xs
xsm
sm
md
lg

“ทหาร” ปิดเกมคู่ขัดแย้ง-“ยิ่งลักษณ์” ต้องไป!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จับตาเกมการต่อสู้ในประเด็นเงื่อนเวลาอายุรัฐบาลรักษาการของทั้ง 2 ฝ่าย กำลังจะนำไปสู่จุดอันตรายสำหรับ “ยิ่งลักษณ์” แม้วันนี้จะงัดปัญหาการเมืองไม่สงบมาต่อสู้ ทำให้จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ขณะที่ กปปส.มั่นใจสามารถใช้มาตรา 7 เข้ามาดำเนินการได้แล้ว สุดท้าย ศาล รธน.จะเป็นผู้ชี้ขาด ด้านหน่วยความมั่นคงระบุหากรัฐบาลดื้อแพ่งไม่ยอมรับคำวินิจฉัยศาล ปล่อยให้มีกองกำลังป่วนเมือง เจอดีแน่ เพราะ “ทหาร” จะออกกฎอัยการศึกจัดการทุกปัญหาได้เบ็ดเสร็จ ด้าน ส.ส.เพื่อไทย ระบุคู่ต่อสู้กับ “ทักษิณ” ตัวจริงไม่ใช่ “สุเทพ” แต่เป็น “บิ๊กทหาร” ที่เขี่ยยิ่งลักษณ์ ออกไป!

แม้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.จะเปลี่ยนยุทธวิธีการต่อสู้ด้วยการยุบเวทีหลัก 5 เวทีเข้ารวมกันอยู่ภายในสวนลุมพินี ที่เหมือนเป็นการส่งสัญญาณถอย และตกเป็นฝ่ายรับ

แต่เกมการเมืองเวลานี้ถ้ามองให้ดี จะพบว่าฝ่ายรับ แท้จริงแล้วยังเป็นฝ่ายนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีรักษาการ และถูกทำให้ถอยร่นไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะ 2 ประเด็นที่กำลังทำให้ฝ่ายรัฐบาลต้องเหนื่อย คือเรื่องของเงื่อนเวลาของการหมดอายุของรัฐบาลรักษาการ และเรื่องของการที่แกนนำเสื้อแดงออกมาประกาศปาวๆ ว่าเมื่ออยู่ด้วยกันไม่ได้ ก็แบ่งแยกประเทศกันไปเสียเลย

นี่เป็นสิ่งที่สร้างความ “ฮึกเหิม” ให้นายสุเทพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง จนถึงกับประกาศว่าจะระดมพล นำทัพเป็นศึกครั้งสุดท้ายในวันที่ 13-15 มีนาคมนี้ และเชื่อว่า กปปส.จะเป็นฝ่ายชนะ!

สิ่งที่นายสุเทพมีความมั่นใจเช่นนั้น เป็นเพราะจดหมายจากอดีตประธานศาลฎีกา ที่ระบุว่ารัฐบาลรักษาการหมดอำนาจในการรักษาการแล้วในวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา เพราะหลังจากการเลือกตั้งจะต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลภายใน 30 วัน ซึ่งครบกำหนดไปแล้วในวันที่ 4 มีนาคม

เป็นไปตามมาตรา 93 ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 127 โดยมาตรา 93 ของรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของการเลือกตั้งที่ผ่านมาที่มี ส.ส.ไม่ถึง 480 คน และมีจำนวนไม่ถึงร้อยละ 95 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด อันเป็นเหตุให้จัดตั้งสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้

ส่วนมาตรา 127 ระบุว่าภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก ซึ่งขณะนี้ยังไม่เกิดขึ้น

ดังนั้นระหว่างนี้ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์จะไปยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ขณะนี้รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ หมดอำนาจรักษาการแล้วหรือไม่

และในการยื่นเรื่องครั้งนี้ จะมีการเสนอให้ใช้มาตรา 7 ที่ว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เพื่อนำไปสู่การตั้งรัฐบาลพระราชทาน

