ศึกกระทรวงหมอระอุหนักหลังรักษาการ รมว. ส่งเรื่องตรวจสอบวินัยร้ายแรงปลัดกระทรวงสาธารณสุข ฐานเป็นข้าราชการระดับสูง แต่ประกาศตัวร่วมสู้ กปปส. วงในชี้หมอประดิษฐ์เชือดหมอณรงค์ เอาหน้านายใหญ่ เพื่อสกัดไม่ให้ข้าราชการกระทรวงอื่นตบเท้าตาม เพราะวันนี้ศึกการเมืองยังไม่จบ ขณะที่หมอณรงค์ไม่หวั่นถูกร้องเรียน สู้ต่อไม่ถอย รับไม่ได้รัฐบาลทุจริต พร้อมเปิด 2 ชื่อหมอยืนข้างการเมือง อย่างไรก็ดี ศึกกระทรวงหมอไม่จบง่ายๆ แม้ กปปส. จบ เหตุปมกระจายอำนาจยังไม่ลงตัว “นพ.ณรงค์-หมอชนบท” จับมือยุติศึกชั่วคราว
แม้ศึกการเมืองใหญ่ระหว่าง กปปส. กับ ฝ่ายรัฐบาล หรือ พรรคเพื่อไทย จะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ แต่ศึกเล็กอย่างศึกในกระทรวงสาธารณสุขก็เป็นศึกที่สู้กันดุเดือด และมีความขัดแย้งรุนแรง
กระทรวงสาธารณสุขถือเป็นกระทรวงเดียวในเวลานี้ ที่ข้าราชการระดับผู้ใหญ่ หรือ “หัวราชสีห์” ของฝ่ายราชการอย่างคนที่เป็น “ปลัดกระทรวง” ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจนต่อต้านอำนาจการเมืองทุจริตคอร์รัปชัน
ประกาศตัวออกมายืนเคียงข้างต่อสู้ร่วมกับประชาคมสาธารณสุข และ กปปส. อย่างชัดเจนยิ่ง
แน่นอนว่า บทบาทของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะข้าราชการระดับสูงที่ปฏิเสธการแทรกแซงจากอำนาจฝ่ายการเมืองจะเป็นสิ่งที่คนในสังคมไทยอยากเห็นมานาน เพราะที่ผ่านมามีแต่ข่าวการรับใช้ฝ่ายการเมืองของข้าราชการประจำมาตลอด
อีกทั้งยังเป็นที่รู้กันว่าข้าราชการในหลายๆ กระทรวง มีนักการเมืองพรรคต่างๆ เลี้ยงเป็นคนของตัวเอง มีการจ่ายเงินเดือนให้ แต่ยังเป็นข้าราชการระดับเล็กระดับน้อย และผลักดันกันจนเป็นข้าราชการระดับสูง
ข้าราชการกับฝ่ายการเมืองจึงเป็นส่วนที่ถูกมองว่าเป็นเนื้อเดียวกันมานาน
เว้นแต่สิ่งที่ นพ.ณรงค์ กำลังทำอยู่ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงศักดิ์ศรีของคนที่เป็นข้าราชการที่มีจิตวิญญาณของการทำงานเพื่อบ้านเมือง ไม่ยอมตกอยู่ใต้อำนาจของฝ่ายมีอำนาจ
เป็นการกระทำของคนกล้า และแสดงออกถึงความเป็นผู้นำ ที่จะไม่ใช่แค่ผู้นำข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่แค่ผู้นำประชาคมสาธารณสุข แต่เป็นผู้นำข้าราชการทั้งระดับสูงและระดับอื่นๆ ให้กล้าต่อสู้กับอำนาจไม่เป็นธรรม
ให้แสดง “ศักดิ์ศรี” ของความเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ที่สำคัญที่ต้องยอมรับคือ ยุทธวิธีที่จะนำไปสู่ชัยชนะอย่างหนึ่งของ กปปส. ที่ปฏิวัติโดยประชาชนที่ไม่มีอาวุธ คือ “ข้าราชการ” หากข้าราชการประกาศตัวอยู่ข้าง กปปส.
