xs
xsm
sm
md
lg

วิศวะไทยด้อยคุณภาพ-เสี่ยงตกงาน! ปั้น “ลูกน้อย” ให้เป็นวิศวกรนักประดิษฐ์ (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“วิศวกร” เป็นอาชีพที่สังคมให้การยอมรับ และเชื่อว่ามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่กำลังถูกตั้งคำถามหลังเปิดเออีซี ปี 2558 วิศวกรไทยจะตกงาน เพราะถูกต่างชาติแย่งงาน ซึ่งเป็นผลมาจากการผลิตวิศวกรไม่ได้มาตรฐานจริงหรือไม่ ขณะที่วิศวกรไทยกว่า 230,000 คน อยู่ในระดับชั้นยอดแค่ไม่กี่คน และข้อเท็จจริงคนไทยมีโอกาสที่จะสร้างสิ่งประดิษฐ์เทคโนโลยีได้ทัดเทียมสิงคโปร์ และเกาหลี จริงหรือ?

ทีม special scoop จะนำเสนอทั้งหมด 3 ตอน เพื่อตีแผ่ความจริงของวิชาชีพวิศวกร ที่รัฐจะปล่อยให้ผลิตออกมาเช่นนี้ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว พร้อมแนวทางในการปั้นวิศวกรพันธุ์ใหม่ รวมไปถึงวิศวะแขนงใดเป็นสาขาแห่งอนาคต!
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปภัมภ์ (วสท.)
“วิศวกร” เป็นอาชีพที่มีบทบาทต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหากประเทศนั้นสามารถผลิตวิศวกรนักวิจัย-วิศวกรนักประดิษฐ์ ได้ย่อมทำให้ประเทศดังกล่าวมีเศรษฐกิจที่เจริญก้าวหน้ามากที่สุด มีมาตรฐานความเป็นอยู่สูง มีเทคโนโลยีที่ก้าวไกลและสามารถก้าวสู่การเป็นประเทศมหาอำนาจได้โดยง่าย

ขณะที่อาชีพวิศวกรไทยกลับดูน่าเป็นห่วง ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าเมื่อมีการเปิดเสรีอาเซียนในปี 2558 อาชีพวิศวกรของไทยจะเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีความเสี่ยงที่จะตกงานสูง เพราะจะถูกวิศวกรชาวต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญกว่าทั้งในเรื่องฝีมือและภาษาเข้ามาแย่งงาน

ดังนั้น หากรัฐหรือผู้ที่เกี่ยวข้องไม่รีบดำเนินการวางแผนแก้ไขอย่างเป็นระบบ “วิศวกรของไทย” อาจเป็นได้แค่ “ช่าง” และการพัฒนาประเทศก็จะหยุดอยู่กับที่หรือมีสถานะเป็นเพียงผู้นำเข้าอุปกรณ์ต่างๆ ในการพัฒนาประเทศเท่านั้น

ทั้งๆ ที่ “มันสมอง” ของคนไทย เก่งกว่าหลายๆ ชาติ และวันนี้ประเทศไทยมีอาจารย์ด้านวิศวกรรมที่ดีที่สุดในอาเซียน ทั้งในด้านคุณภาพและจำนวน แต่เรายังไม่สามารถสู้ชาติอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ เกาหลี ได้ เป็นเพราะเหตุใด และอะไรคือจุดอ่อนที่ต้องเร่งกำจัดอย่างรีบด่วน!

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปภัมภ์ (วสท.) ระบุว่า วิศวกรรมมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการพัฒนาประเทศ และหากมองย้อนไปเราจะพบว่าประเทศที่มีการพัฒนาด้านวิศวกรรมจะสามารถยกระดับจากประเทศที่ยากจนไปสู่ฐานะปานกลาง และเป็นประเทศที่ร่ำรวยได้ในที่สุด

ดูได้จากประเทศจีน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น แม้กระทั่งประเทศฟินแลนด์ จะพบว่าด้านวิศวกรรมมีความเข้มแข็งจึงสามารถดึงเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตได้ โดยไม่ต้องไปกล่าวถึงสหรัฐฯ อังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมัน ซึ่งมีความยิ่งใหญ่ด้านวิศวกรรมโด่งดังไปทั่วโลก

“ต้องยอมรับ 100% ของโลกที่พัฒนาด้านวิศวกรรมให้มีความเข้มแข็ง จะทำให้ทุกอย่างของประเทศเติบโตตามมา”

