xs
xsm
sm
md
lg

กูรูฟันธงเศรษฐกิจปี 2558 จะรุ่งจะร่วงวัดกึ๋น “บิ๊กตู่” !

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โหรมองดวงเมือง-ศก.ปี 2558 วิกฤต ด้านนักเศรษฐศาสตร์และการเมืองมองต่างมุม เชื่อ “เศรษฐกิจไทยปีแพะจะดี” แต่อยู่ที่ฝีมือรัฐบาลบิ๊กตู่ในการบริหาร-จัดการ มั่นใจการส่งออกเพิ่มขึ้นและปัจจัยภายนอกเอื้อ เป็นผลจากเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว แนะรับมือยุคคอมมิวนิสต์ล่มสลาย พลังการต่อสู้ไม่ได้อยู่ที่ความมั่นคง แต่จะอยู่ที่พลังการค้าขายเป็นตัวจักรสำคัญ ส่วนประเทศไทยจะเปลี่ยนจาก Mono Centric ไปสู่ Poly Centric ชี้คนไทยต้องเร่งหาโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ด้าน อิสระ บุญยัง ชี้ผู้ประกอบการรีบตรวจสุขภาพองค์กร ใช้หลักการ 5 ข้อเพื่อเตรียมรับมือเศรษฐกิจผันผวน

ในมุมมองของโหรหลายสำนักทำนายดวงเมืองปี 58 ยังไม่พ้นทุกข์ พ้นโศก เนื่องเพราะการเมืองยังไม่นิ่ง จะมีคลื่นใต้น้ำเข้ามาเป็นอุปสรรคหลายระลอก ทำให้การบริหารงานในโครงการหลักๆข องรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องล่าช้าและไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนในด้านเศรษฐกิจ จะเริ่มตั้งแต่ต้นปี 2558 ไปจนถึงปลายปี ยังอยู่ในขั้นวิกฤต ทั้งผลพวงมาจากสงครามที่คุกรุ่นไปทั่ว จนนำไปสู่ข้าวยากหมากแพง ตลาดหุ้นตกระเนระนาด อย่างที่เราเห็นชิมลางกันจนปีกหักไปเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ความหวังจะโชคดีให้เศรษฐกิจกลับฟื้นกระเตื้องขึ้นมาได้ ต้องหวังภาพรวมเศรษฐกิจโลก

ส่วนจะเป็นจริงตามคำทำนายของโหรหรือไม่ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูสถานการณ์กันต่อไป แต่เท่าที่เห็นบริบทต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงส่งท้ายปี 2557 และกำลังจะก้าวเข้าสู่ปี 2558 ก็เริ่มพบเห็นถึงสภาวะค่าครองชีพของคนไทยที่กำลังเพิ่มขึ้น จากสินค้าจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันอย่างกลุ่มอาหาร สินค้าอุปโภคและบริโภค ผงซักฟอก ยาสระผม ฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าแบบทางอ้อม โดยใช้กลยุทธ์การลดขนาดบรรจุภัณฑ์ ออกแพกเกจจิ้งใหม่ หรือคิดสูตรสินค้าใหม่ๆ ออกมาวางตลาด ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา

ที่สำคัญรัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคม มีการปรับราคาค่าโดยสารแท็กซี่ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ล่าสุดก็คือมีการอนุมัติให้แท็กซี่ปรับค่าโดยสารใหม่ ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยให้เก็บในอัตราเริ่มต้นที่ 35 บาท กิโลเมตรที่ 2-10 คิดอัตรา 5.50 บาท/กม. ต่อมากิโลเมตรที่ 10-20 คิดอัตรา 6.50 บาท/กม. ขั้นที่ 4 มิเตอร์20-40 กิโลเมตร คิดอัตรา 7.50 บาท/กม. ขั้นที่ 5 มิเตอร์ 40-60 กิโลเมตร คิดอัตรา 8.00 บาท/กม. ขั้นที่ 6 มิเตอร์ 60-80 กิโลเมตร คิดอัตรา 9.00 บาท/กม. และระยะทางเกินกว่า 80 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 10.50 บาท ส่วนอัตราขณะรถติดคิดนาทีละ 2 บาท

นอกจากนั้นยังมีอีกหลายรายการที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการดำเนินชีวิตรายวันที่จ่อคิวรอจะขึ้นราคาในต้นปี 2558 เช่น การปรับขึ้นค่าผ่านทางโทลล์เวย์ ค่าโดยสารรถไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ซึ่งสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และกำลังเปลี่ยนแปลงเร็วๆ นี้ทำให้มองเห็นชะตากรรมคนไทยกำลังจะเข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพง และเป็นไปตามคำทำนายของโหรถึงวิกฤตในปี 2558
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง
อย่างไรก็ดี ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์กลับมองสวนทางกับนักโหราศาสตร์ โดยเฉพาะความเห็นของ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวกับ Special Scoop ว่า เศรษฐกิจปีหน้าจะไม่วิกฤตตามคำทำนายของโหร เพราะสถานการณ์ในประเทศ ตั้งแต่รัฐบาล คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ทำให้สิ่งที่เป็นผลกระทบหลักต่อเศรษฐกิจ คือ ปัญหาการเมืองเริ่มลดลงอย่างมาก และภาคเศรษฐกิจเลวร้ายน้อยลง และเริ่มฟื้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และมีแนวโน้มที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงไตรมาสแรกของปี 2558

โดยสิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าเริ่มปรับตัวดีขึ้น คือ การส่งออกที่ดีขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการกระเตื้องมาตั้งแต่เดือนตุลาคม อัตราการขยายตัวอยู่ที่ 3.5-4%

แต่ตัวที่จะช่วยได้มากมองจากภายในของเราเองคือภาครัฐ ซึ่งจะดีหรือไม่นั้น เป็นเรื่องวัดฝีมือรัฐบาล คือการบริหารงบประมาณ เพราะประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายในปี 2557 ยังช้ากว่าที่กำหนดไว้ เหมือนเป็นเวลาของการลอกท่อ ทั้งที่คงค้างของการเบิกจ่ายปีนี้ และของปี 2558 ซึ่งทั้งหมดรวมกว่า 3 ล้านล้านบาท จะมีผลให้ปี 2558 เงินไหลเข้าสู่ระบบและหมุนเวียน โดยเฉพาะการลงทุนจากภาครัฐ จะช่วยภาคเอกชนได้เยอะมาก

ในส่วนของสินค้าที่ขึ้นราคานั้น จะไม่ส่งผลต่อปัญหาค่าครองชีพมากนัก เพราะเงินเฟ้อยังต่ำมาก และยิ่งไปกว่านั้น การปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกลดลงมากและราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินและดีเซลให้อยู่ในระดับใกล้เคียง
ระวังหนี้ครัวเรือนปัญหาใหญ่

ขณะเดียวกันยังมีสิ่งบอกเหตุที่มีแนวโน้มจะเป็นตัวปัญหา เมื่อเศรษฐกิจดี คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนของกลุ่มเกษตรกร และกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจะได้ประโยชน์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจน้อยกว่ากลุ่มบริษัทเอกชนทั้งรายใหญ่รายเล็ก ซึ่งจะมีสถานการณ์ดีขึ้น และมีการกระจายตัวทางเศรษฐกิจออกไปได้บ้าง

ดังนั้นการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของกลุ่มเกษตรกร และกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ยังมีความจำเป็นอยู่มาก และสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาได้คือ การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน และควรหลีกเลี่ยงการใช้นโยบายประชานิยมเหมือนที่เคยมีมา เช่นมาตรการรถคันแรก ที่สร้างหนี้ครัวเรือน เรื่องสำคัญมากคือทำอย่างไรให้หนี้ครัวเรือนน้อยลง

เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว

ในด้านเศรษฐกิจโลกนั้น รศ.ดร.สมชาย ระบุว่า การวิเคราะห์เศรษฐกิจในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมากับในสมัยก่อนนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยต้องยอมรับว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคการหาความหมายของระเบียบโลกใหม่ ซึ่งตั้งแต่ยุคต้มยำกุ้งมีการผันผวนที่รุนแรงมาก เพราะฉะนั้นการวิเคราะห์เศรษฐกิจ หรือการเมืองจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน ในปัจจุบันโลกเป็นใบเดียวที่เชื่อมต่อ การวิเคราะห์จึงต้องเริ่มจากเบสไลน์ (Baseline) แล้วจึงมามองความเสี่ยงที่อาจเป็นตัวแปร สมมติฐานจะได้มีความใกล้เคียง

สมมติฐานแรกคือเศรษฐกิจของโลกในปีหน้าน่าจะดีขึ้น แต่จะไม่มากนัก จากตัวเลขของไอเอ็มเอฟ เวิลด์แบงก์ หรือคณะกรรมาธิการของประชาคมยุโรปมองในทิศทางเดียวกันถึงแม้จะแตกต่างกันบ้าง แต่ปีหน้าจะเพิ่มจากปัจจุบันที่ประมาณ 0.3-0.5% ซึ่งปีนี้เศรษฐกิจโลกจะจบที่ประมาณ 3.3% ปีหน้าควรจะขึ้นไปที่ 3.8% และมีความเป็นไปได้สูงมาก

