xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรสื่อถกจี้คสช.เลิก97,103

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายมานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ และโฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า วันที่ 17 พ.ย. เวลา 10.00 น. คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ที่ประกอบด้วย ตัวแทนสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ตัวแทนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตัวแทนสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ตัวแทนสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ตัวแทนสมาคมผู้ประกอบการวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ และตัวแทนภาคประชาสังคม โดยมี นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็นประธาน ?นัดประชุมกันเป็นครั้งที่ 2 และนัดหมายล่วงหน้าแล้ว แต่คงจะมีการนำเรื่องที่เกิดขึ้นกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ขึ้นมาพูดคุยกัน และกำหนดท่าทีว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งเท่าที่ทราบผลจากการเคลื่อนไหวของสื่อมวลชนภาคสนาม เมื่อวันที่ 15 พ.ย.นั้น ทำให้ฝ่ายรัฐบาลและความมั่นคง มีท่าทีรับฟังพอสมควร และจะปรับท่าทีให้ผ่อนคลายลง และจะมีความชัดเจนต่อเรื่องนี้มากขึ้น จึงอาจจะไม่ต้องยื่นหนังสือเรียกร้องก็ได้
สำหรับการเคลื่อนไหวให้ยกเลิกประกาศ หรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยเฉพาะประกาศ ฉบับที่ 97 และ 103 ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนนั้น สื่อมวลชนก็ต้องช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ ซึ่งการยกเลิกประกาศ หรือคำสั่งของคสช. ที่เทียบท่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ต้องใช้เวลาพอสมควร อีกทั้งหากยังมีประกาศดังกล่าวอยู่ ก็จะส่งผลกระทบ????ต่อบรรยากาศการพูดคุยเพื่อการปฏิรูปที่สื่อ ต้องถ่ายทอดความเห็นการปฏิรูปของประชาชนเห็นต่างได้ เพราะไม่เอื้อให้สื่อมีเสรีภาพ

**คสช.เตรียมเชิญสื่อถกอีกรอบ

พ.อ.วินธัย สุวารี ทีมโฆษกกองทัพบก และทีมงานโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวชี้แจงถึงกรณีที่ทหารไปกดดันสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส.ให้ยุติรายการเสียงประชาชนต้องฟังก่อนฏิรูป ว่า เรื่องนี้คสช. พยายามดูแลทุกส่วนให้เกิดความเรียบร้อย ซึ่งอะไรที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดความสับสนขัดแย้ง คสช.ก็จำเป็นต้องใช้การพูดคุยปรึกษากันทำความเข้าใจ ในลักษณะการเข้าไปขอร้องกัน ไม่ใช่การสั่งหรือบังคับอย่างที่ไปขยายความกัน
"ขอให้มองที่เจตนาของคสช. ว่าทุกสิ่งที่คสช.ขอความร่วมมือ เพราะจำเป็นต้องดูแลบรรยากาศ และความรู้สึกของทั้งสังคม เพื่อให้บ้านเมืองได้เดินหน้าไปตามแผนและเป้าประสงค์ส่วนรวมร่วมกัน" พ.อ.วินธัย กล่าว
พ.อ.วินธัย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาคสช. เคารพในการทำหน้าที่ของสื่อฯ และเชื่อมั่นว่าสื่อมีเจตนาดีต่อบ้านเมือง แต่ด้วยมุมมองที่อาจแตกต่างกันบ้าง เนื่องจากสถานะ และหน้าที่ต่างกัน และในช่วงสถานการณ์พิเศษที่มีความละเอียดอ่อนอยู่ในขณะนี้ จึงมักมีการปรึกษาแลกเปลี่ยนความเข้าใจกันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งบางครั้งก็ทำหนังสือ หรืออาจโทรศัพท์พูดคุย หรือไม่ก็เข้าไปขอคำปรึกษากัน อย่างกรณีล่าสุด และปัจจุบันการพูดคุยก็ไม่ได้ใช้ข้อกฎหมาย หรือประกาศคำสั่งเสมอไป ยืนยันใช้วิธีการขอคำปรึกษา และขอความร่วมมือเป็นหลัก โดยหยิบยกประเด็นมุมมองที่แตกต่างมาอธิบายกันอย่างมีเหตุมีผล จนเกิดความเข้าใจกันและกันอย่างแท้จริง ไม่ได้ใช้มิติในด้านกฎหมายไปบังคับแต่อย่างใด
"ขอให้เห็นใจคสช. เพราะไม่อยากให้ขยายผลกันไปในเชิงว่า มีความขัดแย้งระหว่างสื่อกับคสช. ยืนยันว่าให้เกียรติทุกคน และทำงานร่วมกับสื่อในฐานะคนครอบครัวเดียวกันมาตลอด ส่วนกรณีความกังวลของสมาคมสื่อฯ ก็น่าจะมีการทำความเข้าใจกันได้เช่นกัน เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีข้อกังวลใดๆ ก็สามารถแลกเปลี่ยนความเห็นจนเข้าใจกันได้ ไม่น่ามีปัญหา" พ.อ.วินธัยกล่าว
แหล่งข่าวจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์นี้ ทางคณะกรรมการติดตามการเผยแพร่ข่าวสารสาธารณะ (คตข.)ที่มีพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะรองหัวหน้าคสช. เป็นประธานฯ จะมีการโทรศัพท์เพื่อนัดเชิญตัวแทนบรรณาธิการสื่อ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ ที่ยังไม่ได้เดินทางมาร่วมพูดคุยกับคณะกรรมการฯ ในครั้งแรกมาทำความเข้าใจในการนำเสนอข่าวสารเป็นครั้งที่สอง เพื่อต้องการให้ประเทศเดินหน้าไปด้วยความเรียบร้อย เนื่องจากคสช.เห็นว่า สื่อมวลชนและคอลัมนิสต์ มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง พร้อมกับยืนยันว่า ทางคสช.ไม่ได้คุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชนแต่อย่างใด โดยมี พล.ท.สุชาติ ผ่องพุฒิ เจ้ากรมกิจการทหารสื่อสาร ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการฯ เป็นหัวหน้าทีมในการพูดคุย ที่สโมสรนายทหารสัญญาบัตร กรมการทหารสื่อสาร