เกมนี้ นายสุเทพ มั่นใจว่าจะนำไปสู่ชัยชนะ และจะนำมวลชนเดินขบวนแห่งชัยชนะในวันที่ 13-15 มีนาคมนี้ โดยที่นายสุเทพประกาศว่า 13-15 มีนาคม น่าจะเป็นวันแห่งชัยชนะนั้น หลายฝ่ายมองว่าอาจเป็นเพราะเงื่อนเวลาของการตัดสินคดีความต่างๆ ของนางสาวยิ่งลักษณ์จะเริ่มตั้งแต่ช่วงนั้นเป็นต้นไป โดยเฉพาะการตัดสินคดีเงินกู้ 2 ล้านล้านที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 มีนาคม 2557 นี้

“วันที่ 4 มี.ค.เป็นวันครบกำหนด 30 วันแล้ว นับจากวันที่ยิ่งลักษณ์ประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 2 ก.พ. ยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภา เช้าวันที่ 9 ธ.ค. 56 วันนั้นพวกเรามวลมหาประชาชนนัดเดินขบวนใหญ่ทั้งกรุงเทพฯ ไปทำเนียบเพื่อแสดงพลังของประชาชนว่าไม่ยอมรับระบอบทักษิณอีกต่อไป ต้องการขับไล่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกฯ ยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภาโดยหวังว่าประชาชนจะไม่มาชุมนุมไล่ แต่พี่น้องประชาชนก้าวข้ามไปแล้วเรื่องการเลือกตั้ง เพราะตั้งใจแล้วว่าต้องปฏิรูปประเทศไทยก่อนการเลือกตั้ง ไม่ต้องการให้ระบอบทักษิณยังมีอำนาจปกครองบ้านเมืองนี้ต่อไป เลือกตั้งครบ 30 วัน วันนี้ต้องประชุมรัฐสภา แต่ประชุมไม่ได้ เพราะไม่มี ส.ส.เพราะ กกต.ไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อ 2 ก.พ.ได้ วันนี้จึงไม่สามารถเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้งทั่วไปได้ และต้องเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่วันนี้ครบ 30 วันแล้วประชุมรัฐสภาครั้งแรกไม่ได้ ก็เลือกนายกฯ ไม่ได้ นายกฯ คนใหม่เกิดขึ้นไม่ได้ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ปัญหาคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะรักษาการเป็นนายกฯต่อไปได้หรือไม่” นายสุเทพกล่าว
ภาพป้ายแบ่งแยกประเทศของโก๊ะตี๋ที่แชร์กันในโลก social network
รัฐบาลดิ้นหนีหาทางออก-อ้างบ้านเมืองไม่สงบ

ขณะที่แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของทางฝ่ายนางสาวยิ่งลักษณ์ นายกฯ รักษาการที่ต้องดิ้นหนีหาทางออกด้วย โดยล่าสุดสิ่งที่ทางฝ่ายรัฐบาลจะงัดมาสู้คือเหตุผลที่ว่า เหตุการณ์ในประเทศไม่สงบ เป็นเหตุให้งัดมาตรา 127 มาใช้ไม่ได้

ตามที่ นายพีรพันธุ์ พาลุสุข รักษาการ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ออกมากล่าวว่า เรื่องนี้จะเอามาตรา 127 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้รัฐบาลต้องพ้นสภาพภายใน 30 วันหลังการเลือกตั้ง มากำหนดไม่ได้ เพราะมาตรา 127 ต้องใช้ในกรณีที่เหตุการณ์ปกติ แต่ครั้งนี้แม้ว่าจะครบกำหนดในวันที่ 4 มี.ค.ก็ต้องถือว่ามันไม่ปกติ การเลือกตั้งไม่เป็นไปตามกำหนด และยังไม่แล้วเสร็จจึงเปิดสภาไม่ได้
ดังนั้นจึงถือว่านายกฯ มีความชอบธรรมที่จะรักษาการต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ และหากมีปัญหาเหมือนกับปี 2554 ที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ ก็ให้ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 93 วรรค 6 คือให้ใช้เสียง 95 เปอร์เซ็นต์ หรือ 475 คน และถ้ายังไม่ครบอีกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 180 วัน และมองว่าถ้าตีความตามนี้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรียังรักษาการได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างน้อย 6 เดือนคือถึงเดือนกรกฎาคม 2557

