xs
xsm
sm
md
lg

Facebook ซื้อ WhatsApp คุ้มไหม?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทันทีที่เครือข่ายสังคมอันดับ 1 ของโลกอย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) ประกาศเทเงิน 1.6-1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเพื่อซื้อกิจการแอปพลิเคชันรับส่งข้อความสนทนาอายุ 5 ปีอย่าง “วอตสแอป (WhatsApp)” นักวิเคราะห์นั้นมองว่าการตัดสินใจซื้อกิจการครั้งนี้ไม่น่าประหลาดใจ แต่ความเซอร์ไพรส์นั้นอยู่ที่มูลค่าดีลมากกว่า ซึ่งจนถึงขณะนี้ผู้สังเกตการณ์หลายคนมองว่ายังไม่มีความชัดเจนว่าเงินทุนกว่า 6 แสนล้านบาทที่เฟซบุ๊กทุ่มลงไปนั้นจะคุ้มทุนในระยะยาวได้อย่างไร

19 กุมภาพันธ์ 2014 เครือข่ายสังคมเฟซบุ๊กประกาศเตรียมเข้าซื้อกิจการแอปพลิเคชันวอตสแอปด้วยเงินและหุ้นมูลค่ารวมกว่า 1.6-1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5.2-6.2 แสนล้านบาท โดยมูลค่าการซื้อขายนี้ถือเป็นหนึ่งในดีลซื้อกิจการที่มีมูลค่าสูงสุดที่เฟซบุ๊กเคยตัดสินใจ ขณะเดียวกัน มูลค่านี้ยังถือว่าเป็นสถิติใหม่สำหรับการซื้อกิจการเกิดใหม่หรือสตาร์ทอัปในวงการเทคโนโลยี ซึ่งอาจมองได้ว่านี่คือสัญญาณที่บอกว่าฟองสบู่ในอุตสาหกรรมดอตคอมหรือ dot com bubble กำลังเกิดขึ้น

เหตุที่ทำให้เฟซบุ๊กยินยอมจ่ายเงินและหุ้นมูลค่ามหาศาลเพื่อซื้อบริการวอตสแอป คือความนิยมของผู้ใช้วอตสแอปที่มีสูงมากทั้งในตลาดสหรัฐอเมริกาเองและในตลาดโลก จุดนี้ ริชาร์ด เทย์เลอร์ (Richard Taylor) นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมเทคโนโลยีประจำภาคพื้นอเมริกาเหนือ เชื่อว่าวอตสแอปจะทำให้เฟซบุ๊กสามารถบุกตลาดนอกสหรัฐฯ ได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มนักแชตวัยรุ่น

แต่ความไม่ชัดเจนอยู่ที่แผนการหารายได้ ที่จะทำให้การซื้อวอตสแอปครั้งนี้สร้างเม็ดเงินให้เฟซบุ๊กในระยะยาว เนื่องจากที่ผ่านมา วอตสแอปยึดมั่นในนโยบาย “ไร้โฆษณา” มาตลอด โดยให้ทางเลือกผู้ใช้จ่ายค่าสมาชิกสำหรับใช้งานวอตสแอปในราคา 1 เหรียญสหรัฐต่อปี (ราว 33 บาท) ซึ่งหากวอตสแอปตัดสินใจยึดมั่นนโยบายนี้ต่อไป แผนการคุ้มทุนด้วยการหารายได้จากวอตสแอปของเฟซบุ๊กจึงยังไม่มีความชัดเจน

ที่ผ่านมาโลกรู้ดีว่าระบบโฆษณาคือหัวใจหลักที่หล่อเลี้ยงธุรกิจเฟซบุ๊กให้อยู่รอด ดังนั้นภารกิจทำเงินบนฐานผู้ใช้วอตสแอปที่คุ้นชินกับการไม่มีโฆษณาจึงเป็นแรงกดดันที่ทำให้โลกเชื่อว่าเฟซบุ๊กจะไม่ต่อต้านนโยบายดั้งเดิมของวอตสแอป แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลว่าเฟซบุ๊กจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้ได้รับเงินตอบแทนกลับมาจากการลงทุนครั้งนี้

ทั้งหมดนี้ มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอเฟซบุ๊กให้ความเห็นว่า มูลค่ากิจการวอตสแอปนี้สมเหตุสมผลแล้ว เพราะวอตสแอปกำลังได้รับความนิยมและกำลังจะมีฐานผู้ใช้แตะระดับ 1 พันล้านคน ดังนั้นบริการที่มีจำนวนผู้ใช้งานมหาศาลเช่นนี้จึงมีมูลค่ากิจการที่ประเมินแทบไม่ได้
มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอเฟซบุ๊ก
***“มาร์ก” เชื่อวอตสแอปเติมเต็มเฟซบุ๊ก

