xs
xsm
sm
md
lg

วิศวะไทยด้อยคุณภาพ-เสี่ยงตกงาน! จี้รัฐกู้ศักดิ์ศรี “ช่าง” แก้วิกฤตตลาดแรงงาน (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“วิศวกร” เป็นอาชีพที่สังคมให้การยอมรับ และเชื่อว่ามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่กำลังถูกตั้งคำถามหลังเปิดเออีซี ปี 2558 วิศวกรไทยจะตกงาน เพราะถูกต่างชาติแย่งงาน ซึ่งเป็นผลมาจากการผลิตวิศวกรไม่ได้มาตรฐานจริงหรือไม่ ขณะที่วิศวกรไทยกว่า 230,000คน อยู่ในระดับชั้นยอดแค่ไม่กี่คน และข้อเท็จจริงคนไทยมีโอกาสสร้างสิ่งประดิษฐ์เทคโนโลยีได้ทัดเทียม สิงคโปร์ และเกาหลี จริงหรือ?

ทีม special scoop จะนำเสนอทั้งหมด 3 ตอน เพื่อตีแผ่ความจริงของวิชาชีพวิศวกร ที่รัฐจะปล่อยให้ผลิตออกมาเช่นนี้ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว พร้อมกับแนวทางในการปั้นวิศวกรพันธุ์ใหม่ รวมไปถึงวิศวะแขนงใดเป็นสาขาแห่งอนาคต!

อ่านย้อนหลังตอนที่ 1 : วิศวะไทยด้อยคุณภาพ-เสี่ยงตกงาน! ปั้น “ลูกน้อย” ให้เป็นวิศวกรนักประดิษฐ์ (ตอนที่ 1)

นายก วสท.แนะรัฐบาล คสช. เร่งเปิดตลาดให้วิศวกรไทย ก้าวไปรับงานในประเทศเพื่อนบ้าน มั่นใจสู้ต่างชาติได้ ขอแค่คิดใหม่ ทำใหม่ เชื่อ “ภาษา” คนไทยไม่ได้ด้อยกว่าญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน เกาหลี ติงอย่าดูถูกวิศวกรด้วยกันเอง จบที่ไหนไม่สำคัญ เพราะตลาดแรงงานจะเป็นผู้เลือกวิศวกรเอง ขณะที่รัฐต้องแก้ปัญหาช่างขาดแคลน ควรยกศักดิ์ศรี และให้เงินเดือนที่ดีกว่าเก่า เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นพายเรือในอ่าง เจอวิกฤตวิศวกรด้อยคุณภาพ-ตกงาน!?

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปภัมภ์ (วสท.) ให้ความเห็นถึงการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 ที่คาดว่าจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงาน จนเกิดผลกระทบต่อวิศวกรไทยจะถูกต่างชาติแย่งงาน เนื่องเพราะเขามีความเชี่ยวชาญ และภาษาในการสื่อสารที่ดีกว่านั้น เป็นทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งตรงนี้เราต้องมีการเปลี่ยนหลักคิดหรือจัดลำดับความสำคัญกันใหม่

เปลี่ยนทัศนคติ เปิดตลาดเชิงรุก

โดยจะต้องเปลี่ยนทัศนคติเชิงลบ ที่ว่าเมื่อเปิดเออีซีแล้วจะถูกต่างชาติเข้ามาแย่งงานให้เป็นทัศนคติเชิงรุกก่อน เพราะความจริงแล้วการเปิดเออีซีคือโอกาสของวิศวกรไทยที่มีอยู่ถึง 230,000 คนที่จะสามารถก้าวออกไปสู่ตลาดใน 10 ประเทศที่มีพลเมืองกว่า 600 ล้านคน ขณะเดียวกันประเทศไทยก็จะได้วิศวกรที่เชี่ยวชาญจากต่างชาติเข้ามาช่วยในการพัฒนาบ้านเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไทยจะต้องอ้าแขนรับ ไม่ใช่ไปต่อต้านเพราะกลัวว่าต่างชาติจะมาแย่งงาน

