xs
xsm
sm
md
lg

สื่อยุค “คสช.” ต้องปิดตา ปิดหู ปิดปาก! แนะทางรอดต้องปั้นดาวดวงเดียวกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการด้านสื่อชี้ความขัดแย้งรัฐบาลทหารกับสื่อมวลชน มาจากคนละแนวความคิด ทหารเน้นความมั่นคง สื่อเน้นเสรีภาพ ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบฉบับที่ 97 และ 103 ปลายเหตุ หากแนวคิดหลักยังไม่ตรงกัน แนะทางออกมี สร้างความเข้าใจที่ตรงกัน หากสื่อรายใดกระทำผิด ส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพพิจารณา วอนปรับทัศนคติให้ตรงกันเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อได้

อาการไม่ลงรอยกันระหว่างสื่อมวลชนกับรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นับวันดูเหมือนจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ หนักที่สุดเห็นจะเป็นกรณีของการเปลี่ยนตัวผู้ดำเนินรายการเสียงประชาชนต้องฟังก่อนปฏิรูป ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่นางสาวณาตยา แวววีรคุปต์ เป็นพิธีกร โดยทางสถานีถอดชื่อเธอออกจากการเป็นผู้ดำเนินรายการเมื่อ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

หลังจากมีการเปิดเผยกันว่ามีนายทหารยศพันเอกพร้อมคณะได้หารือกับผู้บริหารของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน หลังจากที่รายการที่นางสาวณาตยาดำเนินรายการอยู่ออกอากาศเมื่อ 8 พฤศจิกายน จนกลายเป็นการเปลี่ยนตัวผู้ดำเนินรายการรายนี้

พร้อมทั้งออกแถลงการณ์ หนึ่งในนั้นคือ คณะกรรมการนโยบาย (สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส) มีความเห็นว่า การปฏิบัติงานของ นางสาวณาตยา แวววีรคุปต์ เป็นไปตามหลักวิชาชีพสื่อมวลชนที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล จึงสนับสนุนการทำงานของนางสาวณาตยาในบทบาทผู้ดำเนินรายการของโครงการดังกล่าวตลอดมา อย่างไรก็ตาม มีการปรับเปลี่ยนผู้ดำเนินรายการเป็นการชั่วคราว เพื่อไม่ให้กระทบต่อโครงการเวที 4 ภาค “เสียงประชาชนที่ต้องฟังก่อนการปฏิรูป”

จากนั้นองค์กรด้านสื่อและบุคลากรด้านสื่อต่างแสดงความไม่เห็นด้วยกับเหตุการณ์ดังกล่าว ที่เข้าข่ายแทรกแซง คุกคาม ข่มขู่ การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน พร้อมเสนอให้มีการยกเลิกประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 97 และ 103 ที่ให้อำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการควบคุมดูแลการทำงานของสื่อมวลชน

ถัดมา 15 พฤศจิกายนเกิดเหตุการณ์เชิญตัวผู้สื่อข่าวหญิงของโมเดิร์นไนน์ทีวี และสำนักข่าวไทย อสมท ประจำจังหวัดนครราชสีมา ออกจากห้องพัชรินทร์ ค่ายสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีพลเอกอุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และคณะเดินทางมาตรวจเยี่ยมหน่วยทหารในพื้นที่รับผิดชอบกองทัพภาคที่ 2

และยังมีเรื่องตกค้างอีกคือเรื่องร้องเรียนจากคณะทำงานติดตามสื่อในกองทัพบก กรณี การออกอากาศรายการโทรทัศน์ของช่อง PEACE TV ช่อง 24 TV ช่องฟ้าวันใหม่ และช่อง 1 TV เข้าข่ายการกระทำความผิดที่ฝ่าฝืนมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงฯ พ.ศ.2551 เนื่องจากออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยยื่นเรื่องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พิจารณาลงโทษ

หากย้อนไปหลังจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีการกระทบกระทั่งกับการทำงานของสื่อมวลชนมาโดยตลอดทั้งกับผู้สื่อข่าวอาวุโสหญิงรายหนึ่ง การนำเสนอเรื่องการขายที่ดินมูลค่า 600 ล้านบาท หรือการออกมาตัดพ้อว่าสื่อใช้คำว่า “คุย โว ฟุ้ง ปัด ตีปี๊บ ฮึ่ม” ซึ่งแสดงความหมายในเชิงลบ

ก่อนหน้านี้มีกรณีหยุดพิมพ์เป็นเวลา 1 เดือนของหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติออกหนังสือตักเตือน

ไม่นับรวมกรณีการสั่งยุติการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมอย่าง ASTV บลูสกายและเอเชียอัพเดท เป็นเวลากว่า 3 เดือน หลังการเข้ายึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557
นางสาวณาตยา แวววีรคุปต์ ถูกถอดออกจากผู้ดำเนินรายการเสียงประชาชนต้องฟังก่อนปฏิรูป
สื่อสารคนละตำรา

ขณะนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าข้อเสนอขององค์กรด้านสื่อที่ขอให้มีการยกเลิกคำสั่งฉบับที่ 97 และฉบับที่ 103 นั้น ทั้งพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมายืนยันแล้วว่าไม่ทบทวนเรื่องดังกล่าว

“ทหารกับสื่อมวลชนเรียนเรื่องการสื่อสารมากันคนละแบบ คนทั่วไปที่เรียนทางด้านวารสารหรือนิเทศศาสตร์จะเน้นไปที่เรื่องเสรีภาพในการนำเสนอ ขณะที่ทหารเน้นไปที่การสื่อสารเพื่อความมั่นคง” ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อรายหนึ่งกล่าว

เมื่อทหารเน้นไปที่การสื่อสารเพื่อความมั่นคงแล้ว ย่อมต้องสวนทางกับเรื่องของเสรีภาพที่สื่อทั่วไปปฏิบัติอยู่ ดังนั้นเรื่องข้อเสนอให้มีการยกเลิกคำสั่งที่ 97 หรือ 103 คงต้องเลิกหวัง ขณะเดียวกันคนในวิชาชีพสื่อที่เข้าไปนั่งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติร่วมกับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ก็คงพูดอะไรได้ลำบาก อย่างมากก็ทำไปตามบทบาทเท่าที่จะทำได้เท่านั้น

วันนี้แม้ว่าจะมีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ แต่ยังไม่ใช่การเป็นประชาธิปไตยเหมือนที่ผ่านมา และถ้าดูจากการที่ยังมีกฎอัยการศึกอยู่ ไม่มีการประกาศยกเลิก มีคณะรักษาความสงบคุมรัฐบาลอีกชั้นหนึ่ง นั่นหมายความว่าสถานการณ์ยังไม่ปกติ แม้โดยทั่วไปประชาชนจะใช้ชีวิตได้ปกติก็ตาม ดังนั้นการที่จะหวังให้สื่อทำหน้าที่ได้เหมือนเดิมคงเป็นไปได้ลำบาก

ทหารรับให้น้ำหนักความมั่นคง

ขณะที่นายทหารสื่อสารยอมรับว่า มุมมองของทหารที่มีต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในเวลานี้ ไม่ใช่เรื่องของหลักการตามปกติ เพราะตอนนี้ยังอยู่ในช่วงสถานการณ์พิเศษ ทหารเพิ่มมิติด้านความมั่นคงเข้าไปด้วย เนื่องจากผู้ใหญ่ต้องการให้เกิดความสงบกับประเทศ

ดังนั้นอาจไม่เป็นไปตามตำราของสื่อที่ร่ำเรียนกันมา จะเรียกว่านอกตำราก็ได้ แต่เป็นการปรับใช้ให้เข้ากับลักษณะสังคมไทยที่เป็นอยู่ โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะปิดกั้นการทำหน้าที่ของสื่อแต่อย่างใด เนื่องจากในบางกรณีเมื่อมีการนำเสนอไปแล้ว จะมีการนำไปขยายต่อและเพิ่มเติมจนทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างประชาชน กลายเป็นคลื่นใต้น้ำเพิ่มขึ้นไปอีก

แนวทางของทหารจึงไม่ต้องการให้เกิดปัญหาในเรื่องเหล่านี้ขึ้น เพียงแต่ด้วยวิถีความเป็นทหารมาตลอด ทหารจะพูดสั้นๆ ง่ายๆ จึงทำให้การออกมาชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นดูเหมือนน้อยเกินไป แต่ทำไปด้วยเจตนาดีและใจกว้างพอที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องทำงานร่วมกับสื่อมวลชนตลอดเวลา
กรอบแนวคิดคนละขั้ว

เช่นเดียวกับอาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ที่ประเมินว่า เรื่องยกเลิกหรือไม่ยกเลิกคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับ 97 และ 103 นั้นเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น หากทั้งฝ่ายทหารและสื่อมวลชนยังมีกรอบความคิดด้านการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน

ในมิติของทหารสื่อที่ผ่านมาถูกมองว่าเป็นอาวุธหรือเครื่องมือให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม ดังนั้นจึงต้องการควบคุมตัวสารหรือเนื้อหาที่จะเผยแพร่ออกไปให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งแนวคิดนี้หากอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินแล้วเชื่อว่าทุกฝ่ายรับได้

