xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : ย้อนรอย...ผลงานอัปยศ “ยิ่งลักษณ์” เด้ง “ถวิล” เพื่อเครือญาติ!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายถวิล เปลี่ยนศรี ถูกโยกจากเลขาธิการ สมช.ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ เดินทางไปฟังคำสั่งศาลปกครองสูงสุด วันนี้(7 มี.ค.)
อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน

ในที่สุด ความเป็นธรรมที่ “ถวิล เปลี่ยนศรี” รอมานาน ก็มาถึงในวันนี้ เมื่อศาลปกครองสูงสุดสั่งให้นายกฯ คืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ให้ หลังถูก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โยกพ้นเก้าอี้เลขาธิการ สมช.มานั่งที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เราลองมาย้อนรอยการโยกย้ายที่นายถวิลถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมอีกครั้ง

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 ส.ค.2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แถลงหลังรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ว่า พร้อมจะทำงานด้วยความทุ่มเท เสียสละ อดทน ไม่เกรงกลัวต่อความยากลำบากใดๆ รวมทั้งจะจดจำเจตจำนงและเหตุผลของการเข้ามารับใช้แผ่นดินเกิดในครั้งนี้ ด้วยความภาคภูมิใจในความรักของประชาชน และจะใช้ความเป็นมืออาชีพ สร้างสุข สลายทุกข์ ให้แก่พี่น้องประชาชนอย่างสุดความสามารถ พร้อมสัญญาว่า จะไม่ทำเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ทำเพื่อประเทศไทยของทุกคน

แต่ให้หลังไม่ถึงเดือน รัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ถูกมองเป็นนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ออกลายด้วยการจ้องดันเครือญาติของตัวเองขึ้นเป็น ผบ.ตร.แทน พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ที่ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.ในขณะนั้น เครือญาติที่ว่าก็คือ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร.พี่ชายคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

แต่การจะให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ขึ้นนั่งเก้าอี้ ผบ.ตร.ได้ ก็ต้องทำให้ตำแหน่ง ผบ.ตร.ว่างลง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จึงหาทางโยก พล.ต.อ.วิเชียร ไปนั่งตำแหน่งอื่น แต่กฎหมายไม่เอื้อให้ทำเช่นนั้น เพราะ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ระบุว่า การจะโยกย้าย ผบ.ตร.ได้ ต้องให้เจ้าตัวสมัครใจ รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงใช้วิธีกึ่งบีบกึ่งเจรจาให้ พล.ต.อ.วิเชียร ยอมทิ้งเก้าอี้ ผบ.ตร.ซึ่ง พล.ต.อ.วิเชียร ได้ออกมายอมรับเมื่อวันที่ 31 ส.ค.2554 ว่า ตนถูกการเมืองบีบให้พ้นตำแหน่ง ผบ.ตร.จริง พร้อมออกอาการต่อรองว่า ส่วนตัวพร้อมไปนั่งเก้าอี้ใหม่ แต่ต้องเป็นตำแหน่งที่เหมาะสม มีเกียรติและศักดิ์ศรีพอสมควร เพราะตนไม่ได้ทำอะไรผิด!

กระทั่งหวยไปออกที่ตำแหน่งเลขาฯ สมช.ที่นายถวิลดำรงตำแหน่งอยู่ ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มองว่า พล.ต.อ.วิเชียร น่าจะยอมรับตำแหน่งนี้ได้ ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ได้ช่วยการันตีว่า พล.ต.อ.วิเชียร เหมาะสมกับตำแหน่งเลขาฯ สมช.พร้อมพูดเหน็บนายถวิล เพื่อให้ยอมทิ้งตำแหน่งเลขาฯ สมช.แต่โดยดีว่า หากตนเป็น นายถวิล จะขอย้ายตัวเอง เพราะที่ผ่านมาทำหน้าที่เป็นเลขานุการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ดังนั้นรัฐบาลคงไม่ต้องการให้อยู่ในตำแหน่งเลขาฯ สมช. ร.ต.อ.เฉลิม ยังหลุดปากด้วยว่า เหตุที่ต้องย้ายนายถวิล เพื่อให้ พล.ต.อ.วิเชียร ไปนั่งเลขาฯ สมช.เพื่อจะได้เอา พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ขึ้นเป็น ผบ.ตร.!!