แต่การที่จะทำให้วิศวกรไทยออกสู่ตลาดใน 10 ประเทศได้นั้น รัฐบาล คสช.จะต้องเป็นผู้เปิดตลาดให้วิศวกรคนไทย โดยไม่ว่าคณะรัฐบาลจะเดินทางไปเยือนประเทศใดก็ต้องหาช่องทางสร้างโอกาสให้วิศวกรไทย ได้มีโอกาสเข้าไปทำงานยังประเทศนั้น เช่น การไปเยือนประเทศพม่า ก็ต้องหาทางบอกให้ผู้นำพม่าได้เข้าใจถึงประสบการณ์ที่วิศวกรคนไทยจะเข้าไปช่วยในการพัฒนาประเทศพม่าได้

“เราสามารถพูดถึงด้านกายภาพของพม่าที่กำลังจะเจอวิกฤตจราจรเหมือนบ้านเรา เวลานี้รถในพม่าเริ่มติด เรามีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาเรื่องการจราจรในไทยมาแล้ว ทั้งเรื่องทางด่วน ขนส่งระบบราง จึงรู้ว่าควรทำอย่างไร ไม่อยากให้พม่าต้องมาเผชิญปัญหาแบบของเราในอดีต เพราะกรุงเนปิดอว์ก็จะเหมือนกรุงเทพฯ บ้านเรา ต้องคุยเพื่อให้เกิดการร่วมมือ”

ประเทศพม่าซึ่งอยู่ใกล้กับประเทศไทยมาก ดังนั้นรัฐบาลต้องปูทางหรือหาช่องทางที่จะทำให้คนไทยเข้าไปทำงานในพม่าให้ได้ เพราะพม่ากำลังพัฒนาระบบสาธารณูปโภค มีการก่อสร้างเกิดขึ้นมากมาย ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องการจะเข้าไปลงทุนเช่นกัน

“ประเทศไทยต้องไม่ปล่อยให้ยุโรป จีน สิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ไกลกว่าเข้ามาแย่งงาน ขณะที่พม่าอยู่ใกล้บ้านเรา มีอะไรคล้ายๆ เมืองไทย”

หรือกรณีของประเทศอินโดนีเซีย จะมีการสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายใหม่ ซึ่งประเทศไทยมีประสบการณ์ในการเวนคืนที่ดินมาแล้ว จึงเข้าใจปัญหาในเรื่องการเวนคืนและการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยรัฐบาลไทยสามารถเอาแบบในการก่อสร้างในประเทศไทยที่เคยทำมาแล้วไปให้อินโดฯ ดูก่อน จากนั้นจึงค่อยให้มีการติดตามเรื่องต่อไป

“เราให้คำเสนอแนะเรื่องระบบราง เรื่องขนส่งเขาได้ เพราะไม่ใช่ว่ามีเงินแล้วทำได้ทุกอย่าง มันต้องมีการพัฒนาคน และระบบไปพร้อมๆ กัน”

ดังนั้นรัฐบาล-คสช. จะต้องเป็นผู้เปลี่ยนทัศนคติเชิงรุกที่จะนำพาวิศวกรไทยก้าวไกลในการไปรับงานในต่างประเทศซึ่งจะทำให้วิศวกรไทยได้ประสบการณ์และเชี่ยวชาญมากขึ้น
โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย(ภาพจาก:Internet)
ภาษาไม่เก่งแต่โคตรรวย