ไม่ว่านักวิเคราะห์จะประเมินดีลนี้ในแง่ใด แต่หนุ่มมาร์กแห่งเฟซบุ๊กยืนยันว่าวอตสแอปจะเติมเต็มบริการของเฟซบุ๊ก และจะเพิ่มคุณค่าใหม่ให้ชุมชนผู้ใช้เฟซบุ๊กในหลายด้าน ซึ่งคุณค่านั้นจะมาจากความสามารถในการสื่อสารแบบเรียลไทม์ หรือการรับส่งข้อความแบบทันทีในช่วงเวลานั้นเหมือนที่ผู้ใช้วอตสแอปได้รับ

จุดนี้สามารถตีความได้ว่าเฟซบุ๊กต้องการให้ข้อความแชตหรือบทสนทนาเรียลไทม์เกิดขึ้นในระบบอีโคซิสเต็มส์ของเฟซบุ๊ก ที่ผ่านมา แม้เฟซบุ๊กจะให้บริการแอปพลิเคชันเพื่อให้ผู้ใช้สามารถสื่อสารออนไลน์ แต่ผู้ใช้หลายคนก็ไม่เลือกเฟซบุ๊กเป็นช่องทางในการรับส่งบทสนทนาที่เน้นการโต้ตอบแบบรวดเร็วเรียลไทม์ ความต้องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนี้ของผู้ใช้ทำให้เฟซบุ๊กตัดสินใจซื้อวอตสแอปในที่สุด

ที่สำคัญ ความสำเร็จของวอตสแอปในการเข้ามาแทนระบบเอสเอ็มเอสที่ทำให้โอเปอเรเตอร์ในสหรัฐฯ และหลายประเทศทั่วโลกต้องเสียรายได้มหาศาลยังสะท้อนความยิ่งใหญ่ของวอตสแอปในสายตาของซีอีโอเฟซบุ๊ก ซึ่งที่ผ่านมาวอตสแอปได้รับการยอมรับว่าเป็นบริการที่ทำให้ผู้ใช้สามารถรับส่งข้อความสนทนาได้เหมือนการรับส่งเอสเอ็มเอส แต่ผู้ใช้จะไม่ต้องเสียค่าส่งต่อข้อความเหมือนเอสเอ็มเอส แถมบทสนทนายังสามารถถูกรับส่งได้รวดเร็วระหว่างผู้ใช้เฉพาะ 2 คนหรือผู้ใช้เป็นกลุ่ม

จุดนี้ซีอีโอเฟซบุ๊กชี้ว่า แม้เฟซบุ๊กจะให้บริการที่มีความสามารถลักษณะนี้แล้วทั้งในรูปแบบเว็บไซต์เฟซบุ๊กสำหรับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และแอปพลิเคชันสนทนาสำหรับอุปกรณ์พกพาในชื่อ “เมสเซนเจอร์ (Messenger)” แต่ทั้งหมดก็มักถูกใช้เฉพาะกลุ่มผู้มีเพื่อนในเครือข่ายเฟซบุ๊กเท่านั้น และบทสนทนาก็มักไม่ได้เกิดขึ้นแบบเรียลไทม์

“หลายคนส่งข้อความถึงเพื่อนบนเฟซบุ๊ก แต่มักเป็นการส่งข้อความในรูปแบบอีเมลที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งข้อความเหล่านี้มักจะถูกส่งตอบกลับมาในวันรุ่งขึ้น” ซีอีโอเฟซบุ๊กระบุ “คุณค่าที่วอตสแอปจะมอบให้เฟซบุ๊กจะมาจากความสามารถในการโต้ตอบเรียลไทม์”