แม้ พล.ต.อ.วิเชียร จะรับได้กับตำแหน่งเลขาฯ สมช.แต่คนที่ต้องรับกรรมอย่างนายถวิล รับไม่ได้ ที่จะต้องถูกเด้งไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ เพราะตนไม่ได้ทำอะไรผิด นายถวิล จึงออกมาประกาศว่า ตนทำงานที่ สมช.ด้วยความซื่อสัตย์มากว่า 30 ปี หากถูกโยกย้ายโดยไม่เป็นธรรม ตนจะร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองและคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.)

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ฟังเช่นนั้น จึงออกมาบอกว่า จะหาเวลาคุยกับนายถวิล แต่ภายหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ เปลี่ยนใจไม่คุย และให้ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี ไปคุยแทน ซึ่งหลังจากคุย พล.ต.อ.โกวิท ไม่ยอมเผยผลหารือแต่อย่างใด ขณะที่ นายถวิล บอกว่า “ถ้าผมไปนั่งในตำแหน่งที่ไม่ตรงกับความสามารถ เท่ากับว่าไปนั่งตบยุงอยู่เฉยๆ นั่งกินเงินเดือนเปล่าๆ คงไม่มีประโยชน์อะไร”

แต่ดูเหมือน น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะไม่ฟัง และในที่สุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ก.ย.2554 ได้มีมติโยกย้ายนายถวิลไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชประจำ โดยการโยกย้ายครั้งนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วและรีบเร่ง ซึ่ง นายถวิล ได้เปิดแถลงข่าวในวันรุ่งขึ้นหลังรู้ผลมติ ครม.โดยชี้ว่า กระบวนการย้ายตนให้พ้นตำแหน่งเลขาฯ สมช.เป็นไปในลักษณะที่ฝ่ายการเมืองบางคนมีอคติและลุแก่อำนาจ “ท่วงทำนองเป็นไปอย่างเยาะเย้ยถากถางต่อผม ซึ่งตรงนี้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยตรงของผมนั้น ก็ไม่ได้ออกมาปกป้องหรือดูแลผมแต่อย่างใด ทั้งที่ผมเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของนายกฯ ซึ่งผมรู้สึกเสียใจ”

นายถวิล ยังบอกด้วยว่า ตนจะใช้สิทธิของตัวเองด้วยการร้องขอความเป็นธรรมต่อ ก.พ.ค.ภายใน 30 วันตามที่ระเบียบกำหนด โดยจะร้องว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติงานของนายกรัฐมนตรี พร้อมเชื่อด้วยว่า คนที่รังแกตน ยังไงก็หนีกฎแห่งกรรมไม่พ้น “สิ่งที่สำคัญคือกฎแห่งกรรม กฎธรรมชาติ ที่ทุกคนต้องได้รับทั้งนั้น ท่านต้องต่อสู้ ผมเองต้องต่อสู้ ท่านที่รังแกผมก็ต้องต่อสู้กับความเที่ยงแท้แน่นอนของกฎแห่งกรรมและกฎธรรมชาติ”

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังนายถวิลถูกเด้งพ้นเลขาฯ สมช.ปรากฏว่า ข้าราชการ สมช.ได้ทำหนังสือถึงสื่อมวลชน โดยยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับการย้ายนายถวิลไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ พร้อมชี้ว่า การย้ายเลขาฯ สมช.ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ สมช.เพราะที่ผ่านมา แม้จะเคยมีการย้ายเลขาฯ สมช.และรองเลขาฯ สมช.ไปประจำตำแหน่งอื่น แต่บุคคลเหล่านั้นเป็นคนภายนอกที่เข้ามารับตำแหน่งด้วยเหตุผลทางการเมือง กรณีที่เกิดขึ้นกับนายถวิลจึงส่งผลกระทบต่อความรู้สึกและขวัญกำลังใจของข้าราชการ สมช.ทุกคน

