xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองสูงสุดสั่งคืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช. แก่ “ถวิล เปลี่ยนศรี” ใน 45 วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้คืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช. แก่ “ถวิล เปลี่ยนศรี” ภายใน 45 วัน ชี้ “ยิ่งลักษณ์” ใช้ดุลยพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้กระบวนการถูกต้อง เจ้าตัวลั่นสู้มา 2 ปี 6 เดือน มุ่งหวังความยุติธรรม เปิดใจเจ็บปวดพอแล้ว ถูกระบบอุปถัมภ์ทำลายระบบราชการ เอาคนไม่รู้เรื่องอะไรเลยมาเสียบ คกก.พิทักษ์คุณธรรมปกป้องการเมืองแทรกแซงไม่ได้ แนะให้ความเป็นธรรมข้าราชการด้วย



ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพกาษาสั่งเพิกถอนคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 30 ก.ย. 2554 ที่ให้นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และให้ผลย้อนหลังไปถึงวันที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับ คือ วันที่ 30 ก.ย. 2554 โดยให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้นายถวิลได้กลับสู่ตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติภายใน 45 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษา

ทั้งนี้ คำพิพากษาดังกล่าวสืบเนื่องมาจากนายถวิล ได้ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีต่อศาลปกครองชั้นต้น หลังนายกรัฐมนนตรี มีคำสั่งให้พ้นจากเลขาสมช.และไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาว่าการโยกย้ายดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้เพิกถอนคำสั่งโยกย้ายรวมถึงให้นายกฯคืนตำแหน่งเลขาฯสมช.ให้กับนายถวิลโดยเร็ว แต่นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด

ส่วนเหตุผลที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพาษาดังกล่าวระบุว่า พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า สำนักนายกรัฐมนตรี มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้...วรรคสอง บัญญัติว่า ส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี... (4) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี... (8) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ...จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ทั้งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติต่างก็เป็นส่วนราชการที่อยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีและเป็นส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี

ขณะที่ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการทางการเมือง มีเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี. และพ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ 2502 มาตรา 7 บัญญัติ ว่า ให้มีสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติมีหน้าที่ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามมติของสภาความมั่นคงแห่งชาติ และให้มีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ...

โดยกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2554 ข้อ 2 กำหนดว่า ให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีภารกิจเกี่ยวกับกิจการความมั่นคงของประเทศโดยเป็น ที่ปรึกษา เสนอแนะนโยบาย มาตรการ และแนวทางปฏิบัติด้านความมั่นคงของชาติ อำนวยการ ประสานงาน ให้เป็นไปตามนโยบาย รวมทั้งการจัดทำแผนเตรียมพร้อมแห่งชาติต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ป้องกันและแก้ปัญหาด้านความมั่นคงในอนาคต ตลอดจนการพัฒนาและการจัดองค์ความรู้ความมั่นคงที่มีคุณภาพ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงานด้านความมั่นคง

จึงจะเห็นได้ว่า ตำแหน่งเลขาฯ สมช. ขึ้นตรง นายกรัฐมนตรี และมีอำนาจหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับกิจการความมั่นคงของประเทศ โดยเป็นที่ปรึกษา เสนอแนะนโยบาย มาตรการและแนวทางปฏิบัติด้านความมั่นคงแห่งชาติต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งนี้จึงสามารถเสนอแนะนโยบายด้านความมั่นคงของประเทศต่อนายกรัฐมนตรี ได้โดยตรงอยู่แล้ว

ส่วนตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำที่นายกฯมีคำสั่งให้นายถวิลไปดำรงตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งข้าราชการประจำที่ ก.พ. ได้กำหนดไว้ในสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีซึ่งมีเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชา ผู้ดำรงตำแหน่งนี้จึงอยู่ใต้บังคับบัญชาของเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และการปฏิบัติราชการของผู้ดำรงตำแหน่งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับการมอบหมายของผู้บังคับบัญชา และผู้ดำรงตำแหน่งนี้ไม่อาจเสนอแนะนโยบายด้านความมั่นคงของประเทศต่อนายกฯ ได้โดยตรง แต่จะต้องเสนอ ผ่านเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

จึงเห็นว่า นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการประจำของราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาค ย่อมมีอำนาจดุลพินิจในการบริหารงานบุคคลหมุนเวียนสับเปลี่ยนบทบาทหรือการทำหน้าที่ของข้าราชการเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปตามแนวนโยบายที่นายกฯ ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาได้ แต่ในการใช้อำนาจดุลพินิจดังกล่าว นอกจากจะต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมายและอยู่ภายในขอบเขตของกฎหมายแล้วยังจะต้องมีเหตุผลรองรับที่มีอยู่จริงและอธิบายได้ ซึ่งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายถวิลได้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีประสิทธิภาพ มีข้อบกพร่องหรือไม่สนองนโยบายของรัฐบาลซึ่งจะถือได้ว่ามีเหตุผลอันสมควรที่ผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งโอนได้ตามความเหมาะสม

