xs
xsm
sm
md
lg

นักธุรกิจมั่นใจมหาอำนาจแค่ขู่ ไม่แซงก์ชันการค้า-ท่องเที่ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาคธุรกิจไทยมั่นใจมหาอำนาจแค่ขู่ให้ไทยเป็นประชาธิปไตย เข้าใจเป็นเรื่องวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ชี้สถานการณ์เมืองไทยแตกต่างจากรัฐประหารประเทศอื่น ไม่มีการสังหารประชาชน ทหารออกมาแค่ยุติปัญหาและสร้างทางออกให้ประเทศ เชื่อไม่ตัดการค้ากับไทยเหตุอาจขัดกับ WTO อีกทั้งลูกค้าหลักไทยอยู่ในเอเชีย สอดคล้องด้านการท่องเที่ยว จีนอันดับ 1 นักท่องเที่ยวเอเชีย 27% อเมริกาทั้งทวีปแค่ 7.7% ไม่กระเทือน

แม้การเข้ายึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เมื่อพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม 2557 เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งของคนในประเทศที่มีแนวโน้มเผชิญหน้ากัน และทางกองทัพตรวจสอบพบว่ามีการสะสมอาวุธสงครามเพื่อใช้ก่อเหตุ จากนั้น คสช.เร่งแก้ปัญหาที่รัฐบาลรักษาการจากพรรคเพื่อไทยได้สร้างเอาไว้ โดยเริ่มต้นที่การหาเงินมาจ่ายให้กับชาวนาที่รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ค้างจ่ายชาวนามาไม่น้อยกว่า 6 เดือน

เสียงตอบรับภายในประเทศกับการเข้ามายึดอำนาจในครั้งนี้ออกมาในเชิงบวก แม้จะมีบางกลุ่มที่ออกมาต่อต้านการยึดอำนาจในครั้งนี้อยู่บ้างแต่มีไม่มากนัก

แต่ในด้านต่างประเทศแล้วขณะนี้นานาชาติต่างจับตาการเข้ามายึดอำนาจในครั้งนี้ของ คสช.

ปฏิกิริยาจากต่างประเทศที่มีต่อการรัฐประหารครั้งนี้ ถูกจับตาจากนานาชาติมากยิ่งขึ้น แม้ว่าพลเอกประยุทธ์จะแถลง Road Map เมื่อ 30 พฤษภาคม 2557 ถึงระยะเวลาที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศราว 1 ปี 3 เดือน แต่ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ที่เห็นว่าระยะเวลาดังกล่าวช้าเกินไป

มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาได้ออกโรงมาเรียกร้องให้ คสช.คืนความเป็นประชาธิปไตยให้กับคนไทยโดยเร็ว ทั้งจากทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยและกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ พร้อมด้วยการระงับความร่วมมือทางทหารกับประเทศไทย ประกาศยกเลิกการฝึกซ้อมร่วมกับกองทัพเรือไทย ภายใต้ชื่อ “CARAT” (Cooperation of Afloat Readiness and Training) และยกเลิกการเชิญพลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เดินทางเยือนสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน

นอกจากนี้ยังมีประเทศออสเตรเลีย ได้ลดระดับความร่วมมือทางการทหารกับไทย รวมถึงมีการห้ามผู้นำทางทหารของกองทัพไทยเข้าประเทศออสเตรเลีย รวมไปถึงนิวซีแลนด์ที่ออกมาเรียกร้องเช่นเดียวกัน

ในเรื่องดังกล่าวกระทรวงการต่างประเทศของไทยยอมรับว่ามีรัฐบาลจาก 39 ประเทศ ประกาศท่าทีและมีมาตรการตอบโต้ โดยขอให้ไทยกลับเข้าสู่การเลือกตั้งและขอให้ไทยกลับสู่หลักประชาธิปไตย พร้อมทั้งอีก 62 ประเทศประกาศเตือนพลเมืองของตนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศไทย โดยมี 19 ประเทศที่ประกาศให้หลีกเลี่ยงการเดินทางมายังประเทศไทยหากไม่จำเป็น อีก 43 ประเทศที่แจ้งเตือนให้ใช้ความระมัดระวังในการเดินทางในประเทศไทย

หากตอบโต้ขัด WTO

แม้ในระยะนี้ยังไม่มีมาตรการจากนานาประเทศที่จะตอบโต้ประเทศไทยออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ยกเว้นสหรัฐฯ และออสเตรเลียที่ระงับความร่วมมือทางทหารกับประเทศไทย แต่สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลกันมากคือเรื่องของมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจนำมาบังคับใช้กับประเทศไทย

เรื่องนี้นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่า ต้องรอดูก่อนว่าประเทศเหล่านั้นจะมีการประกาศถึงมาตรการที่จะตอบโต้ไทยอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะประเทศที่อ่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยอย่างในสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรป ส่วนออสเตรเลียนั้นเราค้าขายกับประเทศนี้ไม่มากนัก ส่วนประเทศในแถบเอเชียไม่มีประเทศใดที่ออกมาแสดงเจตนาดังกล่าว
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย
ขณะนี้ประเทศไทยค้าขายกับจีนและประเทศในอาเซียนเป็นหลัก หากมีการคว่ำบาตรเศรษฐกิจไทยก็อาจกระทบกับกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์โดยเฉพาะรถยนต์ปิกอัพที่ไทยส่งขายในยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่นเป็นหลัก 2 ประเทศแรกอาจมีปัญหาได้ แต่ญี่ปุ่นไม่น่ามีปัญหาเพราะเป็นประเทศในเอเชียด้วยกัน

“เรายังเชื่อว่าถ้าประเทศเหล่านี้จะทำจริงอย่างมากก็แค่ไม่ให้พลเมืองของประเทศเขาเดินทางมาประเทศไทย แต่ในด้านการค้าการส่งออกนั้นคงทำไม่ได้ เนื่องจากอาจจะขัดต่อหลักการขององค์การการค้าโลก (WTO)”

เต็มที่ได้แค่มาตรการข้างเคียง

ส่วนมาตรการอื่นๆ เช่น ลดการลงทุน ลดการช่วยเหลือต่างๆ หรืออาจจะตัดสิทธิประโยชน์ทางการค้า GSP แต่เรื่องนี้ก็คงยากเช่นกัน เนื่องจากการเข้ายึดอำนาจของ คสช.ในครั้งนี้ไม่มีเงื่อนไขที่เข้าข่าย เช่นไม่มีการนองเลือดหรือฝ่ายทหารที่เข้ามายึดอำนาจไม่ได้นำอาวุธออกมาสังหารประชาชน เหมือนกับในประเทศอื่นๆ ดังนั้นหากประเทศเหล่านี้จะออกมาตการตอบโต้ก็อาจทำได้ในส่วนที่จะมาจับจ้องเรื่องของแรงงานและสิ่งแวดล้อม

โดยภาพรวมแล้วคิดว่าประเทศเหล่านี้คงไม่มีมาตรการตอบโต้ในทางการค้ากับประเทศไทย เข้าใจว่าเป็นเพียงการพูดหรือเตือน ซึ่งเป็นเรื่องของภาพลักษณ์และวัฒนธรรมของประเทศเหล่านี้ที่ไม่สนับสนุนการรัฐประหาร เมื่อเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นก็จะออกมาตรการกับทุกประเทศ ซึ่งก็เป็นสิทธิของประเทศเหล่านั้น

ในส่วนของภาคท่องเที่ยวนั้น แม้จะมีเรื่องของการเตือนพลเมืองของประเทศเหล่านั้นให้หลีกเลี่ยงการเดินทางมาในประเทศไทย แต่นั่นเป็นเพียงคำเตือนหากนักท่องเที่ยวต้องการจะเดินทางมารัฐบาลก็ไม่สามารถห้ามได้ ซึ่งอาจจะมาที่สิงคโปร์แล้วแวะมาที่ประเทศไทยและต่อไปประเทศอื่น ขณะที่บางส่วนก็แนะนำให้ระมัดระวังเท่านั้น เชื่อว่าผลกระทบในด้านการท่องเที่ยวอาจมีบ้างแต่คงไม่มาก

มั่นใจว่าประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร คงไม่มีการออกมาตรการ Sanction ประเทศไทยอย่างรุนแรง เพราะในครั้งนี้การเข้ายึดอำนาจของ คสช.แตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา เดิมเป็นเรื่องของทหารกับรัฐบาลที่อาจจะมีเรื่องของปัญหาคอร์รัปชัน แต่ยุคนี้เป็นเรื่องของความขัดแย้งกันที่มองไม่เห็นทางออกว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร สภาพการณ์จึงบังคับให้ทหารต้องเข้ามายึดอำนาจแล้วหาทางออกให้กับประเทศ ไม่ใช่การต่อสู้กับรัฐ

“เราไม่ได้เข้าข้าง คสช. แต่วิธีการนี้ช่วยให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ติดกฎเกณฑ์ใดๆ ที่เคยเป็นอุปสรรคที่ทำให้ประเทศต้องหยุดชะงักมาร่วม 7 เดือน จึงอยากเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันอธิบายเรื่องนี้ให้ต่างชาติได้เข้าใจสภาพปัญหาในประเทศไทย”
นักท่องเที่ยวหลักของไทยคือจีน มาเลเซียและรัสเซีย
ท่องเที่ยวไทยไม่ง้อสหรัฐฯ

แหล่งข่าวด้านการท่องเที่ยวประเมินสถานการณ์นี้ว่า หากมองเฉพาะด้านการท่องเที่ยวแล้วคิดว่าไม่น่าจะกระทบมากนัก ประเทศที่เป็นโต้โผอย่างสหรัฐฯ นั้นถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางในประเทศไทยไม่มากนัก แต่กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยที่มีผลจริงๆ คือ จีน ซึ่งแซงนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง มาเลเซียลดลงมาเป็นอันดับ 2 และรัสเชีย

นักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออกมีสัดส่วน 27% ยุโรป 11-12% และทวีปอเมริกาทั้งหมด 7.7% เท่านั้น อย่างช่วงที่มีการประกาศพระราชกำหนดฉุกเฉินอาจทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวลดลงไปบ้าง แต่หลังจากนั้นก็กระเตื้องขึ้นมา นอกจากนี้ตัวเลขที่ลดลงไปเป็นการลดลงในส่วนของสนามบินสุวรรณภูมิ แต่สนามบินตามภูมิภาคอย่างภูเก็ต เชียงใหม่กลับมียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น

“เรายังเชื่อมั่นว่าปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะเป็นบวกได้ จาก 26.7 ล้านคนเมื่อปี 2556 ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยยังเป็นจุดแข็งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทุกประเทศ”

ที่ผ่านมาทาง คสช.ก็ได้ผ่อนปรนมาตรการต่างๆ บ้างเพื่อให้บรรยากาศการท่องเที่ยวดีขึ้น อย่างเช่นการลดเวลาเคอร์ฟิวจาก 22 นาฬิกาจนถึง 5 นาฬิกาของวันใหม่ เป็น 24 นาฬิกาถึง 4 นาฬิกาของวันใหม่ และได้ประกาศยกเลิกการใช้เคอร์ฟิวกับเมืองท่องเที่ยวอย่างพัทยา เกาะสมุยและที่ภูเก็ต

นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า บางครั้งภายใต้สถานการณ์อย่างนี้ จะมีเรื่องการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จะเห็นได้ว่าออสเตรเลียก็เดินนโยบายตามสหรัฐฯ มาโดยตลอด นอกจากนี้ยังมีเรื่องของผลประโยชน์ในทางการค้าเข้ามาเกี่ยวข้องอีก เช่น บริษัทในสหรัฐฯ ก็มีสัมปทานทางพลังงาน รถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยอยู่ไม่น้อย หรือออสเตรเลียก็มีสัมปทานเหมืองแร่ในประเทศไทยเช่นกัน ถามว่าบริษัทเอกชนเหล่านั้นจะยอมหรือไม่

เชื่อว่าช่วงจังหวะเวลานี้จึงเหมาะที่จะใช้นโยบายในระดับประเทศเข้ามากดดันไทย พร้อมๆ กับการต่อรองเรื่องผลประโยชน์ไปด้วย ถามว่าจีนเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ สิงคโปร์เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ แล้วทำไมประเทศมหาอำนาจดังกล่าวจึงไม่มีมาตรการออกมาตอบโต้หรือคว่ำบาตรทางการค้ากับประเทศเหล่านี้ ทั้งหมดเป็นเรื่องของผลประโยชน์ สหรัฐฯ กับจีนก็ค้าขายระหว่างกันมาก สหรัฐฯ ยึดหลักประชาธิปไตยทำไมยังค้าขายกับจีนได้ ก็เพราะมีประโยชน์ระหว่างกันมาก

กำลังโหลดความคิดเห็น