ดังนั้น การที่จะทำให้วิศวกรรมเข้มแข็งหรือต้องการจะผลักดันวิชาชีพวิศวกรให้ล้ำหน้าสู้กับประเทศต่างๆ ทั้งในอาเซียนและทั่วโลกได้ก็ต้องมาดูกันทั้งระบบ โดยรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง หากปล่อยไว้เช่นนี้ก็อย่าหวังว่าจะพัฒนาประเทศไทยไปเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอุปกรณ์สำคัญที่จะสร้างรายได้ให้ประเทศอย่างมหาศาลได้

“เปรียบเทียบง่ายๆ ประเทศที่เขาผลิตมือถือได้ เกาหลี ไต้หวัน เครื่องเล็กๆ แค่นี้ราคา 2 - 3 หมื่นบาท แต่ของเราต้องขายข้าวเป็นตันๆ กว่าจะได้ 1 หมื่นบาท หรือที่เรานำเข้ารถไฟฟ้าต้องใช้เงินมหาศาล อุปกรณ์การแพทย์ ทุกชนิดก็นำเข้า เพราะบ้านเรายังผลิตเองไม่ได้”

อย่างไรก็ดี ทั้งมือถือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ รถไฟฟ้าที่มีการนำเข้ามานั้น ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับด้านวิศวกรรมทั้งสิ้น

ศ.ดร.สุชัชวีร์ บอกว่า การนำเข้าอุปกรณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่ผิดหรือเสียหาย แต่เราจะต้องมีการพัฒนาทำให้เกิดประโยชน์ มีการต่อยอดทางด้านเทคโนโลยี และนำไปสู่การผลิตในแบรนด์ของประเทศไทยให้ได้ในที่สุด ซึ่งอาจจะไม่ใช่วันนี้ แต่ก็ต้องมีความหวังที่จะทำให้สำเร็จ

อีกทั้งประเทศไทยจะต้องมีแผนปั้นวิศวกรของเราให้เป็น “วิศวกรนักวิจัย-วิศวกรนักประดิษฐ์” และต้องไม่ใช่เป็นวิศวกรช่าง หรือเป็นวิศวกรประกอบ อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยผลิตรถยนต์ได้ 2 ล้านคัน แต่ข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ก็คือ เครื่องยนต์ก็ออกแบบไม่เป็น เป็นเพียงวิศวกรประกอบอย่างเดียว แต่เรากลับภูมิใจว่าผลิตรถยนต์ได้ 2 ล้านคัน ส่วนผู้ที่โด่งดังที่สุดกลับเป็นค่ายโตโยต้า ค่ายฮอนด้า ค่ายบีเอ็มดับเบิลยู ค่ายเบนซ์ เป็นต้น

“ต้องยอมรับความจริงว่า เราผลิตช่างแต่เรียกว่าวิศวกร เราต้องเปลี่ยนแปลง ลาดกระบังได้พยายามพัฒนานักศึกษาวิศวะของเรา ให้เป็นวิศวกรวิจัยและประดิษฐ์มาอย่างต่อเนื่อง แต่จะทำเพียงแค่นี้ไม่ได้เพราะมันช้าเกินไป เรารับช่วงจากเด็กที่จบ ม.ปลาย อายุ 18 ปีเข้ามาเรียนระดับปริญญาตรี ความรู้พื้นฐานที่มาก็อาจจะเป็นอุปสรรคอยู่บ้าง ก็ต้องแก้กันไป”

ต้องไม่ลืมว่าวิชาวิศวกรรมนั้นต้องใช้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นปัจจัยสำคัญ ดังนั้น ถ้าเราต้องการสร้างวิศวกรนักวิจัยและวิศวกรนักประดิษฐ์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศเวลานี้ต้องปั้นเด็กตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย เพื่อส่งต่อมาที่มหาวิทยาลัยที่มีคณาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม พร้อมที่จะรองรับอยู่แล้ว