จากนั้นเราจะต้องเปลี่ยนทัศนคติที่ว่าภาษาสำคัญที่สุด และความเชื่อที่ว่าวิศวกรไทยถูกต่างชาติแย่งงานเป็นเพราะภาษาเราด้อยกว่า จึงถูกแย่งงาน ซึ่งหากเราหันไปมองประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน ทั้งหมดจัดอยู่ในประเทศ “โคตรรวย” ทั้งที่ภาษาเขาก็ไม่ได้แตกต่างจากคนไทยหรือพูดง่ายๆ เขาก็ไม่ได้เรื่องเหมือนคนไทย แต่ทำไมถึงรวยได้

“บ้านเรามัวแต่คิดแบบนี้ หลายคนหันไปเน้นแก้ไขที่ภาษากัน ซึ่งมันเป็นทัศนคติที่ผิด ต้องเปลี่ยนทัศนคติกันใหม่ ดูประเทศแถบแอฟริกา พูดได้หลายภาษา แต่ทำไมโคตรจน ส่วนญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน เกาหลี ภาษาไม่ได้เรื่องแต่ทำไมโคตรรวยได้”

ศ.ดร.สุชัชวีร์ บอกว่า เราต้องหันมามองเนื้อแท้ในการจ้างงาน เราจะพบว่าการว่าจ้างวิศวกรจะเน้นที่ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ที่เหมาะกับงานแต่ละประเภท และอาชีพวิศวกรก็ไม่ได้ต่างจากสถาปนิก ยกตัวอย่างถ้าเราจะจ้างสถาปนิก เราจะเลือกจ้างสถาปนิกที่พูดเก่ง แต่เขียนแบบไม่เป็น หรือจะเลือกสถาปนิกที่เป็นใบ้ แต่เขียนแบบเป็น

“สถาปนิกเป็นใบ้ แต่ drawing สุดยอด กับสถาปนิกพูดเก่ง แต่ drawing ไม่เป็น ลองคิดดูนะคุณจะจ้างสถาปนิกคนไหนทำงาน แล้วอย่างนี้จะบอกว่าภาษาสำคัญกว่าความรู้ ความเชี่ยวชาญ ได้อย่างไร”

อย่างไรก็ดี วิศวกรที่มีอยู่ในขณะนี้ หากรู้ว่าตัวเองไม่มีทักษะในวิชาชีพวิศวกรเพียงพอก็ต้องดิ้นรนที่จะสร้างความรู้ความเชี่ยวชาญให้กับตัวเอง ซึ่งสมาคมวิศวกรรมสถานฯ ก็มีการจัดอบรมเสริมสร้างความรู้ให้วิศวกรอยู่ตลอดเวลา และหน่วยงานของรัฐ หรือบริษัท ก็ต้องจัดหาหลักสูตรที่จะช่วยเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญให้กับวิศวกรของตนเองต่อไป

“วิศวกรต้องศึกษา ต่อยอดความรู้ตลอดเวลา เพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลง เราจะมีความรู้แค่เดิมๆ ที่เราจบปริญญาตรีไม่ได้อีกต่อไป เราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เรายังทำงานในอาชีพวิศวกร”

ส่วนการแก้ปัญหาระดับชาติในเรื่องระบบการศึกษาซึ่งจะมีการผลิตคนรุ่นใหม่นั้น รัฐบาลจะต้องจัดลำดับความสำคัญในการจัดการศึกษา เพราะอาชีพวิศวกรยังมีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศซึ่งเป็นการมองอนาคตของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ ให้ทันสมัย ส่งผลให้วิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญ

“ไม่ได้หมายความว่าภาษาไม่สำคัญเลย เพียงแต่ว่าเราต้องจัดลำดับความสำคัญเพื่อการพัฒนาประเทศ ภาษาจึงเป็นรองคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์”

ดังนั้นถ้ารัฐบาลมีการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกันไปในอนาคตข้างหน้าเราก็อาจจะมีวิศวกรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ไปพร้อมๆ กับมีทักษะด้านภาษาที่สามารถสื่อสารได้ทัดเทียมเจ้าของภาษา ส่งผลให้เยาวชนรุ่นใหม่ไม่รู้สึกว่าภาษาเป็นอุปสรรคต่อการทำงานและสามารถสู้ชาวต่างชาติได้อย่างมั่นใจ

