xs
xsm
sm
md
lg

ปลัดณรงค์จัดทัพ สลัดข้อหา ไร้ผลงาน รอขึ้น ‘รมว.สธ.’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...ดวงจำปา
หลังเสร็จศึกไล่ระบอกทักษิณ ที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ นำทีมออกตัวแรงล้ำหน้าทุกกระทรวงไปแล้ว นาทีนี้ ก็อยู่ในขั้นเก็บคะแนนหวังก้าวเข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลก เมื่อปลัดณรงค์จะขยันพูดถึงประชาชนมากขึ้น หลังถูกต่อว่า ไม่ยึดประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง อันเนื่องมาจากเมื่อครั้งเปิดศึกกับ สปสช. จนเป็นที่มาของการไม่ร่วมสังฆกรรม หากไม่ทำตามเงื่อนไข 3 ข้อที่ยื่นไป แถมสำทับด้วยคำขู่ว่า หากไม่ทำตาม จะมีมาตรการต่อไป เช่น การยกเลิก สสจ. ไม่ให้เป็นสปสช. สาขาจังหวัด โดยอ้างว่า เป็นการทับซ้อนกันระหว่างบทบาทผู้ซื้อบริการกับผู้ขายบริการ

แต่ที่ไหนได้ ปรากฏ สปสช. เล่นบทพาซื่อ เห็นด้วยกับข้อเสนอของปลัด สธ. จนนำมาสู่มติบอร์ด สปสช. 7 พ.ค. 57 ยกเลิก สสจ. ไม่ให้เป็น สปสช. สาขาจังหวัดซะงั้น เรียกว่าเล่นเร็วสายฟ้าแล่บทีเดียว เพราะหลังปลัดตั้งโต๊ะแถลงข่าว 3 เม.ย. อีกเดือนต่อมาก็เป็นมติบอร์ด สปสช. เด้งสนองรับคำขู่ของปลัด สธ. ในทันที
งานนี้แว่วว่า เล่นเอาปลัดณรงค์ และรองปลัด นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ ควันออกหู ไม่คาดคิดว่า สปสช. จะย้อนศรเช่นนี้ และแน่นอน แค้นนี้ต้องชำระ
ซึ่งระหว่างนี้ เหตุการณ์ระหว่าง สธ. และ สปสช. ก็สุดแสนจะอึมครึม ทำเอาเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยที่ต้องทำหน้าที่ปฏิบัติการปวดกบาลกันฝุดๆ กับคำสั่งทางลับไม่ให้ร่วมงาน สปสช. เล่นเอาอิหลักอิเหลื่อ แต่ก็ไม่รู้จะทำเยี่ยงไร ด้วยเป็นคำสั่งท่านผู้นำ ร้อนถึง นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.รพ.จะนะ จ.สงขลา แกนนำชมรมแพทย์ชนบท ต้องออกโรงเตือนผู้ใหญ่กลายๆ ว่า ผู้ใหญ่จะทะเลาะกันก็เชิญทะเลาะไป แต่อย่าสั่งให้เด็กๆ ไม่ประสานกัน เพราะงานด่านหน้ามันต้องทำเพื่อประชาชน
ระหว่างที่บรรยากาศระหว่าง สธ. และ สปสช. ยังอึมครึมอยู่นี้ และสถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในช่วงหลังยึดอำนาจ ในอีก 3-4 เดือนต่อจากนี้จะต้องมีการฟอร์มตั้งรัฐบาลใหม่ เหตุการณ์บีบบังคับให้ปลัดณรงค์ ซึ่งทุกวันนี้ปฏิบัติหน้าที่เป็นรมว.สธ. ตามคำสั่งคสช.ยังคงต้องเล่นบทประนีประนอม สมานฉันท์ ไม่เปิดศึกทะเลาะกับใคร เพราะต้องเก็บแต้มหวังเป็นรมว.