**รองโฆษกรัฐบาลยันไม่ได้ปิดกันสื่อ

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกรัฐบาล กล่าวถึงกรณีที่สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาล แล คสช. ยุติการแทรกแซง-คุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนว่า เรื่องนี้รัฐบาลมีนโยบายสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการปฏิรูปประเทศไทย และรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนบนพื้นฐานของการให้เกียรติซึ่งกันและกัน
ทั้งนี้ เรื่องที่เกิดขึ้นกับไทยพีบีเอสนั้น ทางพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เรียนให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้รับทราบในรายละเอียดแล้วว่า ทางคสช.ไม่ได้เข้าไปกดดันให้มีการยุติรายการเสียงประชาชนเปลี่ยนประเทศไทย ทางไทยพีบีเอส เป็นเพียงผู้ดำเนินรายการ มีทัศนคติไม่เข้าใจบางอย่าง เวลาทำรายการ และนำเสนอก็ทำให้สังคมส่วนหนึ่งเกิดความไม่สบายใจ และอาจจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกัน
ทางคสช.จึงได้เดินทางไปพูดคุยกับผู้บริหารของไทยพีบีเอส ซึ่งการพูดคุยก็เป็นไปแบบให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ได้ไปแสดงอำนาจบาตรใหญ่ หรือไปสั่งการให้ยุติรายการเสียงประชาชนเปลี่ยนประเทศไทย แต่อย่างใดเพียงแต่อยากให้มีการนำเสนอให้เหมาะสม เราไม่อยากให้มีการตั้งประเด็น หรือ ตั้งกระทู้ ถึงความขัดแย้งในช่วงที่ผ่านมา และมีการเชิญภาคส่วนต่างๆ มาร่วมแสดงความคิดเห็น บางครั้งจะทำให้เกิดการขยายความขัดแย้ง ปัญหาก็จะไม่จบโดยเฉพาะการทิ้งปมประเด็นปัญหาเอาไว้
ทั้งนี้ยอมรับว่าสื่อมวลชนมีอิทธิพลต่อทัศนคติและความเชื่อของสังคม ซึ่งตรงนี้รัฐบาลและคสช. มีความเป็นห่วง บางครั้งมันอาจจะไปทำให้ความรู้สึกของคนไปเชื่อแบบนั้น และอาจจะนำไปขยายความขัดแย้งขึ้นมาอีก
"ทางเจ้าหน้าที่คสช.ไปพูดคุยแบบให้เกียรติซึ่งกันและกัน และทางผู้บริหารของไทยพีบีเอส ก็เข้าใจกับการพูดคุยในครั้งนั้น พร้อมทั้งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่คสช. กับผู้บริหารของไทยพีบีเอส ที่ผ่านมามีการพูดคุยทำความเข้าใจกับทุกสถานีโทรทัศน์มาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง" พล.ต.สรรเสริญ ระบุ