โดยที่ในคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้ตรวจสอบเหตุผลนายกฯ ได้อ้างในการโอนนายถวิลแล้วปรากฏว่ามิได้เป็นไปตามที่นายกฯ กล่าวอ้าง จึงเท่ากับฝ่ายบริหารได้ใช้อำนาจดุลพินิจในการโอน นายถวิลโดยไม่มีเหตุผลรองรับ จึงถือได้ว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบอันเป็นเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ดังนั้น การโอนผู้ฟ้องคดีจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 ก.ย. 54 จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ด้านนายถวิล กล่าวภายหลังรับฟังคำพิพากษาฯ ว่า ถือว่าได้รับความกรุณาจากศาลฯ ตนสู้มา 2 ปี 6 เดือน ไม่ใช้สู้เพื่อตัวเอง แต่เป็นการสู้เพื่อความยุติธรรม หากฝ่ายการเมืองมีการเคารพศักดิ์ศรีของฝ่ายข้าราชการประจำอย่างเท่าเทียมกัน ก็เชื่อว่าจะสามารถทำงานร่วมกันได้ ซึ่งฝากเตือนถึง นายกฯ ว่าอย่าให้ระบบอุปถัมภ์ อย่าเอาการใช้พวกพ้องในฝ่ายการเมืองมาใช้กับพวกตนที่เป็นข้าราชการประจำ ที่ผ่านมาเจ็บปวดมากพอแล้ว ข้าราชการก็เดือดร้อนกันทุกกระทรวง แล้วอย่างนี้จะบริหารบ้านเมืองได้อย่างไร การแต่งตั้งโยกย้ายอย่าทำเพื่อสนองผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น เพราะจะเป็นการทำลายระบบข้าราชการอย่างย่อยยับ และข้าราชการเองก็อย่าวิ่งเต้นเพื่อให้ได้ตำแหน่ง เพราะทำให้ข้าราชการที่ดีได้รับผลกระทบและหมดกำลังใจในการทำงาน ”

"พวกผมเจ็บปวดมากพอแล้ว ระบบราชการที่ถูกกระทำด้วยระบบอุปถัมภ์จะเป็นหลักเป็นเกณฑ์ให้กับชาติบ้านเมืองได้อย่างไร ฝ่ายการเมืองมีส่วนทำลายระบบราชการให้ย่อยยับ ฝ่ายราชการใช้การวิ่งเต้น ใช้เส้นสาย พรรคพวก มีส่วนทำลายเพื่อนข้าราชการด้วยกัน ข้าราชการที่หมดกำลังใจเข้าไม่ได้ทำอย่างผมทุกคน ถอยออกไปนอกวงแล้ว บางคนเสียผู้เสียคน ทำงานเช้าชามเย็นชา ข้าราชการที่ดีที่ถูกกลั่นแกล้ง ท่านมีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม มีศาลปกครอง คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม กระบวนการยังไม่ทันสมัยเพียงพอ ยังไม่สามารถปกป้องพวกผมได้ พิจารณาตามกฎหมาย ตามขั้นตอน ไม่มีหรอกที่ฝ่ายการเมืองจะทำไม่ถูกตามขั้นตอน ถ้าพิจารณาได้แค่นี้ไม่ควรชื่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ท่านต้องพิจารณาดุลพินิจเป็นธรรมต่อข้าราชการด้วย เสียงข้างน้อยทำให้พลาดโอกาสที่ดีที่จะเป็นหลักในการอำนวยความยุติธรรมให้กับพวกผม" นายถวิล กล่าว

เมื่อถามว่าพร้อมที่จะกลับไปทำหน้าที่ในตำแหน่งเลขาฯ สมช.หรือไม่ นายถวิล กล่าวว่า พร้อมทำงานตลอดเวลา ที่ผ่านมาก็ได้ช่วยงานรัฐสภา และมูลนิธิต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานราชการอื่นๆอย่างเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งนายกฯต้องไปดำเนินการให้ตนกลับดำรงตำแหน่งเลขาฯสมช.ตามคำพิพากษา

ทั้งนี้นายถวิล กล่าวว่า ยังไม่มี่ความคิดว่าจะมีการฟ้องแพ่งหรืออาญากับนายกรัฐมนตรีกรณีถูกโยกย้ายไม่เป็นธรรมหรือไม่ แต่สิทธิที่จะไปยื่นต่อป.ป.ช. ของตนยังมีอยู่ และหากเมื่อครบกำหนด 45 วันตามที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว นายกฯ ยังไม่ดำเนินการตามคำพิพากษา ก็เป็นเรื่องระหว่างนายกกับศาล


















กำลังโหลดความคิดเห็น