คำตัดสินศาล รธน.ไม่ชี้ขาด

ชัดว่าจะสู้ด้วยการตีความกันคนละแบบ ผลสรุปสุดท้ายจึงจะอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ

“เรื่องนี้ไม่มีทางจบ เพราะทั้ง 2 ฝ่ายตีความกันคนละแบบ ดังนั้นเกมนี้ไม่มีแพ้ ไม่มีชนะ เมื่อ กปปส.ทำทุกอย่างแล้ว แต่รัฐบาลก็ใช้วิธีไม่ลาออก ไม่มีแพ้ ไม่มีใครชนะ”

แถมมองว่ากรณีรัฐบาลรักษาการณ์ คำตอบของศาลรัฐธรรมนูญ อาจจะออกมากลางๆ เหมือนกับคดีที่ผ่านมาคือไม่ฟันธงว่าฝ่ายไหนคือฝ่ายชนะหรือฝ่ายแพ้เด็ดขาดไป

แต่ฝ่ายมั่นคงก็มองว่า แต่ไม่ว่าจะอย่างไร นายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็ยังจะถูกบีบให้ไปจากกระบวนการทางกฎหมายอยู่ดี โดยเฉพาะคดีจำนำข้าวที่อยู่ใน ป.ป.ช.

“คดีความที่เกี่ยวข้องกับนายกฯ รักษาการมีอยู่ 12 คดี อยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.9 คดี อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ 1 คดี และอยู่ที่ศาลปกครอง 2 คดี”

กรณีที่ฝ่าย กปปส.คาดหวังที่สุดว่าจะนำไปสู่ชัยชนะครั้งสำคัญ คือคดีที่อยู่ใน ป.ป.ช. คือการขายข้าว G to G ที่เป็นเท็จ เพราะหลักฐานพร้อมมูล

ขณะที่คดีความอื่นๆ ก็ยังเป็นคดีที่บีบไปที่ตัวนางสาวยิ่งลักษณ์ เช่น คดีที่ศาลปกครอง ที่นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ฟ้องไว้เรื่องการโยกย้ายไม่เป็นธรรม ถ้าศาลปกครองยืนยันคืนตำแหน่งให้นายถวิล นายถวิลจะไปฟ้อง ป.ป.ช.ในมาตรา 157 ว่านายกฯ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยอิงคำสั่งของศาลปกครอง และเมื่อ ป.ป.ช.เห็นว่ามีมูล นางสาวยิ่งลักษณ์ก็จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที

“ตอนนี้คดีความกำลังเดินหน้าไปเข้าใกล้วาระของการตัดสินในหลายๆ คดี นางสาวยิ่งลักษณ์ยากที่จะหนีความรับผิดทางกฎหมายไปได้ในคดีใดคดีหนึ่ง หรืออาจโดนหลายคดีขึ้นอยู่กับการตัดสินที่กำลังทยอยออกมา”
แต่ไม่ว่าจะเป็นเช่นนี้ หลายฝ่ายก็มองว่า

รัฐบาลอาจจะมีการเตรียมพร้อมที่จะไม่ยอมรับอำนาจศาล แต่เมื่อไรก็ตามที่รัฐบาลประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาล วันนั้นจะเป็นเรื่องใหญ่ และสุดท้ายทหารจะเป็นกลไกตัดสินแพ้ชนะของการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้

ส.ส.เพื่อไทยรับคู่ต่อสู้ที่น่ากลัวคือทหาร!