“ที่ผ่านมาเรียน Math เด็กปี 1 ถูกรีไทร์จำนวนมาก เพราะไม่รู้ว่าเรียนเรื่องนี้ไปทำไม matrix, การถอดสแควร์รูต, สมการเชิงอนุพันธ์ differential equation หรือ integrated เพื่อจะ Diff ในเรื่องของเวลากับความเร็ว ซึ่งบทคณิตศาสตร์นักศึกษาไม่เข้าใจ งงกันไปหมด”
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ปัจจุบัน คณะวิศวกรรมศาสตร์ของ สจล. มีการปรับเปลี่ยนด้วยการใช้หนังสือคณิตศาสตร์ปฏิรูป (Reformmath) ที่สอนในมหาวิทยาลัย Harvard มาใช้ในการเรียนการสอนแทน ทำให้นักศึกษามีความเข้าใจและรู้ว่าเรียนบทนี้บทนั้นเพื่อเป้าหมายอะไร

“เราจะสร้างจรวดไปดวงจันทร์ ต้องใช้แรงโน้มถ่วงโลกต้องใช้ math นี้นะ ถ้าจะประดิษฐ์เครื่องจักรกล ประหยัดพลังงาน ต้องใช้อะไร จะต้องมีการพยากรณ์อากาศต้องเกี่ยวกับ math ชุดไหน”

ศ.ดร.สุชัชวีร์ ย้ำว่า ส่วนตัวมีความเชื่อมั่นว่าวิศวกรไทยเก่ง สามารถสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง สร้างจรวด สร้างเครื่องบิน สร้างอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อแข่งขันกับทั่วโลกได้ แต่ที่ทำไม่ได้เพราะระบบการศึกษาของเราไม่เอื้ออำนวย ไม่มีความต่อเนื่อง และรัฐก็ยังไม่ให้ความสำคัญหรือส่งเสริมเท่าที่ควร วันนี้หากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือรัฐบาล คสช. ที่กำลังจะเกิดขึ้นเข้ามาจัดการก็น่าจะเป็นโอกาสที่ดี

“การนำเข้าทุกอย่างมันเป็นเรื่องง่าย ใช้เงินก็ซื้อได้ แต่การจะผลิตเองมันเป็นเรื่องยากแต่เราต้องมีความหวัง ที่ผ่านมานำเข้าง่ายเพราะมีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้องก็อยากให้ทุกอย่างยุติ และหันมาพัฒนาเด็กไทย ด้วยการเริ่มตั้งแต่ตอนนี้จะอีกกี่ปีก็ยังดีกว่าไม่เริ่ม”

ดังนั้น การจะสร้างวิศวกรนักวิจัย-วิศวกรนักประดิษฐ์ได้สำเร็จนั้น จะต้องมีแนวทางในการบริหารจัดการดังนี้

แนวทางแรก จะต้องจัดทำแผนแห่งชาติในเรื่องการศึกษาให้ชัดเจนตั้งแต่เด็กอนุบาล ประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย ส่งต่อไปยังมหาวิทยาลัย พร้อมๆ กับรัฐจะต้องสร้างแรงบันดาลใจ โดยรัฐบาล คสช. หรือสถาบันการศึกษาที่จะผลิตวิศวกร ต้องมุ่งมั่นและรู้ก่อนว่าเราจะแข่งกับใคร เหมือนอย่างที่เกาหลีบอกกับคนของตัวเองว่า “เราจะแพ้ญี่ปุ่นไม่ได้” ซึ่งการที่เกาหลีมีญี่ปุ่นเป็น Benchmarking ทำให้เกาหลีสู้ทุกๆ อย่าง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของเขา คือซัมซุงต้องชนะโซนี่, รถยนต์ต้องชนะ toyota

อย่างไรก็ดี หากเราจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนไทยและประเทศไทย ว่าเราจะต้องผลิตวิศวกรให้ดีกว่าสิงคโปร์ในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือสู้เกาหลีได้ในอีก 20 ปีข้างหน้า เราก็ต้องวางแผนตั้งแต่วันนี้ เพราะทั้งสิงค์โปร์และเกาหลี ต่างมุ่งมั่นและทุ่มเทในเรื่องวิศวกรรมเป็นหลัก

เมื่อเรามี vision ในการพัฒนาด้านวิศวกรรมแล้ว ก็ต้องหันไปทุ่มกับเด็กที่อยู่ในช่วง 10 ปีนั้นว่าปัจจุบันอยู่ในชั้นอะไร เราจะพบว่าเด็กอยู่ในชั้น ป.6 ที่กำลังจะขึ้นมัธยมต้น เราก็จะต้องจัดระบบการเรียนการสอนที่เน้นคุณภาพในด้านวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ที่รองรับเด็กกลุ่มนี้ ตั้งแต่มัธยมต้น 3 ปี มัธยมปลาย 3 ปี รวมเป็น 6 ปี กระทั่งถูกส่งต่อไปที่มหาวิทยาลัยอีก 4 ปีเพื่อพัฒนาและต่อยอดให้เด็กกลุ่มนี้เป็นวิศวกรนักวิจัย-นักประดิษฐ์ สร้างผลงานให้กับประเทศไทยได้อย่างดี