ด้วยเหตุนี้ ประชุมบอร์ด สปสช. ที่เดิมกำหนดไว้ 9 มิ.ย. ซึ่งณรงค์ต้องทำหน้าที่เป็นประธาน จึงถูกเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด กองเชียร์ที่เฝ้ารอดูท่าทีณรงค์ในวันนั้น ก็ต้องฝันค้างไปก่อน เพราะระหว่างนี้ ต้องเล่นบทสมานฉันท์ไม่เปิดศึกกับใคร เพื่อสร้างภาพลักษณ์ความเป็นคนกลาง เก็บแต้มรอคว้าตำแหน่งรัฐมนตรี
และถ้าใครจับสังเกตได้ดี กับท่าทีที่เปลี่ยนไปของณรงค์ จะเริ่มตั้งแต่เมื่อครั้ง ผบ.ทร. พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช. เดินสายมอบนโยบายที่ สธ. เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา เมื่อ ปลัดณรงค์ พูดถึงเป้าหมายว่า “ระบบสุขภาพที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ สมานฉันท์ บนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข”
จากวันนั้น จึงกลายเป็น ปลัดณรงค์รักทุกคน ประชาชนได้ประโยชน์ และเจ้าหน้าที่มีความสุข ซึ่งเป็นเรื่องดี ก่อนหน้านี้ไม่ใช่ว่าณรงค์ไม่พูดถึงประชาชน เขาพูด แต่พูดถึงประชาชนในมิติของผู้รับบริการเท่านั้น ไม่เคยพูดเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมาก่อน
ซึ่งนี่เป็นจุดอ่อนของณรงค์ ที่อาศัยความเป็นท่านผู้นำ เด็ดขาด สั่งการอย่างเดียว แต่ไม่เคยสร้างการมีส่วนร่วม ด้วยเหตุนี้ นโยบายที่ผุดออกมาจึงล้วนถูกต่อต้าน และคัดค้านอย่างรุนแรง การคิดนโยบายแบบบนลงล่าง ไม่มีส่วนร่วมจากภาคส่วนอื่นๆ จนเป็นที่มาของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพต้องเขียนบทความทวงถามว่า กระทรวง สธ. เป็นของใคร
ซึ่งก็คงได้คำตอบไปแล้วว่า กระทรวง สธ. เป็นของใคร เพราะแม้กระทั่งคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม อย่างบอยคอต สปสช. ในสธ. ก็ยังไม่มีใครกล้าค้าน นั่นเพราะท่านผู้นำมีอำนาจสั่งโยกย้ายนั่นเอง
ภายใต้วาทะกรรมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ และผ่านการเตรียมการมาอย่างดี เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมานี้เอง ก็พอจะทำให้คาดการณ์สถานการณ์บางอย่างได้ว่า ระหว่างนี้จะยังไม่มีการเปิดศึกบนดินกับสปสช.อย่างชัดเจนออกสื่อเหมือนที่ผ่านมา แต่ใต้ดินก็ยังกวนกันต่อไป ตั้งแต่คำสั่งสกัด สสจ. ประจวบฯที่จะลาออกไปเป็น ผอ.เขตสงขลาของ สปสช. ให้ไปเป็น สสจ. พังงา แทน และคำสั่งชะลอการร่วมมือกับ สปสช. ไว้ก่อน
