xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าทางรอด “เอสเอ็มอี” พึ่งกำลังซื้อคนในประเทศ-เออีซี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุปนายกสมาคมการค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย แนะทางรอดฝ่ามรสุมเศรษฐกิจโลกในปี 58 ให้ความสำคัญกับการทำตลาดในประเทศ และการค้าชายแดน เพื่อเตรียมตัวรับเขตการค้าเสรีอาเซียน ที่กำลังจะเปิดในช่วงปลายปี โดยเน้นเจาะตลาดประเทศพม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา ที่นิยมนำเข้าอาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และสินค้าแฟชั่นเครื่องประดับจากประเทศไทย เชื่อมั่นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐจะเห็นผลลัพธ์ที่ดีภายในไตรมาสที่ 3 นี้

มรสุมทางเศรษฐกิจยังรุมเร้าผู้ประกอบการ “เอสเอ็มอี” ต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปี 2558 นี้ เพราะต้องเผชิญกับอุปสรรค 2 ด้าน ทั้งจากปัจจัยความเสี่ยงในประเทศ เรื่องของปัญหาเศรษฐกิจที่ยังไม่กระเตื้องขึ้น ส่งผลให้คนมีพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างประหยัด และทำให้ผู้ประกอบการขายสินค้าไม่ได้เท่าที่คาดการณ์

อีกทั้งตลอดเดือนมกราคมที่ผ่านมายังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะสถานการณ์รอบโลกในกลุ่มประเทศต่างๆ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรรัสเซีย ที่คาดว่าจะมีผลกระทบตามกันมาอีกหลายระลอก ความไม่เสถียรของราคาน้ำมันในตลาดโลก และยกเลิกเพดานอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินฟรังก์สวิส ที่เพิ่งเริ่มขึ้นล่าสุดเมื่อ 15 มกราคมที่ผ่านมา

ดูเหมือนปัญหาต่างๆ ของ “เอสเอ็มอี” ที่กล่าวมาจะเป็นวิกฤตในอีกรูปแบบที่ต้องพยายามฝ่าด่านไปให้ได้ เพราะนี่ไม่ใช่วิกฤตครั้งแรกของ “เอสเอ็มอี” ที่เจอพิษการเมืองและเศรษฐกิจติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2556 จนทำให้ธุรกิจใหม่ไม่มีโอกาสแจ้งเกิด และผู้ประกอบการรายเดิมหลายแห่งต้องล้มหายตายจากไปอย่างน่าตกใจ

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเผชิญปัญหาอยู่นั้น มีสภาพอย่างไรและควรรับมือด้วยวิธีการแบบไหน
นายทรงฤทธิ์ อมรวิกัยกุล อุปนายกสมาคมการค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย
นายทรงฤทธิ์ อมรวิกัยกุล อุปนายกสมาคมการค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย กล่าวกับ “Special Scoop ” ว่า ช่วงปี 2556 -2557 ถือว่าเป็น 2 ปีที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเผชิญมรสุมอย่างรุนแรง เทียบกับ 2 วิกฤตเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดของประเทศทั้งยุคทรัสต์ล้มในปี 2557 รวมกับยุคต้มยำกุ้งเมื่อ 18 ปีก่อน

เห็นได้จากรายงานของ “กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” เปิดเผยถึงนิติบุคคลจดทะเบียนเลิก เดือนพฤศจิกายน 2557 จํานวน 2,081 ราย เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 440 ราย คิดเป็นร้อยละ 27 และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่า มีจํานวนเพิ่มขึ้น 298 ราย คิดเป็นร้อยละ 17 มูลค่าทุนจดทะเบียนที่เลิกมีมูลค่า 9,184 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาลดลง 1,536 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14 และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่า มีจํานวนลดลง 2,636 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 22

โดยประเภทธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนเลิกสูงสุด 5 อันดับแรก คือ

1. ขายสลากกินแบ่ง ดําเนินการเพื่อออกสลากกินแบ่ง ขายสลากกินแบ่งทุกประเภทและหวย รวมถึงหวยออนไลน์ และการรับแทงหวยออนไลน์ จำนวน 494 ราย