แต่ตอนนี้เรามีรัฐบาลแม้จะยังไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง บรรยากาศน่าจะผ่อนคลายลง อีกทั้งต่างชาติก็จับตาประเทศไทยในเรื่องเหล่านี้อยู่ หากรัฐเข้มงวดในเรื่องเหล่านี้จะเป็นภาพลบในสายตาต่างชาติ

“การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งด้านบวกและลบ นับว่าเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารประเทศ เมื่อสื่อสะท้อนความรู้สึกของประชาชนออกมา ฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรนำเอาสิ่งเหล่านี้ไปพิจารณาปรับใช้เพื่อลดความขัดแย้งหรือนำไปหาแนวทางแก้ปัญหาให้กับประชาชน”

รัฐบาลน่าจะใช้สื่อให้เป็น เนื่องจากสื่อส่วนใหญ่แล้วทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริต คอร์รัปชัน ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นโครงการของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาหรือรัฐบาลปัจจุบัน หากข้าราชการหรือคนในรัฐบาลทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ควรปล่อยให้สื่อทำหน้าที่ตรวจสอบน่าจะเป็นผลดีกับรัฐบาลชุดนี้มากกว่าที่คุมเข้มในเรื่องการนำเสนอข่าว

ในฝั่งของสื่อนั้นจะเห็นได้ว่าในช่วงหลังจากการยึดอำนาจการนำเสนอข่าวจะค่อนข้างระมัดระวัง แต่เมื่อมีรัฐบาลและมีนายกรัฐมนตรีแล้ว การนำเสนอจึงเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ก็ต้องมีข้อมูลและหลักฐานที่น่าเชื่อถือในการนำเสนอ

พร้อมทิ้งท้ายว่าหากปล่อยให้เหตุการณ์ระหว่างสื่อมวลชนกับรัฐบาลเป็นไปอย่างนี้เรื่อยๆ แล้วในระยะยาวย่อมไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล

ทางออกมีใช้ให้เป็น

เช่นเดียวกับนักวิชาการด้านสื่ออีกรายที่มองว่า ในเรื่องนี้มีทางออก ขึ้นอยู่กับวิธีการที่นำไปใช้ หากฝ่ายทหารมองว่ายังคงต้องใช้อำนาจของคำสั่งที่ 97 และ 103 อยู่ ก็เพิ่มเติมประกาศใหม่เพื่อผ่อนคลายบรรยากาศ เช่น ขอความร่วมมือให้สื่อช่วยกันนำเสนอเรื่องแนวทางในการปฏิรูป ช่วยกันลดความขัดแย้งในสังคม หรือพูดคุยทำความเข้าใจกันระหว่างฝ่ายความมั่นคงกับสื่อ น่าจะทำให้การทำงานร่วมกันระหว่างรัฐกับสื่อมวลชนเป็นไปอย่างราบรื่น

สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นอย่างกรณีของไทยพีบีเอสเป็นการทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ ที่จริงมีวิธีในการพูดคุยกันอีกหลายช่องทาง แต่พอเป็นการใช้หลักการทางทหารเข้ามาดำเนินการนั้นทำให้เรื่องถูกกระพือขึ้น

ที่จริงเมื่อมีรัฐบาล บรรยากาศการรัฐประหารควรหายไป กฎอัยการศึกก็ควรยกเลิก เพราะทุกวันนี้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ หากมีอะไรที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย รัฐบาลก็สามารถดำเนินการได้ตามกรอบของอำนาจที่มีอยู่ วิธีนี้จะทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลดีขึ้นอีกมากทั้งกับสื่อมวลชนเองและสายตาของต่างประเทศที่เฝ้ามองประเทศไทยอยู่

หรือหากเกิดปัญหาขึ้นกับสื่อมวลชน ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 103/2557 ที่แก้ไขจากฉบับที่ 97/2557 ก็ให้อำนาจไว้ หากสื่อมวลชนกระทำ “การวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ”

คณะรักษาความสงบแห่งชาติสามารถดำเนินการได้ตามข้อ 5 กรณีที่ปรากฏว่าบุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พนักงานเจ้าหน้าที่อาจส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ

หากทั้งรัฐบาลและสื่อมวลชนปรับแนวคิดในเรื่องการนำเสนอข่าวออกมาให้ตรงหรือใกล้เคียงกัน สอดคล้องกัน การแก้ไขปัญหาของประเทศที่บอบช้ำมาจากวิกฤตการเมืองที่ผ่านมาย่อมสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและประโยชน์ก็จะตกอยู่กับประชาชนทั้งประเทศ

กำลังโหลดความคิดเห็น