กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยข้อมูลจดทะเบียนธุรกิจเดือนธันวาคม 2557 โต 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ขณะที่การเลิกกิจการพบว่ามี 5,000 ราย ธุรกิจก่อสร้างมาแรงจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่เพียบ คาดปี 58 ยอดเพิ่มจากเศรษฐกิจเริ่มนิ่ง ฟุ้งผู้ยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แนวโน้มดี เชื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือนธันวาคม 2557 โดยมีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศจำนวน 3,321 ราย เพิ่มขึ้น 415 ราย คิดเป็น 14% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2556 ซึ่งมีจำนวน 2,906 ราย และลดลง 1,100 ราย คิดเป็น 25% เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2557 ซึ่งมีจำนวน 4,422 ราย สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกทั่วประเทศในเดือนธันวาคม 2557 มีจำนวน 5,040 ราย
สำหรับมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในเดือนธันวาคม 2557 มีจำนวนทั้งสิ้น 31,387 ล้านบาท ลดลงจำนวน 2,426 ล้านบาท คิดเป็น 7% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2556 ซึ่งมีจำนวน 33,813 ล้านบาท และลดลงจำนวน 4,523 ล้านบาท คิดเป็น 13% เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2557 ซึ่งมีจำนวน 35,910 ล้านบาท โดยประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 326 ราย อสังหาริมทรัพย์ จำนวน 203 ราย ภัตตาคาร/ร้านอาหาร 92 ราย ธุรกิจผลิตไฟฟ้า จำนวน 79 ราย ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ จำนวน 77 ราย ตามลำดับ
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 มีห้างหุ้นส่วนบริษัทจำกัดดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศจำนวน 593,958 ราย มีทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 14.60 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นบริษัทจำกัด 413,793 ราย บริษัทมหาชนจำกัด 1,073 ราย และห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 179,092 ราย
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2557 จะมีการจดทะเบียนจัดตั้ง จำนวน 59,468 ราย ลดลงจากปี 2556 คิดเป็น 12% เนื่องจากธุรกิจค้าสลากมีจำนวนการจัดตั้งในปี 2557 จำนวน 166 ราย ลดลงจากปี 2556 จำนวน 5,058 ราย คิดเป็น 97% และธุรกิจบริการด้านวิทยุและโทรทัศน์มีจำนวนการจัดตั้งในปี 2557 จำนวน 179 ราย ลดลงจากปี 2556 จำนวน 1,979 ราย คิดเป็น 92% สำหรับแนวโน้มการจดทะเบียนจัดตั้งในปี 2558 นั้นคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับปี 2557 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและนโยบายภาครัฐที่มีความชัดเจน อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4.1 โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าเกษตร แนวโน้มการส่งออก ความเชื่อมั่นของการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงการใช้จ่ายของภาครัฐ ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศและการจดทะเบียนธุรกิจโดยรวม
นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังคงส่งเสริมให้มีการใช้ e-Commerce เพื่อประกอบธุรกิจและขยายตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรมฯ ได้ออกเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) เพื่อยืนยันการมีตัวตนของผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต บริการอินเทอร์เน็ต ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายบริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จะต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
ปัจจุบันมีผู้ยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้วจำนวน 11,278 ราย 12,912 เว็บไซต์ ประกอบด้วย นิติบุคคล 3,069 ราย คิดเป็น 27% บุคคลธรรมดา 8,209 ราย คิดเป็น 73% โดยธุรกิจที่ขอจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สูงสุด ได้แก่ ธุรกิจคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต จำนวน 2,401 เว็บไซต์ คิดเป็น 19% ธุรกิจแฟชั่น/เครื่องแต่งกาย/เครื่องประดับ จำนวน 2,031 เว็บไซต์ คิดเป็น 16% และธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ จำนวน 1,416 เว็บไซต์ คิดเป็น 11% ตามลำดับ
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *