รอยเตอร์ - รัสเซียกำลังหาช่องทางกฎหมายเล่นงานสหรัฐฯ ในองค์การการค้าโลก (WTO) หลังมาตรการคว่ำบาตรเศรษฐกิจของสหรัฐฯ บ่อนทำลายเสถียรภาพของระบบธนาคารในรัสเซีย รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจของรัสเซีย อเล็กซี ยูไลยูคาเยฟ (Alexei Ulyukayev) กล่าวในวันพุธ (16 เม.ย.)
ธนาคารรอสซิยา ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงมอสโก เป็นหนึ่งในสถาบันทางการเงินของรัสเซียที่ถูกคว่ำบาตรในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รวมไปถึงประธานบริหารของธนาคาร และผู้ถือหุ้นธนาคารอันดับ 1 ยูริ โควาลชัค (Yuri Kovalchuk) ผลจากการลงโทษของสหรัฐฯในปัญหาวิกฤตยูเครนที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังพบว่า ธนาคาร SMP ของรัสเซียได้รับผลกระทบทางอ้อมจากมาตรการคว่ำบาตรด้วยเช่นกัน เพราะพี่น้องผู้ก่อตั้งธนาคารร่วม บอริส โรเต็นเบิร์ก (Boris Rotenberg) และอาร์คาดี โรเต็นเบิร์ก (Arkady Rotenberg) ตกอยู่ในแบล็กลิสต์คว่ำบาตรของสหรัฐฯ ซึ่งผู้อำนวยการบริหารของธนาคารSMP ดมิทรี คาลานตรีสกี(Dmitry Kalantyrsky) ได้เปิดเผยว่า มีเงินจำนวนมากถึง 9 พันล้านรูเบิล (249 ล้านดอลลาร์) ได้ถูกถอนออกไปหลังจากมาตรการคว่ำบาตรเริ่มมีผลบังคับใช้
“องค์การค้าโลกเปิดโอกาสทางกฏหมายให้กับรัสเซียบางประการ” ยูไลยูคาเยฟเผยในวันพุธ (16) ผ่านสื่อรัสเซีย อินเตอร์แฟกส์ และเสริมว่า “พวกเราที่สภาของ WTO ในกรุงเจนีวากำลังปรึกษาหาช่องทางความเป็นไปได้ในการดำเนินการทางกฎหมายกับสหรัฐฯ ต่อข้อหาการออกมาตรการคว่ำบาตรต่อธนาคารรัสเซีย และทางเราหวังว่าจะใช้กลไกของ WTO เพื่อตอบโต้กับสหรัฐฯ ในเรื่องนี้”
ในวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา มีกำหนดการระบุการประชุมของสภาหัวข้อการแลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งทาง WTO เผยว่า รัสเซียแสดงความวิตกต่อคำสั่งของประะธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา ต่อรายชื่อบุคคลภายในสหพันธรัฐรัสเซียที่บัญชีด้านการเงินถูกอายัด
ทั้งนี้ รัสเซียได้จับตาอย่างใกล้ชิดต่อผลกระทบที่เกิดจากการคว่ำบาตรครั้งนี้ที่อาจจะละเมิดข้อตกลง WTO และกระตุ้นไม่ให้ชาติสมาชิกชาติอื่นๆ นำการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับดีลทางการค้า WTO กล่าวผ่านแถลงการณ์
ในขณะที่ในวันอังคาร (15) ก่อนหน้านี้ กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้แถลงว่า สหรัฐฯอาจมีมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจมากขึ้นต่อปัญหาที่ร้อนแรงทางภาคตะวันออกของยูเครนในขณะนี้ แต่จะยังไม่มีมาตรการใหม่ออกมาจนกว่าตัวแทนทั้งสองฝ่ายจะพบกันก่อนที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ในสัปดาห์นี้