ขณะที่สหรัฐอเมริกานั้นสถานการณ์ดีขึ้นมากตั้งแต่ไตรมาสที่ 2-3 ซึ่งดีขึ้นมาอย่างคาดไม่ถึง ตัวเลขอยู่ที่ 2.2% และมองว่าสามารถขึ้นไปถึง 3-3% กว่าในปีหน้า อเมริกาเศรษฐกิจฟื้นมา 1-2 ปีแล้ว อัตราว่างงานก็ลดต่ำแค่ 5.5% ทุกอย่างเริ่มมองเห็นได้ชัด ปัจจัยที่ฟื้นตัวมาจากความสามารถในการแข่งขันสูง ทั้งด้านไอที และการเจรจาเรื่อง Trade Investment กับ EU ซึ่งมองว่ามีอนาคต

อีก 3 กลุ่มที่ต้องระวังความเสี่ยงคือ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน โดยสหภาพยุโรปเพิ่งฟื้นเป็นปีแรกแต่ยังอ่อนมากเพราะตั้งเป้าไว้ที่ 2% ตอนนี้อยู่ 0.3% ซึ่งน้อยมาก อัตราเศรษฐกิจเติบโตช้า เป็นความเสี่ยงที่ต้องระวัง การขยายตัวต่ำมาก มีภาวะเงินฝืด สินค้าราคาตกลง การลงทุนก็ไม่มี และคนว่างงาน การอัดฉีดจึงมีความจำเป็น

ญี่ปุ่นเองก็ติดลบมา 3 ไตรมาส โดยพยายามขยายตัวในไตรมาส 4 ซึ่งถ้าสามารถขยายได้ในไตรมาสนี้ ญี่ปุ่นน่าจะจบตัวเลขที่ 0.7-0.8% จากที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่เลื่อนการขึ้นเซลแทกซ์ออกไปอีก 15 เดือน กรณีนี้เท่ากับมาตรการการอัดฉีดทางอ้อม รวมกับนโยบายเรื่องการเงินการคลัง และเรื่องการอ่อนตัวของอัตราแลกเปลี่ยน น่าจะทำให้ญี่ปุ่นขยายตัวได้อีก 1% ในปีหน้า และจะเป็นการซื้อเวลาได้อีก 15 เดือนเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน

ประเทศจีนอยู่ในช่วงที่มีปัญหา ด้านหนึ่งแก้ปัญหาเรื่องฟองสบู่จากการที่เศรษฐกิจขยายตัวเร็วเกินไป ทั้งต้องแก้ปัญหาเรื่อง NPL ของอสังหาริมทรัพย์ และอีกด้านค่าแรงแพงแต่สินค้าไม่สามารถแข่งขันได้ จึงต้องบีบเรื่องสภาพคล่องทำให้ป้องกันวิกฤตฟองสบู่แตก และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า ดังที่ทำให้เซี่ยงไฮ้เป็นวันสต็อปและเพิ่มมูลค่าทางด้านไอที ถ้าจีนขยายตัวได้ 7.1 ในปีหน้าได้ก็ถือว่าผ่านแล้ว แต่เป็นความเสี่ยงทั้งสิ้นดังที่กล่าวเช่น ถ้าจีนขยายได้แค่ 5% ไทยจะมีปัญหา หรือยุโรปไม่กระเตื้อง ไทยก็มีผลกระทบ เป็นต้น

ส่วนตัวแปรสำคัญซึ่งมองข้ามไม่ได้ ก็คือราคาน้ำมัน ถึงแม้วันนี้ราคาจะลดลงมาก็ตาม แต่ก็เป็นภาพฉายว่าเศรษฐกิจโลกกำลังขยายตัวช้า ส่งผลกระทบต่อตลาดและกระทบต่อประเทศที่กำลังพัฒนา ทำให้เกิดการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งมีความเสี่ยงของการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

มองเทรนด์-กลยุทธ์ดำเนินธุรกิจรับมือปีแพะ

อย่างไรก็ดี การที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และการรับรู้ที่รวดเร็ว รวมไปถึงการดำเนินธุรกิจที่ต้องเผชิญกับปัญหาทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้นั้น ทำให้หลายบริษัทเริ่มตื่นตัวที่จะเตรียมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในปีแพะ 2558 นี้ ซึ่งกูรูและผู้บริหารจากหลากหลายวงการต่างแสดงความคิดเห็นในเวทีสัมมนากลยุทธ์ธุรกิจ ปี 2015 จัดโดยศูนย์พัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจ (Strategic Business Development Center)

ในการสัมมนาครั้งนี้ได้บทสรุปที่ชัดเจนว่า สิ่งที่จะเข้ามาพลิกเปลี่ยนโลกในปี 2558 นั้น มาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนประเทศไทยจาก Mono Centric ที่มีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางรวมทุกอย่าง มาสู่ Poly Centric ที่มีการกระจายความเจริญไปต่างจังหวัด เช่น เมืองชายแดนเขตเศรษฐกิจพิเศษ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มุกดาหาร ในอนาคตจะยกระดับขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของประเทศไทย ซึ่งคนไทยสามารถมองหาโอกาสได้จากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

รวมไปถึงการเข้ามาของยุคดิจิตอล ที่มีการใช้โซเชียลมีเดียในวงกว้าง จะส่งผลต่อระบบคอมมิวนิสต์ให้ล่มสลายไปจากโลกนี้ “เพราะพลังของการต่อสู้ไม่ได้อยู่ที่ความมั่นคง แต่อยู่ที่พลังของการค้าขาย” เพราะฉะนั้นการสร้างเกราะป้องกันไม่ไห้แพ้พ่าย คือ การรวมกลุ่ม เช่นการรวมกลุ่มแบบยุโรป หรือ การรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งคนไทยมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง เพราะเป็น 1 ใน 10 ประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะเริ่มในปลายปีหน้า

ดังนั้นจะต้องเตรียมพร้อมรับมือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น โดย รศ.ดร.สมชาย ย้ำว่า การปรับตัวเพื่อรับมือกับ 2 ปรากฏการณ์ ยุคดิจิตอล และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่คนไทยจะต้องนำมาใช้หลักๆ 3 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

1) ต้องเปลี่ยนวิธีคิดเป็นแบบมองการณ์ไกล ข้ามช็อตไป 5-10 ปี

2) มองโอกาสการลงทุน การขยายธุรกิจ สินค้า การบริการ และเงินทุน ให้กว้างกว่าเดิม เพราะอนาคตอีกไม่ไกลประเทศไทยกำลังเชื่อมโยงกับ 9 ประเทศ ดังนั้นธุรกิจตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปจนถึงระดับ SME ต้องเปลี่ยนวิธีการมองหาลูกค้าเป้าหมายที่ไม่ได้มีเฉพาะในประเทศเท่านั้น

3) ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของประชาคมเศรษฐกิจนี้สร้าง GMS Economic Corridors ที่มีการเชื่อมโยง 6 ประเทศคือ ไทย จีน กัมพูชา เวียดนาม ลาว และพม่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน โลจิสติกส์ และในอีก 20 ปีข้างหน้าจะสามารถเดินทางด้วยรถไฟจากประเทศมาเลเซียไปยุโรปได้

ดังนั้นธุรกิจต่างๆ ต้องมองและทำในสิ่งที่ตัวเองชำนาญ และสามารถขายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลง ต้องปรับสินค้าให้ทันสมัย เช่น ขายโอเลี้ยง ชาโบราณแบบฟิวชันฟูด หรือครีเอทีฟอีโคโนมีที่ทำให้เกิดการขยายตัว โดยวางเป้าหมายตลาดกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย แล้วเมื่อสินค้าเริ่มขายดี จึงค่อยขยายออกไปต่างประเทศอย่างมีระบบ

ยุคเศรษฐกิจผันผวนต้องตรวจสุขภาพองค์กร

ด้าน นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจมีความผันผวนไม่มีความแน่นอน ทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน หลายๆ บริษัทรับมือสถานการณ์นี้ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน บางแห่งใช้จังหวะนี้ลงทุนในธุรกิจใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก ซึ่งในปี 2558 การโฟกัสธุรกิจเพื่อกระจายความเสี่ยงคือสิ่งที่สำคัญ เพราะมีตัวอย่างของบริษัทต่างประเทศที่รอดจากวิกฤตได้ด้วยการใช้ 2 แนวทางดังกล่าว

ดังนั้นในภาวะความเปลี่ยนแปลงนี้ จึงถือเป็นโอกาสและจังหวะที่ดี ที่จะตรวจสุขภาพองค์กรซึ่งประกอบด้วย 5 ประเด็นสำคัญ คือ 1. ยอดขาย สัดส่วนการขายของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ 2. ผู้ให้สินเชื่อหรือสถาบันการเงิน ลดสัดส่วนเงินกู้ หรือขอเพิ่มหลักประกัน เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเช่นกัน 3. รายจ่าย ต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ 4. การชำระหนี้ระหว่างบริษัทกับสถาบันการเงิน หรือระหว่างลูกค้าและบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร 5. บริษัทดำเนินธุรกิจตามกรอบที่ภาครัฐวางกฎเกณฑ์ไว้อย่างเข้มงวดแล้วหรือไม่

สิ่งสำคัญคือหลังตรวจสุขภาพองค์กรแล้ว จะต้องเปรียบเทียบบริษัทคู่แข่งที่เผชิญวิกฤต และวิเคราะห์เหตุการณ์ทั้งหมดว่า เกิดจากปัจจัยเศรษฐกิจการเมือง หรือเกิดจากปัญหาภายในองค์กรของบริษัทเองเพื่อดำเนินการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น

กำลังโหลดความคิดเห็น