ส่วนเด็กในกลุ่มที่จะแข่งขันในอีก 20 ปีข้างหน้า ก็จะเป็นเด็กที่อยู่ในระดับชั้นอนุบาล เราก็ต้องพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกันไป

โดยเด็กทั้ง 2 กลุ่มนี้จะเป็นความหวังเต็มเปี่ยมในการยกระดับการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป เพราะเด็กถูกบ่มเพาะให้คิดเป็น ทำเป็น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ก็เข้มแข็ง ภาษาก็ได้ เมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยก็มีอาจารย์ด้านวิศวกรรมที่ดีที่สุดในอาเซียน ทั้งในด้านคุณภาพและจำนวนไว้รองรับ และเมื่อหลักสูตรการศึกษามีความชัดเจนก็จะมีรุ่นอื่นๆ ตามมา ทำให้เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าอีก 10 ปี หรือ 20 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีความเป็นเลิศด้านวิศวกรรม ทั้งในด้านการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ ให้กับประเทศไทย สามารถแข่งขันและส่งออกสิ่งประดิษฐ์สร้างรายได้ให้ประเทศไทยต่อไป

ดังนั้น ผู้นำประเทศจึงต้องมีจินตนาการ และความฝัน ก็คือ “กล้าฝันให้ไกล ไปให้ถึงจุดหมาย” เหมือนอย่างที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ อัจฉริยะระดับโลก ที่โด่งดังทั้งในวงการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ กล่าวไว้ “Imagination is more important than knowledge : จินตนาการสำคัญกว่าความรู้”

และวันนี้เป้าหมายที่เราจะต้องก้าวไปให้ถึงในอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้าก็คือประเทศไทยจะมีวิศวกรนักวิจัย และวิศวกรนักประดิษฐ์ ที่เก่งกว่าสิงคโปร์และเกาหลีแน่นอน!

“กลุ่มปัจจุบันที่เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยถูกยำเละมาแล้ว พื้นฐานวิทย์ คณิต อ่อนไปแล้ว แต่เราก็ต้องพยายามยกระดับและพัฒนาให้เขา แต่จะหวังให้เขาเป็นวิศวกรที่อยู่บนยอดของสามเหลี่ยมที่มีจำนวนน้อยไม่ได้ แต่ก็ใช่ว่าจะหมดหวัง”

แนวทางที่สอง กระทรวงศึกษาธิการต้องวางแผนให้การเรียนการสอนที่เน้นวิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์ กระจายไปยังภูมิภาคให้มากขึ้น แม้ปัจจุบันจะมีโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนจุฬาภรณ์วิทยาลัย ที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์ ก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอ และรัฐจะต้องปลูกฝังให้เด็กเก่งกลุ่มนี้รักที่จะเลือกเรียนด้านวิทยาศาสตร์วิศวกรรม แทนที่จะเลือกเรียนแพทย์เท่านั้น

“เราควรปลุกให้เด็กเก่งเข้ามาร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทย เราจะมีรถไฟฟ้าความเร็วสูง แต่ไม่มีวิศวกรระบบขนส่งทางรางได้อย่างไร เราจะเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์แต่ไม่มีโปรแกมเมอร์ได้อย่างไร”

ศ.ดร.สุชัชวีร์ บอกว่า Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง facebook เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่โด่งดังไปทั่วโลก ก็มีแรงบันดาลใจในการเขียนโปรแกรมนี้ ซึ่งนักศึกษาวิศวะลาดกระบังปี 2 ก็เขียนโปรแกรมนี้ได้ แต่เพราะเขาไม่คิด ไม่มีจินตนาการ และไม่สร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเองจึงไม่มีผลงานตรงนี้ออกสู่สังคม

แนวทางที่สาม สถาบันการศึกษาจะต้องเร่งพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และถ้าเราสามารถผลิตวิศวกรนักวิจัยและวิศวกรนักประดิษฐ์ได้มากเท่าไร ประเทศก็จะสามารถพึ่งพาตัวเองได้ สร้างความเจริญรุ่งเรือง และด้านเศรษฐกิจก็จะดีขึ้นตามมา