นอกจากเรียลไทม์ สิ่งที่เฟซบุ๊กต้องการเติมเต็มคือฐานผู้ใช้ที่กว้างขึ้นในตลาดโลก จุดนี้เฟซบุ๊กต้องการบริการที่กว้างกว่าเดิมในการเชื่อมต่อมุมโลกเข้าด้วยกัน ซึ่งภายใต้ร่มเงาของเฟซบุ๊ก วอตสแอปถือว่าเหมาะสมในการเล่นตามแผนของเฟซบุ๊กเพื่อให้บริการแอปพลิเคชันด้านการสื่อสารและเครือข่ายที่แตกต่าง
แจน คูม (Jan Koum) ซีอีโอวอตสแอป
แม้จะไม่มีรายงานว่ากลุ่มผู้ใช้วอตสแอปที่ใช้งานเฟซบุ๊กอยู่แล้วมีจำนวนกี่ราย แต่การซื้อวอตสแอปย่อมทำให้เฟซบุ๊กมีโอกาสเข้าถึงผู้ใช้กลุ่มใหม่เพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาวอตสแอปมีฐานผู้ใช้งานมากกว่า 450 ล้านคน ขณะที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กมีจำนวนราว 1.2 พันล้านคน แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่าวอตสแอปมีอัตราการใช้งานต่อประชากรในตลาดนอกสหรัฐฯ สูงกว่าเฟซบุ๊กมากนัก

เบื้องต้น ทั้งซีอีโอเฟซบุ๊กและซีอีโอวอตสแอป “แจน คูม (Jan Koum)” ชี้ว่าเป้าหมายหลักของวอตสแอปในขณะนี้คือการเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานให้มากที่สุด โดยยืนยันว่าทั้งคู่เห็นตรงกันว่า “โฆษณา” ไม่ใช่หนทางที่ดีที่สุดในการทำรายได้บนบริการรับส่งข้อความสนทนา และขณะนี้วอตสแอปก็เริ่มเสนอแผนเก็บค่าบริการรายเดือนอยู่แล้ว

ในขณะที่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังสามารถทำเงินได้จากการโทรศัพท์และการรับส่งข้อความเอสเอ็มเอส แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าดีลที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อธุรกิจโทรคมนาคม รวมถึงผู้เล่นในตลาดระบบสื่อสารเรียลไทม์ทั้งสไกป์ (Skype), ไวเบอร์ (Viber), สแนปแชต (Snapchat), ไลน์ (Line) รวมถึงแอปแชตแบรนด์จีนอย่างกาเกาทอล์ก (Kakao Talk), คิวคิว (QQ), แชตออน (Chat on) และวีแชต (WeChat)

***“วีแชต”' มองเป็นคนละตลาด

นายกฤตธี มโนลีหกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สนุก ออนไลน์ จำกัด สำนักงานเทนเซ็นต์ในประเทศไทย กล่าวว่า แม้ในตลาดแอปพลิเคชันแชต วอตสแอป จะเป็นผู้นำทั้งวีแชต (WeChat) และไลน์ (Line) ในหลายตลาดทั่วโลก แต่ด้วยรูปแบบของการใช้งานที่แตกต่างกัน ทำให้เชื่อว่าแอปพลิเคชันแชต และโซเชียลแพลตฟอร์มจะอยู่กันคนละตลาด

“ถ้ามองถึงจำนวนผู้ใช้งานนอกจีนแล้ว วีแชตเคยประกาศยอดผู้ใช้งานอยู่ที่ 100 ล้านคนในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมองว่ายังมีโอกาสเติบโตอีกค่อนข้างมาก โดยเป้าหมายหลักของแต่ละประเทศที่กำหนดไว้ก็คือต้องการให้มีผู้ใช้งานวีแชตเป็นสัดส่วนราว 70% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนในแต่ละประเทศ”

ทั้งนี้ วีแชตมองว่าผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องเลือกใช้แอปพลิเคชันใดแอปพลิเคชันหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับวิธีการเลือกใช้งานมากกว่า ดังนั้น สิ่งที่วีแชตจะเน้นในปีนี้คือการให้ความรู้แก่ผู้ใช้งานว่า ภายในโซเชียลแพลตฟอร์มของวีแชตมีฟีเจอร์ให้เลือกใช้มากกว่าแค่การแชต ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญที่สุดในเวลานี้

“ยอด Active User ของวีแชตในปัจจุบันจะอยู่ที่ 272 ล้านรายเท่านั้นจากยอดผู้ใช้งานที่เคยประกาศอย่างเป็นทางการในช่วงต้นปี 2556 ว่าอยู่ที่ 300 ล้านรายทั่วโลก ซึ่งเชื่อว่าจนถึงปัจจุบันยังมีผู้ใช้ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาเคยมีการคาดการณ์ว่าปริมาณผู้ใช้งานวีแชตทั่วโลกจะอยู่ที่ 600 ล้านราย ซึ่งถ้าให้สอดคล้องกับที่ทางวีแชตประกาศว่ามีผู้ใช้งานนอกประเทศจีนแล้ว 100 ล้านราย ทำให้เห็นว่าฐานลูกค้าหลักของวีแชตกว่า 80% จะอยู่ในประเทศจีนเป็นหลัก