นายไพจิต ศรีวรขาน อดีต ส.ส.สกลนคร แกนนำกลุ่มอีสานพัฒนา พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาลเวลานี้ ยอมรับว่าการเผชิญหน้า การใช้กำลังห้ำหั่นกัน เป็นวิธีที่เป็นภาพลบอย่างมาก ดังนั้นเวลานี้ไม่มีความรุนแรงถือเป็นเรื่องดี เป็นผลบวกต่อประเทศที่แสดงว่าแต่ละฝ่ายกำลังถอยไปสู่ที่ตั้ง

ดังนั้นระหว่าง รัฐบาล กับ กปปส.ขณะนี้ไม่มีอะไร เพราะทั้งสองฝ่ายกำลังถอย และกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาหาทางออก

แต่ที่พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงจับตามากที่สุดคือ “ท่าทีของทหาร”

พรรคเพื่อไทยยอมรับว่าตอนนี้ เป็นศึกของการรบกับทหารมากกว่ารบกับ กปปส.!

“สิ่งที่เราวิตกกันอย่างมากคือการทำรัฐประหาร และการเปลี่ยนการเจรจา เพราะตอนนี้ทีมเจรจากำลังทำงานอยู่ เพื่อให้ได้ข้อยุติ แต่สิ่งที่พรรคเพื่อไทยกังวลคือท่าทีของทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการแบ่งแยกประเทศที่กำลังมองว่าเป็นเกมของทหารที่จะเตรียมให้นำไปสู่ข้อขัดแย้ง เพื่อนำไปสู่การปฏิวัติ เรามองว่าเกมนี้เป็นอย่างนี้”

กล่าวคือ เกมแบ่งแยกประเทศนี้ กำลังจะนำไปสู่ความรุนแรง และการไม่ลงตัวของการเจรจาระหว่าง 2 ฝ่าย ซึ่งเมื่อไรก็ตามที่ทหารมีทีท่าว่าจะทำการรัฐประหาร ก็จะเป็นการบีบให้ฝ่าย นปช.ระดมเคลื่อนพลเข้ากรุงเทพฯ ทันที

แต่ตอนนี้ทางพรรคเพื่อไทยก็กำลังระวังที่จะไม่ให้สถานการณ์นำไปสู่จุดนั้น

“เราคัดค้านการทำรัฐประหาร และการฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งตอนนี้เรามองว่าทหารส่งสัญญาณมาแล้ว แต่การพาคนมาสู้ในกรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และไม่น่าจะเกิดขึ้นได้”

สาเหตุคือสถานการณ์เปลี่ยน และตอนนี้ไม่เหมือนปี 2553

กล่าวคือ ในปี 2553 แกนนำกลุ่ม นปช.ค่อนข้างมีความเข้มแข็ง มีสาย นปช.ในพื้นที่ที่สามารถระดมคนของตัวเองออกมาได้ ส.ส.จะแยกไปอีกกลุ่มหนึ่ง แต่ในขณะนี้ สายของ นปช.ในพื้นที่นั้นไม่เข้มแข็งเหมือนเก่าแล้ว มีเพียงแต่ฮาร์ดคอร์ไม่กี่คน ซึ่ง ส.ส.ของพรรคจึงเป็นผู้เข้าไปจัดการมวลชนในระดับพื้นที่มากกว่าแกนนำ นปช.นานแล้ว และเนื่องจาก ส.ส.มีความผูกพันกับพื้นที่ และคะแนนเสียงในพื้นที่อย่างมาก การพาคนมาบาดเจ็บล้มตายจึงเป็นเรื่องใหญ่กับ ส.ส.ที่จะทำให้คนในพื้นที่รู้สึกไม่ดี

“ตอนนี้พูดตามตรงนะ ส.ส.คัดคนมามากเลย คนที่เป็นฮาร์ดคอร์มากๆ เราจะไม่ยอมให้มา เพราะเสี่ยงต่อการบาดเจ็บล้มตาย และถ้ามีการรวมพลังก็จะอยู่ให้ไกลเขตกรุงเทพฯ จะทำไปเพื่อเป็นการแสดงพลังเฉยๆ อาจมีการรวมกลุ่มกันให้มีคนจำนวนเยอะ แต่ป้องกันไม่ให้มีคนตาย”