ระหว่างนี้สิ่งที่ทำได้ คือการจัดทัพข้าราชการใน สธ. เสียใหม่ ล้างบางคนของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ. คนก่อน อดีตคู่หูให้เรียบ ซึ่งก็เป็นจังหวะฤดูกาลโยกย้ายพอดี เริ่มตั้งแต่รองปลัด นพ.อำนวย กาจีนะ นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ ที่ชะตากรรมหนีไม่พ้นหลุดจากรองปลัด สธ. เป็นแน่แท้ ซึ่งระยะหลังนี้ ชื่อของ 2 ท่านนี้ก็ไม่ปรากฏในบรรณพิภพข่าวแจกจากสารนิเทศ สธ. ไปแล้ว รวมไปถึง ผอ.สนย. (สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์) ที่เป็นสายของ นพ.ชาญวิทย์ ดร.นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก ก็ต้องหลุดจากตำแหน่ง ผอ.สนย.แน่นอน ซึ่งตรงนี้ไม่แปลก เพราะคนนี้ไม่เหมาะสมตั้งแต่ทีแรกแล้ว
และอีกคนที่ซวยซ้ำซ้อน ทั้งที่ผลงานดี แต่ภาพลักษณ์แพทย์ชนบท จึงถูกข้อหาไม่ไว้ใจ คือ นพ.นิทัศน์ รายยวา เป็นผู้ตรวจคนเดียวที่ลงไปนอนคลุกคลีที่รพ.สต. ที่ถูกลดระดับจากรองปลัด ไปเป็นผู้ตรวจเขต 9 และบัดนี้จากเขต 9 ถูกโยกมาลอยไว้ที่เขต กทม. ซึ่งไม่มีอะไรให้ทำ และแน่นอน รอวันเกษียณอย่างช้ำใจ ก.ย. 57 นี้
แล้วใครบ้างที่มีแววว่าจะได้ขึ้นมาอยู่ในฐานอำนาจใหม่ของปลัดณรงค์
ขณะนี้คนที่เป็นมือไม้ทำงานให้กับปลัดณรงค์ คือ รองวชิระ กับทีมจากภาคใต้ที่ปลัดดึงมาช่วยงาน หากปลัดณรงค์ไปถึงฝั่งฝันได้สำเร็จ รองวชิระนี่แหละที่จะเป็นปลัด สธ. คนใหม่ และจากผู้ตรวจฯที่จะกลายมาเป็นตัวเก็งรองปลัด สธ. และตัวเกร็งกันอยู่ในขณะนี้คือ นพ.สุรเชษฐ สถิตนิรามัย ซึ่งก็สมน้ำสมเนื้อ เพราะผลงานดีจากเขตสุขภาพที่ 8 ที่ช่วยกู้หน้าปลัดได้บ้าง
ที่ผ่านมานั้น เป็นที่รู้กันดีใน ก.สธ. ว่า หลังณรงค์ขึ้นเป็นปลัดเมื่อ ต.ค. 55 คนที่ณรงค์เลือกใช้ หากเป็นภาษาสามก๊ก คงต้องบอกว่า ใช้คนโง่ทำงาน ฟังดูแรง แต่ความหมายคือ ไม่เลือกใช้คนเก่งทำงาน แถมยังกันคนกลุ่มนี้ออกไป
ด้วยเหตุนี้ นโยบายที่ณรงค์เสนอเพื่อหวังจะพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินนั้น นอกจากจะแป้กแล้ว ยังนำมาสู่การสร้างความแตกแยกในสธ. อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไล่มาตั้งแต่ P4P และเรื่อยมาจนถึง เขตสุขภาพ ที่จนป่านนี้ก็ยังหาผลงานจับต้องไม่ได้ โชคยังดี มีผลงานเขต 8 ที่สุรเชษฐเป็นผู้ตรวจ พอจะกู้หน้าได้
แล้วใครอีกที่จะมีแววว่าจะถูกณรงค์เรียกใช้งาน ถ้าดูจากชื่อของ สุรเชษฐ เราเริ่มรู้แล้วว่า ณรงค์กำลังมองหาคนทำงานจริงๆ มาใช้งาน มันพิสูจน์แล้วว่า เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา เขาไม่มีผลงานที่จับต้องได้เลย นโยบายที่นำเสนอไม่เดินหน้าไปไหน