“กู้ศักดิ์ศรี-เพิ่มเงิน” แก้วิกฤตช่างขาดแคลน

ส่วนในเรื่องที่สถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนต่างพากันเปิดคณะวิศวกรรมศาสตร์ และมีการผลิตวิศวกรออกมาเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของวิศวกรโดยตรงนั้น ศ.ดร.สุชัชวีร์ ระบุว่า การผลิตวิศวกรจำนวนมากเป็นเรื่องที่ดี และเราก็ไม่ควรจะไปกีดกั้น หรือไปว่ากัน เพราะแต่ละคน แต่ละครอบครัวก็ต้องหวังความก้าวหน้า คนที่ไม่จบปริญญาตรี ก็ต้องไขว่คว้าใบปริญญากัน

ดังนั้นวันนี้เราจึงเห็นช่างมาเป็นวิศวกรกันมาก ทั้งที่ความจริงแล้ว “ช่าง” ขาดแคลน แต่เพราะสังคมให้ความสำคัญและยกย่องคนที่ใบปริญญา จึงทำให้คนที่เป็นช่าง หรือคนที่จบ ปวส.ก็ต้องการก้าวขึ้นมาเป็นวิศวกร

“ทุกคนรักความเจริญ รักความก้าวหน้า ถ้าประเทศต้องการช่าง ที่เก่งๆ ก็ต้องเพิ่มเงินเดือน ยกย่องในศักยภาพของความเป็นช่างของเขา ไม่ใช่เงินเดือนก็ไม่ให้ ศักดิ์ศรีก็ไม่ให้ ใครที่ไหนจะอยากเป็นช่าง ก็ต้องดิ้นรนเป็นวิศวกร ก็คือเป็นวิศวกรช่าง”

ที่สำคัญจะต้องไม่ดูถูกในเรื่องของสถาบันการศึกษา ต้องให้โอกาสโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในภูมิภาคจะต้องคิดและวางแผนสร้างจุดแข็งให้เขา

“ผลิตวิศวกรเยอะๆ เราไม่ว่ากัน ตลาดจะเป็นตัวตัดสินเอง อย่างในอเมริกามีมหาวิทยาลัยตั้ง 3,000 กว่าแห่ง บริษัทใหญ่ๆ ในอเมริกาเขาก็รู้ว่าจะเลือกคนจบจากมหาวิทยาลัยใดเข้าทำงาน”

ขณะที่วิศวกรไฟฟ้าคนหนึ่งได้สะท้อนปัญหาในเรื่องวิศวกรช่าง ว่าตัวเขาเองก็เป็น “ช่าง” ที่เก่งคนหนึ่งที่หายไปเป็นวิศวกร เนื่องจากสังคมให้ราคาวิศวกร ทำให้ตัวเขาก็ต้องดิ้นรนไปเรียนต่อหลังจากจบ ปวส.สถาบันของรัฐชื่อดังในภูมิภาค และทำงานเป็นช่างอยู่ระยะหนึ่งก็ตัดสินใจไปเรียนต่อที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเอกชนเพื่อเป็นวิศวกรเช่นกัน

“สังคมมันให้ราคาแบบนี้ ลองช่างได้เงินเดือนเฉียดๆ วิศวกร ไม่มีช่างคนไหนดิ้นรนไปเรียนหรอก เพราะคนเป็นช่างไปเรียนเป็นวิศวกรมันก็ยาก ใช้ทุนในการเรียนสูง พอไปลงทุนเรียนจนจบแล้ว ใครบ้างอยากจะรับเงินเดือนช่างมั่ง มันเหนื่อย เงินก็น้อย ทำงานไม่ทันใจก็โดนวิศวกรด่า ตัวเองไม่เคยผิดเพราะชินกับการออกคำสั่ง”

เขาเล่าอีกว่า วิศวกรช่าง มีความคิดไม่ได้ต่างจากกัน เพราะเมื่อเขาเรียนต่อจนจบมาแล้วก็จะไม่ยอมรับเงินเดือนช่างอีกต่อไป แต่พวกเขาเลือกที่จะยอมตกงานมากว่า เพราะกลัวเสียฟอร์มถ้าจะกลับไปรับเงินเดือนช่าง ที่สำคัญบางครอบครัวเครียดมาก สู้อุตส่าห์ส่งลูกเรียนต่อจนจบไปเป็นวิศวกรแล้ว แต่ลูกกลับยังตกงานอีก

“บ้านเราไม่ได้ขาดแคลนวิศวกร แต่เราขาดแคลนช่างมากๆ คือช่างที่รู้จริงๆ นะ ทำงานได้หลังจากที่วิศวกรคิดนะ เพราะเด็กช่างที่เรียนดี เก่ง ทำงานได้ ก็พากันมาเรียนต่อเป็นวิศวกรกันหมด ซึ่งมันทำให้ ตรงกลางซึ่งหมายถึงช่างที่มีฝีมือหายไปหมด”

วิศวกรช่าง บอกอีกว่า หากสังคมให้ความสำคัญกับคนที่เป็น “ช่าง” ทั้งในเรื่องเงินเดือนและศักดิ์ศรีตามที่นายกสมาคมวิศวกรรมฯ ให้ความเห็นไว้ ก็จะส่งผลดีต่อประเทศโดยรวม เพราะประเทศไทยก็จะมี “ช่างฝีมือ” ที่มีคุณภาพทำงานได้ ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน

“วิศวกรที่เรียนจบมาโดยตรง เป็นผู้คิด วางแผน แก้ปัญหาหน้างานกันไป ส่วนช่างก็ทำงานในฐานะช่างมีรายได้ที่ดี มีศักดิ์ศรี บ้านเราก็จะไม่เจอปัญหาวิศวกรช่างตกงานกันมากมาย เพราะคิดเพียงว่าได้ชื่อว่าเป็นวิศวกรแล้วไปทำงานเป็นช่างอีกไม่ได้ กลายเป็นคนเลือกงาน เดินแตะฝุ่นกันเยอะแยะ”
แรงงานในระดับช่างยังคงขาดแคลน
จัดเกรดวิศวกรเชี่ยวชาญแค่ 10%

นอกจากนี้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ ยังบอกอีกว่า อาชีพวิศวกรไม่ได้แตกต่างจากอาชีพอื่น คือมีหลายระดับขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับเนื้องาน ตัวอย่างเช่นเราจะสร้างบ้านชั้นเดียวก็ไม่จำเป็นต้องไปจ้างวิศวกรเชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงไปออกแบบ คุมงาน แต่ถ้าเราจะสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน ขุดเจาะน้ำมัน เราก็ต้องจ้างวิศวกรที่เชี่ยวชาญเข้ามาทำงาน ไม่เช่นนั้นงานก็จะมีปัญหา
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปภัมภ์ (วสท.)
ดังนั้นหากจะจัดระดับวิศวกรที่มีอยู่ 230,000 คน โดยใช้ภาพสามเหลี่ยมเป็นตัวอธิบายนั้น จะพบว่าระดับยอดประมาณ 10% หรือ 23,000 คนถือเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดี จะไปทำงานตรงไหนก็ได้ เพราะเป็นกลุ่มที่เชี่ยวชาญ สามารถไปทำงานได้ทั่วโลก หากวิศวกรกลุ่มนี้เขาไปทำงานในอาเซียน 5,000 คน หรือในเอเชีย 2-3,000 คน ไปอยู่อเมริกา ยุโรป ก็สร้างชื่อให้ประเทศไทยได้แล้ว