กปปส. จะสามารถเดินหน้าไปสู่การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งได้ไม่ยาก เป็นชัยชนะที่ไม่เสียเลือดเนื้อของประชาชน แต่นั่นคือสิ่งที่ฝ่ายอำนาจไม่ชอบ และต้องตัดไฟแต่ต้นลม ด้วยการ “เชือด” หมอณรงค์ ให้ข้าราชการระดับสูงกระทรวงอื่นๆ เห็นว่า สิ่งที่ นพ.ณรงค์ ทำนั้น เป็นสิ่งผิด และจะมีบทลงโทษที่รุนแรงเพียงใด
5 ประเด็น “นพ.ณรงค์” ถูกร้องเรียน
“เจ้ากระทรวง” อย่าง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงสั่งสอน “นพ.ณรงค์” ด้วยข้อหากระทำผิดวินัยร้ายแรง ด้วยคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 573/2557 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรง เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2557 โดยหนังสือคำสั่งได้มีการจำแนกความผิดของ นพ.ณรงค์ ออกเป็น 5 ข้อ ดังนี้
1. มีพฤติกรรมสั่งการหรือให้มีการเรียกประชุมข้าราชการผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมาประชุมที่ สธ. โดยอ้างภารกิจในราชการของ สธ. และใช้งบประมาณหรือทรัพย์สินของทางราชการ แต่เมื่อมีการประชุมจริงกลับประชุมเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง เหตุเกิดระหว่างเดือน ธ.ค. 2556 - ม.ค. 2557
2. มีพฤติกรรมเข้าร่วมประชุมกับคณะบุคคลที่ใช้ชื่อว่า “ประชาคมสาธารณสุข” ในสถานที่ราชการ และทำหน้าที่ประธานในการประชุม แล้วสั่งการหรือสนับสนุนให้ออกแถลงการณ์วิพากษ์รัฐบาลโดยมีข้อความในลักษณะให้ประชาชนเกลียดชังรัฐบาล เช่น กล่าวหารัฐบาลคอร์รัปชันเชิงนโยบาย หมดความชอบธรรม เสนอให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ตามข้อเสนอของ กปปส. เสนอให้รัฐบาลลาออก แสดงออกว่าจะไม่รับฟังคำสั่งรัฐบาลและไม่ร่วมทำงานกับรัฐบาลชุดนี้
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนสั่งการให้ขึ้นป้ายตามโรงพยาบาลและหน่วยงาน สธ. ซึ่งมีความหมายนัยทางการเมืองและสนับสนุน กปปส. ขณะเดียวกัน นพ.ณรงค์ ยังถือโอกาสขณะเดินทางไปราชการต่างจังหวัดทั้งในและนอกเวลาราชการ ใช้สถานที่ราชการ เอกชน งบประมาณราชการ ประกาศเชิญชวนประชาชนต่อต้านรัฐบาล รวมทั้งการรับนกหวีดทองคำจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ทั้งที่รู้ว่าแสดงถึงนัยการเมือง
3. สั่งการหรือสนับสนุนให้ข้าราชการ อาสาสมัครสาธารณสุข ประชาชน มาให้กำลังใจตนเองที่ สธ. เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2557 โดยให้มีการใช้งบประมาณของราชการ ทั้งๆ ที่เรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวกับกิจการหรือภารกิจหน้าที่ของ สธ. และเป็นการใช้อำนาจสั่งการหรือสนับสนุนในเรื่องที่มิเกี่ยวกับราชการและก่อเกิดความเสียหายแก่ราชการ
4. สั่งการหรือสนับสนุนให้มีการรายงานเกี่ยวกับการเดินทางไปราชการ จ.ระยอง อันเป็นการไม่ตรงตามความจริง กล่าวคือ นพ.ณรงค์ ขออนุมัติรัฐมนตรีไปราชการในวันที่ 10 ม.ค. 2557 และเสนอแต่งตั้ง นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัด สธ. รักษาราชการแทน โดยเดินทางไปในขณะที่ยังไม่มีการอนุมัติใดๆ