เหตุที่ต้องระวังมาก ก็เพราะเหตุการณ์ที่สนามราชมังคลาฯ สร้างความเสียหายต่อคะแนนเสียงของ ส.ส.ในพื้นที่

“ความเสียหายเมื่อถึงภาคประชาชนแล้ว ส.ส.หรืออดีต ส.ส.จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยนัยอยู่แล้ว ส.ส.ก็ไม่อยากเสี่ยงขนาดนั้น”

ดังนั้นจึงเชื่อว่าการเผชิญหน้าระหว่างมวลชนทั้ง 2 ฝั่งจะไม่เกิดขึ้น
ภาพ: เฟซบุ๊ก กอ.รมน. สวนรื่นฤดี
สุภรณ์เบิกงบลับสำนักนายกฯสร้างกระแสป่วน?

ไม่ว่ากลุ่มแกนนำ นปช.ฮาร์ดคอร์ที่ยังมีความเคลื่อนไหวในพื้นที่

“มีการติดต่อมาจากแกนนำคนเสื้อแดงหลายคนทั้งนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ และหมอเหวง เพื่อเอาเงินลับมาเคลื่อนไหวทางการเมือง งบลับนี้คือเงินก้อนที่มีอยู่ในสำนักนายกฯ ที่สามารถนำมาใช้เพื่อให้รัฐบาลแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ ตอนนี้มีงบก้อนนี้อยู่เป็นร้อยล้าน ล่าสุดมีการต่อสายมาให้รวมคนอีสาน ทำเป็นจัดสัมมนาปฏิรูปการเมืองไทยจะให้งบประมาณ 50 ล้านบาท แต่ไม่สำเร็จ” แหล่งข่าวนักเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคอีสานกล่าว

คือเป้าหมายของเขาคือหวังผลที่จะสร้างการชุมนุมอะไรขึ้นมาก็ได้ เพื่อสร้างกระแสกดดัน ป.ป.ช., องค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น!

และการเคลื่อนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เอาภาพที่เกิดขึ้นไปใช้อ้างกับนานาชาติได้ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และเพื่อให้นานาชาติออกมาช่วยในการเจรจา

แต่เงินที่นำมาใช้ครั้งนี้ก็เป็นเงินหลวง ไม่ใช่เงินในกระเป๋าของ พ.ต.ท.ทักษิณ

อย่าแปลกใจว่าการตั้งโต๊ะรับสมัครกองกำลังของนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ที่จังหวัดมหาสารคามที่ผ่านมา จะมีคนไปร่วมจำนวนมาก เพราะครั้งนั้นมีการจ่ายให้ชาวบ้านหัวละ 2,000 บาทด้วย

แต่ถึงวันนี้ถามว่าชาวบ้านที่ไปเขาจะลงมากรุงเทพฯ จะมาเป็นหน่วยรบให้นายสุภรณ์หรือไม่ คำตอบคือไม่
“ตอนนี้ชาวบ้านเขากลัวกันจะตาย กลัวว่าจะเป็นกบฏเพราะสำเนาบัตรประชาชนเขาอยู่ที่นายสุภรณ์ แล้วกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ดันมาประกาศว่าจะแยกประเทศเสียอีก ชาวบ้านเขาก็กลัวมาก กลัวทหารเข้ามาจัดการ”

ดังนั้นการประกาศแยกประเทศเป็นจุดเปลี่ยนพลิกให้ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณเป็นรองอย่างมาก มันเกิดการสวิงกลับ คือคนในประเทศรับไม่ได้ และทหารก็แสดงท่าทีทันทีว่าไม่ยอม

จุดนี้ ดร.อวยชัย วะทา อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม วิเคราะห์ว่า เป็นจุดที่พลิกให้เกมนี้เปลี่ยน

“ชุดความคิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ และเสนาธิการร่วม เป็นแบบหนึ่งบวกหนึ่งให้ได้สอง แต่ไม่มองบริบทสังคมไทยเลย ดังนั้นเมื่อเสนอความคิดแบ่งแยกประเทศออกมา เลยถูกต่อต้านหนัก ตำรวจเองในระดับผู้บังคับการ ผู้กำกับก็ไม่กล้าเข้ามายุ่ง ส่งผลให้รัฐบาลต้องมีทีท่าอ่อนลง ส่วนทหารก็ชัดเจนว่าจากที่พยายามอยู่กลางๆ ก็เลือกข้างชัดเจน”

จุดตัดสินก็เลยกลับมาที่เดิม คือ ตัดสินแพ้ชนะด้วยกฎหมาย

และหากเมื่อไรที่ข้อกฎหมายมีการตัดสิน และรัฐบาลเลือกวิธีไม่ยอมรับอำนาจศาล

นั่นแหละคือจุดจบจริงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

“ผมมองว่า การตัดสินคดีจำนำข้าวจะออกมาไม่เป็นผลดีกับรัฐบาล เมื่อเป็นเช่นนั้นรัฐบาลอาจใช้วิธีไม่ยอมรับอำนาจศาล”

แต่เมื่อไรที่ไม่ยอมรับอำนาจศาล มองว่าทหารจะออกกฎอัยการศึก ยึดอำนาจรัฐบาลทันที เพราะหมดความชอบธรรมในการเป็นรัฐบาลแล้ว

รัฐบาลจะแพ้อย่างหมดรูป!

สุดท้าย “ยิ่งลักษณ์” ต้องไป

และอย่าคิดว่าการระดมคนเสื้อแดงเข้ามาจะเป็นทางออกที่ดี

“ลองมองดูดีๆ ทำไมคุณสุเทพถึงให้มวลชนเข้าไปอยู่ในสวนลุมฯ จริงๆ แล้วทหารเป็นคนให้เข้าไปหรือเปล่า เพราะว่าตอนนี้ทหารตั้งหน่วยดูแลความปลอดภัยแล้วถึง 176 จุด เมื่อไหร่ที่เสื้อแดงขนทัพเข้ามาในกรุงเทพฯ ย่อมหมายถึงการจัดการของทหารต่อคนเสื้อแดงจะง่ายขึ้น และมวลชนของ กปปส.ก็ไม่ต้องเป็นอันตราย” แหล่งข่าวด้านความมั่นคงกล่าว

และให้ตั้งข้อสังเกตว่า “ทหารเวลานี้ไม่ยอมที่จะอยู่เฉยๆ”

ดังนั้น แกนนำฮาร์ดคอร์คนเสื้อแดง โดยเฉพาะ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์, โกตี๋ รวมไปถึงนายวรชัย เหมะ อาจเป็นอย่างนายขวัญชัย ไพรพนา

“พวกหัวหน้าแก๊งทั้งหลาย ตอนนี้หน่วยความมั่นคงคงไม่ได้อยู่เฉยๆ มีหน่วยที่คอยตามคนพวกนี้ และบล็อกไว้ไม่ให้มาสร้างความรุนแรงได้”

โดยเฉพาะการพยายามก่อตัว “ตำรวจบ้านสวนสนาม” จัดตั้งกองกำลัง และการตั้งโต๊ะรับสมัครอาสาสมัครของนายสุภรณ์

“2 เรื่องนี้ทหารไม่ยอม กองทัพภาค 2 และกองทัพภาค 3 ไม่ยอมแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องตำรวจบ้านสวนสนาม อย่างน้อยทหารต้องคุยกับ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ว่าปล่อยให้เกิดได้ยังไง และจะต้องมีการจัดการในเมื่อเป็นความรับผิดชอบของ พล.ต.อ.อดุลย์”