2. ก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย เช่น โรงงาน โรงซ่อม โรงงานประกอบชิ้นส่วน โรงพยาบาล โรงเรียน อาคาร สํานักงาน ศาสนสถาน โรงแรม ร้านค้า ศูนย์การค้า ภัตตาคาร ท่าอากาศยาน สิ่งอํานวยความสะดวกของสนามกีฬาในร่ม คลังสินค้า อาคารจอดรถ รวมถึงที่จอดรถใต้ดิน จำนวน 133 ราย

3. อสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ใช่เพื่อพักอาศัย เช่น โรงงาน อาคาร สํานักงาน ตลาด อาคารเก็บของ และอาคารซึ่งไม่ใช่เป็นที่พักอาศัยอื่นๆ รวมถึงอาคารจัดงานห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ และสิ่งปลูกสร้างอเนกประสงค์ที่ไม่ใช่เพื่อเป็นที่พักอาศัย การจัดสรรที่ดินโดยไม่มีการพัฒนาที่ดิน จำนวน 43 ราย

4. ภัตตาคาร/ร้านอาหาร ได้แก่อาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงไอศกรีมและเค้ก จัดเตรียมไว้พร้อมบริโภค มีหรือไม่มีที่นั่งก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นบริการแบบให้นั่งโต๊ะหรือแบบบริการตนเอง 40 ราย

5. ให้คําปรึกษาด้านการบริหารจัดการ ได้แก่ การวางแผนกลยุทธ์และแผนองค์กร การจัดการด้านการตลาด ระบบการป้องกันความปลอดภัยในโรงงาน การจัดการด้านลอจิสติกส์ จำนวน 29 ราย

ส่วนสรุปภาพรวมการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งบริษัทใหม่ในปี 2557 มีการจดทะเบียนลดลงร้อยละ 12 จากปี 2556 ขณะที่คาดการณ์แนวโน้มการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในปี 2558 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและนโยบายภาครัฐที่มีความชัดเจน

ขณะที่การลงทุนของประเทศในภาพรวม พบการจดทะเบียนเลิกทั่วประเทศในเดือน ธ.ค. 2557 มีจำนวนถึง 5,040 ราย คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 หรือเพิ่มขึ้น 458 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ภาพรวมการจดทะเบียนเลิกกิจการในปี 2557 รวมเป็นจำนวนถึง 18,968 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 หรือเพิ่มขึ้น 1,533 ราย เมื่อเทียบกับปี 2556

แต่หลังจากที่รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหาร ถือเป็นจังหวะที่ดีที่เอสเอ็มอีจะฟื้นตัวอีกครั้ง โดยเฉพาะปัญหาทางการเมืองยุติลงแล้ว อย่างไรก็ตามปี 2558 ถือว่าเป็นอีกปีที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังต้องเผชิญกับปัญหาอย่างรุนแรง โดยปัจจัยภายในประเทศที่ยังเป็นอุปสรรคต่อเนื่องมาหลายปี คือ เศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ตกต่ำ แต่นโยบายต่างๆ ของภาครัฐที่นำมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เชื่อว่าจะเห็นผลภายในปีนี้

โดยเฉพาะนโยบาย คสช.ที่นำมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะแรก ตัวอย่างเช่นการจัดอีเวนต์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่กำหนดให้ปี 2558 เป็น “ปีท่องเที่ยววิถีไทย” ดูแล้วจะให้ผลลัพธ์ และมีแนวโน้มที่ดีต่อธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งหากมีการต่อยอดจัดอีเวนต์ท่องเที่ยววิถีไทย ลักษณะเดียวกับที่กรุงเทพฯ ให้กระจายไปต่างจังหวัด เชื่อว่าจะเรียกกำลังซื้อและสร้างรายได้ให้ธุรกิจได้ครอบคลุมทั่วถึงกันทั้งประเทศ