***ทหาร ทภ.2 ร่อนแถลงโต้นักข่าวหญิง
วานนี้ (16 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีนายทหารฝ่ายเสนาธิการ กองกิจการพลเรือน กองทัพภาคที่ 2 (ฝสธ.กกร.ทภ.2) แสดงพฤติกรรมป่าเถื่อนกระชากลากตัวผู้สื่อข่าวโมเดิร์นไนน์ทีวี และสำนักข่าวไทย อสมท ประจำจังหวัดนครราชสีมา ออกจากห้องประชุมพัชรินทร์ ค่ายสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 (ทภ.2) ต่อหน้า พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และนายทหารระดับสูงจำนวนมาก รวมทั้ง พล.ท.ธวัช สุกปรั่ง แม่ทัพภาคที่ 2 (มทภ.2) ด้วย

โดยไม่ได้บอกกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งได้สร้างความตกให้แก่นักข่าวซึ่งเป็นผู้หญิงเป็นอย่างมาก และหวาดกลัวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้องถอนตัวเดินทางกลับทันที จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนายทหารดังกล่าว และมีการแชร์ในเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นจำนวนมาก ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด กองกิจการพลเรือน กองทัพภาคที่ 2 ได้โพสต์หนังสือแถลงการณ์ชี้แจงในกรณีดังกล่าว บนเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์กในกลุ่มของประชาสัมพันธ์กองทัพภาคที่ 2 และกลุ่มสื่อมวลชนจังหวัดนครราชสีมา เรื่อง ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เรียน ผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนที่เคารพทุกท่าน ลงชื่อโดย พ.อ.รณกร ปานกุล ผู้อำนวยการกองกิจการพลเรือน กองทัพภาคที่ 2 (ผอ.กกร.ทภ.2) ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2557

โดยรายละเอียดเนื้อหาระบุว่า ตามที่มีข้อความปรากฏในหนังสือพิมพ์ “ASTVผู้จัดการออนไลน์” ประจำวันที่ 15 พ.ย.57 โดยมีข้อความว่า “นายทหารกร่าง! กระชากลากนักข่าวหญิงออกจากห้องประชุม โชว์เถื่อนต่อหน้า บิ๊กโด่ง” ในการตรวจเยี่ยมทหารกองทัพภาคที่ 2 ณ ห้องศรีพัชรินทร์ สโมสรร่วมเริงไชย ค่ายสุรนารี (เมื่อช่วงเช้า 15 พ.ย.57) นั้น

กระผมในฐานะ ผอ.กกร.ทภ.2 ซึ่งรับผิดชอบกำกับดูแลการปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์ขอเรียนสื่อมวลชนทุกท่านให้ทราบในข้อเท็จจริงต่อเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นดังนี้

ในช่วงก่อนเวลาที่ ผบ.ทบ. และคณะจะเดินทางมาถึง นายทหาร (ฝสธ.กกร.ทภ.2) ได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจสื่อมวลชนที่มาทำข่าว และขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ได้กำหนดไว้ (โดยอนุญาตให้ผู้สื่อข่าวได้บันทึกภาพก่อนเริ่มทำการประชุมประมาณ 5 นาที และให้ออกมาจากห้องประชุม) ซึ่งการปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