โดยคุณสมบัติของวิศวกรกลุ่มนี้จะมีพื้นฐานด้านวิศวกรรมในแต่ละสาขา ระดับยอดเยี่ยม มีทักษะในการเป็นผู้นำ สื่อสารกับต่างชาติได้อย่างดี และยังเป็นผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรมที่ดี ไม่ได้เข้าไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน แต่ไปเพื่อไปทำงาน ช่วยงานประเทศนั้นๆ วิศวกรกลุ่มนี้ก็จะเป็นผู้เปิดทางให้กับวิศวกรรุ่นน้องๆ ได้มีโอกาสไปทำงานเช่นเดียวกัน

“วิศวกรที่อยู่ในระดับยอดนั้น จะไปอยู่ในฐานะผู้นำ ไปทำงานด้านการเงิน การศึกษา การเมือง ไปเป็นวิศวกรอาชีพในต่างประเทศ”

ส่วนวิศวกรที่อยู่ตรงกลางของสามเหลี่ยม ควรจะมีประมาณ 50% ที่เป็นวิศวกรคุณภาพด้านการผลิตเพื่อพัฒนาภายในประเทศไทยได้ ซึ่งวิศวกรกลุ่มนี้ก็ต้องพัฒนาเพื่อยกระดับตัวเองไปเป็นวิศวกรระดับบนสุดให้ได้ โดย วสท.ก็มีการจัดหลักสูตรเพื่อยกระดับวิศวกรอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ขณะที่วิศวกรที่อยู่ล่างสุดของสามเหลี่ยมนั้น จะมีประมาณ 40% ซึ่งหมายถึงกลุ่มที่จบ ปวส.และมาเรียนต่อปริญญาตรีได้เป็นวิศวกรนั้น ก็ต้องพัฒนาตัวเอง เพื่อยกระดับไปอยู่ตรงกลุ่มกลางให้ได้ ซึ่ง วสท.ก็มีการจัดหลักสูตรในการศึกษาอบรมต่อเนื่อง

“อย่าไปกีดกั้น หรือดูถูกวิศวกรกลุ่มนี้ บางคนเขาเก่ง แต่พื้นฐานครอบครัวเขาจน เลยไม่ได้มีโอกาสแบบวิศวกรคนอื่นๆ แต่เขาก็มีมานะจนเป็นวิศวกรได้ และบางคนเรียนจนได้ปริญญาเอก มีดอกเตอร์นำหน้าก็มี ซึ่งตลาดจะเป็นตัวเลือกเขาเองในการทำงาน”

ศ.ดร.สุชัชวีร์ ย้ำว่า วิศวกรกลุ่มนี้ต้องขยันและมุ่งมั่นพัฒนาตัวเอง เพื่อสร้างโอกาสให้กับตัวเองและต้องเลื่อนฐานะไปอยู่ในกลุ่มตรงกลางสามเหลี่ยมให้ได้

ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องมีความชัดเจนในเรื่องการผลิต “ช่าง” ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน เพราะหากไม่เพิ่มทั้งเงินเดือนและให้ศักดิ์ศรีกับ “ช่าง” คนกลุ่มนี้ก็ต้องเปลี่ยนเส้นทางเพื่อไปเป็นวิศวกรเหมือนที่ผ่านมา จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาของไทยว่าผลิตวิศวกรด้อยคุณภาพ และจบวิศวกรมาแล้วยังต้องตกงานเป็นจำนวนมาก

ส่วนเด็กรุ่นใหม่ก็เป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษาที่จะต้องพัฒนาวิศวกรพันธุ์ใหม่ เพื่อมาช่วยในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

ขณะที่วิศวกรรมแขนงไหนจะเป็นสาขาแห่งอนาคต ที่เด็กรุ่นใหม่ที่อยากเป็นวิศวกรเตรียมหมายตาไว้ได้.....ติดตามตอนที่ 3

กำลังโหลดความคิดเห็น