“หากทำให้เงินหมุนเวียน โดยสร้างบรรยากาศให้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยเงินทองมากขึ้น เป็นหนทางที่จะช่วยทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศเข้มแข็งมากขึ้น รวมถึงสร้างแรงจูงใจเพื่อสร้างจำนวนนักท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะจากสถานการณ์รอบโลกในปีนี้ เชื่อว่านักธุรกิจไทยคงไม่สามารถพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศได้อย่างแน่นอน”

แม้ปัจจัยภายในที่สร้างความวิตกกังวลให้เอสเอ็มอีจะเริ่มคลี่คลายลงบ้างแล้วก็ตาม แต่ยังต้องจับตามองปัจจัยภายนอก ที่เป็นปัญหาส่งผลกระทบกับธุรกิจเอสเอ็มอีในช่วงไตรมาสที่ 1 ทั้งอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่งเกิดขึ้นล่าสุด ค่าเงินบาทแข็งจากการลอยตัวค่าเงินฟรังก์สวิส ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะส่งผลต่อบริษัทที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกเป็นหลัก

โดยแนวทางที่จะช่วยเอสเอ็มอีให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรค ผ่านวิกฤตปีนี้ไปได้ คือ

1. การค้าชายแดน เน้นเจาะตลาดประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ อย่าง พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา จะให้ความนิยมสินค้านำเข้าจากประเทศไทย 4 อันดับแรก คือ 1) อาหารสำเร็จรูป 2) เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ 3) เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม 4) สินค้าแฟชั่นเครื่องประดับ

2. การบริหารจัดการภายในองค์กร ไม่ให้มีค่าใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะการตัดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยออกไป และในปัจจุบัน แม้ราคาน้ำมันมีการปรับลดลงมากกว่าครึ่ง แต่ก็ยังไม่ส่งผลกับต้นทุนทางด้านขนส่ง ซึ่งสมาคมฯ มีการพูดคุยกันแล้วว่า ภายในเดือนกุมภาพันธ์หากราคาน้ำมันยังปรับลดลงอีกอย่างต่อเนื่อง จะมีการประชุมกับผู้ประกอบการด้านขนส่งให้พิจารณาปรับราคาใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง

หากจะคาดการณ์ต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 2 ระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงโรงเรียนและสถาบันการศึกษาเปิดการเรียนการสอน และยังเป็นช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ขึ้นปีใหม่ไทยอีกด้วย ซึ่งตามประเพณีคนไทยจะซื้อของไปอวยพรผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ดังนั้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและของขวัญที่ระลึก จะเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนมากกว่าปกติ และเมื่อเข้าสู่ช่วงเวลาประมาณไตรมาสที่ 3 นโยบายต่างๆ ที่รัฐนำมาดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะเริ่มเห็นผล เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด

สำหรับในช่วงไตรมาสที่ 4 โค้งสุดท้ายของปี ที่เอสเอ็มอีจะขยายธุรกิจเข้าสู่สนามการค้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) แบบเต็มตัว ซึ่งนั่นหมายถึง โอกาสในการเข้าถึง ตลาดที่มีกำลังซื้อของประชากรกว่า 600 ล้านคน ซึ่งหากว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยฟื้น และเศรษฐกิจกลับมาดีตามที่คาดการณ์ไว้ ถือว่าเป็นจังหวะที่ดีที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมีความพร้อมสู่ตลาดเออีซี และควรใช้ช่วงเวลาระหว่างไตรมาสแรก-ไตรมาสที่ 3 ขยายตลาดกลุ่ม CLMV (ประเทศกัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม) นำร่องไปก่อน เพราะถือเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพสูง

อุปนายกสมาคมการค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ย้ำว่า หากมีเรื่องราวที่เหนือความคาดหมาย จากที่กล่าวมา จนกระทั่งไม่สามารถควบคุมทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้นั้น เชื่อมั่นว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสามารถทำให้ทุกๆ อย่างผ่านไปได้ด้วยดี ด้วยอำนาจพิเศษจะสามารถนำนโยบายออกมากระตุ้นช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นข้อดีที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการทางราชการซึ่งจะทำให้เรื่องราวล่าช้าไปโดยใช่เหตุ

กำลังโหลดความคิดเห็น