อีกสิ่งหนึ่งที่วีแชต รวมทั้งไลน์ แตกต่างจากวอตสแอป คือ ในแง่ของบิสิเนสโมเดล เนื่องจากโซเชียลแพลตฟอร์มอย่างวีแชต และไลน์ จะสร้างรายได้จากการขายไอเท็มในเกม ช่องทางการสร้างออฟฟิศเชียลแอ็กเคานต์ให้กับแบรนด์เป็นหลัก ในขณะที่วอตสแอปแทบจะไม่มีการสร้างรายได้จากจำนวนผู้ใช้งานเลย

โดยปัจจุบันการให้บริการวีแชตในประเทศไทยยังไม่มีแนวทางการสร้างรายได้ที่ชัดเจน เพราะปัจจุบันการให้บริการออฟฟิศเชียลแอ็กเคานต์ ส่วนใหญ่จะเป็นในแง่ของพาร์ตเนอร์ร่วมมือกันมากกว่า ส่วนเกมทางวีแชตก็เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา

“วีแชตจะยังไม่คำนึงถึงการสร้างรายได้ในปีนี้ เพราะต้องการให้ความสำคัญต่อผู้ใช้งานมากกว่า แต่เชื่อว่าการให้บริการเกมจะช่วยก่อให้เกิดรายได้ที่มั่นคงอย่างแน่นอน เพราะเทนเซนต์ก็ถือเป็นผู้ให้บริการเกมรายใหญ่ในจีนอยู่แล้ว”

ขณะที่ในแง่ของการแข่งขันในประเทศไทย นายกฤตธีมองว่าขึ้นอยู่กับความเร็วในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากกว่า เพราะปัจจุบันวีแชตถือเป็นผู้ให้บริการโซเชียลแพลตฟอร์มอันดับ 2 ในท้องตลาด เนื่องมาจากเข้ามาทำตลาดช้ากว่าไลน์ถึง 1 ปี ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาควีแชตมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าไลน์ทั้งหมด

***คาดดีลสำเร็จปลายปีนี้

ประธานฝ่ายการเงินของเฟซบุ๊ก “เดวิด อีเบอร์สแมน (David Ebersman)” ให้ข้อมูลว่าบริษัทไม่พบข้อจำกัดด้านกฎหมายที่อาจส่งผลกระทบต่อดีลที่เกิดขึ้น ดังนั้นเชื่อว่าดีลนี้จะสำเร็จเสร็จสิ้นภายในปลายปีนี้ (2014)

ล่าสุดนักลงทุนตอบรับข่าวนี้ในทางลบ โดยมูลค่าหุ้นเฟซบุ๊กลดลง 5% ก่อนจะดีดตัวขึ้นเล็กน้อย จุดนี้คาดว่าเป็นเพราะนักลงทุนไม่เชื่อมั่นกับแผนการซื้อกิจการที่เกิดขึ้นหลังจากเฟซบุ๊กเทเงินซื้อบริการเครือข่ายสังคมภาพ “อินสตาแกรม (Instagram)” ด้วยเงิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2012 ซึ่งถือเป็นการซื้อกิจการครั้งใหญ่ที่สุดของเฟซบุ๊กในช่วงก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังเคยตกเป็นข่าวการเสนอซื้อกิจการแอปพลิเคชันสนทนาพร้อมภาพอย่างสแนปแชตด้วยเงิน 3 พันล้านเหรียญแต่ไม่สำเร็จ ทั้งหมดนี้ถือเป็นการบอกโลกว่า เฟซบุ๊กกำลังเข้าสู่ยุคแห่งการหว่านเงินเพื่อซื้อกิจการอย่างจริงจังบนข้ออ้างว่าเพื่อเสริมแกร่งบริการของเฟซบุ๊ก ซึ่งมุมมองความคุ้มค่าของเฟซบุ๊กอาจเกิดจากการได้ดึงตัวพนักงานหัวกะทิจากบริการดังให้มาร่วมลงสมองกับอาณาจักรเฟซบุ๊กอย่างจริงจัง

ไม่ใช่สร้างเงินจากกิจการที่ซื้อมาอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จนเห็นเป็นตัวเงินที่แสดงความคุ้มค่าอย่างที่หลายคนมอง

Related Link :
Facebook
กำลังโหลดความคิดเห็น