามา

“ตอนท้ายได้ พูดในที่ประชุมว่า จากเหตุการณ์ปี 53 มองว่าทุกฝ่ายต่างผิดกันทั้งนั้น การจะปรองดองกันได้จะต้องมองกันที่ประชาชนก่อน กองทัพ และแกนนำกลุ่มต่างๆ ควรมีจิตสำนึกที่จะออกมาขอโทษประชาชนก่อน เพื่อจะทำให้เกิดความปรองดอง แต่ที่ผ่านมาเหมือนกับว่ากองทัพไม่ได้ให้ความสำคัญในจุดนี้เลย สรุปที่มาวันนี้ ไม่มีอะไรเป็นที่น่าพอใจเลยสักอย่าง ยังสงสัยอยู่ว่า ถ้าให้มาฟังนักการเมืองพูดแบบนี้จะปรองดองกันอย่างไร”


กำลังโหลดความคิดเห็น