หลังจากการประชุมเริ่มไปประมาณ 10 นาที มีผู้สื่อข่าวหญิงท่านหนึ่งได้เข้ามาในห้องประชุมรวมทั้งกระผมเองรู้สึกตกใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว กระผมจึงได้แจ้งให้นายทหาร (ฝสธ.กกร.ทภ.2) ซึ่งรับผิดชอบดูแลผู้สื่อข่าวที่มาทำข่าว โดยขอเชิญผู้สื่อข่าวหญิงดังกล่าวออกไปก่อน เนื่องจากเป็นห่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งการประชุมได้เริ่มขึ้นแล้ว นายทหารผู้ที่รับผิดชอบ และได้รับคำสั่งจึงได้เข้าไปเชิญตัวออกไปจากห้องประชุม (โดยตั้งใจใช้มือสะกิดแขนเพื่อแจ้งให้ทราบ แต่มือไปสัมผัสกับสายกระเป๋า กล้องถ่ายรูปที่คล้องอยู่กับลำตัว แต่ในที่สุดนักข่าวท่านนั้นก็ออกไปจากห้องประชุม โดยแสดงอาการไม่พอใจ และตำหนินายทหารดังกล่าวว่า “บอกกันดีๆ ก็ได้ ทำไมต้องกระชากด้วย” ซึ่งเมื่อกระผมเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวจึงแจ้งให้ผู้สื่อข่าวหญิงทราบว่า การที่นายทหารได้เชิญตัวออกมานั้นไม่มีเจตนาใช้ความรุนแรง และได้กล่าวคำขอโทษ แต่เนื่องจากกระผมจำเป็นต้องเข้าร่วมประชุมต่อ จึงไม่ได้ชี้แจงรายละเอียด และทำความเข้าใจเพิ่มเติม)

ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว และข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้น กระผมขอตั้งข้อสังเกต ดังนี้

1.ทำไมผู้สื่อข่าวหญิงท่านนี้จึงเข้าไปบันทึกภาพเพียงคนเดียว ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มประชุมไปแล้ว (ทราบภายหลังว่า ผู้สื่อข่าวหญิงท่านนี้มาไม่ทันเวลาที่กำหนดไว้ จึงไม่ได้รับคำชี้แจงจากนายทหารที่รับผิดชอบ)

2.กรณีที่นายทหารใช้ความรุนแรง “กระชากลากนักข่าวหญิงดังกล่าว” ต่อหน้านายทหารที่เข้าร่วมประชุมกว่าร้อยนายที่อยู่ในห้องประชุมฯ สังเกตได้ว่า ไม่ได้มีสิ่งบอกเหตุ หรือมีเสียงแสดงความตกใจของผู้เข้าร่วมประชุมต่อการปฏิบัติของนายทหารดังกล่าว (ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการกระชากลากใดๆ ทั้งสิ้น การประชุมได้ดำเนินการต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น หากมีการใช้ความรุนแรงกระชากลากผู้สื่อข่าวหญิงเกินกว่าเหตุ ประธานในที่ประชุมฯ จะต้องยุติการประชุม และตำหนิการกระทำดังกล่าวอย่างแน่นอน)

ดังนั้น ข้อความที่ปรากฏในหนังสือโดยใช้ข้อความว่า ...

“นายทหารกร่าง” ขอเรียนให้ทราบว่าไม่เป็นความจริง นายทหาร (ฝสธ.กกร.ทภ.2) ดังกล่าวได้ปฏิบัติหน้าที่ในความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ และไม่มีเจตนาอื่นใดที่จะใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิด

“การกระชากลากนักข่าวหญิง” ขอเรียนให้ทราบว่า ไม่ได้มีการใช้ความรุนแรงถึงขั้นการกระชากลากผู้สื่อข่าวหญิงแต่อย่างใด มีเฉพาะการใช้มือไปสัมผัสกับสายกระเป๋าสะพายกล้องที่คล้องตัวอยู่ โดยความพยายามที่จะแจ้งให้นักข่าวหญิงทราบ และออกจากสถานที่ประชุมฯ

กระผมในฐานะผู้รับผิดชอบ และกำกับดูแลการปฏิบัติงานต่อเรื่องดังกล่าว ขอความกรุณาจากสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องโดยให้คำนึงถึงความเหมาะสม เพื่อมิให้กระทบต่อภาพลักษณ์ของ ทบ. และ ทภ.2 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หน่วยงานที่รับผิดชอบต่อสื่อ ได้มีการปฏิบัติต่อสื่อมวลชนทุกท่านที่มาทำข่าวด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน ให้ความเคารพในการทำหน้าที่ของแต่ละฝ่าย และไม่เคยใช้กิริยามารยาทซึ่งแสดงออกถึงความรุนแรงในการใช้พฤติกรรม หรือวาจาไม่ให้เกียรติซึ่งกันและกันเสมอ ทหารทุกคนใน ทภ.2 สำนึกในหน้าที่ และความรับผิดชอบที่จะดูแลพี่น้องประชาชน รวมทั้งสื่อมวลชนทุกท่านให้มีความสุขตลอดไป

จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจต่อสื่อมวลชนทุกท่านมา ณ โอกาสนี้ ลงชื่อ พ.อ.รณกร ปานกุล ผอ.กกร.ทภ.2 ลงวันที่ 16/พ.ย./57

เหยื่อขอความเป็นธรรมพร้อมแจงข้อเท็จจริง

ทางด้านผู้สื่อข่าวโมเดิร์นไนน์ทีวี และสำนักข่าวไทย อสมท ประจำจังหวัดนครราชสีมา เหยื่อนายทหารกร่างดังกล่าว เปิดเผยว่า ตนได้อ่านหนังสือชี้แจงต่อเหตุการณ์ดังกล่าวที่ทางกองกิจการพลเรือน กองทัพภาคที่ 2 ที่ได้โพสต์ชี้แจงสื่อมวลชนบนเครือข่ายออนไลน์แล้ว ซึ่งมีความรู้สึกว่าตนในฐานะผู้ถูกกระทำไม่ได้รับความเป็นธรรมต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเลย จึงต้องขอความเป็นธรรมจากผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วย

ทั้งนี้ ถ้อยคำชี้แจงในหนังสือดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนว่า เป็นการพูดความจริงเพียงครึ่งเดียว หรือไม่ยอมพูดความจริงทั้งหมด รวมทั้งพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงให้เกิดความเข้าใจผิด เพื่อเอาดีใส่ตัว และขาดความรับผิดชอบ แต่กลับมุ่งที่จะแก้ตัวเพื่อปกป้องตัวเองและลูกน้องในสารพัดข้ออ้าง

ตนในฐานะผู้ถูกกระทำ และได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงเป็นรายประเด็นเท่าที่จำเป็นตามที่ถูกกล่าวหาพาดพิงในหนังสือดังกล่าว ในฐานะสื่อมวลชนและประชาชนคนหนึ่งที่ไม่อยากผิดหวัง และรู้สึกเจ็บปวดไปมากกว่านี้

1.กรณีหลังเกิดเหตุการณ์ พ.อ.รณกร ปานกุล ผอ.กกร.ทภ.2 ในฐานะผู้รับผิดชอบและลงนามในหนังสือชี้แจ้งครั้งนี้อ้างว่า ได้เข้ามาแจ้งชี้แจงแก่ตนด้วยตัวเองว่า ที่นายทหารได้เชิญตัวมานั้นไม่ได้มีเจตนนาใช้ความรุนแรง และได้กล่าวคำขอโทษนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะหลังเกิดเหตุการณ์ พ.อ.รณกร ไม่ได้เข้ามาพูดคุยกับตนแต่อย่างใด มีเพียง พ.ต.อนุชา ดาวังปา ผู้ก่อเหตุที่พยายามเดินตามมาพูดแก้ตัวว่า ไม่ได้ตั้งใจ และขอโทษ ส่วนนายทหารคนอื่นๆ ต่างพากันหนีหน้าเอาตัวรอดหมด

และจากหนังสือชี้แจงนี้เป็นที่ชัดเจนว่า ผู้อยู่เบื้องหลังสั่งการให้ พ.ต.อนุชา ดาวังปา กระทำการอันน่าละอายครั้งนี้ ก็คือ พ.อ.รณกร ปานกุล ผอ.กกร.ทภ.2