จากนั้นในวันที่ 10 ม.ค. นพ.ชาญวิทย์ เข้าใจว่าตัวเองมีอำนาจแล้ว จึงลงนามในคำสั่งราชการเกี่ยวกับการชุมนุมไปแล้ว แต่ นพ.ณรงค์ กลับมายกเลิกคำสั่งแต่งตั้ง นพ.ชาญวิทย์ และยืนยันว่า ตัวเองยังปฏิบัติราชการอยู่และยังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า นพ.ชาญวิทย์ ลงนามในคำสั่งเองโดยมิชอบ เป็นเหตุให้ นพ.ชาญวิทย์ ถูกเข้าใจว่าทำงานข้ามหน้าปลัด สธ. และถูกเกลียดชัง ถูกขึ้นป้ายโจมตีและถูกคุกคามถึงในห้องทำงาน
5. นพ.ณรงค์ สั่งการเกี่ยวกับการมอบอำนาจหน้าที่ราชการของรองปลัด สธ. กลุ่มภารกิจ โดยโยกย้ายหน้าที่ที่ นพ.ชาญวิทย์ และ นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัด สธ. รับผิดชอบอยู่เดิม ให้กับรองปลัดคนอื่นและผู้ตรวจราชการปฏิบัติหน้าที่แทน ส่งผลให้ไม่ถูกต้องตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ และเกิดความแตกแยกในระหว่างผู้บริหารระดับสูง
ทั้งนี้ จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 93 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2551 ประกอบกับข้อ 15 ของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย 2556 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อสอบสวน นพ.ณรงค์ จำนวน 4 คน โดยมี นายสุรชัย ศรีสารคาม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นประธาน
ต้องบอกว่างานนี้ นพ.ประดิษฐ เล่นแรง เพราะข้อหากระทำผิดวินัยร้ายแรงทางราชการนั้น เป็นข้อหาที่เป็นเรื่องที่คนทำอาชีพข้าราชการมาทั้งชีวิตทุกคนไม่อยากเจอ
แต่หากปล่อยให้ นพ.ณรงค์ ปลุกระดมข้าราชการระดับสูงกระทรวงอื่นๆ ให้เจริญรอยตาม ฝ่ายรัฐบาลก็ถึงขั้นลำบากแน่
เชือดหมอณรงค์ให้ตายในอาชีพการงานจึงเป็นเรื่องต้องเร่งกระทำ!
หมอณรงค์ยันไม่หวั่นถูกร้องเรียน
“คุณหมอณรงค์ไม่กังวลเลย มองว่าเป็นแค่เกมการเมือง และความผิด 5 ข้อที่ นพ.ประดิษฐ ระบุมานั้นคุณหมอก็มองว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรเลย ไม่กลัว ไม่กังวล ที่ทำก็เพื่อสะกดข้าราชการกระทรวงอื่นไม่ให้ออกมาเท่านั้นเอง” แหล่งข่าวใกล้ชิดปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าว
และสิ่งที่ นพ.ณรงค์ จะทำต่อไป คือ การยืนยันที่จะทำตามสิ่งที่ประชาคมสาธารณสุขเสนอมา คือ ต่อสู้ร่วมกับ กปปส. เพื่อความถูกต้อง
“ประชาคมออกมาเป็นเรื่องของความถูกต้อง เพราะทุกวันนี้การเมืองไม่มีระบบถ่วงดุล ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร การซื้อเสียงทางการเมืองก็ยังเป็นเรื่องที่เป็นปัญหา ดังนั้นคุณหมอณรงค์ยืนยันว่าบ้านเมืองจะต้องมีการปฏิรูปการเมือง และเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่รับไม่ได้”
ดังนั้น คำตอบของหมอณรงค์คือ ไม่กลัว และจะสู้ต่อไปจนถึงที่สุด!
“หมอณรงค์ออกมายืนข้าง กปปส. เป็นธรรมดาที่หมอประดิษฐต้องการเอาคืน และต้องการแสดงให้นายใหญ่ และเพื่อนสนิทอย่างคุณยิ่งลักษณ์เห็นว่า ได้กระทำการปรามข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ข้าราชการอื่นๆ เห็นว่าไม่ควรออกมาสู้ร่วมกับ กปปส.” แหล่งข่าวแพทย์ชนบทกล่าว
นายประพันธ์ นัยโกวิท อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า การมีสภาพเป็นรัฐบาลรักษาการของรัฐบาลนี้ เรื่องของการตรวจสอบวินัยไม่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่มีข้อกำหนดเรื่องการแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการจะกระทำมิได้ ต้องขอความเห็นชอบจาก กกต. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ก่อน
ทำได้แค่สอบวินัย แต่ย้ายไม่ได้!