หลังเด้งนายถวิลไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ และโยก พล.ต.อ.วิเชียร ไปนั่งเลขาฯ สมช.แทนแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ก็เดินหน้ากระบวนการเพื่อดัน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ขึ้นนั่งตำแหน่ง ผบ.ตร.โดยที่ประชุม ก.ต.ช.เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2554 ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นประธาน ได้มีมติเอกฉันท์ (11 คน) ตามที่นายกฯ เสนอให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ขึ้นเป็น ผบ.ตร. โดยอ้างว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความประพฤติ และผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์

ด้าน นายถวิล ได้เดินหน้าร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมจาก ก.พ.ค.แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะ ก.พ.ค.มีมติเสียงข้างมากยกคำร้องของนายถวิล โดยอ้างว่า ไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่านายกฯ โยกย้ายโดยใช้อำนาจตามอำเภอใจ หรือเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ก้าวก่ายแทรกแซง เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น และมีกระบวนการโยกย้ายเป็นไปตามขั้นตอนแล้ว

นายถวิล พูดถึงเหตุผลที่ ก.พ.ค.ยกคำร้องของตนด้วยว่า “กรรมการก็เห็นโดยย่อว่า นายกฯ มีเหตุผล เพราะนายกฯ ได้แถลงต่อสภาว่า จะเร่งรัดดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ส่วนหนึ่งก็คือ มีนโยบายความมั่นคงอยู่ด้วย ทั้งเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ปัญหาภาคใต้ การก่อการร้าย อะไรต่างๆ พวกนี้ ก็เห็นว่านายกฯ มีอำนาจตามนั้นที่จะย้ายผมได้ และนายกฯ แก้คำร้องทุกข์บอกว่า ผมมีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ เพราะฉะนั้นก็ย้ายผมเพื่อทำงานในระดับที่สูงขึ้นในระดับนโยบาย”

ทั้งนี้ นายถวิล รู้สึกข้องใจในกระบวนการวินิจฉัยยกคำร้องของ ก.พ.ค. เนื่องจาก ก.พ.ค.ได้ตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ชุดเล็กขึ้นมาพิจารณา ซึ่งกรรมการ 2 ใน 3 เห็นว่าคำร้องของตนฟังขึ้นว่าตนถูกกลั่นแกล้งและไม่ได้รับความเป็นธรรม การโยกย้ายตน เพราะต้องการให้ พล.ต.อ.วิเชียร มานั่งแทน เพื่อให้ตำแหน่ง ผบ.ตร.ว่างลง เพราะต้องการให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ขึ้นเป็น ผบ.ตร.แต่เมื่อคณะกรรมการชุดเล็กส่งเรื่องให้ ก.พ.ค.ชุดใหญ่ลงความเห็น ปรากฏว่า การโหวตครั้งแรก กรรมการฝ่ายที่เห็นว่าควรยกคำร้องกับฝ่ายที่เห็นว่าไม่ควรยกคำร้องมีคะแนนเท่ากัน 3 ต่อ 3 จากนั้นนายศราวุธ เมนะเศวต ประธาน ก.พ.ค.ซึ่งใช้สิทธิออกเสียงไปแล้ว ได้ใช้สิทธิออกเสียงอีกครั้งโดยอ้างว่าเพื่อชี้ขาด จึงน่าสงสัยว่าประธาน ก.พ.ค.มีสิทธิออกเสียง 2 ครั้งหรือไม่ ซึ่งตนรู้สึกว่าการวินิจฉัยด้วยวิธีดังกล่าวไม่น่าจะเป็นธรรม และเหมือนตัวเองถูกจับแพ้ทางเทคนิค “ผมเห็นว่า ถ้าการใช้อำนาจของนายกฯ และรัฐมนตรีไม่มีข้อจำกัด ต่อไปข้าราชการจะไม่มีทางร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมได้ หากกรณีของผมไม่เรียกว่าถูกกลั่นแกล้งแล้ว จะมีกรณีของข้าราชการคนใดบ้างที่ได้รับความเป็นธรรม ถ้าการเมืองเป็นแบบนี้ จะหวังให้ระบบราชการเป็นกลไกพัฒนาบ้านเมืองได้อย่างไร นอกจากทำให้กลายเป็นเบี้ยล่างของฝ่ายการเมืองที่จะจัดการอย่างไรก็ได้”

เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก ก.พ.ค. นายถวิล จึงได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครอง เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งโยกย้ายของนายกรัฐมนตรี และเพิกถอนคำสั่งของ ก.พ.ค.ที่ยกคำร้องตน ซึ่งในที่สุด นายถวิลก็ได้พบกับความเป็นธรรมเมื่อวันที่ 31 พ.ค.2556 โดยศาลได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่โยกย้าย นายถวิล จากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2554 รวมทั้งสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ที่ยกคำร้องทุกข์ของนายถวิล เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2555 เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า กระบวนการโอนนายถวิลดำเนินการอย่างเร่งรีบ ไม่เป็นไปตามขั้นตอน จึงเชื่อได้ว่า ที่มาของการโยกย้ายนายถวิล เพื่อต้องการให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ดำรงตำแหน่งอยู่ ว่างลง เพื่อแต่งตั้งให้คนอื่นดำรงตำแหน่งแทน

ด้านนายถวิล ได้สรุปคำพิพากษาของศาลให้ฟังว่า “ศาลได้ให้นายกฯ คืนตำแหน่งกลับให้ผมโดยเร็ว ในรายละเอียด ศาลได้มีคำวินิจฉัยในทางกฎหมายอยู่ 2 แง่คือ ชอบด้วยกระบวนการและวิธีการทางกฎหมายหรือไม่ ในการย้ายข้าราชการตามระเบียบราชการ ต้องได้รับการยินยอมจากหน่วยที่สังกัดอยู่ คือ สมช.กับหน่วยที่รับโอนผมคือสำนักเลขาธิการนายกฯ ศาลเห็นว่ามีการปฏิบัติไม่ชอบ ไม่เป็นไปตามขั้นตอน มีการปกปิดข้อเท็จจริง และในแง่ที่ 2 คือ การวินิจฉัยเรื่องของดุลพินิจ ตำแหน่งเลขาฯ สมช.มีฐานะสูงกว่าที่ปรึกษานายกฯ มีอำนาจตามกฎหมายในการดำเนินการ และเหตุที่นายกฯ อ้างว่าผมมีความรู้ความสามารถในเรื่องของความมั่นคง ก็สามารถไปช่วยในเรื่องนโยบายได้ ศาลเห็นว่าอยู่ที่ตำแหน่งเลขาฯ สมช.ก็ดำเนินงานได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องโอนตำแหน่ง และตำแหน่งเลขาฯ สมช.ตอบสนองการทำงานด้านความมั่นคงได้ดีกว่า ฉะนั้นศาลเห็นว่าการย้ายครั้งนี้เป็นการลดบทบาทหน้าที่ของผม”

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ยอมคืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ให้นายถวิล พร้อมอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด และในที่สุด หลังเวลาผ่านไปเกือบปี ศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีคำพิพากษาแล้วในวันนี้ 7 มี.ค.2557 ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้อำนาจโยกย้ายนายถวิลโดยมิชอบ พร้อมสั่งให้นายกฯ คืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ภายใน 45 วัน!!
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ และ รมว.กลาโหม
พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อดีต ผบ.ตร.
พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีต ผบ.ตร.
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช.ในปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น