จากข่าวแจกของสารนิเทศ ชื่อของคนที่เคยถูกลืม และถูกเรียกกลับมาใช้งาน นอกจากสุรเชษฐ์ ที่มีชื่อออกสื่อให้ดูแลการพัฒนาระบบยาแล้ว ยังมีชื่อของ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ที่ปรึกษา สธ. อดีต ผอ.สนย. ก็มีชื่อติดโผ ดูแลเรื่องระบบธรรมาภิบาล ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกลดบทบาทและถูกถีบออกจากวงใน วันนี้ถูกเรียกกลับมาใช้งานใหม่อีกครั้ง

อันที่จริง การปฏิรูประบบสุขภาพ ด้วยเขตสุขภาพที่ณรงค์ภาคภูมิใจนำเสนอนั้น โดยหลักการเป็นเรื่องที่ดี เพราะมันคือการกระจายอำนาจ แต่วิธีการที่ณรงค์ทำไม่ใช่กระจายอำนาจ มันคือการรวบอำนาจ และพยายามทำทุกวิถีทางที่จะทวงคืนอำนาจ ดังนั้น เขตสุขภาพของปลัดณรงค์คนนี้จะไม่มีวันทำสำเร็จ เพราะฝืนธรรมชาติของความเป็นเขตสุขภาพที่ต้องกระจายอำนาจ
เกือบ 2 ปีที่ผ่าน ณรงค์ยังคงสลัดข้อหาไม่มีผลงานไม่หลุด เริ่มตั้งแต่นโยบายเจ้าปัญหา P4P ที่ทำเอา สธ.ปั่นป่วน จนถึงทุกวันนี้ก็ไม่สำเร็จ ทั้งที่ในยุคที่เขาเดินหน้า P4P นั้น มี ประดิษฐ อดีต รมว.สนับสนุน เช่นเดียวกับ พกส. ที่ขายฝันให้ลูกจ้าง สุดท้ายก็ไม่เป็นอย่างที่คุยไว้ (รองวชิระยังต้องออกมายอมรับกับสื่อว่า พกส. เป็นการประชาสัมพันธ์เกินจริง) และที่น่าเสียดายที่สุด คือบรรจุข้าราชการ 7,500 ตำแหน่งรอบสอง ที่รอไว้แล้ว เหลือเพียงแค่ทำเสร็จให้ทันอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะได้ แต่ก็ปรากฎว่า เรื่องง่ายๆ แค่นี้ ยังทำไม่สำเร็จ
ทั้งหมดนี้ จึงทำให้ ณรงค์ ที่อยากจะสร้างประวัติศาสตร์ให้เป็นที่จดจำ ยังไม่เกิด เพราะเขาเป็นปลัดที่ไม่มีผลงาน นโยบายที่อวดอ้างทั้งหมด ล้มเหลว และไปไม่ถึงเป้าหมายเหมือนที่เคยขายฝันไว้
ยังดีที่ไหวตัวทัน ดีดประดิษฐทิ้ง หันมานำทัพไล่ระบอบทักษิณ จนได้นกหวีดทองคำเป็นเครื่องการันตีคุณภาพจากกปปส. จึงทำให้ณรงค์สามารถเฉิดฉายได้ต่อไป ภายใต้เสื้อคลุมคนดี
ขณะที่สถานการณ์การเมืองในกระทรวง สธ. ยังไม่รู้ว่าจะออกหัวออกก้อยนั้น สิ่งที่หลายคนกังวล คือ ท่ามกลางการเถลิงอำนาจของณรงค์ ในฐานะท่านผู้นำ ที่มีภาพลักษณ์ คนดี คนตรง และตอนนี้กำลังจะสร้างภาพลักษณ์ คนเก่งผู้สร้างประวัติศาสตร์หากทำเขตสุขภาพสำเร็จนั้น อันตรายของเรื่องนี้ คือ การขาดอำนาจการถ่วงดุล และตรวจสอบ คนที่ไล่ระบอบทักษิณทุกคนย่อมตระหนักดีถึงความสำคัญของคำว่า ทุกอำนาจต้องมีการตรวจสอบ
หากเป็นเมื่อก่อน ระบบสาธารณสุขของไทยยังมีความหวังจากอำนาจการตรวจสอบที่เข้มแข็งมาทุกยุกคทุกสมัย คือ ชมรมแพทย์ชนบท แต่เพลานี้ ด้วยวิสัยทัศน์แบบสายตาสั้น ทุ่มสุดตัวกับการไล่ประดิษฐ จากเคยด่าปลัดณรงค์ เผารูป “ประดิษฐ get out ณรงค์ออกไป” แต่พลันที่ปลัดณรงค์กลับหลังหัน ห่มคลุมเสื้อคลุมคนดี แพทย์ชนบทก็อวยปลัดอย่างไม่ลืมหูลืมตา และบัดนี้ หากจะกลับมาไล่ ก็ไม่เหลือพลังพอ อีกทั้งยังหมดความน่าเชื่อถือไปเสียแล้ว