“เรามีความเชี่ยวชาญ ก็จะเลือกประดิษฐ์สิ่งที่เป็นประโยชน์กับชาติได้ สิ่งไหนไม่เป็นประโยชน์เราก็อาจไม่ทำก็ได้”

สำหรับคณะวิศวกรรมศาสตร์ของ สจล. ก็มีการพัฒนาหลักสูตรทางด้านวิศวกรรม ซึ่งวันนี้เรามีทั้งหมด 50 กว่าสาขาตั้งแต่ปริญญาตรี โท และ เอก แล้ว

แนวทางที่สี่ รัฐบาลต้องเปลี่ยนทัศนคติจาก “ผู้ซื้อไม่ใช่ผู้ทำ” ไปสู่จุดยืนใหม่เป็น “ซื้อครั้งเดียว” จากนั้นนำไปสู่การประยุกต์ ดัดแปลง และคิดประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ ใช้งานภายในประเทศแทนการนำเข้า

สำหรับจุดยืนในการซื้อครั้งเดียวนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อวงการวิศวกรรมอย่างยิ่ง เพราะจะช่วย สร้างแรงบันดาลใจให้กับวิศวกรคนไทย ทั้งที่จบไปแล้ว และนักศึกษาด้านวิศวกรรม จะได้เรียนรู้ ต่อยอดได้ด้วย
คู่มือแนะนำอาชีพวิศวกร ฉบับการ์ตูน
แนวทางสุดท้าย ศ.ดร.สุชัชวีร์ ให้ความสำคัญมากเพราะถือเป็นการกล้าฝันที่จะสร้างเม็ดพันธุ์ใหม่ให้กับวงการวิศวกรรม ด้วยการจุดประกาย “ความฝัน” การเป็นวิศวกรนักวิจัย-วิศวกรนักประดิษฐ์ ให้กับเด็กตั้งแต่เยาว์วัย ด้วยการสร้างคู่มือแนะนำอาชีพวิศวกร ฉบับการ์ตูน ที่เหมาะกับเด็ก โดยใช้การ์ตูนเป็นสื่อให้เข้าใจได้ง่ายๆ เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กเล็กๆ ให้หันมาสนใจเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เพื่อก้าวสู่การเป็นวิศวกรสร้างอนาคตของชาติในวันข้างหน้า

“หนังสือการ์ตูนเล่มเล็กนี้จะสะท้อนให้เห็นว่าเรียนวิศวกรรมช่วยสร้างสังคมได้อย่างไร เหมือนที่ญี่ปุ่นใช้การ์ตูนโดราเอมอนเป็นแรงบันดาลใจสร้างโปรเจกต์ใหญ่ทางด้านวิศวกรรมนักประดิษฐ์หุ่นยนต์ จนทุกวันนี้ หรือเกาหลีสร้างซีรีส์หนังที่เกี่ยวกับอาชีพหมอ ทำให้เกาหลีโด่งดังเรื่องแพทย์ศัลยกรรมหรือ นักกฎหมายจากฮาร์วาร์ดที่คนติดกันไปทั่ว”

นอกจากนี้ เด็กจะเข้าใจด้วยว่า วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมโทรคมนาคม วิศวกรรมอุตสาหกรรม วิศวกรรมระบบราง วิศวกรรมชีวการแพทย์ วิศวกรรมการเกษตร วิศวกรรมอาหาร ฯลฯ เป็นอย่างไร ต้องเรียนอะไร จบแล้วไปทำงานอะไร ช่วยสร้างสังคมให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างไร

โดยหนังสือแนะนำอาชีพวิศวกร จะผลิตทั้งหมด 1 ล้านเล่ม จะมีการแจกจ่ายไปในทุกๆ แห่งเพื่อให้เข้าถึงเด็กและผู้ปกครองให้ได้มากที่สุดในเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ดี วิศวกรที่มีอยู่ในประเทศไทยกว่า 230,000 คนนั้น รัฐจะต้องมีแผนในการยกระดับความสามารถให้อย่างไรจึงจะสามารถต่อกรกับวิศวกรต่างชาติได้ เพราะความจริงที่วงการวิศวกรไทยต้องสั่นสะเทือน หากจัดสอบตามมาตรฐานโลกแล้ว จะสอบผ่านไม่ถึง 5% อ่านรายละเอียด....ตอนที่ 2

กำลังโหลดความคิดเห็น