สิ่งนี้เป็นเรื่องในที่แจ้ง

แต่ในที่ลับ “แกนนำระดับหัวทั้งหมด” จะถูกตามดูพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด

“อย่าให้หัวขยับได้ ถ้าพวกนี้ขยับไม่ได้ ก็ไม่มีปัญหา ไม่มีความวุ่นวาย”

แต่ถ้าหัวหน้าแกนนำฮาร์ดคอร์เสื้อแดงเหล่านี้ มาสร้างความวุ่นวายในกรุงเทพฯ อีก หน่วยทหาร 176 จุด 88 กองร้อยคงไม่อยู่เฉย!

และเมื่อทหารเลือกข้างชัดเจนขนาดนี้ ...“ยิ่งลักษณ์” จะยื้ออำนาจไว้แค่ไหน จะไม่อยากออกแค่ไหน แต่สุดท้ายก็ต้องเป็นฝ่าย “ไป”!

“มันจะไม่แพ้ได้ยังไง แค่เรื่อง สปป.ล้านนาก็สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลกำลังจนตรอก เพราะคนที่อยู่กับอำนาจรัฐ จริงๆ จะต้องคุมพื้นที่ได้ 100% เป็นฝ่ายได้เปรียบ แต่ตอนนี้รู้ดีว่าเสียเปรียบเลยต้องออกมาพูด คือมาขอคุมพื้นที่สัก 40-50% ซึ่งเป็นเรื่องตลกมาก คือแสดงให้เห็นว่าเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำอย่างที่สุดแล้ว”

แต่อย่าลืมว่า การแบ่งแยกดินแดนเป็นเรื่องที่นอกจากคนจะยอมรับไม่ได้แล้ว ยังเป็นภัยคุกคามโดยตรงที่ทำให้ทหารเข้ามาจัดการอะไรต่อมิอะไรได้ง่ายขึ้น!

หมายเหตุ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 93 ระบุว่า
“สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสี่ร้อยแปดสิบคน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนสี่ร้อยคน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนจำนวนแปดสิบคน
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ โดยให้ใช้บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบละหนึ่งใบ
หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งวุฒิสภา
ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด และยังมิได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มีอยู่
ภายใต้บังคับมาตรา ๑๐๙(๒) ในกรณีที่มีเหตุใดๆ ทำให้ในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกซึ่งได้รับเลือกตั้งจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนมีจำนวนไม่ถึงแปดสิบคน ให้สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่
ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใดๆ ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ถึงสี่ร้อยแปดสิบคน แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบห้าของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ให้ถือว่าสมาชิกจำนวนนั้นประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎร แต่ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ครบจำนวนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน และให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภาผู้แทนราษฎรที่เหลืออยู่”

มาตรา 127 ระบุว่า
“มาตรา 127 ภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก
ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญทั่วไป และสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ
วันประชุมครั้งแรกตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญทั่วไป ส่วนวันเริ่มสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้กำหนด ในกรณีที่การเริ่มประชุมครั้งแรกตามวรรคหนึ่งมีเวลาจนถึงสิ้นปีปฏิทินไม่ถึงหนึ่งร้อยห้าสิบวัน จะไม่มีการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติสำหรับปีนั้นก็ได้
ในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ ให้รัฐสภาดำเนินการประชุมได้เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในหมวด ๒ หรือการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติการอนุมัติพระราชกำหนด การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม การรับฟังคำชี้แจงและการให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญา การเลือกหรือการให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่ง การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง การตั้งกระทู้ถาม และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เว้นแต่รัฐสภาจะมีมติให้พิจารณาเรื่องอื่นใดด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
สมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสมัยหนึ่งๆ ให้มีกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวันแต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขยายเวลาออกไปก็ได้
การปิดประชุมสมัยสามัญก่อนครบกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวัน จะกระทำได้แต่โดยความเห็นชอบของรัฐสภา”

กำลังโหลดความคิดเห็น