ดังนั้น เกมนี้ นพ.ประดิษฐ จึงทำได้แค่ขู่ และดักคอข้าราชการที่จะไม่ให้ประกาศตัวออกมาเป็นศัตรูกับรัฐบาลร่วมกับ กปปส. โดยเฉพาะวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ประกาศว่า จะเป็นวันของการให้ข้าราชการแสดงจุดยืนความถูกต้อง
เนื่องจากศึกครั้งนี้ยังไม่จบ และเมื่อไรก็ตามที่ข้าราชการเปลี่ยนขั้ว ย้ายข้าง เมื่อนั้นรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมอยู่แล้ว ยิ่งไม่เหลือความน่าเชื่อถืออะไรอีก
ต้องดูว่าอีกไม่กี่วันนี้จะมีข้าราชการระดับสูงของกระทรวงไหนอีกไหมที่กล้าพอออกมาต่อกรกับฟากการเมืองตามรอย นพ.ณรงค์ ที่แผ้วถางทางไว้ให้แล้ว
อย่างไรก็ดี เป็นที่รู้กันว่า นพ.ณรงค์ ไม่ได้ถูกเตะตัดแขนตัดขาจากแค่ นพ.ประดิษฐ หากแต่มีข้าราชการระดับสูงที่เลือกไปยืนข้างฝ่ายการเมืองอีก
ขั้วกระทรวงสาธารณสุขอาจเปลี่ยน
ขั้วการเมืองในกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นอีกดาบแหลมคมหนึ่งที่ทิ่มแทงหมอณรงค์อยู่
“ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีใครยืนกับหมอณรงค์ 100 เปอร์เซ็นต์” แหล่งข่าววงในกระทรวงสาธารณสุขกล่าว
ดังนั้น นพ.ณรงค์ ต้องพบกับศึกย่อยๆ ระหว่างข้าราชการระดับสูงด้วยกันด้วย
อย่างน้อยๆ มี 2 ชื่อที่ยืนอยู่ข้างหมอประดิษฐที่เป็นที่เลื่องลือวงในกระทรวงสาธารณสุขขณะนี้ หนึ่งคือ นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอีกหนึ่งคือ นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข
“กระทรวงนี้เป็นมานาน พอคนไหนจะขึ้นก็อี๋อ๋อ แต่พอจะตก ก็เตรียมเปลี่ยนขั้ว เป็นธรรมชาติของกระทรวงสาธารณสุขที่มีความขัดแย้งเช่นนี้มาตลอด แต่วันนี้เมื่อบ้านเมืองมีปัญหา ข้าราชาการควรต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่อปลัดกระทรวงมีความเห็นเช่นไรก็ควรมีเอกภาพ ไม่ใช่หวังว่าจะมีการปลดปลัดแล้วตัวเองจะได้ขึ้นต่อ” แหล่งข่าววงในกระทรวงสาธารณสุขกล่าว
น่าจะมีศักดิ์ศรีความเป็นหมอ!
“สมัยก่อนกระทรวงสาธารณสุขมีแต่หมอที่ทำตัวเป็นผู้ใหญ่ เมื่อเป็นอย่างนี้รัฐมนตรีก็เกรงใจ แต่หลังๆ มาฝ่ายการเมืองไม่เคยเกรงใจหมอ ไม่เคยเกรงใจอาจารย์หมออีกแล้ว เพราะข้าราชการหลายคนไม่ได้ทำตัวมีศักดิ์ศรี”
นพ.ณรงค์ยืนยันสู้ไม่ถอย!
อย่างไรก็ตาม วันนี้ชัดแล้ว หมอณรงค์ไม่สนใจว่าจะถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองอย่างไร แต่ประกาศที่จะสู้ต่อ สู้ไม่ถอย!