ซึ่งนี่ต้องบอกว่า น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ที่เราจะไม่มีระบบการตรวจสอบที่ทรงพลังในก.สธ.อีกต่อไป ที่หวังพึ่งได้ คือ ภาคประชาชนและเอ็นจีโอ ซึ่งแน่นอน ไม่มีพลังเท่าแพทย์ชนบทในอดีต แต่ก็เป็นกลุ่มเดียวที่กล้าแสดงความเห็นค้านปลัดได้
ยกเว้นแต่ว่า ครั้งนี้ชมรมแพทย์ชนบทจะทุ่มสุดตัวเหมือนครั้งไล่ประดิษฐ พิทักษ์หลักประกันสุขภาพ หันมาเคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์ของประชาชน ทั้งบอยคอต ติดป้าย เดินขบวน ก็พอจะกู้ภาพลักษณ์คืนมาได้ และอาจจะกลับมาเป็นพลังการขับเคลื่อนที่มีน้ำหนักได้อีกครั้งในวงสังคม แต่ก็ต้องแลกกับเผชิญกับแรงต้านในกระทรวง เพราะไปแตะคนดีอย่างปลัดณรงค์เค้าให้
อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้ดี คงต้องวิงวอน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ในฐานะผู้ทำสถิติเป็นประธานชมรม 8 ปี และนพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ยอมถอยเพื่อประเทศชาติสักครั้ง เลือกตั้งกรรมการชมรมใหม่เถอะ ให้คนอื่นมานำแทน ชมรมแพทย์บทจะมีภาพลักษณ์ที่ดี และขับเคลื่อนได้อย่างมีพลังทันตาเห็นทีเดียวเชียว
และหากณรงค์ ขึ้นเป็น รมว.สธ. จริง ส.ที่ประหวั่นพรั่นพรึงมาก คือ สปสช. เพราะไม่รู้ว่าจะใช้อำนาจความเป็นรมว.มาบอนไซสปสช.แบบไหนบ้าง จะยุบ จะยึด หรือจะดึง สปสช. ไปอยู่ใต้อาณัติ เพราะก่อนหน้านี้ สมัยยังเป็นคู่หูกับประดิษฐ ก็พยายามที่จะรื้อวิธีจัดสรรงบมาโดยตลอด เมื่อประจวบเหมาะกับข้อเสนอระยะกลางที่ สธ. เสนอให้ คสช. ว่าจะปฏิรูประบบการเงินการคลังภายใน 1 ปี ก็ถูกมองว่า คือการเข้ามารื้อวิธีการจัดสรรงบหลักประกันสุขภาพ ที่แพทย์ชนบทรุ่นใหญ่กังวลว่า จะเป็นการถอยหลังเข้าคลอง และรวบอำนาจไปอยู่ที่ สธ. อีกครั้ง
สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับ สปสช. และหลายคนเชื่อว่าจะเกิดคือ เป้าหมายยุบ สปสช. และถอยหลังกลับคืนไปเป็นเหมือนอดีต
แต่ปลัดณรงค์ ฉลาดพอที่จะไม่ทำอย่างนั้น ซีนาริโอ ที่หลายคนกลัว คือ เปลี่ยนเจตนารมณ์ของ 30 บาท หลักประกันสุขภาพ ประชาชนยังไปรักษาโดยไม่ต้องจ่ายเงินเหมือนเดิม แต่จะเป็นการรักษาตามมีตามเกิด เข้าถึงบ้าง ไม่เข้าถึงบ้าง เพราะขึ้นอยู่กับศักยภาพของโรงพยาบาล ด้วยข้ออ้างงบประมาณไม่พอ
ต้องไม่ลืมว่า หัวใจหลักของหลักประกันสุขภาพ หรือ 30 บาท นั้น ไม่ใช่แค่เพียงให้ประชาชนได้รักษาฟรี แต่ต้องทำให้ประชาชนเมื่อเจ็บป่วยต้องได้รับการรักษาที่จำเป็นด้วย ไม่ใช่ต้องรอคิวผ่าตัดหัวใจ จนรอไม่ไหว ตายไปก่อน