2.กรณีตนเข้าไปบันทึกภาพภายในห้องประชุมคนเดียว เพราะมาไม่ทันเวลา (ให้ผู้สื่อข่าวไปถ่ายภาพในห้องประชุม) ที่กำหนดไว้ และทำให้ไม่ได้รับคำชี้แจงจากนายทหารที่รับผิดชอบนั้น เหตุที่ตนไปช้าเพราะระหว่างเดินทางไป ทภ.2 ได้มีเหตุด่วนคือ เกิดเพลิงไหม้ใหญ่ อาคารขนาด 2 ชั้น 3 คูหา หลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เสียหายทั้งหมด จึงตัดสินใจแวะถ่ายภาพทำข่าวเพลิงไหม้ก่อน ทำให้ไปไม่ทันเวลาเล็กน้อย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเรื่องนี้ไม่ควรนำมาเป็นประเด็นสำคัญเพื่อหวังโยนบาปให้แก่ผู้ถูกระทำ เพราะตนเป็นสื่อมวลชน และทำข่าวกับกองทัพภาคภาคที่ 2 มานานร่วม 20 ปี ผ่านมาหลายยุคสมัย จึงทราบและเข้าใจดีในข้อปฏิบัติต่างๆ ตามที่นายทหารได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนดังกล่าว และเป็นเรื่องปกติของการทำข่าวทุกครั้งที่ผ่านมา หากใครมาไม่ทัน (เพราะทั้งวันไม่ได้มีข่าวเดียว) ก็จะขออนุญาตทหารที่ดูแลอยู่ในขณะนั้นเข้าไปเก็บภาพบรรยากาศในห้องประชุมในเวลาอันจำกัดเพื่อเอาไว้ประกอบข่าวแล้วออกมารอสัมภาษณ์หลังการประชุมเสร็จสิ้น แต่หากไม่ได้รับการอนุญาตด้วยเหตุผลต่างๆ นานาก็ไม่สามารถเข้าไปได้ ต้องปักหลักนั่งรอสัมภาษณ์อยู่ด้านนอกอย่างเดียว ซึ่งปฏิบัติเป็นมาเช่นนี้ทุกครั้ง

ในครั้งนี้ก็เช่นกัน ตนได้ขออนุญาตนายทหารที่ทำหน้าที่ดูแลเฝ้าประตูห้องประชุมโดยตรงแล้ว ซึ่งได้รับการอนุญาตด้วยดีพร้อมเปิดประตู และออกคำเชิญให้เข้าไปถ่ายภาพในห้องประชุมด้วยตัวเอง ไม่ได้เป็นการเข้าไปโดยพลการแต่อย่างใด

3.กรณีชี้แจงว่า นายทหารได้เชิญออกจากห้องประชุม ไม่ได้ใช้ความรุนแรงกระชากลากนักข่าวหญิงออกมาแต่อย่างใดนั้น ข้อเท็จจริงคือ จู่ๆ นายทหารคนดังกล่าวได้เข้ามาดึงกระเป๋าแล้วกระชาก ลากทั้งกระเป๋า และคน คือ ตนออกจากห้องประชุมโดยไม่ได้สะกิด หรือกระซิบบอกเชิญอะไรแม้แต่คำเดียว อย่างนี้ไม่เรียกว่าทั้งกระชากและลาก แล้วจะเรียกว่าอะไร และช่างเป็นวิธีการเชิญที่ไร้ซึ่งมารยาท และป่าเถื่อน ยากที่ปุถุชนทั่วไปจะรับได้จริงๆ

ส่วนที่อ้างว่าไม่ใช่พฤติกรรมรุนแรง เพราะการประชุมยังดำเนินการไปตามปกติ ประธานในที่ประชุม (พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ.) ไม่ได้สั่งยุติการประชุม และตำหนิการกระทำดังกล่าว นั้น เรื่องนี้ตนในฐานะผู้ถูกกระทำไม่อาจทราบได้ เพราะเป็นเรื่องวิจารณญาณของแต่ละคน และในที่ประชุมนอกจาก ผบ.ทบ.แล้ว ล้วนเป็นนายทหารระดับสูงที่รับผิดชอบบ้านเมืองอยู่ในขณะนี้ด้วยกันทั้งนั้น และสำคัญตนไม่เคยคิดที่จะใช้พฤติกรรมอันไร้มารยาทตอบโต้ความป่าเถื่อนไม่ให้เกียรติบุคคลอื่นดังกล่าวจนทำให้การประชุมล่มอย่างแน่นอน

“ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตนต้องเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากหน่วยงาน หรือผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งขอความปลอดภัยในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนทุกคน และไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกกับผู้ใด เพราะมันนำมาซึ่งความเดือดร้อนเสียหายและความรู้สึกอันแสนเจ็บปวดของผู้ถูกกระทำ อีกทั้งยังกระทบต่อภาพลักษณ์ของกองทัพบก และกองทัพภาคที่ 2 เองด้วย” ผู้สื่อข่าวเหยื่อนายทหารกร่าง กล่าวในตอนท้าย.
กำลังโหลดความคิดเห็น