แม้ว่าการต่อสู้ของ กปปส. จะนำไปสู่ชัยชนะได้หรือไม่ หรือแม้ว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่จะนำมาสู่ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยอีก และเมื่อถึงวันนั้น นพ.ณรงค์ อาจโดนเช็กบิลเป็นคนแรก
“ผมไม่ได้สนใจอะไร เป็นหน้าที่ข้าราชการ เมื่อบ้านเมืองหาทางออกไม่ได้ ข้าราชการต้องหาทางออกให้บ้านเมือง แม้ไม่มีรัฐบาล เราก็ต้องทำงานให้บ้านเมือง” นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวกับ “ทีม Special Scoop หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน”
และเชื่อว่าระบบการตรวจสอบจะมีความเป็นธรรม
“การตรวจสอบวินัยมีระบบ ระบบคุณธรรมในระบบข้าราชการก็มี ข้อเท็จจริงมีอยู่ ดังนั้นไม่กังวลใจ เพราะคิดว่าจะได้รับความยุติธรรม เหมือนกับคุณถวิล เปลี่ยนศรี ที่สุดท้ายก็ได้รับความเป็นธรรม ผมก็คิดว่าผมจะได้รับความเป็นธรรมเหมือนกัน ผมเชื่อมั่นระบบยุติธรรม” นพ.ณรงค์กล่าว
ความถูกต้องคือสิ่งที่ นพ.ณรงค์ เลือก
“รัฐบาลถูกชี้ชัดว่าคอร์รัปชัน ข้าราชการจะต้องคิดให้ดี ว่าจะยืนข้างความถูกต้อง หรือความผิด ผมเลือกแล้ว เลือกความถูกต้อง”
ไม่ว่า กปปส. จะชนะ หรือแพ้ นพ.ณรงค์ ยืนยันว่า วันนี้ที่ทำไปคือสิ่งที่ข้าราชการควรจะทำอยู่แล้ว แต่ชีวิตต่อจากนี้ไป หรือแม้แต่ว่าหากพรรคเพื่อไทยได้กลับมาเป็นรัฐบาลแล้วเขาจะถูกเช็กบิลเป็นคนแรก เขาก็ไม่สนใจ
ดังนั้น หมอณรงค์ และประชาคมสาธารณสุข อันมีแพทย์ชนบท และ นพ.สสจ. ต่างๆ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ วันนี้ยังจับมือกันเหนียวแน่นในการต่อสู้กับรัฐบาลนี้
จบ กปปส. สู้ต่อ “หมอณรงค์-หมอชนบท”
กระนั้นศึกภายในกระทรวงสาธารณสุขนั้น ยังมีปัญหาระหว่าง นพ.ณรงค์ ซึ่งเป็นตัวแทนของข้าราชการ กับกลุ่มหมอชนบท ที่ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ในเรื่องของการบริหารระบบสุขภาพ
ศึกจบ ค่อยรบกันต่อ!
“ความจริงหมอณรงค์มีแนวคิดที่ขัดแย้งกับกลุ่มแพทย์ชนบท โดยเฉพาะเรื่องของการกระจายอำนาจ แต่ไม่เป็นไร ศึกครั้งนี้จบก่อนค่อยมาคุยกันอีกที”
ศึกครั้งนี้เรื่องใหญ่กว่า
“หมอณรงค์ ยืนยันว่างานที่จะทำต่อคือการปฏิรูประบบสุขภาพ แบบเขตสุขภาพ 12 เขต เพื่อวางทิศทางการบริหารจัดการร่วมให้เข้มแข็ง และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้ระบบสุขภาพดีขึ้น” แหล่งข่าวใกล้ชิด นพ.ณรงค์ กล่าว
เป็นระบบความคิดที่จะมีการยกเลิกระบบอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวที่ใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่แต่เดิมโรงพยาบาลต่างๆ จะต้องมีการเบิกจ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รวมถึงงบประมาณเงินเดือนแพทย์และบุคลากร ที่จะมีการโอนงบทั้งหมดไปไว้ที่เขตบริการสุขภาพทั้ง 12 เขตแทน ซึ่งมีผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานดูแล 12 เขตสุขภาพดังกล่าว
อำนาจของผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขกำลังจะถูกถ่ายกลับมาให้ยิ่งใหญ่เหมือนก่อนที่จะมี สปสช.
แต่ในฝ่ายของแพทย์ชนบทไม่เอาด้วย เพราะมองว่าการจัดการระบบสาธารณสุขของทุกวันนี้ตาม สปสช.ดีอยู่แล้ว ซ้ำยังไม่เห็นด้วยกับแผน P4P ที่เคยมีเรื่องกันมาแล้วครั้งหนึ่ง
จุดนี้คือจุดที่ยังไม่ตรงกันระหว่างแพทย์ชนบท กับปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ตอนนี้เก็บปัญหาพักไว้ก่อน เพื่อสู้ศึกใหญ่ให้สำเร็จก่อน ค่อยเคลียร์ปัญหาอำนาจการจัดการระบบสุขภาพอีกครั้ง
น่าจะเป็นเรื่องที่ขัดแย้งดุเดือดไม่น้อย เพราะเป็นเรื่องของอำนาจการจัดการระบบสาธารณสุขของประเทศ ว่าจะกลับมาอยู่ในมือข้าราชการ หรืออยู่ที่อำนาจขององค์กรตระกูล ส. ต่อไป