ขณะที่ สปสช. เอง ก็ยังสลัดภาพลักษณ์ ประชานิยมจากทักษิณไม่หลุด และยังไม่สามารถทำให้สังคมเห็นได้ว่า แท้จริงแล้วสปสช.คือตัวแทนของประชาชนในการทำหน้าที่จัดหาบริการที่ดีให้ประชาชน ไม่ใช่หน่วยงานในสังกัดของสธ. เพราะที่ผ่านมามัวแต่สาละวนกับการเกรงใจ สธ. มาตลอด
งานนี้ก็ไม่รู้ว่า ท่านผู้นำสูงสุด หัวหน้า คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะว่ายังไง และเข้าใจการเมืองในระบบสธ.ของไทยดีแค่ไหน แต่กับกระทรวงเขี้ยวลากดินที่มีสองอุดมการณ์ขับเคี่ยวกันมาตลอดนี้ ถ้า คสช. เป็นงาน และตั้งใจจะปรองดองจริงอย่างที่พูดและย้ำกรอกหูอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ก็คงไม่อยากสร้างศึกเดิมใน สธ. ขึ้นมาอีก ดังนั้น เพลานี้ กระทรวงสาธารณสุข จึงต้องการคนกลาง ที่จะสร้างสมดุลอำนาจทั้ง 2 ฝ่าย ให้ได้ ต้องไม่ใช่คนที่เป็นคู่ขัดแย้งขึ้นมานำ
เพราะลำพังการเมืองระดับชาติช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจก็สาหัสพอตัวอยู่แล้ว มิหน้ำซ้ำยังอยู่ในช่วงเสรีภาพครึ่งๆกลางๆ ภายใต้กระบอกปืน หากพลาดพลั้งไปหนุนหลังคนผิด เผลอไผล ยุบ 30 บาท หรือเล่นแปรธาตุเปลี่ยนเจตนารมณ์ 30 บาทเข้าไปอีก เหมือนที่ครั้งหนึ่งแถวสามของเพื่อไทยเกือบจะทำลายระบบ เพราะไปหนุนหลังผิดคนมาแล้ว ก็ระวังให้ดีว่า มันจะบานปลายกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวไปได้ง่าย
แล้วครานั้น ที่หวังว่าการเมืองจะสงบ ในช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจ ก็คงจะยาก เพราะดันทะเล่อทะล่าไปทำลายสิ่งที่ชาวบ้านได้ประโยชน์มากที่สุดเข้าให้...

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





ปลัด สธ.จับมือ “สุเทพ” โค่นรัฐบาลขี้โกง ลั่นประชาคมสีขาวร่วมสู้จนกว่าจะชนะ!
ปลัด สธ.จับมือ “สุเทพ” โค่นรัฐบาลขี้โกง ลั่นประชาคมสีขาวร่วมสู้จนกว่าจะชนะ!
ศึกกระทรวงหมอระอุหนักหลังรักษาการ รมว. ส่งเรื่องตรวจสอบวินัยร้ายแรงปลัดกระทรวงสาธารณสุขฐานเป็นข้าราชการระดับสูงแต่ประกาศตัวร่วมสู้ กปปส. วงในชี้หมอประดิษฐ์เชือดหมอณรงค์ เอาหน้านายใหญ่เพื่อสกัดไม่ให้ข้าราชการกระทรวงอื่นตบเท้าตาม เพราะวันนี้ศึกการเมืองยังไม่จบ ขณะที่หมอณรงค์ไม่หวั่นถูกร้องเรียน สู้ต่อไม่ถอย รับไม่ได้รัฐบาลทุจริต พร้อมเปิด 2 ชื่อหมอยืนข้างการเมือง อย่างไรก็ดี ศึกกระทรวงหมอไม่จบง่ายๆ แม้ กปปส.จบ เหตุปมกระจายอำนาจยังไม่ลงตัว “นพ.ณรงค์-หมอชนบท” จับมือยุติศึกชั่วคราว
กำลังโหลดความคิดเห็น